CMU SDGs

CMU SDGs

เมื่อรัก(ษ์) เกิดที่บ้านเก่า ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

จำนวนผู้เข้าชม : 3543 | 29 ก.ย. 2564
SDGs:
1 2 3 4 9 11

 

ความสงบร่มรื่นของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

     ด้วยบรรยากาศแวดล้อมของเรือนโบราณนับสิบหลัง บนพื้นที่ 9 ไร่ อันร่มรื่นด้วยร่มเงาของ ต้นจามจุรีอายุนับร้อยปี ให้ความรู้สึกเหมือนว่านี่คือหมู่บ้านเล็กๆ อันแสนสงบของภาคเหนือในอดีต ที่หยุดความเคลื่อนไหวของเวลาเอาไว้ได้ และมีผลทำให้โลกปัจจุบันหมุนช้าลง

     กลิ่นอายของความเป็นล้านนาทั้งหมดที่นี่ ทำให้ต้องเดินช้า ๆ บนสนามหญ้าเพื่อชมเรือนแต่ละหลัง และไม่ลืมปฏิบัติตามกฎของสถานที่ นั่นคือ ห้ามวิ่งบนเรือน ห้ามสูบบุหรี่ และห้ามกระทำลามกอนาจาร ข้อห้ามสองข้อแรกเพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของเรือนไม้เก่าแก่ที่มีอายุยาวนาน ส่วนข้อสุดท้ายนั้น เป็นกติกาสากลเกี่ยวกับการให้เกียรติแก่สถานที่ และเพื่อไม่ให้ “ขึด” ซึ่งในภาษาล้านนาหมายถึงการประพฤติผิดจารีตหรือทำในสิ่งอัปมงคล ทำให้ต้องพบกับโชคร้าย

     เรือนโบราณแต่ละหลังมีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่แตกต่าง เมื่อมารวมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่นี่จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีเสน่ห์น่าค้นหา ทั้งความงามของตัวเรือน และแนวทางการอนุรักษ์ที่อยู่ ในความดูแลของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการอนุรักษ์ สืบสาน รวมทั้งพัฒนาสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรมล้านนา และให้บริการด้านวิชาการแก่สังคม รวมทั้งจัดแสดงและอนุรักษ์เรือนล้านนาที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ ส่งมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์เพื่อการอนุรักษ์และทำนุบำรุงไว้เป็นศูนย์กลางการศึกษา แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรือนโบราณล้านนาแถบ ลุ่มแม่น้ำปิง และใช้ในการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมล้านนา และด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรม

มองความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ผ่านเรือนโบราณลุ่มแม่น้ำปิง

     ความโดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ การเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่รวบรวม เรือนโบราณของกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำปิงในแต่ละยุคสมัยเอาไว้ได้มากที่สุด ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นถึงความหลากหลายของสถาปัตยกรรมล้านนาในยุคต่าง ๆ รายละเอียดของวิถีชีวิตชาวล้านนาผ่านเรือนโบราณ แต่ละหลัง ที่ครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าของเรือนเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น และความเปลี่ยนแปลงของเรือนโบราณล้านนา ในแต่ละยุคสมัย ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

     “ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ที่อาจจะเป็นเรือนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ตั้งอยู่ภายในอาคารใหญ่ ซึ่งอาจมีได้หลังเดียว แต่ที่นี่เป็น Open-air museum หรือ Folk House Museum ให้ความรู้สึกเหมือนเราเข้าไปอยู่ใน Lanna Village โดยไม่ต้องไปที่หมู่บ้านจริง ๆ และพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ ของ มช. ได้มีการรวบรวมไว้ทุกยุคสมัย และเป็นเรือนที่พบในเขตลุ่มแม่น้ำปิง คือแถบจังหวัดเชียงใหม่และ ลำพูน ฯลฯ เริ่มตั้งแต่เรือนพญาปงลังกา ที่มีอายุเก่าแก่ 117 ปี แล้วก็ไล่อายุเรือนมาตามยุคสมัย มาจนถึงเรือนคิวรีเปอล์ ที่สร้างขึ้นในช่วงที่คนอังกฤษเข้ามาทำกิจการค้าไม้ เป็นยุคล้านนา–อาณานิคม เสน่ห์ของที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ มช. คือ สามารถเดินชมวิถีชีวิตของคนล้านนาในแต่ละยุคสมัยได้อย่างต่อเนื่อง ในเรือนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่กินอยู่หลับนอนของเจ้าของเรือนในยุคนั้นจริง ๆ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด)


