CMU SDGs

CMU SDGs

ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรฯ ลดขยะให้เหลือศูนย์ - เพิ่มมูลค่าเป็นพลังงาน

จำนวนผู้เข้าชม : 9248 | 08 ต.ค. 2563
SDGs:
7 9 13

-


ภาพขยะที่โรงคัดแยกของศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้ อาจไม่สวยงาม และเป็นภาพที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเห็น แต่ภาพนี้อาจทำให้เราหันกลับไปมอง “ถังขยะ” ในบ้านของเรามากยิ่งขึ้นก็เป็นได้

ทุก ๆ วัน จะมีรถขยะของเทศบาลนำขยะมาส่งที่โรงคัดแยกฯ ของศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร วันละประมาณ 15 ตัน ขยะทั้งหมดมาจากชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 46,000 คน จึงมีขยะหลากหลายประเภท ทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง เศษวัสดุต่าง ๆ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นขยะประเภทใดก็ตาม เมื่อเดินทางมาถึงศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร และเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการแล้ว ก็จะได้รับการเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า “ชีวมวล” ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกริ่นนำให้ฟังว่า

“โรงชีวมวลเป็นชื่อที่เราตั้งขึ้นเพื่อทำให้ฟังดูเป็นมิตร แต่คุณสมบัติจริง ๆ ของที่นี่ก็คือ โรงงานบริหารจัดการขยะนั่นเอง การที่เราตั้งชื่อแบบนี้ เพราะเราเชื่อว่า การที่คุณเรียกมันว่าขยะ เพราะมันดูสกปรก น่ารังเกียจ ไม่น่าแตะต้อง แต่ถ้าเมื่อไรที่คุณจัดการของที่เหลือกินเหลือทิ้งพวกนี้ได้ดีพอ มันไม่ใช่ขยะ มันคือ ชีวมวลและวัสดุมีคุณค่ามากมายหลายชนิด รอให้เราไปใช้ประโยชน์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี
 ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร
อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU) ตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบครบวงจร ด้วยแนวคิด Zero Waste หมายถึง การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เหลือขยะที่นำไปกำจัดน้อยที่สุดจนกลายเป็นศูนย์ ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ยังเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานนำกลับมาใช้ต่อไปได้อีกด้วย

ถามว่าทำไมต้องกำจัดขยะให้เหลือศูนย์? คำตอบก็คือ เมื่อเราทิ้งขยะแล้ว มันไม่ได้หายไปจากโลกนี้ในทันที แต่อาจไปสร้างปัญหาใหญ่หลวงที่ปลายทางอย่างที่เราคาดไม่ถึง...

การฝังกลบขยะ = ระเบิดเวลาใกล้ตัว

ปัจจุบันปัญหาขยะมูลฝอยก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การฝังกลบขยะ ซึ่งหากยังไม่มีระบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ ย่อมเกิดความเสียหายใหญ่หลวงขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน และจะกลายเป็นเรื่อง “สายเกินแก้” ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า การฝังกลบขยะนั้น เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปได้พอ ๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

“ปัญหาคือประเทศไทยตั้งแต่อดีตเราเชื่อว่าเรามีที่ดินเยอะ ประเทศอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งเขาเดือดร้อนเรื่องนี้มานาน เขาไม่มีทางที่จะเปิดหลุมฝังกลบขยะได้ ขณะที่ประเทศไทยทุกวันนี้ก็ยังจัดการขยะด้วยวิธีแบบนี้อยู่ 90% ถึงแม้จะมีนโยบายตั้งโรงไฟฟ้าขยะขึ้นมาก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยัง ฝังกลบอยู่ การจัดการขยะแบบนี้เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด การฝังกลบก็คือการไปหาที่ดินที่คิดว่าไกลผู้คน ขุดดินดี ๆ พื้นที่ใหญ่ ๆ เป็นร้อย ๆ ไร่ ขุดดินออกไปขาย เป็นบ่อใหญ่ ๆ แล้วก็เอาขยะไปฝัง สุดท้ายมันจะเดือดร้อนเมื่อฝนตก แล้วก็เป็นน้ำชะเน่าเหม็น ถ้ามันกักเก็บได้ก็ดีไป แต่ถ้ากักเก็บไม่ได้ก็ไป ลงแหล่งน้ำ ควบคุมไม่ได้ คราวนี้จะเดือดร้อนกันหมด สมมุติแหล่งน้ำผลิตน้ำประปา มันมีปัญหาเรื่องโลหะหนักปนเปื้อนขึ้นมา ก็จะเดือดร้อนกันหมด โดยเฉพาะเมื่อเมืองขยายตัวออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายหลุมขยะเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบกับชุมชนอย่างแน่นอน

