CMU SDGs

CMU SDGs

ปทุมมา ดอกไม้ไทยในนวัตกรรมธรรมชาติ

จำนวนผู้เข้าชม : 7264 | 29 ก.ย. 2564
SDGs:
1 2 9 17

ปทุมมากระเจียว


ปทุมมากระเจียว


ทุ่งปทุมมา

       เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ดอก“ปทุมมา” ได้บานสะพรั่งอยู่ในกระถางที่เชิงบันไดชั้นล่าง ของกุฏิแห่งหนึ่งในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ความงามแปลกตาของดอกไม้นี้สะดุดตาสะดุดใจผู้พบเห็นอย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Chiangmai Pink ปทุมมาสายพันธุ์แรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในตลาดไม้ดอกอย่างงดงาม และได้รับความนิยมชมชอบจากคนทั่วไป โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต่อมาได้ขนานนามดอกไม้ไทยชนิดนี้ว่า Siam Tulip

    จุดเด่นของปทุมมาคือ รูปทรงก้านช่อดอกยาว และกลีบประดับซับซ้อนสวยงามที่ธรรมชาติ ได้สร้างสรรค์ไว้อย่างลงตัว ทุ่งปทุมมาที่เต็มไปด้วยดอกไม้สีสันสดใสแซมสลับกับใบไม้สีเขียวจึงดูคล้าย ทุ่งทิวลิปจนกลายเป็นที่มาของชื่อ Siam Tulip นั่นเอง

    ด้วยรูปทรงที่สวยงามและสีสันที่หลากหลายนี้เอง ทำให้ปทุมมาเป็นดอกไม้ที่ใช้ประโยชน์ ได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ปักแจกันสำหรับบูชาพระ ไม้กระถาง หรือใช้สำหรับตกแต่งสถานที่ ทำให้ปัจจุบันปทุมมาเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็นลำดับที่ 2 รองจากกล้วยไม้ และนอกจากไม้ตัดดอกแล้ว หัวพันธุ์ดอกปทุมมายังเป็นที่ต้องการในกลุ่มประเทศ ทางตะวันตก เช่น เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรไทยได้เป็นจำนวนมาก

    ปทุมมาและกระเจียว เป็นพืชพื้นถิ่น พบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ อยู่ในสกุลขมิ้น (Curcuma) สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 33 ชนิด แบ่งเป็น 2 สกุลย่อย ได้แก่ กระเจียว และปทุมมา ดังนั้น จึงมีการเรียกชื่อดอกไม้ชนิดนี้อย่างหลากหลาย อาทิ กระเจียวปทุม กระเจียวบัว บัวสวรรค์ และปทุมมา ในปัจจุบันจะพบว่าในตลาดมีปทุมมาอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์แท้ดั้งเดิม และพันธุ์ลูกผสม

     แต่กว่าจะเป็นดอกปทุมมาที่พร้อมส่งความสวยงามออกสู่สายตาชาวโลก เบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเทในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี ของคณาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้ “ปทุมมา” เป็นดอกไม้ไทยที่บานสะพรั่งไปทั่วโลกในปัจจุบัน


ปทุมมาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์ฯ บ้านไร่

ปทุมมาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์ฯ บ้านไร่

จากดอกไม้ถวายพระสู่นวัตกรรมธรรมชาติ

     ดอกปทุมมาเป็นไม้ดอกไทยที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพระยา วินิจวนันดร บิดาของวงการพฤกษศาสตร์ไทย ซึ่งได้สำรวจและเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้จากทั่วประเทศ ต่อมาดอกไม้จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ได้มางอกงามอยู่ที่เชียงใหม่ เนื่องจากภริยาของพระยาวินิจวนันดร ได้นำไปถวายแด่พระวินัยโกศล แห่งวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร (อดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เดินทางมารับราชการครูที่โรงเรียนหอพระ และได้รู้จักกับ คุณหญิงบุพพัณห์ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นผู้พาอาจารย์พิศิษฐ์ไปกราบ พระวินัยโกศล (จันทร์ กุสโล) ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ ได้รู้จักดอกไม้ไทยรูปทรงแปลกตา ซึ่งพระวินัยโกศลให้ชื่อว่า “ปทุมมา”