หน้าจั่วรูปทรงเรขาคณิตที่เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด)

     ก่อนจะมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาแห่งนี้ เรือนเก่าแต่ละหลังมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน โดยเรือนหลังแรกที่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์คือ เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) เรือนไม้เก่าแก่แบบสามัญชนที่สร้างอย่างเรียบง่ายแบบเรือนไทลื้อผสมผสานกับเรือนแบบล้านนา ความโดดเด่นของเรือนนี้คือลวดลาย บนหน้าจั่วที่เป็นทรงเรขาคณิตที่มีความสวยแปลกตา บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 แต่เดิมเป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ หรือหม่อน (ทวด) ตุด ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. 2534 อาจารย์ศิริชัย นฤมิตรเรขการ กรรมการประจำสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้ไว้ด้วยเงินส่วนตัว สมทบด้วยงบประมาณส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีความประสงค์ที่จะมอบเรือนนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่ม ในการอนุรักษ์อาคารโบราณ และเรือนหลังนี้ได้ถูกย้ายมาปลูกสร้างบนที่ดินเขตอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยหลังจากที่หม่อนตุดได้เสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2536

      หลังจากนั้นเมื่อเจ้าของเรือนต่าง ๆ และทายาทเริ่มทราบว่ามีการอนุรักษ์เรือนล้านนา จึงได้ส่งมอบเรือนเก่าให้มาอยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์ จนกระทั่งปัจจุบัน มีเรือนโบราณอยู่ จำนวน 10 หลัง ได้แก่ เรือนเครื่องผูก, เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา), เรือนกาแล (พญาวงศ์), เรือนกาแล (อุ๊ยผัด), เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด), เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว), เรือนพื้นถิ่นแม่แตง, เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร), เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง และเรือนทรงโคโลเนียล (เรือนคิวรีเปอล์) ซึ่งเรือนนี้ตั้งอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่นี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 รวมทั้งยุ้งข้าวอีก 4 หลัง ได้แก่ ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์ (เลาหวัฒน์), ยุ้งข้าวเปลือย, ยุ้งข้าวสารภี และยุ้งข้าวป่าซาง (นันทขว้าง)
 
     เรือนแต่ละหลังต่างมีเอกลักษณ์ที่บอกเล่าเรื่องราวซึ่งเกี่ยวร้อยกับวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมล้านนา ไม่ว่าจะเป็นเรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) ซึ่งเป็นเรือนที่เก่าแก่ที่สร้างเมื่อราว พ.ศ. 2439 ซึ่งตรงกับปีที่อายุเมืองเชียงใหม่ครบ 600 ปี เรือนนี้เป็นตัวอย่างของเรือนคหบดี ซึ่งด้านหน้าจะมี “เติ๋น” หรือนอกชานในร่มที่มีพื้นที่กว้างสำหรับรับแขก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของคนล้านนาโบราณที่มีความเป็นมิตร และยินดีต้อนรับแขกที่มาเยือนเสมอ นอกจากนี้ ยังมีเรือนอื่น ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและความเชื่อของคนล้านนา เช่น เรือนกาแล (พญาวงศ์) ที่กรอบประตูห้องนอนด้านบนตกแต่งด้วย “หำยนต์” หรือหัมยนต์ ซึ่งเป็นไม้แกะสลักเหนือช่องประตู ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นแผ่นไม้เครื่องรางประจำเรือนที่สามารถป้องกันสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่จะผ่านเข้าสู่ห้องนอน โดยในอดีตเจ้าของเรือนจะทำหำยนต์ขึ้น โดยวัดรอยเท้าของตัวเองกับแผ่นไม้ เป็นต้น

