CMU SDGs

CMU SDGs

UTD RF ตราประทับรับรองความปลอดภัยในข้าว เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย

จำนวนผู้เข้าชม : 6137 | 29 ก.ย. 2563
SDGs:
1 2 3 8 9

คำว่า UTD RF ที่อยู่บนกล่องผลิตภัณฑ์ข้าวนี้อาจดูไม่คุ้นตา และหลายคนอาจไม่รู้ว่า หมายถึงอะไร

ซึ่งคำตอบของข้อความ UTD RF อยู่บนกล่องเดียวกันที่ว่า “ข้าวนี้ผ่านการกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” โดยคำว่า UTD RF เป็นเสมือนตราประทับรับรองว่าข้าวในกล่องนี้ไม่มีแมลงและ ไข่แมลงใด ๆ มาเจือปนตลอดทั้งวงจรชีวิตนั่นเอง

คำคำนี้ มีความหมาย เพราะนี่คือการทำให้อาหารสะอาดและปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยีไปทดแทนสารเคมี ด้วยเทคโนโลยีการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency Technology : UTD RF) ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เวียรศิลป์ แห่งภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ สาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งใช้เวลายาวนานในการคิดค้นเทคโนโลยีนี้ เหตุเพราะ “มอด” แมลงตัวเล็ก ๆ แต่สร้างปัญหาใหญ่หลวง ให้แก่คน โดยเฉพาะคนไทยที่รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เวียรศิลป์

3 ใน 4 วงจรชีวิตมอดอยู่ในข้าว!

แต่ไหนแต่ไรมา มอดเป็นศัตรูตัวฉกาจของผลิตผลทางการเกษตรมาโดยตลอด โดยมอดจะกินเมล็ดข้าวสารเป็นอาหาร และขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ในเมล็ดข้าว ส่งผลให้ข้าวมีรสชาติเฝื่อน เมื่อทิ้งไว้เกิน 45 วัน ข้าวจะเสียหายป่นเป็นผง หรือเมื่อโตเต็มวัย ตัวมอดสีดำก็จะออกมาปะปนกับข้าวสาร แต่การบริโภคข้าวที่มีมอดยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการบริโภคข้าวที่ผ่านการรมยา หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีเพื่อกำจัดมอด ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันมากในปัจจุบัน และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคข้าวในระยะยาว ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา ได้เล่าถึงวงจรชีวิตของมอด ซึ่งเกี่ยวพัน และส่งผลกับชีวิตคนอย่างคาดไม่ถึง

“มอดเป็นสัตว์ที่ต้องการอาหาร เหมือนเราที่ต้องการอาหาร เมื่อมันต้องการอาหาร มันจะวิ่งมา กินข้าว ไปบอกมันว่าอย่ามา ๆ มันไม่ฟังหรอก แล้วทำไมมันถึงมา เพราะจมูกมันได้กลิ่นอาหาร แล้วมัน ก็ขยายพันธุ์ เวลามันขยายพันธุ์มันจะอยู่ในข้าวเมล็ดหนึ่ง ซึ่งเราจะมองไม่เห็น เมล็ดหนึ่งสวย ๆ แต่จริง ๆ มันไข่หยอดอยู่ในนั้น วงจรชีวิตมันอยู่ที่นั่น 75% คือ 3 ใน 4 ของชีวิตมันอยู่ในข้าว ที่เราเห็นเป็นตัวมอด แล้วหยิบออกจากข้าว แสดงว่ามันเป็นตัวเต็มวัยแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมันอยู่ในสภาพไข่ หนอน และดักแด้ อยู่ในข้าว ถ้าปล่อยไปสัก 2 - 3 เดือน มันก็เดินออกมากันเยอะแยะไปหมดเลย แต่ถ้ารมยามันก็ไม่เป็น หรือถ้าไปตามชนบท วิธีรมของเขาคือใช้แก๊ส หรือดีดีทีใส่ถุงเล็กแล้วปิด เพราะมันทำให้เขาเซฟ ขายข้าวได้ ไม่อย่างนั้นมอดมันจะเดินเต็มไปหมด เขาก็จะขายข้าวไม่ได้”

ปัญหาเรื่องมอดตัวเล็ก ๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพ ของผู้บริโภคอีกด้วย

เส้นทางการสร้างเทคโนโลยีที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีนี้ เกิดจากองค์ประกอบหลายประการ หนึ่ง คือแนวความคิด ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ที่ รศ.ดร.สุชาดา ได้รับมาจากการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่เยอรมนี ซึ่งหากจะจบปริญญาเอกได้ ผู้เรียนต้องสร้างผลงานใหม่ ๆ สอง คือ ข้อกังวลจากคำพูดของลูกศิษย์ที่ว่า “เราไม่มีเทคโนโลยี” ทำให้การต่อยอดจากการเรียนการสอนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งยังประสบปัญหาในเรื่องของทุนวิจัยที่ในอดีตมีจำนวนน้อยมาก ไม่เอื้อต่อการคิดค้น หรือสร้างสรรค์เทคโนโลยีใด ๆ จนกระทั่งต่อมา รศ.ดร.สุชาดาได้รู้จักกับเทคโนโลยี RF (Radio Frequency) จนนำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้น

