CMU SDGs

CMU SDGs

เมื่อดอกสักบาน ณ ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์

จำนวนผู้เข้าชม : 2696 | 01 ต.ค. 2564
SDGs:
1 2 3 4 9 11

      ภาพที่โดดเด่นบนตราและเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือช้างชูคบเพลิงในวงกลม สีม่วง แต่หากลองสังเกตให้ดี จะพบภาพวาดดอกสักดอกเล็ก ๆ อยู่บนตราและเครื่องหมาย เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์

      “ดอกสัก” เป็นดอกไม้กลีบสีขาวนวลของต้นสัก ซึ่งเป็นต้นไม้เศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ เวลานี้ดอกสักได้ถูกนำมาตีความใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโลโก้ “ล้านนาสร้างสรรค์” ซึ่งจะสร้างอัตลักษณ์และภาพจำเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำต้นทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาล้านนามาอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

      โลโก้ล้านนาสร้างสรรค์นี้ ออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งรับผิดชอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุกล้านนาสร้างสรรค์ ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564) ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ยังรักษาการผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Center: CLC) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์” ซึ่งในอนาคตจะเป็นพื้นที่แห่ง การเรียนรู้ สถานที่อบรม และเปิดกว้างทางความคิดสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รักษา สืบสาน และ ต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมล้านนามีความร่วมสมัยมากขึ้น และกลับมามีชีวิตชีวา อีกครั้ง




“รูปสัญลักษณ์”
กระบวนการออกแบบและที่มาของโลโก้ ล้านนาสร้างสรรค์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์

“สี่แจ่งล้านนา”
เปิดมุมมองใหม่จากอดีตสู่ปัจจุบัน


      ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาเรียนรู้ไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ในวันนี้ผู้สนใจใฝ่หาความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมล้านนา ก็อาจไม่ต้องเดินเข้าไปศึกษาถึงในรั้วมหาวิทยาลัยเหมือนในอดีต เพียงแค่คลิกที่ creativelanna.cmu.ac.th เว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลาง รวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็สามารถเข้าถึง “คลังความรู้ล้านนา” และนำไปใช้ประโยชน์ได้

      “คลังความรู้ล้านนา” เป็นตัวอย่าง 1 ใน 4 ของ “สี่แจ่งล้านนา” มุมมอง และกลยุทธ์ใหม่ 4 ด้านภายใต้ยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ ที่มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 8 ด้าน มาจัดกลุ่มอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อยอดเป็นแผนกลยุทธ์ “สี่แจ่งล้านนา” เพื่อตอบโจทย์การนำวัฒนธรรมล้านนามาอยู่ในวิถีชีวิตของคน และสภาพแวดล้อมสังคมปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

       แจ่งที่ 1 ภูมิปัญญาล้านนา เป็นศูนย์กลางการรวบรวมผลงานวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับล้านนาคดีศึกษาทั้ง 8 ด้าน ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว สนับสนุนด้านงบประมาณแก่บุคลากรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำโครงการวิจัย โครงการวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับภูมิปัญญาล้านนา ที่สามารถเป็นต้นแบบในการสร้างนวัตกรรม หรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น

แจ่งที่ 2 คลังความรู้ล้านนา เป็นสารบบด้านล้านนา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Biodiversity, CMU Lanna Portal) นำเสนอและเล่าเรื่องภูมิปัญญาด้วยสื่อสมัยใหม่ (Story Telling) เข้าใจง่าย รวมทั้งรวบรวมผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ โดยนำองค์ความรู้ด้านล้านนาที่มี ความหลากหลายนี้ เผยแพร่สู่สาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ www.creativelanna.cmu.ac.th


    แจ่งที่ 3 ล้านนาสร้างสรรค์ เป็นการนำภูมิปัญญาและคลังความรู้ล้านนามาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม หรือธุรกิจเกิดใหม่ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและคุณค่าได้ นำทักษะ ภูมิปัญญา ทักษะงานช่างด้านต่าง ๆ ของชุมชนล้านนา มาพัฒนาต่อยอด ร่วมกับการออกแบบหรือบูรณาการศาสตร์ ทั้งภูมิปัญญาเดิม ร่วมกับองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ ตอบโจทย์รสนิยมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ มีการจัดอบรม เพิ่มพูนความรู้ ประกวดผลงาน จัดแสดง สร้างกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และต้นแบบ หรือการอบรม ที่นำไปสู่การผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ (Hight touch + High tech) สร้างนวัตกรรม



