CMU SDGs

CMU SDGs

“คุณค่า” ที่เหนือมูลค่า ของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศ

จำนวนผู้เข้าชม : 3658 | 28 ก.ย. 2564
SDGs:
3 8 9 13 17

เม็ดพลาสติกสำหรับทำบรรจุภัณฑ์เชิงนิเวศ


บรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศ

    ความน่าทึ่งของถ้วย จาน และช้อนส้อมที่เรียบง่ายธรรมดานี้ ไม่เกี่ยวกับรูปทรงหรือความประณีตสวยงามใด ๆ แต่เป็นไอเดียในการสร้างงานที่ว่า

    “อะไรที่ไม่มีมูลค่า เราจะนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างนวัตกรรม”

      ถ้วยและจานเหล่านี้ จึงถูกสร้างขึ้นมาจากของที่ไม่มีมูลค่า ซึ่งใคร ๆ ก็คิดว่าไม่สามารถนำมาสร้างประโยชน์ใด ๆ ได้อีกแล้ว เช่น เศษเหลือทางการเกษตรอย่างฟางข้าว กากกาแฟ ชานอ้อย ซังข้าวโพด ไผ่ ฯลฯ นำมาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัย ย่อยสลายได้ง่าย ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดการเผาเศษเหลือทางการเกษตร ที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นมลพิษ PM 2.5 อีกด้วย

    บรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศ หรือ Eco-Plastic เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาเทคโนโลยีการบรรจุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ในศาสตร์นี้ ได้สั่งสมองค์ความรู้และให้บริการวิชาการแก่ชุมชน จนสามารถนำมาต่อยอด และพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ เพื่อส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้เป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่นักวิจัยสามารถนำเศษเหลือทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าทึ่ง

Eco-Plastic
คิดจากศูนย์สู่การสร้างมูลค่า

     ในพื้นที่ภาคเหนือ มีแปลงข้าวประมาณ 17 ล้านไร่ และบนพื้นที่แปลงนา 1 ไร่นั้น จะมีฟางข้าวที่เป็นผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณ 650 กิโลกรัม เท่ากับว่า ในแต่ละปีจะมีเศษฟางข้าวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องเผาทิ้งไป...นี่คือข้อมูลที่นักวิชาการอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุฐพัศ คำไทย นำมาเป็นโจทย์สำคัญในการคิด เพื่อนำสิ่งที่แทบจะมีค่าเป็นศูนย์มาสร้างเป็นนวัตกรรม ที่นอกจากจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้และแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรอีกด้วย

     “เวลาเราตั้งโจทย์ ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบการ SME แต่ถ้ามองในมุมของศูนย์บรรจุภัณฑ์ฯ นักวิจัยจะมองว่าอะไรที่เอามาสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ เราจะนำมาสร้างนวัตกรรม เราสำรวจก่อนว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อม PM 2.5 นั้น คือ ฟางข้าว ซังข้าวโพด ถ้าลงไปที่ภาคเหนือตอนล่าง คือชานอ้อย แต่ที่เก็บข้อมูลมาคือภาคเหนือ มีแปลงนาประมาณ 17 ล้านไร่ ถ้าเราสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาใช้ในรูปแบบที่หลากหลาย แค่โซนนี้โซนเดียว เราสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ร้อยละ 27” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุฐพัศ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุฐพัศ คำไทย

  
ผลิตภัณฑ์กระดาษจากเยื่อฟางข้าว 100% กระดาษจากเยื่อฟางข้าว 

  
 บรรจุภัณฑ์จากฟางข้าว บรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนความร้อนและเข้าไมโครเวฟได้

      การสร้างนวัตกรรมนี้ นับเป็นการนำองค์ความรู้จากนักวิชาการไปรับใช้สังคม โดยทีมนักวิจัย ได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เมื่อทราบปัญหาแล้ว จึงเกิดความคิดในการนำฟางข้าวในพื้นที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มาทำเป็นกระดาษฟางข้าวที่มีคุณภาพ จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นบรรจุภัณฑ์ จาน ชามมาตรฐาน Food Grade ที่สามารถเข้าไมโครเวฟ และกันน้ำได้ ทำให้วัสดุที่มาจาก เศษเหลือทางการเกษตรเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง
      นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรแล้ว นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์นี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ในการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย ซึ่งภายในปี 2565 ที่จะถึงนี้ ภาครัฐมีมาตรการให้ยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติกบาง และ หลอดพลาสติก มาตรการนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปจากตลาด ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของ Eco-Plastic ในตลาด
บรรจุภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้มีส่วนแบ่งการตลาดราว 4% และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

     บรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศของ มช. มีจุดเด่นที่ไม่น้อยหน้าใครในตลาด เนื่องจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันแห่งแรกที่เริ่มต้นนำฟางข้าว ชานอ้อย และพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ๆ เช่น กาแฟ ไผ่ และกัญชง ซึ่งเป็นแหล่งของเส้นใยและเซลลูโลสคุณภาพดี นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านวัสดุ บรรจุภัณฑ์อย่างหลากหลาย และน่าสนใจ ดังจะเห็นได้จากบรรจุภัณฑ์จากกากกาแฟ ซึ่งเกิดจากโจทย์ของผู้ประกอบการร้านกาแฟในเชียงใหม่ ซึ่งต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากกากกาแฟเหลือทิ้งในร้านกาแฟ ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนมากเกือบ 2,000 ร้าน และในที่สุดบรรจุภัณฑ์จากกากกาแฟนี้ก็ได้รับการพัฒนาเป็นถาด แก้วกาแฟ ถ้วยรอง จนสามารถใช้จริงได้