หำยนต์ หรือหัมยนต์


เรือนชาวเมืองเชียงใหม่ (พญาปงลังกา)


“เติ๋น” หรือนอกชานในร่มที่มีพื้นที่กว้างสำหรับรับแขก ที่เรือนพญาปงลังกา

ย้อนอดีต...เรือนนี้มีเรื่องเล่า

      เรื่องราวของบ้านเก่ามักจะมาพร้อมเรื่องเล่าเสมอ...เช่นเดียวกับเรือนคิวรีเปอล์ บ้านทรงโคโลเนียลสองชั้น ที่ดูแปลกแยกแตกต่างจากเรือนของชาวล้านนาอื่น ๆ ในพิพิธภัณฑ์นี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บ้านหลังนี้ปลูกสร้างอยู่บนพื้นที่นี้มาก่อนบ้านหลังอื่น ๆ เรือนคิวรีเปอล์เดิมมีชื่อว่า “บ้านหลิ่งห้า” สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2469 เจ้าของบ้านคือ นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ (Mr. Arthur Lionel Queripel) พนักงานของบริษัทค้าไม้บอมเบย์ - เบอร์ม่า จำกัด ซึ่งต่อมาได้มีภริยาเป็นคนไทยชื่อแม่เลี้ยงดอกจันทร์ ชาวลำปาง

นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ เจ้าของเรือนคิวรีเปอล์

เรือนคิวรีเปอล์

      ครั้งหนึ่งบ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านแสนสุขของครอบครัวคิวรีเปอล์ จนกระทั่งเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 นายคิวรีเปอล์ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ถูกเชิญตัวให้ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทย และต่อมาได้ถึงแก่กรรมลง ส่วนสมาชิกในครอบครัวต้องทิ้งบ้านหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่นนานหลายปี และได้กลับมาอยู่อาศัยที่นี่อีกครั้ง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2506 พื้นที่ของบ้านหลังนี้ได้ถูกเวนคืนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และต่อมามหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยสังคม จนกระทั่งสถาบันวิจัยสังคมได้ย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่ ที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ส่วนเรือนคิวรีเปอล์ หรือที่เรียกกันว่า “เรือนป๋าคิว” เป็นอาคารอนุรักษ์ที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และขณะนี้ได้มีการจัดทำนิทรรศการสื่อ Digital Projection Mapping หรือการฉายภาพลงบนวัตถุ ที่จะบอกเล่าถึง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่ในยุคอาณานิคม เรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายชาวเชียงใหม่ และรสชาติอาหารบ้านหลิ่งห้า นับเป็นการใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างมีสีสันและจับต้องได้ นอกจากนี้มีห้องนิทรรศการจัดแสดงประวัติศาสตร์การค้าไม้ สถาปัตยกรรมล้านนาในยุค อาณานิคม และเรื่องราวของครอบครัวตระกูลคิวรีเปอล์ ขณะที่อาศัยอยู่ในเรือนนี้อีกด้วย

นิทรรศการสื่อดิจิทัล การฉายภาพลงบนวัตถุ ที่กำลังจัดแสดงที่เรือนคิวรีเปอล์

     เรือนอีกหลังหนึ่งที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และเป็นเรือนล่าสุดที่ได้นำมาปลูกสร้างไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็คือ เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง เดิมตั้งอยู่บนบนถนนวิชยานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรือนไม้ที่สร้างใน พ.ศ. 2457 โดยปลูกสร้างต่อเติมในตัวอาคารตึกสองชั้น ลักษณะเด่นของเรือนฝาไหลคือ ฝาผนังเรือนทั้งสี่ด้านเป็นฝาไหล หรือฝาไม้แบบบานเลื่อนสำหรับใช้ระบายอากาศบนเรือน โดยมีคันโยก ในการเปิด–ปิด นับเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่สวยงามและหาชมได้ยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อแสงแดดตกกระทบตัวเรือน ทำให้เห็นแสงเงาที่ลอดผ่านฝาไหลเป็นเส้นสายดูแปลกตา