ที่สำคัญมันกลายเป็นความเคยชินที่อันตราย และถ้าเรารอจนถึงวันที่เราไม่มีพื้นที่ที่จะฝังแล้ว ผมว่ามันอาจจะสายเกินแก้”

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มียุทธศาสตร์เชิงรุกในด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และได้สั่งสมองค์ความรู้ในด้านก๊าซชีวภาพ และพลังงานทุกแขนงมายาวนาน ในนามของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร เพื่อรองรับปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชนมหาวิทยาลัย สร้างจิตสำนึกให้แก่นักศึกษาและบุคลากร รวมทั้งเป็นต้นแบบให้แก่ภาคประชาสังคมว่า การบริหารจัดการขยะและ เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง...ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Zero Waste ปรับมุมคิด - เปลี่ยนมุมมองเรื่องขยะ

สร้าง mindset ใหม่ให้ชาว มช.


การคัดแยกขยะเป็นต้นทางการบริหารจัดการขยะที่สำคัญมาก โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาและบุคลากรในการคัดแยกขยะ ด้วยการแบ่งขยะเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1. ขยะทั่วไป / ขยะเปียก (ทิ้งลงในถังขยะสีน้ำเงิน) 2. ขยะรีไซเคิล / ขยะขายได้ / ขยะแห้ง (ทิ้งลงในถังขยะ สีเหลือง) 3. ขยะอินทรีย์ หรือเศษอาหาร กาก ไขมัน น้ำมันทอด (ทิ้งในโรงอาหาร และห้องเตรียมอาหาร) 4. ขยะอันตราย / ขยะติดเชื้อ (ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ทิ้งลงในถังขยะสีแดง ส่วนขยะติดเชื้อที่เกิดจากการใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ คัดแยกในถุงถังขยะสีแดง รวบรวมโดยพนักงาน ทำความสะอาด) 5. ขยะชีวมวล (หมายถึง เศษหญ้า เศษไม้ - นำส่งโรงชีวมวลฯ )  6. เศษวัสดุก่อสร้าง / โฟม (ส่งให้เทศบาลนำไปกำจัด)

รูปแบบการจัดขยะใน มช. จากคู่มือการจัดการชีวมวลครบวงจรที่แจกให้แก่นักศึกษาและบุคลากร

“ทุกวันนี้ถังขยะในบ้าน ถ้าเราไม่ทิ้งทุกวัน เรายังรังเกียจมันเลยใช่ไหมครับ เริ่มเหม็นแล้ว แค่มัดถุงเรายังไม่อยากทำ เมื่อไรที่เราสร้างวินัยว่า แยกสิ สมมุติบ้านอาจจะมีสวนเล็ก ๆ ก็ไปใส่ไว้ในสวน กองไว้ในสวน เอาใบไม้กลบมันทุกวัน ถุงอื่น ๆ ที่มันอยู่ในบ้านมันก็ไม่เน่าครับ คุณจะทิ้ง 3 วัน ค้างมันก็ไม่เน่า เศษกระดาษเศษอะไร คุณก็ทิ้งไปตามปกติ แต่เมื่อไรที่คุณทิ้งรวมกันนะครับ วันรุ่งขึ้นคุณจะไม่อยากไปเหยียบถังขยะ หรือเปิดฝาขึ้นมามันต้องมีอะไรแน่ หลักการแยกขยะมีแค่นี้เองครับว่า รู้จักมันแล้วแยกมันออกจากกัน

...มาตรการแยกขยะใน มช. จริง ๆ มันมีมานาน แต่บางคนทำ บางคนไม่ทำ เมื่อก่อนทำเพราะว่า ได้ประโยชน์บางอย่าง เช่น โรงอาหาร เมื่อก่อนที่มีการแยก เพราะจะมีคนมาซื้อไอ้ถังเศษอาหารไปเลี้ยงหมู ไปทำอาหารสัตว์ต่อ เพราะขายได้ถึงแยก ไม่มีใครมาบังคับให้ทำ แต่สิ่งที่เหลือล่ะ มันก็ยังเป็นภาระอยู่ มช. ก็จ่ายค่ากำจัดขยะไป แล้วมันก็จะหายไปจากหน้าเรา เราก็เลยมาถามตัวเองว่า มันไปไหนครับ ก็พบว่ามัน ก็ต้องไปฝังกลบ

