“บือบ้าง, ปิอิซู , ข้าวแสง 5” ชื่อพันธุ์ข้าวเหล่านี้อาจไม่คุ้นหูเท่ากับข้าวหอมมะลิ แต่นี่คือพันธุ์ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของล้านนา ที่จะช่วยเปิดโลก “คนกินข้าว” ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
ภาคเหนืออาจจะไม่ใช่พื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยเหมือนภาคกลาง แต่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่าไม้และภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภาคเหนือกลับเป็นแหล่งศูนย์รวมความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าว ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นถิ่นกำเนิดของข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองกว่า 500 สายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะเด่นไม่เหมือนใคร มีคุณค่าด้านต่าง ๆ ด้วยตัวพันธุกรรมของข้าวเอง ด้วยปัจจัยทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ เช่น สามารถทนต่ออากาศหนาว ทนน้ำท่วม ทนโรค ทนแมลง และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ชนิดที่ยัง ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน เพียงแต่ยังไม่มีการคัดเลือก จำแนกคุณค่าต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ปัจจุบันข้าวสายพันธุ์ล้านนาแท้ ๆ จำนวนมากกำลังจะหายไป เพราะเกษตรกรนิยมปลูกข้าวพันธุ์สมัยใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง และปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่แท้ที่จริงแล้ว พันธุกรรมข้าวพื้นเมืองเป็นเสมือนสินทรัพย์ที่มีคุณต่อประเทศมากกว่าที่ใคร ๆ คาดคิด และนี่คือเหตุผลหนึ่งในการก่อตั้ง “ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เพื่อรวบรวม และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยเรื่องข้าวในคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มีความเป็นเอกภาพ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
ที่ผ่านมา นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ศึกษาและวิจัยเรื่องข้าวในหลากหลายมิติ เมื่อมี การก่อตั้งศูนย์วิจัยข้าวล้านนาขึ้น กลุ่มนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าวจากคณะต่าง ๆ เหล่านี้ จึงได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ และดำเนินการวิจัยด้านข้าวให้ไปในทิศทางเดียวกัน และเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร โดยมีภารกิจหลักคือ การวิจัยและบริการวิชาการ เพื่อการอนุรักษ์ และการนำไปใช้ประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าพันธุ์ข้าวล้านนาอย่างยั่งยืน
ที่ศูนย์วิจัยข้าวล้านนาแห่งนี้ เราได้รู้จักชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน รวมทั้งความรู้ใหม่เกี่ยวกับข้าวที่ทำให้พบว่า ถึงแม้จะกินข้าวทุกวัน แต่เราอาจจะรู้จัก “ข้าว” น้อยกว่าที่คิด
รู้จักพันธุ์ข้าวล้านนา
ชาวนาชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ จ.แม่ฮ่องสอน
ข้าวพันธุ์พื้นเมืองล้านนากระจายตัวอยู่ทั่วภาคเหนือ แต่พบมากที่สุดคือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเป็นพื้นที่สูง และมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้บริโภค อาทิ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปลูกบนพื้นที่สูง หรือบริเวณชายเขาที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา ทำให้ข้าวปรับตัวโดยการยืดตัว สูงกว่าพื้นน้ำ จนมีลักษณะยีนของการทนต่อน้ำท่วมได้
ลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวล้านนาคือ มีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่สามารถปลูกบนพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ทนต่อแมลง ทนต่อโรค และน้ำท่วม นอกจากนั้น ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากกว่าข้าวพันธุ์สมัยใหม่อย่างไม่อาจเทียบกันได้ แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่ต้องมีการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวล้านนาเอาไว้ ก็คือ เพื่อเก็บไว้เป็นฐานพันธุกรรมข้าว ซึ่งมีความสำคัญต่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างมาก ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวล้านนา ได้อธิบายถึง ความจำเป็นของการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองว่า
รองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวล้านนา
