“แมลงทหารเสือ” ที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเครื่องสำอาง
เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้แฝงเร้นความลับแห่งความงามไว้ใน “แมลงทหารเสือ” แมลงสีดำตัวเล็ก ๆ ที่มีของดีอยู่ในตัว และสามารถสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยที่มีมูลค่าการซื้อขายปีละหลายแสนล้านบาท
ชื่อ “แมลงทหารเสือ” หรือ Black Soldier Fly อาจจะดูเข้มแข็งดุดัน แต่ที่จริงแล้วชาวบ้านรู้จัก แมลงชนิดนี้ในชื่อว่า “แมลงวันลาย” แต่พอขึ้นชื่อว่าเป็น “แมลงวัน” แล้ว ย่อมทำให้นึกถึงภาพของแมลงวัน ที่กำลังบินตอมสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม แมลงวันลายนั้นมีดีกว่าแมลงวันทั่วไปมาก เพราะมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ ไม่นำโรคมาสู่คน ไม่เป็นศัตรูพืช ที่สำคัญหนอนแมลงทหารเสือสามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์และมูลสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรจึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดมูลสัตว์ และลดปริมาณขยะอินทรีย์ หรือเศษอาหารจากครัวเรือนต่าง ๆ นอกจากนี้ ตัวอ่อนแมลงทหารเสือยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันที่มีทั้งคุณค่าและราคาที่สูงมาก ส่วนกากที่เหลือจากการสกัดยังสามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนเสริมผสมลงไปในอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน แห่งภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช สาขาวิชากีฏวิทยา จึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้แมลงทหารเสือ เพื่อลดเศษวัสดุอินทรีย์ที่เหลือใช้จากโรงงาน และมลภาวะในฟาร์มปศุสัตว์ สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตาม ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจโรงงานและฟาร์มปศุสัตว์ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สำคัญคือ การค้นพบว่าแมลงทหารเสือมีศักยภาพสูงมากในการเป็น “แมลงอุตสาหกรรม” ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันที่สกัดได้จากตัวอ่อนแมลง ทหารเสือ ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จนได้รับการกล่าวถึงในลักษณะของ “ความลับแห่งความงาม” ที่สามารถสร้างมูลค่าที่ต่อยอดได้สูงมากในธุรกิจการผลิตวัตถุดิบส่งให้กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยซากแมลงที่เหลือจากการสกัดน้ำมันนั้นมีส่วนประกอบของสารอาหารสำคัญคือโปรตีน ที่สามารถใช้เป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ได้ ทำให้กระบวนการผลิตแมลงวันทหารเสือในเชิงอุตสาหกรรมกลายเป็นระบบการผลิตแบบ Zero-waste ได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในมิติต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน แห่งภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช สาขาวิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หากโลกนี้ไม่มีแมลง?
คำถามของนักกีฏวิทยากับคุณค่าของแมลง
ในฐานะนักกีฏวิทยา ดร.จิราพร ได้เปิดโลกของแมลงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แมลงเป็นสัตว์ที่มี จำนวนมากที่สุดในโลก และมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้มากกว่าที่ใครจะคาดคิด แม้แต่แมลงวันหัวเขียว ที่คนรังเกียจ และมองว่าเป็นพาหะของเชื้อโรค แต่ในทางการแพทย์ ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในการประมาณระยะเวลาเสียชีวิตของศพได้ โดยดูจากวัยของหนอนแมลงวันที่อยู่ในซากศพ เป็นต้น
“แมลงเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ แต่ให้ประโยชน์แก่โลกของเรามากมาย หากไม่มีแมลงผสมเกสร อะไรจะเกิดขึ้นกับโลก ที่จริงแมลงมีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่เรามักจะมองแต่โทษว่าแมลงเป็นศัตรูพืชที่ทำลายกัดกินพืชผักผลไม้ ทำให้ผลผลิตเสียหาย แต่ว่านั่นเป็นแค่โทษภัยเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ของแมลง ที่มีมากมายมหาศาล ทั้งนี้อยู่ที่เราจะมีมุมมองอย่างไร
แมลงที่เป็นโทษก็คือ แมลงที่เข้าไปทำลายพืชเศรษฐกิจ ซึ่งแท้จริงแล้วมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของชนิดแมลงทั้งหมด และยังถูกจำกัดจำนวนโดยกลไกตามหลักของความสมดุลธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือแมลงด้วยกันเอง เราเรียกแมลงเหล่านี้ว่า แมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช แมลงศัตรูธรรมชาติที่กัดกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร เราเรียกว่าตัวห้ำ แมลงที่ดูดกินเลือดเนื้อของแมลงศัตรูพืช คล้าย ๆ กับพยาธิหรือปลิงที่ดูดกินเลือดของสัตว์ เราเรียกว่าตัวเบียน แมลงเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญมากในระบบนิเวศ ตามธรรมชาติ ในการสร้างความเสถียรของสมดุลธรรมชาติให้คงอยู่และมีความยั่งยืน ผ่านระบบโครงข่ายของสายโซ่อาหารที่สลับซับซ้อนมาก
จะเห็นว่าแมลงมีประโยชน์หลายด้าน จุดที่สนใจคือ กลุ่มแมลงที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์...”