    แจ่งที่ 4 ภูมิทัศน์วัฒนธรรมล้านนา สร้างศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สถานที่อบรม สร้างสรรค์ และต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาล้านนาดั้งเดิม และสร้างบรรยากาศของล้านนาสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นด้วยการจัด Creative Lanna Event เช่น Lanna Festival เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ รวมทั้งมีแนวคิดในการสร้าง Lanna Creative District หรือ “ย่านล้านนาสร้างสรรค์” โดยใช้ต้นทุน ในความเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองเชียงใหม่ และย่านนิมมานเหมินท์


     กลยุทธ์สี่แจ่งล้านนานี้ ได้เปิดมุมมองใหม่แก่สาธารณะ เพื่อการสื่อสารที่สำคัญของการขับเคลื่อนวิถีแห่งล้านนา วัฒนธรรมล้านนาไม่ใช่เรื่องของการศึกษาและวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในโลกปัจจุบัน และสามารถนำมาผสมผสาน ต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัยได้ ขอเพียงเปลี่ยนมุมคิดจากกรอบเดิม ๆ มาสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ร่วมสมัยเท่านั้น

สร้างของ-ปั้นคน
สร้างนวัตกรรมจากภูมิปัญญาล้านนา

     ภูมิปัญญาล้านนาที่สั่งสมมากว่า 700 ปีนั้น ย่อมมีของดีอยู่มากมาย แต่จะทำอย่างไรจึงจะนำของดีเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ต่อยอดให้เกิดคุณค่าและมูลค่าในโลกปัจจุบันได้ นี่คือคำถามที่นำไปสู่การคิดต่อ และ เป็นที่มาของโครงการ Creative Lanna League เพื่อ “สร้างของ” โดยศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการโครงการผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Seminar Workshop) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจ โดยทีมที่คัดสรรแล้วว่า แผนธุรกิจจากภูมิปัญญาล้านนามีพื้นฐานที่มีโอกาสที่จะพัฒนา มีความร่วมสมัย ผลจากโครงการนี้ทำให้ เกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากภูมิปัญญา ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันให้มีความเป็นไปได้ ในเชิงธุรกิจ


การจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้ความรู้ในโครงการส่งเสริมศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ
ผ่านกระบวนการคิดและพัฒนาธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ “Lanna Essence Workshop”



ผู้เข้าร่วมโครงการ Creative Lanna League

     อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การ “สร้างของ” ก็คือ การ “ปั้นคน” ที่มีของดีอยู่แล้ว แต่ยังขาดองค์ความรู้ ที่จำเป็นในการต่อยอด โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านกระบวนการคิดและพัฒนาธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ “Lanna Essence Workshop” ที่ส่งเสริมการ “ปั้นคน” โดยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการออกแบบผลิตภัณฑ์ล้านนาสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการคิดและพัฒนาธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือศิษย์เก่าที่มีความสนใจด้าน การออกแบบ มาร่วมค้นหาแนวทางต่อยอดอัตลักษณ์ท้องถิ่น สู่งานออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการคิดแบบ Design Thinking จุดประกายความคิด พัฒนางานออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้า เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้สอย Design Trend และแนวคิดการสร้างสรรค์ให้โดนใจลูกค้า


ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากโครงการ Lanna Essence Workshop

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ได้อธิบายถึงแนวคิดการ “สร้างของ” และ “ปั้นคน” ว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการทั้ง 2 มิติ เพราะทั้งสองปัจจัยนี้จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อการขับเคลื่อนพัฒนาภูมิปัญญาล้านนาได้จริง

     “จุดประสงค์ของ Lanna League คือเปิดโอกาสให้คนที่อยากทำงานสร้างสรรค์ได้มาทำงานร่วมกัน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีภูมิปัญญาอยู่ สามารถไปจับกลุ่มกับเพื่อน 3 คนขึ้นไป แล้วเสนอ Proposal หรือนวัตกรรมต้นแบบ แล้วก็คัดคนเหล่านี้เข้ามาอบรมเรื่องการออกแบบและการตลาด ผลก็คือ บางคนที่จบ วิจิตรศิลป์ มีความรู้เรื่องศิลปะ แต่ขายไม่เป็น เมื่อไปร่วมทีมกับเพื่อนที่จบบริหารธุรกิจที่ทำการค้าเป็น ก็ทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง พัฒนากระบวนการคิดได้ครอบคลุม บางคนมี passion ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ได้รู้ว่าจะนำความชอบของตัวเองไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร เช่น น้องเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง ชอบทำหัวน้ำหอมโดยใช้กลิ่นจากพืชพรรณในพื้นถิ่นล้านนา หรือบางคนก็นำดอกไม้ที่เหลือจากการบูชาครูบาศรีวิชัยมารีไซเคิลใหม่เป็นผ้ามัดย้อม

