มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ ที่เป็นมากกว่าแค่สถานที่ให้ความรู้ แต่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แสดงความเป็นตัวเอง และมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่สนใจและให้ความสำคัญกับทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และเพศทางเลือกต่างๆ และเรื่องของความแตกต่างของเพศ ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อโอกาสทางการศึกษา หรือมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่อยากเรียนของแต่ละคน ทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีการดำเนินงานที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เปิดกว้างและยอมรับในความหลากหลาย
รับนักศึกษาหญิงผ่านโครงการ Women in Engineering
ในทุกปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีการรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรีผ่านระบบ TCAS ในโควต้า “Women in Engineering” โดยในโควต้านี้ เน้นส่งเสริมให้นักศึกษาหญิงได้มีโอกาสเข้าเรียนในสาขาวิชาสาย STEM มากขึ้น เพิ่มความหลากหลายของนักศึกษา ของความคิดใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น เพราะตามสถิติทั่วโลก สาขาวิชาสาย STEM มีสัดส่วนนักศึกษาชายมากกว่านักศึกษาหญิงอย่างเห็นได้ชัด โครงการนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อลดปัญหาความแตกต่างในส่วนนี้
ศูนย์สตรีศึกษา
ศูนย์สตรีศึกษา อยู่ในสังกัดของคณะสังคมศาสตร์ มหาวทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 เพื่อสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิสตรี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเผยแพร่ความรู้ต่อประชาชน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่ทำงานเพื่อการพัฒนาสตรี
ศูนย์สตรีศึกษามีทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งทุนอุดหนุนการเสนอผลงานทางวิชาการ และทุนอุดหนุนการตีพิมพ์บทความของนักศึกษา รวมถึงทุนของคณะสังคมศาสตร์ม ทุนของบัณฑิตวิทยาลัย และทุนจากหน่วยงานภายนอก
ตัวอย่างโครงการของศูนย์สตรีศึกษา
กิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับสิทธิสตรี หรือความแตกต่างทางเพศ
ตลอดทั้งปี ศูนย์สตรีศึกษา ร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิสตรี จะมีการจัดกิจกรรมเสวนา พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสิทธิสตรี หรือความแตกต่างทางเพศ การรักษาสิทธิของตัวเอง การรู้เท่าทันและการรับมือในเรื่องต่างๆ โดยนอกเหนือจากพูดถึงเรื่องของเพศชายและหญิงแล้ว ยังรวมถึงเพศทางเลือกอื่นๆ อีกด้วย เช่น กิจกรรม Genders Talk, Gender Seminar เป็นต้น
โครงการ “เสริมสร้างสมรรถภาพสตรีและเด็กผู้หญิงในการลดความรุนแรงบนฐานทางเพศสภาพและส่งเสริมความยินยอมทางเพศในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย”
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (FOCUS) จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม Focus Group Discussion ในหัวข้อการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ภายใต้โครงการ “เสริมสร้างสมรรถภาพสตรีและเด็กผู้หญิงในการลดความรุนแรงบนฐานทางเพศสภาพและส่งเสริมความยินยอมทางเพศในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย” เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็กและผู้หญิงที่มักมีสาเหตุเกิดจากความแตกต่างของบทบาททางเพศ (Gender-Based Violence) และส่งเสริมวัฒนธรรมการยินยอม (Culture of Consent) ในกลุ่มผู้เปราะบาง ได้แก่ เด็กผู้หญิง สตรี LGBTI และผู้เห็นเหตุการณ์ โดยเชิญชวนนักศึกษาหญิงมาร่วมพูดคุย หรือเสนอแนะผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว
ตัวอย่างโครงการของคณะ/ส่วนงานอื่นๆ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ““การพัฒนาศักยภาพผู้นำหญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Women Capacity Building for Change)”
ศูนย์นวัตกรรมรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับ International Republic Institute (IRI) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพผู้นำหญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Women Capacity Building for Change)” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ที่ช่วยให้สตรีในชุมชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำ การคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนานโยบายและการจัดทำโครงการ นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชุมชนของตน โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์, ผศ.ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร, อ.ดร.ฉัตรทิพท์ ชัยฉกรรจ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดารารัตน์ คำเป็ง และกลุ่มผู้นำสตรีจากหลากหลายชุมชนทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมงาน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-9 ธันวาคม 2566 ณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงแรม Brique Hotel จ.เชียงใหม่
รายงานการดำเนินงานโครงการ (PDF) -> Women Capacity Building for Change Activity Report 7 - 9 December 2023
กิจกรรม CMU Pride 2023
ช่วงวันที่ 26 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ (CCARC CMU) และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม CMU Pride 2023 เนื่องในเดือนแห่งความภาคภมิใจด้านความหลากหลายทางเพศ “Pride Month” โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ งานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “Gender Equality in Education and Workplace" แลกเปลี่ยนเรียนรู้โลกแห่งความต่างอย่างลงตัวในองค์กรที่คนหลากหลายมาอยู่ร่วมกัน แบ่งปันความคิดเห็นผ่าน Post-It ตอบคำถามเล่นเกมส์ชิงรางวัล ขบวนเดินพาเหรดฉลอง Pride Month และไฮไลท์ของงานคือการประกวดแต่งกาย Fashion Show ในธีม “Pride” ปลดปล่อยอิสระความเป็นตัวเองอย่างงดงามและสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เข้าร่วมประกวด สามารถมาได้จากทุกเพศ ทุกวัย ทุกความหลากหลาย
Source:
ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Department of Women's Studies CMU
รูปภาพกิจกรรมอบรม "การพัฒนาศักยภาพผู้นำหญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Women Capacity Building for Change)