    11 ปีต่อมา เมื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และเข้ารับราชการ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2511 “ปทุมมา” ได้กลายเป็นดอกไม้ที่วางขายที่ตลาดบางแห่งในเมืองเชียงใหม่แล้ว จนกระทั่งต่อมาเมื่อท่านได้เปิดสอนวิชาไม้ดอกไม้ประเภทหัว (Bulbs Tubers and Corms) ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จึงได้เก็บรวบรวมพันธุ์ปทุมมาจากทั่วประเทศ คัดเลือก และจัดคู่ผสมสายพันธุ์ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ อาภาวัชรุตม์ และ อาจารย์ ดร.ฉันทนา สุวรรณธาดา จนกระทั่ง เมื่อมีการก่อตั้งศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาสายพันธุ์ปทุมมาจึงเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยการนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนแรก ต่อเนื่องมาสู่ รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ อาภาวัชรุตม์ และ ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา ร่วมรังษี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนปัจจุบัน

     ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา เป็นผู้หนึ่งที่มองเห็นพัฒนาการของปทุมมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ร่วมกับคณาจารย์มาโดยตลอด ทำให้สามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจเสมอว่า “ไม้ดอกนี้เกิดจาก มช.”

    “เมื่อไรที่ดิฉันสอนวิชาพืชสวน กับวิชาไม้ดอกไม้ประเภทหัว พอพูดถึงปทุมมาก็จะเล่าให้นักศึกษาฟังทุกครั้งว่าอาจารย์พิศิษฐ์ไปพบที่ไหน? อย่างไร? พวกเราต้องภูมิใจนะว่าไม้ดอกนี้เกิดจาก มช. ทำให้เกษตรกร มีรายได้ เราไม่ได้พูดว่าดอกไม้ทุกดอกที่เกษตรกรผลิตคือ มช. แต่เราพูดว่า ถ้าอาจารย์พิศิษฐ์ไม่หยิบปทุมมามาพัฒนาจนกระทั่งสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ ก็จะไม่เกิดธุรกิจปทุมมาเกิดขึ้นในวันนี้ จึงสามารถพูดได้ว่า ปทุมมาเกิดจากพลังของอาจารย์ มช.ค่ะ

     ณ ปัจจุบันอาจารย์จากหลายสถาบันได้ปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาเป็นพันธุ์สวย ๆ มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ที่มีคนเข้ามาทำงานตรงนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในหลวง รัชกาลที่ 9 รับสั่งกับอาจารย์พิศิษฐ์ว่า งานนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ให้ขยายงานไปให้มาก ให้หาคนมาช่วยทำงานเพิ่ม ช่วยให้ถึงประชาชน 4 ข้อ ที่ท่านรับสั่ง เราก็เดินบนเส้นทางนี้ตลอดมา...” ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา ร่วมรังษี อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
งานวิจัยที่ส่งถึงมือราษฎร

     บนเส้นทางของการพัฒนาปทุมมาในประเทศไทยนั้น มีสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นเหมือนอาณาจักรเล็ก ๆ ของปทุมมา ที่ได้รับการขนานนามว่า “ราชินีป่าฝน” นั่นคือศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 32 ไร่ ในตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ซึ่งนักวิชาการของศูนย์ฯ และของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันพัฒนาปทุมมา แกลดิโอลัส พืชกลุ่มกระเจียว และไม้ดอกเมืองร้อนอื่น ๆ เพื่อให้ “งานวิจัยส่งถึงมือราษฎร” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

     ปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทยในเวลานั้นคือ ไม่สามารถเข้าถึงพันธุ์พืชที่มีคุณภาพได้ แนวทางหนึ่ง ในการพัฒนาการเกษตรตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือทรงแนะนำให้ใช้หลักวิชาการ ที่ถูกต้องในการพัฒนาพันธุ์พืช และส่งให้ถึงมือประชาชน โดยใน พ.ศ. 2523 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 80,000 บาท ให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ ดำเนินการคัดเลือกพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล และทำแปลงสาธิตที่บ้านไร่ ตำบลบ้านแหวน เริ่มจากแกลดิโอลัสที่นำไปให้ชาวบ้านทดลองปลูกที่อำเภอจอมทอง จนต่อมาจอมทอง ได้กลายเป็นแหล่งปลูกแกลดิโอลัส และชาวบ้านสามารถส่งขายที่ปากคลองตลาดได้ เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทราบเรื่องดังกล่าว ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่อำเภอจอมทอง ใน พ.ศ. 2528 จึงได้รับสั่งกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ว่า “งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยกันให้มากขึ้น ช่วยให้ถึงประชาชน”



พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร

โรงเรือนผลิตปทุมมาและกระเจียวนอกฤดู

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

     ด้วยเหตุนี้ ภารกิจหลักของศูนย์ฯ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือ ศึกษาทดลอง วิจัยไม้ดอกที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้ และนำงานวิจัยนั้นขยายผลสู่ราษฎร โดยยึดพระราชดำรัสดังกล่าวเป็นเข็มทิศ ด้วยวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ
     1. ช่วยให้ราษฎรมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น
     2. ช่วยแก้ปัญหาด้านการผลิตไม้ดอกไม้ผลของกลุ่มชาวบ้านเดิมให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น
     3. กลุ่มชาวบ้านในโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน
     4. อนุรักษ์ไม้ดอกพันธุ์ดีของไทยมิให้สูญพันธุ์