“ในเวลานั้นปัญหาอย่างหนึ่งคือ เครื่องมือ เพราะเราไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์การเกษตร ไม่ได้เป็นวิศวกรไฟฟ้า ที่จะมานั่งคิดในสิ่งที่มันเกินฝัน แต่บังเอิญว่างานที่เราทำมันเชื่อมโยงกับเพื่อนเก่า ที่ต่างประเทศ บังเอิญเขาทำพวกเครื่องมือเกษตร ทำเครื่องย่อยต้นไม้ เขามีเครื่องมือให้นักศึกษาทำเยอะ วันหนึ่งดิฉันเห็นเขามีนักเรียนที่ทำ RF (Radio Frequency) หรือการหาต้นทางของวัตถุดิบ เขารู้หมดเลยว่า คนปลูกคือใคร คนใส่ปุ๋ยคือใคร กว่าจะมาถึงตลาดเขารู้หมด โดยใช้การมาร์คว่าจากต้นทางเป็นใคร กลางทางเป็นใคร ปลายทางเป็นใคร และใช้เทคนิค RFID (เทคโนโลยีในการบ่งชี้แบบหนึ่ง ย่อมาจาก Radio Frequency Identification) จึงทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เขาให้เราส่งนักศึกษาไปเรียน ดิฉันก็หาทุน ให้ลูกศิษย์ไปเรียนที่เยอรมนี

เขาถามว่า เธออยากได้อะไร ปัญหาบ้านฉันไม่มีอะไรมาก แล้วปัญหาบ้านเธอคืออะไร เราก็บอกเขาว่าบ้านฉันมีปัญหาเรื่องโรคแมลงมากกว่าเธอ 20 เท่า เขาก็เลยบอกว่า ถ้างั้นเรามาทำด้วยกัน ดิฉันถามว่าเครื่องมือราคาเท่าไร เขาบอกว่าทำมาเกือบ 10 ล้าน ดิฉันว่ายืมหน่อยได้ไหม เพราะฉันส่งคนไปไม่ไหวหรอก ค่าใช้จ่ายเยอะ ปรากฏว่าเขายอม เพราะเขาจะได้ขอใหม่ได้อีกเครื่องหนึ่งที่นั่น แต่เราต้องออกค่าส่งเอง ตอนนั้นดิฉันลำบาก เพราะไม่มีค่าส่ง เรียกว่าความสำเร็จนี้มีอุปสรรคทุกจุด ถ้าจะถามว่าดิฉันทำอย่างไร ดิฉันต้องบอกว่า ทั้งบุญทั้งดวงทั้งขอ ทุกอย่างรวมกัน ในที่สุดก็ได้เครื่องมา”

ประยุกต์เครื่องมือฝรั่งให้กำจัดแมลงไทย

เครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องสร้างความร้อน ซึ่ง รศ.ดร.สุชาดา และทีมงาน ได้ประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้จนในที่สุดได้คิดค้น เทคโนโลยีการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency Technology : UTD RF) ได้สำเร็จ โดยใช้หลักการ คลื่นความถี่วิทยุที่เกิดจากไฟฟ้าแรงดันสูง ส่งผ่านไปยังข้าว ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในระดับโมเลกุล จนเกิดพลังงานสะสมเป็นความร้อนกระจายไปอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอในระยะเวลาอันสั้น ทำให้สามารถกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารได้ทั้งวงจรชีวิต โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของข้าว

“...ฝรั่งก็ไม่มีไอเดียหรอกว่าเราจะเอามาทำแบบนี้ มันเป็นเครื่องสร้างความร้อน คือเครื่องสร้างความร้อนแทนที่จะใช้เป็นแบบเตาไมโครเวฟ มันกลับเป็น Generator ตัวใหม่ตัวหนึ่ง ในการที่จะสร้างคลื่น ให้เกิดความร้อนอยู่ในพื้นที่จำกัด แต่คุณสมบัติพิเศษของมันคือ มันทำได้เยอะ เพราะดิฉันมีไอเดียว่า ต้องทำกับผลิตผลเกษตรที่มีจำนวนมาก ๆ เช่น ข้าวสาร ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ต้องทำให้ได้ทีละเยอะ ๆ ถึงจะคุ้ม เครื่องนี้จึงเหมาะกับเรา ไม่เหมาะกับเขา”

จุดเด่นของ UTD RF คือ เทคโนโลยีสะอาด ปราศจากสารเคมีที่ปลอดภัย 100% ซึ่งหากจะเปรียบเทียบการทำงานของเทคโนโลยีนี้ให้เห็นภาพชัดเจนก็คือ มีเทคนิคการทำงานคล้ายกับเตาไมโครเวฟนั่นเอง