เพราะฉะนั้น มช. ต้องชี้นำสังคมในเรื่องนี้ เราต้องทำก่อน มันจะใช้เงินเยอะ ขาดทุน คุณก็ต้องทำก่อน เราจะได้ตัดวงจรการเอาขยะไปฝัง มช. เริ่มปฏิบัติการวันดีเดย์เมื่อสองปีครึ่งมาแล้ว เมื่อเราเปิดโรงขยะนี้ ขยะทั้งหมดจะมาอยู่ที่นี่ก่อน อย่าเพิ่งส่งไปฝัง แน่นอนบางส่วนมันยังต้องไปฝัง เช่น ขยะที่เราไม่สามารถกำจัดเองได้บางส่วน แต่หลังจากที่คัดแยกแล้ว เราพยายามทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ แต่เป้าก็คือ จากที่ฝัง 100 เราจะเหลือฝังแค่ 5 แล้ว 5 นั้นต้องไม่เป็นพิษใด ๆ เลยด้วย”

นอกจากการคัดแยกขยะ มช.ยังสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะในวิถีชีวิตประจำวันของนักศึกษาและบุคลากร เช่น การทิ้งเศษอาหารในถังที่เตรียมไว้ หลังจากรับประทาน แล้วเสร็จทุกครั้ง

“เป็นสิ่งที่เราตั้งใจ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เราบอกว่า เรามีหน้าที่ผลิตบัณฑิตออกไป เขาจบการศึกษาออกไปคนหนึ่ง เขาก็ไปสร้างสังคมหนึ่ง ถ้าเขามี mindset ในเรื่องขยะแบบนี้ บัณฑิต 8,000 คนต่อปี ที่จบออกไป เขาก็ออกไปสร้าง 8,000 สังคมให้ยั่งยืนขึ้น

Zero Waste หมายความว่า เรารับผิดชอบต่อสังคมในเมืองของเรา สมมุติเรามอง มช. เป็นเมือง Zero Waste ก็แปลว่า คน กิจกรรมทุกอย่างในเมืองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้ก่อให้เกิดขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้เอาขยะไปฝัง หรือเอาไปพื้นที่ของตำบลอื่น แล้วบอกว่าฉันกำจัดขยะแล้ว คำพูดแบบนี้ไม่รับผิดชอบ หลัก Zero Waste ก็คือ ไม่มีขยะ แต่กลายเป็นกองวัสดุแต่ละประเภท แล้วเราก็นำไปใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับนักศึกษาและบุคลากร มช.ให้เข้าใจตรงกันว่า ถ้าเราไม่แยกขยะ มันก็จะเป็นกองขยะ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราแยก มันเป็นกองวัสดุแต่ละประเภททันที แล้วพอมันมี volume มันก็มี value ครับ คือเราบอกว่าเรามีเศษวัสดุ 1 ชิ้น จะให้เราไปขายอะไร ขายใคร มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องทิ้งอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีถุงล้านใบอยู่ในนี้ ขายได้ครับ ถ้าเป็นถุงล้านใบแล้วสะอาดด้วย ก็ขายได้แพงขึ้นไปอีก”

ใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณค่าและมูลค่า “ขยะ”

ขยะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปรียบได้กับเมืองมหาวิทยาลัยเมืองหนึ่งนั้น มีจำนวนไม่น้อยเลย โดยมหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ รวบรวมขยะทั้งหมดมาส่งยังมาศูนย์ฯ หลังจากนั้น จึงใช้เครื่องจักรในการคัดแยก เพื่อนำสารอินทรีย์ หรือเศษอาหารออกจากขยะแห้ง เพื่อนำไปหมักเป็น ก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทน ส่วนขยะที่เหลือ ก็สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นวัสดุอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ได้ต่อไป


รถขนขยะจาก มช.ประมาณวันละ 15 ตัน มาที่ศูนย์ฯ


ขยะที่ได้รับการคัดแยกแล้ว


ระบบคัดแยกขยะ จะใช้ระบบคัดแยกขยะเชิงกลกายภาพที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้คนงานน้อย ร่วมกับระบบคัดแยกขยะด้วยแรงงานคนบนสายพาน