     ส่วน Lanna Essence คือการสร้างคนที่พื้นฐานครอบครัวมีองค์ความรู้เรื่องของงานฝีมือล้านนาอยู่ แต่รุ่นเขาไม่ได้สืบทอดตรงนี้แล้ว หรืออาจเป็นเจ้าของร้านขายยาสมุนไพรล้านนา แต่ไม่รู้จะทำต่ออย่างไร เพราะว่าผลิตภัณฑ์แบบเก่า ๆ ขายไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่สร้างคน สร้าง Business Model โดยการจัดฝึกอบรมคล้าย ๆ Lanna League แต่ตรงนี้เขาจะต้องเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้มีความร่วมสมัย และเข้าสู่ตลาดได้ ทั้งสองโครงการนี้ คือกลยุทธ์ล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ล้านนา ที่สามารถสืบสานและต่อยอดได้ ไม่ตายไปพร้อมกับอดีต”

ดอกไม้ที่เหลือจากการบูชาครูบาศรีวิชัย นำมารีไซเคิลใหม่เป็นผ้ามัดย้อม



คณะวิจิตรศิลป์ มช. ร่วมสร้างสรรค์ผลงานบนผนังศาลาวัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

     นอกจากนี้ กลยุทธ์ล้านนาสร้างสรรค์ ยังสามารถสร้างความเคลื่อนไหวในท้องถิ่น อาทิ โครงการศิลปกรรมชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอสันป่าตอง (Street Art) ซึ่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณตามยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ จนสามารถร่วมพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดตลาดพื้นบ้าน ที่ชุมชนชาวไทเขิน แถบวัดศรีนวรัฐ หรือวัดทุ่งเสี้ยว ซึ่งมีการจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญา โดยแปรคุณค่าทุน ทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นตลาดวัฒนธรรม “กาดก้อม กองเตียว” ที่มีเสน่ห์อย่างยิ่งสำหรับผู้มาเยือน ชุมชนสามารถสร้างรายได้โดยอาศัยรากหรือต้นทุนทางวัฒนธรรมในการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ชุมชนได้

ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์
ในภูมิทัศน์วัฒนธรรมล้านนา


     บรรยากาศและสถานที่ที่เปิดกว้างสำหรับงานสร้างสรรค์ มีความสำคัญอย่างมากต่อพลังแห่ง การสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในบริบทของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนาน รวมทั้งมีชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจ นักออกแบบ และช่างฝีมือเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ดำเนินโครงการจัดสร้างศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ หรือ Creative Lanna Center (CLC) ตามกลยุทธ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรมล้านนาขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สถานที่อบรม สร้างสรรค์ และต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาล้านนาดั้งเดิม

      ขณะนี้ ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ณ บริเวณข่วงพะยอม ในพื้นที่ใกล้เคียงกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั่นคือ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา และหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของเชียงใหม่ จึงเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไปสู่ Lanna Creative District หรือ “ย่านล้านนาสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นแนวคิดในการเชื่อมโยงเรื่องราวของพื้นที่ในย่านที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมเข้ากับกลไกในการส่งเสริมธุรกิจ และการวางผังแม่บท ร่วมไปกับการพัฒนาเมืองและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้พื้นที่ในบริเวณนี้สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้

     ในอนาคต ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ จะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการ “ปล่อยของ” สำหรับทุกคนที่มีไฟ ในการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับล้านนา ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักออกแบบสร้างสรรค์ นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษา ในบรรยากาศของย่านล้านนาสร้างสรรค์ ที่มีการกำหนดแผนงานอย่างชัดเจน เช่น การจัดนิทรรศการงาน Lanna Festival เพื่อให้เป็นงานประจำปีที่อยู่ในปฏิทินการเดินทางของนักท่องเที่ยวและ ผู้ที่สนใจ และสร้างตลาดนัดเชิงวัฒนธรรม (Cultural Market) เพื่อตอบโจทย์ของคนรักงานฝีมือในทุกช่วงวัย เป็นต้น

      ขณะนี้ ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จ ปลายปี 2565...เมื่อถึงเวลานั้น ความงดงามของศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะกลับมาอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน อีกครั้ง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ผสานรวมกับภูมิปัญญา นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมร่วมสมัยที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ของสังคมล้านนาและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน...เช่นเดียวกับ ดอกสัก-สัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ ที่จะบานสะพรั่ง และเป็นภาพจำของศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์แห่งนี้ตลอดไป



แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social