นี่จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญลำดับต่อมาของนักกีฏวิทยา คือ ทำอย่างไรให้แมลงเหล่านี้สร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ได้มากที่สุด? จึงเป็นที่มาของการเพาะเลี้ยงแมลงอุตสาหกรรม เช่น ไหม ผึ้ง จิ้งหรีด และ แมลงทหารเสือ เป็นต้น โดยแมลงอุตสาหกรรมเหล่านี้ ควรมีศักยภาพที่สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ โดยไม่ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายนักกีฏวิทยาให้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบบริหารจัดการระบบการผลิต ให้มีความสมบูรณ์ ต่อเนื่อง และครบวงจร โดยผ่านองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมลง เช่น พฤติกรรมของแมลง สรีรวิทยา ชีวเคมี โภชนาการ ฯลฯ ที่ประมวลออกมาเป็นบทสรุป และ ใช้ในการออกแบบระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมจนสามารถเพาะเลี้ยงได้เป็นจำนวนมาก เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้
ไขความลับแห่งความงาม
จากแมลงอุตสาหกรรมสู่กีฏสำอาง
ปัจจุบันเทรนด์ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในตลาดโลก กำลังให้ความสนใจกับสารสกัดจากแมลง ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ และมีการค้นพบว่าในแมลงทหารเสือมีสารสำคัญชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่ต้องการ ในอุตสาหกรรมอาหารเสริมและเครื่องสำอางอย่างมาก โดยผลการวิจัยในทางเภสัชวิทยาพบว่า ในตัวอ่อนของแมลงทหารเสือ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยสารสำคัญ ได้แก่ โอเมก้า 3, 6, 9 ซึ่งเป็น กรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กรดลอริก มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดที่เป็นสาเหตุการเกิดสิว รวมถึงต้านอนุมูลอิสระ ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ ในแมลงทหารเสือ ยังมีสาร ฟอสโฟลิปิด (phospholipid) ที่ทำให้สารประกอบต่าง ๆ สามารถซึมผ่านผิวได้ดี และนำพาตัวยา ที่ใช้ในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
ด้วยคุณประโยชน์ที่ค้นพบในแมลงทหารเสือนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองเห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรม จึงได้ดำเนินงานโครงการวิจัยด้านแมลงที่พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยผลักดันนวัตกรรมจากแมลงทหารเสือเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ความงาม และอาหารสัตว์ ภายใต้แผนงานสเปียเฮด (Spearhead program) ตามแนวทางด้านเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ซึ่งเป็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้สูงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้
โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เวชสำอางครบวงจรจากแมลงทหารเสือ ได้รับความร่วมมือจาก คณะวิชาต่าง ๆ หลากหลายสาขาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่คณะเกษตรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมหาแนวทางการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อให้แมลงเจริญพันธุ์ได้ดี รวมทั้งปรับสูตรอาหารเพื่อให้ตัวอ่อนมีสีขาว น้ำมันมีคุณภาพ ใส และมีกลิ่นลดลง จากนั้นจึงไปสู่กระบวนการทำแห้ง และการสกัดน้ำมัน โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร และส่งต่อไปทำการวิจัยที่คณะเภสัชศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ เพื่อนำ สารสกัดน้ำมันและสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบมาดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไปผลิตเป็นกีฏสำอางจากแมลงทหารเสือได้ 