ผลของการบริหารจัดการขยะ ทำให้ศูนย์ฯ สามารถลดปริมาณขยะที่ส่งไปฝังกลบได้ตามเป้าหมาย และสามารถบริหารจัดการขยะอื่น ๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของขยะ ได้แก่ เทคโนโลยีการคัดแยกขยะ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับหมักย่อยร่วม และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซ ไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยขยะทั่วไปจะถูกนำไปหมักย่อย เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถตู้สาธารณะ ขส.มช. เพื่อวิ่งรับส่งรับ – ส่งนักศึกษาและบุคลากร ในมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นพลังงานทดแทนที่มาจากขยะที่เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลจริง

“รถม่วง” วิ่งรับ - ส่งนักศึกษา มช.จากฝั่งสวนสักไปสวนดอก ใช้เชื้อเพลิงจากเทคโนโลยีการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG)


นอกจากนี้ยังมีการนำขยะส่วนอื่น ๆ ไปแปรรูปเป็นพลังงาน เช่น ขยะพลาสติกได้นำไปแปรรูป เป็นเชื้อเพลิง RDF เป็นต้น และการนำขยะพลาสติกแปรใช้ใหม่ในรูปของส่วนผสมในการผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน บล๊อคปูพื้น และยางมะตอยชนิดผสมเสร็จ ใช้ซ่อมบำรุงถนนและลานจอดรถในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลการดำเนินงานสามารถผลิตแอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อนที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 12 ตันต่อปีผลิตบล๊อคปูถนนแอสฟัลต์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 6 ตันต่อปี และผลิตยางมะตอยชนิดผสมเสร็จที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกต้นแบบ 8 ตันต่อปี สามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกจากการคัดแยกของโรงชีวมวลครบวงจร และตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง zero wasteใช้เป็นส่วนผสมของยางมะตอยกับอิฐบล็อกปูพื้นถนน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองใช้ใน ศูนย์จัดการชีวมวลฯ แล้ว ส่วนขยะชีวมวลถูกนำไปใช้เป็นถ่านกัมมันต์และเชื้อเพลิงอัดแท่ง กากไขมันถูกนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงดีเซล เป็นต้น

ถนนลาดยางมะตอยที่ทำจากขยะพลาสติก นำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ ได้ขยายความในเรื่องการนำขยะมาแปรเป็นพลังงานว่า นี่คือการตอบโจทย์สำคัญ ของการนำขยะมาสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืน

“โรงงานนี้มีหน้าที่คัดแยกก่อน แล้วก็นำขยะที่ได้ไปแปรรูป ไปผลิตไฟฟ้า ไปทำเชื้อเพลิง ไปทำอิฐ ปูถนน อย่างขยะที่เราต้องการฝังแต่มันหลอมได้ จะเอาไปทำอะไรดี ก็ไปทำบล็อกปูถนนสิ มันก็ฝัง เหมือนกันนะ แต่ฝังแบบมีประโยชน์ด้วย เป็นก้อนอิฐตัวหนอนปูถนน มีพลาสติกอยู่ข้างใน แข็งแรงขึ้นด้วย ถูกลงด้วย ตอนนี้เรากำลังทำบล็อกปูถนน ทำวิจัยเสร็จแล้ว กำลังซื้อเครื่องทำบล็อกอยู่ คาดว่าจะจำหน่าย ในปีหน้า แล้วก็ทำยางมะตอย คือ มช.ต้องซ่อมถนนอยู่แล้ว เราก็ให้คนที่มารับจ้างเรา เอาพลาสติกปนเข้าไปเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ ตามสูตรที่เรามีงานวิจัยรองรับ เดี๋ยวเราคัดแยกให้อย่างดี พลาสติกส่วนหนึ่งก็ถูกฝังอยู่ใต้พื้นถนน ไม่ต้องไปถึงหลุมฝังกลบ พลาสติกส่วนหนึ่งที่เขารับซื้อ แน่นอนพอเราล้างแล้วเราก็ขาย ขวดล้านใบ ถุงล้านใบ พอมันมี volume เราต่อรองได้ครับว่าเราได้ราคาเท่านั้นเท่านี้ ส่วนอื่น ๆ ที่เป็นของ ที่เน่าเสียได้ หลักเดียวคือ เราอย่าไปปล่อยให้มันเน่า มันเสีย เอามาหมักก่อนเลย พอมาหมักแบบนี้เราก็ได้ ก๊าซมีเทน ก๊าซชีวภาพที่เป็นเชื้อเพลิง มันเป็นกระบวนการทางธรรมชาตินะ เหมือนไปขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมา พวกนี้เน่าเสียแล้วมันก็สะสมอยู่ใต้ดิน มันคือก๊าซธรรมชาติเลย ก็เอามาใช้ครับ

