CMU SDGs

CMU SDGs

มช. ร่วมมือกับ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าฟางข้าว แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เกษตรกรและชุมชน พร้อมลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

จำนวนผู้เข้าชม : 1342 | 08 ต.ค. 2564
SDGs:
7 9 13 17

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมมือกันดำเนินโครงการ “การเพิ่มมูลค่าฟางข้าวด้วยนวัตกรรมการผลิตแผ่นเยื่อฟางข้าวและวัสดุก่อสร้างมวลเบาเพื่อลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมในภาคเหนืออย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากนักวิจัยหลายหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคเหนือ และสถาบันนโยบายสาธารณะ โดยมีศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการประสานงานกับกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อส่งต่อและขยายพื้นที่ในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวในการลดปัญหาหมอกควันในภูมิภาค


    นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวสู่เกษตรกรและชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยกิจกรรมหลักภายใต้โครงการจะเป็นการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นักวิจัยได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมา จากการผลิตเส้นใยฟางข้าวอัดแผ่นเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์ และการผลิตวัสดุก่อสร้างมวลเบารูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสร้างแนวทางในการกำหนดนโยบายในการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ลดภาวะมลพิษที่เกิดจากการเผาฟางในพื้นที่เป้าหมาย ไปพร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากของไทยให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio Economy) โดยโครงการนี้จะสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหลือใช้ในแปลงนาให้เป็นศูนย์ (zero waste) จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการจากการเผาฟางข้าวของเกษตรกรมาเป็นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Circular Economy)




    การลงนามจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี และคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ผู้แทนสภาเกษตรกร 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ และ น่าน) รวมถึงคณาจารย์ นักวิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social