บรรจุภัณฑ์จากกากกาแฟ

บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไผ่บรรจุภัณฑ์จากซังข้าวโพด

นวัตกรรมเซลลูโลส
สู่คุณประโยชน์ที่หลากหลาย

       นวัตกรรมเกิดขึ้นได้เสมอถ้านักวิจัยไม่หยุดคิด...เศษเหลือทางการเกษตรได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาเป็น“นวัตกรรมเซลลูโลส” (cellulose Innovation) ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มวิจัยวัสดุร่วมชีวภาพและเทคโนโลยีการบรรจุ (Bio-composite and Packaging Technology cluster) นำโดย ผศ.ดร.สุฐพัศ และคณะ ซึ่งพบว่าเศษเหลือทางการเกษตร มีเซลลูโลสคุณภาพดีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผลิตสารเคมี บรรจุภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ สารเคลือบผิวกระดาษ (paper coating solution) ฟิล์มบ่งชี้การสุกของผลไม้ (ripeness indicator film) เป็นต้น เนื่องจากความโดดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ ช่วยประหยัดสารเคมีและระยะเวลาในกระบวนผลิตร้อยละ 50 และกระบวนการสังเคราะห์และการผลิตสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเศษเหลือทางการเกษตรทุกชนิด และสามารถชะลอการสุกของผลไม้ได้ เหมาะสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผลไม้เพื่อการส่งออก

บรรจุภัณฑ์จากกัญชง บรรจุภัณฑ์จากกัญชง  

      นอกจากนี้ คณะวิจัยกำลังนำนวัตกรรมเซลลูโลสไปใช้กับ “กัญชง” ซึ่งเป็นพืชที่มีเส้นใยยาว มีปริมาณเซลลูโลสสูง และมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญมากมาย โดยนำเส้นใยจากเปลือกกัญชง (hemp bast) และเส้นใย จากแกนกัญชง (hemp shive) มาผลิตเป็นวุ้นจากกัญชง (hemp bacteria cellulose) ฟิล์มจากกัญชง (hemp film) ซึ่งสามารถนำไปดูดซับของเหลว และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ โฟมกัญชง (hemp foam) เพื่อผลิตวัสดุปลูกหรือโฟมชนิดใหม่แบบย่อยสลายได้ 100% และบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ผสมเส้นใยกัญชง (hemp biodegradable packaging) เป็นต้น

Bio-plastic: Influencing a better future
ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่าด้วยการสร้างคน และสร้างนวัตกรรม
     
    ด้วยวิสัยทัศน์ของคณะอุตสาหกรรมเกษตรที่ว่า “ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่า (Influencing a better future)” คือการมองไปในอนาคต และเล็งเห็นว่า นอกจากเรื่องอาหารแล้ว บรรจุภัณฑ์เชิงนิเวศจะเป็นคำตอบสำหรับส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน จึงมุ่งขับเคลื่อนด้วยการสร้างคนและสร้างนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ โดยได้สร้างอาคารพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศ ซึ่งมีเครื่องมือผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีความสมบูรณ์ และทันสมัย สำหรับใช้ประโยชน์ในด้านการเรียน การสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้กล่าวถึงแนวทางของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพว่า


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร

พิธีเปิดอาคารชุดพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศ Agro-Industry CMU Eco Packaging (AICEP)

SK Film ฟิล์มบรรจุภัณฑ์กินได้

     “ในส่วนของคณะเอง เรามีอาคารพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกเชิงนิเวศ (AICEP) ซึ่งเราได้งบสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเงินรายได้บางส่วนของคณะ เรามีเครื่องขึ้นรูปขนาดใหญ่ 2 ตัว สำหรับทำเม็ดพลาสติก ตัวโรงงานสามารถขึ้นรูปเม็ดพลาสติกที่จะนำมาทำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ แต่ด้วยความที่เราเป็นสถาบันการศึกษา เราอาจไม่ได้ผลิตเม็ดพลาสติกขาย แต่จะพัฒนาสูตรแล้วให้ผู้ประกอบการไปทำต่อ โดยอาจจะทำในรูปสิทธิบัตรแล้วเจรจาขายสิทธิ์ หรือทำงานวิจัยร่วมกันกับภาคเอกชน ค่ะ”

     ในปัจจุบันคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นคณะวิชาที่มีองค์ความรู้ในด้านการนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ประกอบด้วย 6 สาขาวิชา ที่อยู่ในกระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ตอบโจทย์สังคมในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาเทคโนโลยี การบรรจุ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร และสาขาวิชาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ทางทะเล พร้อมขับเคลื่อนในการสร้างคนและนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของคณาจารย์และนักศึกษา ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย เพื่อตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ และตอบโจทย์ของการรับใช้สังคม อีกทั้งยังมีการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา ในการส่งผลงานเข้าประกวดในการแข่งขันนวัตกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้มีไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ เช่น ผลงาน “SK Film” ฟิล์มบรรจุภัณฑ์กินได้ ในลักษณะซองเครื่องปรุง ทำจากฟางข้าวและถั่วเหลือง สามารถละลายน้ำในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ภายใน 2 นาที เป็นต้น

     ในอีกไม่นานนี้ ถ้วย จาน และช้อนส้อม ที่ทำมาจากฟางข้าว กากกาแฟ ชานอ้อย ซังข้าวโพด และไผ่ จะถูกนำไปใช้ในศูนย์อาหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้พลาสติกเชิงนิเวศได้เข้าไปกลมกลืนอยู่ในชีวิตของผู้คน นี่คือการสะท้อนถึง “คุณค่า” ที่เหนือ “มูลค่า” ของความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรมที่เริ่มต้นจากการแก้ปัญหา และตอบโจทย์ของเกษตรกร ไปสู่การขับเคลื่อนสังคม และสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social