ความสวยงามของภูเขาสูงใหญ่ที่สลับซับซ้อน คือภูมิประเทศที่เป็นมนต์เสน่ห์ของพื้นที่ภาคเหนือ แต่ในช่วงปลายฤดูหนาวก่อนจะเข้าสู่ฤดูร้อน ภูเขากลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคเหนือกลายเป็น “แอ่งสะสมมลพิษ” ท่ามกลางหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ จนหลายคนเปลี่ยนไปเรียกฤดูกาลนี้ว่า “ฤดูหมอกควัน” ในฤดูหมอกควันนี้ บริเวณภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบ ด้วยภูเขา ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก จะถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษหมอกควัน เนื่องจากการเผาในที่โล่ง ทั้งการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งและล้อมรอบด้วยภูเขานี้ ทำให้กลับกลายเป็นเหมือนแอ่งสะสมมลพิษที่ ระบายออกได้ยาก จนเกิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อสุขภาพและระบบ ทางเดินหายใจของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นจำนวนมาก
ในทุก ๆ ปี...ฤดูหมอกควันจะหมุนเวียนกลับมา และเป็นปัญหาที่ดูเหมือนจะยากต่อการแก้ไข จนกลายเป็นคำถามว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร? และทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้?
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ เป็นอย่างดี และที่ผ่านมานักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ได้พยายามแก้ไขปัญหาตามความถนัด แต่ยังขาดความเป็นเอกภาพ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้น ในนามของ “คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 เพื่อผนึกกำลังชาว มช. ในภารกิจแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน ได้แก่ การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ติดตามสถานการณ์มลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ให้มีความต่อเนื่อง ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้งศึกษาวิจัยและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ผลจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมามีความโดดเด่น และทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับ ให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการ จัดอันดับของ The Times Higher Education University Impact Rankings 2021 ตามเกณฑ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรเพื่อสังคมของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผลงานสำคัญ ได้แก่ การจัดตั้ง “ศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ การพัฒนาแอปพลิเคชัน Chiang Mai Air Quality Health Index (CMAQHI) เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และเพื่อสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเกิดเป็นโครงการและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควัน ที่เป็นการนำความรู้และความเชี่ยวชาญของนักวิชาการมาตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ
ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับสาเหตุของปัญหามลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความกระจ่างว่า
“ข้อแรก คือปัจจัยทางธรรมชาติ เนื่องจากภาคเหนือของเราอยู่ในพื้นที่เป็นแอ่ง มีภูเขาล้อมรอบ ในช่วงฤดูหมอกควัน การระบายออกของมลพิษเป็นไปได้ยาก เนื่องจากลมสงบ อากาศกด จึงทำให้แอ่งเป็นที่สะสมของมลพิษ
ข้อสอง คือเรื่องของแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง ทั้งการเผาป่าและการเผาในภาคการเกษตร การจราจรในเขตเมือง และเรื่องของมลพิษข้ามแดน ฯลฯ ซึ่งเป็นมิติที่หลากหลาย ทำให้มันเกิดเป็นปัญหาซ้ำซาก ตรงนี้ทางเราได้พยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการลดแหล่งกำเนิดมลพิษ ก่อนหน้านี้ ทางจังหวัดมุ่งเป้าไปที่การควบคุมการเผา โดยออกมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด แต่ก็พบว่ามันยังไม่ได้ผล เพราะว่ามันมีมิติเชิงสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าคนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือก็จบ นั่นหมายถึงว่า หากมีการลักลอบเผา จะทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ แหล่งกำเนิดจึงยังอยู่ ภายหลังจึงได้เสนอทางออกร่วมกันกับทางจังหวัดเชียงใหม่คือ ในช่วง 60 วัน ของการเฝ้าระวังเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้พัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล (Fire Management Decision Support System) หรือ Fire-D (ไฟดี) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้กับหน่วยงาน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ ‘ศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่’ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ อาจารย์ได้ใช้โมเดลในการพยากรณ์คุณภาพอากาศ พยากรณ์สถานการณ์หมอกควันล่วงหน้า 3-5 วัน รวมไปถึงการแสดงตำแหน่งและรายละเอียดที่ตั้งของจุดที่จะทำการบริหารจัดการ พร้อมทั้งแสดงสถานะการดำเนินการ ซึ่งเป็นข้อมูลร่วมในการพิจารณาอนุญาตให้มีการจัดการเชื้อเพลิงเพื่อใช้รับ-ส่งข้อมูลระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้สามารถจัดการเชื้อเพลิงได้พร้อมทั้งระบบ ”
CMU Model โครงการเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ
“เป็นปัญหาที่ถามกันมาทุกปีว่าทำไมมันถึงยังเกิดขึ้นอยู่ ความจริงแล้วเป็นมิติที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องของข้อจำกัดด้วย ซึ่งนักวิชาการก็พยายามที่จะวิเคราะห์ว่าทำไมมันยังเกิดปัญหาซ้ำซาก?” รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ เริ่มต้นเล่าถึงคำถามที่ทุกคนสงสัยอยากรู้คำตอบ และนั่นเป็นที่มาของ CMU Model โครงการเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ ที่เกิดจากการบูรณาการชุดองค์ความรู้และงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ด้านวิชาการและนวัตกรรมในทุกมิติ เน้นกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ โดยจุดเด่นของโครงการคือการ บูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำชุมชน เพื่อแก้ไขต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหามลพิษหมอกควันในภาคเหนือ โดยเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากสำนักนายกรัฐมนตรี ในการประสานงานให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้ามาช่วยดูแล ปัญหานี้ จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ณ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ และดำเนินงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการแก้มลพิษปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน
| |
คณะทำงาน CMU Model ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่บ้านป่าตึงงาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
จุดเด่นของโครงการนี้คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหา เป็นการเปิดมุมมอง จากภายนอก ทำให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงปัญหาของชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่าอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งทำให้คนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือต่อคำสั่งห้ามเผาป่าของภาครัฐเท่าที่ควร ประเด็นดังกล่าวทำให้ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดึงศักยภาพของบุคลากร และนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปอำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน มีการจัดประชุมวางแผนร่วมกับชาวบ้าน สร้างความเข้าใจ และผลักดันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ให้คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศภายในอุทยานฯ รวมถึงการติดตาม เฝ้าระวังการเกิดมลพิษหมอกควันได้ทันสถานการณ์ โดยดำเนินการภายใต้แผนการบริหารจัดการป่าอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมฯ ระหว่างชุมชน อุทยานแห่งชาติ และสถาบันการศึกษา ทั้งสิ้น 4 ด้าน คือ
1) ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การเสริมสร้างศักยภาพชุมชน เพื่อการจัดการธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำแผนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนป่าตึงงาม ในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพในชุมชน อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ชุมชนกับป่า
2) ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวนเกษตรและการดูแลรักษา การผลิตกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อการฟื้นฟูป่า
3) ด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกรองน้ำดื่มสะอาดสำหรับชุมชน
4) ด้านสังคมและสาธารณสุข สนับสนุนนวัตกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 สำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า การสร้างห้องปลอดฝุ่น PM 2.5 สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก และผู้สูงอายุ การวิเคราะห์สารตกค้างในร่างกายที่เป็นตัวบ่งชี้การรับสารมลพิษทางอากาศ เพื่อสร้างความตระหนักแก่ชุมชน การจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และการทำวนเกษตร เป็นต้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังได้ร่วมกับ กรมอุทยานฯ และชาวบ้าน ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้มีความยั่งยืน เพื่อลดการเกิดไฟป่า ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยมลพิษจากการเผา และบรรเทาสถานการณ์การเกิดมลพิษหมอกควันได้ และคาดหวังว่าจะสามารถลดพื้นที่ที่ถูกทำลายจากไฟป่าได้อย่าง มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ความสำเร็จของ CMU Model ที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จึงเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษ หมอกควันอย่างยั่งยืน ที่จะเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
การบริหารจัดการป่าอนุรักษ์โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในพื้นที่
นวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันอย่างยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมมักจะมาจากความพยายามในการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับหลากหลายนวัตกรรมที่เพื่อแก้ปัญหามลพิษหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งทำให้นักวิชาการหลายคนเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะแก้ไขปัญหานี้ หรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้นด้วยการสร้าง “นวัตกรรม”