หลวงอนุสารสุนทร สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง และนางคำเที่ยง ชุติมา


เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง


ภายในเรือนฝาไหล

      แม่นายคำเที่ยง เป็นภริยาของหลวงอนุสารสุนทร คหบดีผู้มีคุณูปการต่อเชียงใหม่ในหลาย ๆ ด้าน ท่านได้พำนักอยู่ที่เรือนหลังนี้จนถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2473 และหลวงอนุสารสุนทรถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2477 ต่อมาทายาทได้ย้ายเรือนนี้ไปปลูกสร้างที่วัดสวนดอก พระอารามหลวง เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานของวัด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2562 วัดสวนดอกมีแผนจะปรับปรุงอาคารสำนักงานใหม่ จึงได้มอบเรือนฝาไหลนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำไปปลูกสร้าง ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และกลุ่มบริษัทในเครืออนุสาร มอบงบประมาณสนับสนุนในการรื้อถอนและปลูกสร้างให้คงสภาพเดิม เพื่อให้เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยงได้เป็น แหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าแก่คนรุ่นหลังต่อไป

เมื่อรัก(ษ์)เกิดที่บ้านเก่า

       ในแต่ละปีมีผู้คนที่รักบ้านเก่าเรือนโบราณทั้งหลาย เข้ามาศึกษาเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาแห่งนี้มากมาย เนื่องจากแนวทางการทำงานของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมฯ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมล้านนายังอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เช่น การเสวนาความรู้เรื่องเรือนล้านนา การจัดกิจกรรมเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เช่น งานแอ่วเฮือนเยือนผญา การจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมกิจกรรม กิจกรรมหลักสูตรระยะสั้นปี 2563 เรื่องหัตถศิลป์และวัฒนธรรมล้านนาสร้างสรรค์ และการเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมล้านนา เป็นต้น

      การทำงานในอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมฯ คือ การส่งเสริมให้ “รัก(ษ์)เกิดที่บ้านเก่า” อย่างยั่งยืน ด้วยการไปเรียนรู้ร่วมมือกับชุมชนต่าง ๆ ที่มีบ้านเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และให้คำแนะนำ เพื่อเก็บรักษาเรือนเดิมไว้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เรือนมีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้คู่กับชุมชน ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลาวัณย์ ได้เล่าถึงแนวทางดังกล่าวว่า

     “ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ของเรามีเรือน 10 หลัง 4 ยุ้งข้าว เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ที่เราสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น เราจึงอยากให้ความร่วมมือกับชุมชน หรือคนที่มีบ้านเก่าได้เก็บรักษาบ้านของเขาเองไว้ อาจจะเริ่มจากให้ชุมชนได้มาเห็นเรือนที่เราเก็บรักษาให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นลักษณะ Living Museum คือพิพิธภัณฑ์ที่อยู่อาศัยจริง โดยเราอาจไปสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เรือนโบราณนั้นมีความสำคัญ ไม่ควรรื้อ หรือละทิ้ง ดูแลเรื่องการจัดการทำให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เรือนในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ถ้าหากว่าชุมชนนี้เขาทำเป็นตัวอย่างได้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่น ๆ อาจจะยึดเป็นโมเดล แล้วก็ทำตามอย่างเดียวกัน ลูกหลานที่มีเรือนเก่าอยากจะนำมาพัฒนาให้เป็นเรือนที่มีชีวิตอีกครั้ง ในรูปแบบที่สามารถจัดการได้ และคงทนยั่งยืน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้คู่กับชุมชนของเขาต่อไป”

      เมื่อมีความรักเป็นทุนเดิม การดูแลรักษาให้สิ่งนั้นอยู่ยั่งยืนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม... การดำเนินการของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนับเป็นความเคลื่อนไหว ที่เรียบง่ายแต่มีพลัง ด้วยการปลูกฝังความรักในศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้เกิดขึ้น และต่อยอดไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์บ้านเก่าเรือนโบราณอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social