“เทคโนโลยีนี้มันไปทดแทนสารเคมี มันคือการเตรียมอาหารในระดับสะอาด ปลอดภัย 100% ลักษณะของเทคนิคนี้คือมีตัวทำความร้อนที่ทำให้เกิดความร้อนสม่ำเสมอในเวลาอันสั้นมาก แล้วควบคุมได้ว่าอุณหภูมิ 55 องศา แมลงตัวนี้ 55 องศา 2 นาทีตาย ไข่หนอนดักแด้ตัวเต็มวัยตาย ตัวผู้ตัวเมียพันธุ์ไหน ตายหมด เพราะฉะนั้น มันตายด้วยอุณหภูมิแค่ 55 องศา 2 นาที ถ้ามันได้รับความร้อนสม่ำเสมอ แต่ทำยังไง จะให้มันได้ในล็อตใหญ่ ๆ ถ้าเราโหลดข้าวลึก 10 เมตร แป๊บเดียว 2 นาทีตายได้ไหม RF ทำได้ มันเป็นเทคโนโลยีความร้อนที่จะทำให้เกิดความร้อนสม่ำเสมอภายในตัววัตถุดิบได้ลึกในเวลาอันสั้น และสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อาหารสนใจ คือมันต้องไม่เปลี่ยนสี ไม่เปลี่ยนรสชาติ แล้วมันก็ไม่เปลี่ยนจริง ๆ เพราะฉะนั้นเราจึงแปะตราไว้เลยว่า UTD RF ถ้าเห็นอันนี้คือผ่านด้วยความร้อนสม่ำเสมอมาแล้ว ไข่หนอนดักแด้ตายหมดแล้ว เวลาคนฟังว่าเป็นเครื่องไฟฟ้าก็จะกลัวว่ามีอะไรตกค้าง อันนี้เขาเรียกว่าความถี่วิทยุ มันไม่ได้กระจายออกไป เพราะว่ามันหยุดอยู่ในกล่องที่เราทำทรีทเมนท์ พอเปิดเครื่องมันก็เดิน 2 นาที พอปิดมันก็หมด แมลงก็ตาย แต่คนไม่เข้าใจ รู้สึกว่าน่ากลัวมาก จริง ๆ แล้วมันเหมือนในโครเวฟนั่นเอง...ความฝันของดิฉัน ก็คือ อยากให้เทคโนโลยีนี้ไปอยู่ในทุก ๆ ที่ ในทุกหมู่บ้าน คือ ใช้สะดวก ใช้แบบ one stop service เหมือนเครื่องสีข้าว ใครเข้าไปก็ไปเสียบปลั๊กใช้ได้เลย”

หลังจากคิดค้นเทคโนโลยีได้แล้ว โจทย์ยากข้อต่อไปของนักวิชาการก็คือ การนำไปใช้จริง ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจาก หลายหน่วยงานด้วยกัน เริ่มต้นตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ เมื่อ พ.ศ. 2543 จากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี หลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปสู่ระดับขยายขนาด ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกันไป ทั้งจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2556 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปัจจุบัน) โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ได้สนับสนุนงบประมาณผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นแม่ข่ายดำเนินงาน พร้อมเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐบาล และความต้องการของภาคเอกชนเข้าด้วยกัน โดยผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์) จนเกิดโรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (RF Technology Pilot Plant) ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นโครงการตัวอย่าง ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรม โดยเปิดให้เกษตรกรสามารถนำข้าวสารมาทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ได้ฟรี พร้อมประกันคุณภาพผ่านเครื่องหมายรับรอง UTD RF และบริการออกแบบบรรจุภัณฑ์นวัตกรรมอย่างครบวงจรจากอุทยานฯ และนั่นเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยี UTD RF มาสู่ “เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (BIO-Q)”

โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่)


ภายในโรงงานต้นแบบฯ

UTD RF เทคโนโลยีสำหรับใคร?

ปัจจุบันบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องสีข้าวที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศไทย และเป็นเอกชนรายเดียวที่ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ และสามารถพัฒนาเป็น “เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (BIO-Q)” โดยติดตั้งและใช้งานจริงที่โรงสีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. สุรินทร์ จำกัด (สกต.สุรินทร์), บริษัท ทอช คนทำนา จำกัด, สหกรณ์การเกษตรบรรพตพิสัย จำกัด, รวมถึงโครงการโรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา (ศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานจากข้าว) จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ผ่านโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม) โดยยังมีสหกรณ์ในภาคเหนืออีก 7 แห่ง อยู่ในระหว่างดำเนินการเจรจา และเตรียมติดตั้งเครื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างยั่งยืนต่อไป นับเป็นความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี สู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง



การติดตั้งเครื่องให้แก่โรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา จ.พระนครศรีอยุธยา

UTD RF จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก มีการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อข้าวที่ผ่านเทคโนโลยี UTD RF อย่างน้อย 10 บาทต่อกิโลกรัม แทนการใช้สารเคมีรมยาฆ่ามอดในข้าว ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีนี้ ไปเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ อาทิ แบรนด์ Healthy Food Healthy Life ซึ่งมีราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม

นั่นหมายความว่า UTD RF นั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ได้จริง และเป็น “ตราประทับรับรองความปลอดภัยในข้าว” ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และจะช่วยส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานข้าวไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social