“เหตุผลที่เราจำเป็นต้องอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ เพราะว่าข้าวเหล่านั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมอยู่ภายในพันธุ์ข้าว เช่น ทนโรค ทนแมลง ทนดินกรด ทนน้ำท่วม ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ถ้าเทียบกับพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ที่มุ่งเน้นให้มีผลผลิตสูง เนื่องจากตอบสนองกับปัจจัยการผลิตเป็นจำนวนมาก หรือมีรสชาติอร่อย เมื่อใดก็ตามที่เราจะปรับปรุงพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ให้มีลักษณะต่าง ๆ ที่เราต้องการ เราจะต้องกลับไปเอายีนจากแหล่งพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ถ้าเรามีฐานพันธุกรรมที่หลากหลายและเป็นจำนวนมาก จะสามารถเลือกหยิบลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ออกมาผสมกัน เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะที่เราต้องการ แต่ถ้าเราไม่อนุรักษ์ฐานพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองเอาไว้ ยีนพวกนี้จะหายหมด สมมติว่าต่อไปมีโรคแมลงลงนาข้าว เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน เราจะกลับไปหายีนที่ต้านทานต่อโรคและแมลงจากที่ไหน”
พันธุ์ข้าวล้านนาที่โดดเด่นและมีศักยภาพ เช่น พันธุ์ บือบ้าง 3 มช. (BB3 CMU) ข้าวพันธุ์นี้เป็น ข้าวเจ้า ข้าวไร่ ข้าวกล้องไม่มีสี ปลูกเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร โดยได้มีการเก็บตัวอย่างมาจาก ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หมู่บ้านทีชะ ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดเด่นของข้าวพันธุ์นี้คือ ให้ผลผลิตและมีวิตามินอีสูงมาก จึงมีการรับซื้อเพื่อใช้รำข้าวไปสกัดเป็นวิตามินอี เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพันธุ์ต่อเนื่องเพื่อให้สามารถนำมาปลูกในบนพื้นที่ราบได้ตลอดทั้งปี และมีผลผลิตสูง
ปิอิซู 1 มช. (PIS 1 CMU) เป็นข้าวเหนียว ข้าวไร่ ข้าวกล้องมีสีดำ ซึ่งเก็บตัวอย่างมาจากชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หมู่บ้านประตูเมือง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ข้าวพันธุ์นี้มีสารแอนโทไซยานินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวปกติทั่วไปถึง 5 เท่า และนอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และรักษาสมดุลของระบบประสาท
ข้าวแสง 5 มช. (KS5 CMU) เป็นข้าวเหนียวสีดำ ที่ได้มาจากชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หมู่บ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้าวพันธุ์นี้มีปริมาณสารฟีนอล (Phenolic Compounds) สูงมาก มีคุณสมบัติในการต้านโรคมะเร็งและลดริ้วรอย
| |
ข้าวแสง 5 มช. | บือบ้าง 3 มช.
|
พันธุ์ข้าวล้านนาทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ ทีมวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวล้านนา และ คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจและรวบรวมตัวอย่าง และนำมาศึกษาวิจัยเพื่อจำแนกลักษณะที่โดดเด่น จนสามารถขอรับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 แต่ขณะเดียวกันการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวล้านนาและการปรับปรุงพันธุ์เหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป ต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว ในการสร้างแรงจูงใจด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหล่านี้ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านผลผลิตและราคาให้กับเกษตรกรให้ได้มากที่สุด
“ในแง่วิชาการการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ทำให้เรามีฐานพันธุกรรมข้าวที่กว้าง และจะเกิดคุณประโยชน์ต่อชาติในอนาคต แต่การอนุรักษ์อย่างเดียวก็ไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเท่าไร จึงมีคำถามว่าอนุรักษ์แล้วเกษตรกรได้อะไร เกษตรกรเขาต้องกินต้องใช้ เราจึงต้องหาให้พบว่าจะใช้แรงจูงใจอะไร ในการส่งเสริมให้เขาปลูก ซึ่งก็คือการเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำมาใช้ประโยชน์ของข้าวล้านนาในด้านต่าง ๆ นั่นเอง หลาย ๆ พันธุ์ที่เราได้มาคือ มีวิตามินอีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือมีธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสีสูงมาก ซึ่งพันธุ์สมัยใหม่จะไม่มีแล้ว เพราะหายไปหมดแล้วในขั้นตอนปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง คุณสมบัติเหล่านี้จะหายไประหว่างทางของการคัดเลือก แต่เรายังเจอในพันธุ์พื้นเมืองนี้อยู่ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ควบคู่ไปกับพันธุ์สมัยใหม่ได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ กล่าว
ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา
บูรณาการองค์ความรู้เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า
แม้จะได้ชื่อว่า “ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา” แต่ศูนย์นี้ไม่มีนักวิจัยเป็นของตัวเองแม้แต่คนเดียว แต่สิ่งนี้ กลับกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันของนักวิจัยจากคณะวิชาต่าง ๆ ที่จะได้ใช้ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ของแต่ละคนในการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงคุณภาพข้าว ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างมีเอกภาพ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ ได้อธิบายถึงการทำงานของศูนย์วิจัยข้าวล้านนาว่า
“ในการทำงานของศูนย์วิจัยข้าวล้านนา เราจะเชิญนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เราต้องการนักวิจัยที่ชำนาญในเรื่องการแปรรูป เราก็ไปเชิญมาจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร หรือต้องการแปรรูปให้เป็นครีมหรือแชมพู ก็เชิญนักวิจัยจากคณะเภสัชฯ มา หรือต้องการทดสอบในหนู ในคน เราก็เชิญนักวิจัยจากคณะแพทย์มา เป็นการทำงานแบบเครือข่ายที่ยาวมากของศูนย์วิจัยข้าวฯ และทุกคนก็ยินดีให้ความร่วมมือ เวลาที่เราจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใด ๆ สักอย่างหนึ่งเพื่อเสนอโครงการ เราก็จะเชิญคณะเกษตรฯ มาดูแล เรื่องการปลูก เชิญคณะเภสัชฯ มาแปรรูป เชิญคณะบริหารธุรกิจและสื่อสารมวลชลมาช่วยเรื่องการตลาดและประชาสัมพันธ์ และเชิญคณะแพทย์มาร่วมเป็นหนึ่งทีมด้วย”
การดำเนินการของศูนย์วิจัยข้าวล้านนา จึงเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าว, เทคโนโลยีก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร, การจัดการระบบขาย การกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวให้มีต้นทุนต่ำและรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ (Logistics), การให้บริการทางวิชาการแก่เกษตรกร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้าวในด้านกระบวนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การสีข้าวแบบพึ่งพาตนเอง รวมไปถึงการนำวัสดุเหลือทางการเกษตรอย่างฟางข้าวไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศที่ย่อยสลายได้ 100% เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าว ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
น้ำมันรำข้าวสกัดเย็น ผลิตภัณฑ์จากศูนย์วิจัยข้าวล้านนา
นอกจากนี้ การแปรรูปข้าวไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้าวได้ทุกส่วนอย่างคุ้มค่า ข้าวเป็นพืชที่สามารถนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ได้หลากหลาย ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ซึ่งขณะนี้ศูนย์วิจัยข้าวล้านนาได้ศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว โดยเฉพาะในการด้านการแพทย์และเภสัชวิทยา รวมทั้งระบบกลไกทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันรำข้าว เครื่องดื่มผง ไอศกรีมข้าวกล้องงอก รวมถึงบางส่วนของข้าวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น รำข้าวกล้อง สามารถนำไปสกัดเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ ส่วนกากที่เหลือสามารถนำมาสกัดเป็นโปรตีน Biotin Peptides ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ และร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย ทั้งนี้การแปรรูปข้าวไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นี้ ทำให้ข้าวล้านนาสามารถดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันได้อย่างมีคุณค่าและมูลค่า
ทั้งหมดนี้ คือ “การทำงานเป็นทีม” ของทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวล้านนา ที่แม้จะมาจาก ต่างคณะวิชา แต่ทุกคนพร้อมที่จะลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อใช้ความรู้ที่มีไปแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ได้มากที่สุด ทั้งการให้ความรู้ในด้านวิชาการ และส่งเสริมให้เกษตรกรได้เห็นถึงความสำคัญของพันธุกรรมข้าวล้านนาในฐานะสินทรัพย์ที่มีค่าของแผ่นดินไทย และร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับอาชีพทำนาให้คงอยู่สืบไป