11 ตำรับ มีทั้งเครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติป้องกันสิว ให้ความชุ่มชื้น และลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดที่สามารถสกัดจนได้น้ำมันคุณภาพดีและตรงตามที่ตลาดต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กระบวนการเหล่านี้ต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้ง เช่น เรื่องอาหารของแมลง ซึ่งส่งผลต่อสีและกลิ่นของน้ำมันสกัดโดยตรง ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร ได้เล่าถึงความพิถีพิถันเรื่องอาหารในการเพาะเลี้ยงแมลงทหารเสือว่า ต้องมีการพัฒนาสูตรอาหารที่มีความจำเพาะเจาะจงมากสำหรับการเลี้ยงแมลงทหารเสือที่นำไปใช้ในการผลิตกีฏสำอาง
“สมมติถ้าวันนี้เราเลี้ยงแมลงด้วยผัก อีกวันเลี้ยงด้วยผลไม้ น้ำมันที่สกัดได้ก็จะไม่เหมือนกัน เราจึงต้องมองให้ออกว่าเราจะเอาไปใช้ในรูปแบบไหน เมื่อโจทย์มาด้วยเรื่องเครื่องสำอาง เราต้องหาอาหาร ที่สะอาด ต้นทางที่จะเอามาเลี้ยงจะต้องสะอาด เราต้องหาหลายวัตถุดิบที่จะนำมาจัดการ และให้เขาเจริญเติบโต จนได้สูตรที่มีความจำเพาะนี้ขึ้นมา ส่วนการเพาะเลี้ยงของเราเป็นการเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนอัจฉริยะ ระบบอีแวป (Evap) มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ภายในสภาพแวดล้อมที่มีระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำเพื่อเพิ่มความชื้น คุมเรื่องอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม แต่กว่าจะผ่านการทดสอบได้ต้องลองผิดลองถูกมากพอสมควร ครั้งแรกสุดที่ส่งไปสกัด น้ำมันที่ได้เป็นสีคล้ำ คณะเภสัชฯ และแพทย์ ได้มีข้อคิดเห็นกลับมาว่า ทำอย่างไรให้สีไม่คล้ำ เพราะถ้าเครื่องสำอางมีสีอย่างนี้คนไม่ชอบ เรื่องของกลิ่นก็เช่นกัน เราก็ต้องมาปรับ ต้องทำอย่างไรให้ได้ตามข้อเสนอแนะ เราจึงย้อนกลับมามองจุดตั้งต้น และคิดสูตรอาหารที่เราใช้เลี้ยง จนได้สูตรที่ทำให้สีของน้ำมันที่ได้มีความใสมากขึ้น”
โรงเรือนต้นแบบแมลงอุตสาหกรรม เพาะเลี้ยงแมลงทหารเสือ
กีฏสำอางจากแมลงทหารเสือ
นวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือ
กีฏสำอางสร้างความยั่งยืน
จากแมลงตัวเล็ก ๆ ที่ไม่น่าจะมีมูลค่าใด ๆ ขณะนี้แมลงทหารเสือที่ผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยง และศึกษาวิจัยต่าง ๆ ได้กลายเป็นกีฏสำอางที่มีคุณสมบัติโดดเด่น ได้แก่ การป้องกันการเกิดสิว ลดปัญหา ริ้วรอย และปัญหาฝ้า กระ ฯลฯ ส่วนในเรื่องอาการแพ้ หรือความปลอดภัยในเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ นั้น ผลิตภัณฑ์กีฏสำอางจากแมลงทหารเสือได้รับการการันตีมาตรฐาน ความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ในระดับสูง โดยผ่านมาตรฐานระบบการควบคุมคุณภาพและทดสอบความปลอดภัยจากห้องแล็บที่มีมาตรฐาน OECD GLP ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการเครื่องสำอาง ระดับโลก
นวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือสู่กีฏสำอาง จึงเป็นกีฏสำอางที่จะสร้างความยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่กระบวนการการเพาะเลี้ยง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและต้นแบบ การเพาะเลี้ยงไปสู่ชุมชน เพื่อเป็นอาชีพเสริมสำหรับเกษตรกร สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางอาหาร อย่างยั่งยืน อีกทั้งจะยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจภูมิภาค ที่สามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้อย่างทรงพลังสมชื่อ “แมลงทหารเสือ” ในอนาคตอย่างแน่นอน