     ที่นี่จึงเป็นศูนย์วิจัยไม้ดอกที่มีผลงานโดดเด่นมาก โดยเฉพาะการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์แกลดิโอลัส และไม้ดอกไทยที่มีศักยภาพในตลาดโลกอย่างปทุมมา ซึ่งเป็นไม้ดอกที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ ได้เป็นผู้ริเริ่มคัดเลือกพันธุ์ และนำไปศึกษาการเจริญเติบโตที่ห้วยทุ่งจ๊อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ฯ บ้านไร่ ตามลำดับ จากนั้นปทุมมาสีชมพูในชื่อ Chiangmai Pink ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ เป็นผู้คัดเลือกพันธุ์ ได้เข้าสู่ตลาด และได้มีการส่งออกเหง้าของปทุมมาพันธุ์นี้ไปต่างประเทศครั้งแรก คือที่ประเทศญี่ปุ่น ในราว พ.ศ. 2528 นับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ “ปทุมมา” จึงเป็นที่รู้จักในตลาดโลกจนถึงปัจจุบัน

    วันนี้ภารกิจการส่งต่องานวิจัยให้ถึงมือราษฎรของศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ขยายผลสู่เกษตรกรรายใหญ่และรายย่อย ที่นำปทุมมาไปปลูกเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พะเยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ยะลา และนราธิวาส โดยในปี 2563 สามารถสร้างรายได้รวมกว่า 18 ล้านบาท เป็นข้อพิสูจน์ว่า งานวิจัยของนักวิชาการ ในมหาวิทยาลัย ได้ช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง และตลาดปทุมมายังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกปทุมมาปีละประมาณ 30-40 ล้านบาท และตลาดโลก มีความต้องการหัวพันธุ์ปทุมมาไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

     อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของดอกไม้ในตลาดโลก ก็เปรียบเสมือนเทรนด์ของแฟชั่นที่ไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น นักวิจัยจึงต้องติดตามความเป็นไปของตลาดอยู่เสมอ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.โสระยา ได้ให้ความเห็นว่า ปทุมมายังคงมีศักยภาพในตลาดโลก และการสร้างความยั่งยืนได้นั้น ทุกฝ่ายต้องไม่หยุดพัฒนา

    “ถ้าตราบใดที่พืชตัวไหนยังขายได้ เกษตรกรไม่มีทางเลิก นั่นหมายความว่าเราจะต้องติดตามตลาดอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ ทำให้พืชตัวนี้มันยืนยงและกว้างขวางยิ่งขึ้น หมายถึงการไปเปิดตลาด ในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ก็เข้ามาช่วยกันขายของให้มากขึ้น ตลาดปทุมมาอาจไม่ใหญ่เท่าทิวลิป แต่ว่ามันก็คล้าย ๆ กัน วิธีการก็คือ มันอยู่ในตลาดโลกแล้ว แต่ถ้าเราผลิตตัวใหม่ได้เรื่อย ๆ มันก็จะยังคงอยู่ แบรนด์ปทุมมานี้ตลาดโลกรู้จักแล้ว แต่คุณสร้างอะไรใหม่ ๆ ไหม? ถ้าปทุมมายังเป็น ‘Chiangmai pink’ แบบเดิม ความนิยมก็อาจลดลงเรื่อย ๆ จึงเป็นโจทย์ที่นักวิจัยต้องนำมาคิดอยู่เสมอ”

    จากดอกไม้ในกระถางที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ในวันนี้ “ปทุมมา” เดินทางมา ไกลมากจากจุดเริ่มต้น ทั้งการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้มีความสวยงามและหลากหลาย และการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการผลิต โดยศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถปลูกปทุมมานอกฤดูกาลได้โดยไม่ต้องพักตัวในฤดูหนาวตามธรรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถกำหนดวันที่จะออกดอกได้ตามความต้องการของผู้ปลูกได้อย่างน่าทึ่ง

     ปทุมมาที่ศูนย์ฯ บ้านไร่แห่งนี้ จึงเป็นนวัตกรรมธรรมชาติจากฝีมือมนุษย์ ผสานกับ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ไม่เพียงแต่ทำให้โลกได้เห็นความงามอันหลากหลายของปทุมมา ที่ชุบชีวิตชีวาให้แก่ผู้คน แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social