เริ่มต้นจากปัญหาไฟป่าซึ่งคร่าชีวิตเจ้าหน้าที่และสัตว์ป่า สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่ประเมินค่าไม่ได้ และยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศด้วย การรับมือกับไฟป่าจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือ คณะสังคมศาสตร์ หรือ GISTNORTH ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินงาน “โครงการป้องกันและควบคุมไฟป่าระดับพื้นที่ด้วยระบบอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน” (Thermal UAVS) ขนาดเล็ก โดยใช้อากาศยาน ไร้คนขับหรือโดรนในการลาดตระเวน ถ่ายภาพ และตรวจจับความร้อน เมื่อพบว่ามีคลื่นความร้อนเกิดขึ้น จากการเผา หรือคลื่นความร้อนจากคนที่เข้าไปในพื้นที่ป่า ก็จะสามารถแจ้งเตือนเหตุและพิกัดที่เกิดเหตุ ไปยังเจ้าหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมดำเนินงานสนับสนุนภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าระดับพื้นที่กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ–ปุย และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา
| |
การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับตรวจจับความร้อน | โดรนตรวจจับความร้อนเพื่อดับไฟและลาดตระเวน |
นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมสร้างอากาศสะอาด (Clean air) โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในเบื้องต้นมีการใช้นวัตกรรมนี้ในหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบด้านสุขภาพของนักศึกษา และโมเดลของห้องปลอดฝุ่นนี้ยังสามารถขยายผลไปสู่ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงได้อีกด้วย
ห้องปลอดฝุ่นภายในหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่โดดเด่นของนักวิชาการ มช. คือการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับเฝ้าระวังและ การเตือนภัยมลพิษทางอากาศและดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index (AQI) เพื่อรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ได้แก่ การตรวจวัดและรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ตามพิกัด รายชั่วโมง/รายวัน ทั่วประเทศ โดยศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CCDC : Climate Change Data Center) โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น Dustboy แสดงผลข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://www.cmuccdc.org/ รวมถึงเว็บและแอปพลิเคชัน CMU Mobile แสดงค่าฝุ่นและห้องปลอดฝุ่นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงผลในฟังก์ชัน CMU Air Quality สำหรับบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคคลทั่วไป และรายงานค่าคุณภาพอากาศรายวัน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผ่าน Facebook Page ของคณะทำงานในช่วงเกิดวิกฤติหมอกควัน เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบทางด้านสุขภาพให้กับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เว็บไซต์การตรวจวัดและรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 โดยเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น Dustboy
ตามพิกัด รายชั่วโมง/รายวัน ทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
https://www.cmuccdc.org
แอปพลิเคชัน CMU Mobile ฟังก์ชัน Air Quality
และรายงานค่าคุณภาพอากาศรายวันในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แอปพลิเคชัน “Thai Air Quality” ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้สำหรับพยากรณ์คุณภาพอากาศเพื่อประเมิน ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษหมอกควัน และเป็นข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษหมอกควันในพื้นที่ โดยสามารถพยากรณ์คุณภาพอากาศได้ล่วงหน้าสูงสุด 3 วัน ในพื้นที่ ทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมาร์
แอปพลิเคชัน Thai Air Quality
Thai Air Quality application
นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน CMAQHI และเว็บไซต์ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ www.ntaqhi.info ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประชาชน ในภาคเหนือสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ ทั้งแบบเวลาจริงทุกชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พร้อมคำอธิบายระดับดัชนี คุณภาพอากาศ และคำเตือน เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพ
การเฝ้าระวังการเตือนภัยจากมลพิษทางอากาศจากเว็บไซต์ www.ntaqhi.info
ปิดท้ายด้วย นวัตกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาโดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้นนวัตกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ Envi Mask หน้ากากผ้าซักได้ โดยใช้แผ่นกรองสอดไปในผ้า สามารถป้องกัน PM 2.5 และซักล้างได้ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง, Envi Nano+Mask หน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกันสารคัดหลั่งโควิด 19 และฝุ่นขนาด 0.0075 ไมครอน สามารถนำกลับมาใช้ได้กว่า 20 ครั้ง นวัตกรรมหน้ากากความดันบวก Masqurax@CMU ซึ่งเป็นผลงานพัฒนาโดยภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กขนาด 1 ไมครอนได้ เหมาะสำหรับอาสาดับไฟป่า พนักงานดับเพลิง ตำรวจจราจร และประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ทั้งหมดนี้เป็นนวัตกรรมซึ่งสำเร็จได้จากการผนึกกำลังของคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสลาย “ฤดูหมอกควัน” ให้หมดไป จากพื้นที่ภาคเหนือและประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นความหวังสำหรับอนาคตในการแก้ไขปัญหามลพิษ หมอกควันอย่างยั่งยืนต่อไป