ส่วนน้ำมัน แทนที่จะไปเททิ้งให้มันเป็นปัญหา ก็เอามาแปรรูปเป็นไบโอดีเซล ศาสตร์นี้ไม่มีอะไรใหม่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แค่จัดการมันให้ดี อย่าให้มันดูสกปรกน่ารังเกียจเท่านั้นเอง พอมันไม่น่ารังเกียจ ชุมชนเขาจะมาต่อต้านอะไร มันดีกับชุมชนเขา แล้วเผลอ ๆ เรามีเงินเหลือก็ไปพัฒนาชุมชนเขาได้”

คงไม่มีสิ่งใดจะใช้วัดความสำเร็จของการทำงานนี้ได้ดีเท่ากับตัวเลขของการลดปริมาณการกำจัดขยะแบบกลบฝัง และการผลิตพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้น โดยศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร สามารถผลิต ก๊าซชีวภาพได้วันละกว่า 900 ลูกบาศก์เมตร นำไปปรับปรุงคุณภาพและผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์ฯ 5,200 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CBG สำหรับรถยนต์ปีละ 18,000 กิโลกรัมต่อปี และที่สำคัญคือ สามารถลดปริมาณการกำจัดขยะแบบฝังกลบและเผาได้ 4,050 ตันต่อปี ลดการฝังกลบ ขยะเปียกและเศษอาหารได้ 500 ตันต่อปี และลดการฝังกลบกากไขมันได้ 125 ตันต่อปี

ต้นแบบที่ทำได้จริง

ตอบโจทย์การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน



ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ตั้งอยู่บนพื้นที่ไร่แม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นศูนย์แรกในประเทศไทยที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร โดยได้รับงบประมาณแผ่นดินราว 80 กว่าล้านบาท ผลที่ได้รับคือ นอกจากการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนแล้ว ที่นี่ยังเป็น “ต้นแบบที่ทำได้จริง” ให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้


ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

“หลัก ๆ ของโรงไฟฟ้าชีวมวลมันคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม พลังงาน เป็นการตอบโจทย์ความยั่งยืนหลายข้อ เพราะฉะนั้น เรามองว่า มช.รับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม ในบริบทตัวเอง เราได้ทำให้เห็นแล้วว่าแบบนี้ทำได้ แต่เป้าใหญ่คือ ภาคประชาสังคมต้องมาเรียนรู้เพื่อนำออกไปใช้ด้วย

...ทุกวันนี้โรงไฟฟ้าขยะ ไม่มีใครอยากได้ ลองไปประชาพิจารณ์ไม่มีทางผ่านได้เด็ดขาด แต่เมื่อไร ที่บอกว่ามันเป็นโรงไฟฟ้าที่เอาเชื้อเพลิงที่คัดแยกแล้ว จะกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง เชื้อเพลิงนี้มีอยู่ 3 อย่าง พลาสติก ไม้ ผ้า ยาง มีแค่นี้ เพราะของอย่างอื่นเขาขายได้ เขาไม่ส่งมาเผาหรอก พอมันเกิดข้อความนี้ ก็แปลว่าโรงขยะนี้มันไม่ใช่โรงขยะ มันเป็นโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่คัดแยกแล้ว มันก็จะเกิดการยอมรับขึ้นในภาคสังคม เราอยากจะส่งข้อความแบบนี้ออกไปว่า อย่าไปทู่ซี้ว่าอยากจะตั้งโรงไฟฟ้าขยะ ถึงเกิดก็ไม่ได้รับความร่วมมือ เราต้องยกระดับองค์ความรู้ตรงนี้ เอาบริบทพลังงานมาต่อเชื่อมกันหลาย ๆ ส่วน มีโรงคัดแยก ส่วนที่ส่งไปเผามันเป็นส่วนที่ไปกองแล้วไม่เน่าไม่เหม็น ไปเป็นเชื้อเพลิงได้ โรงไฟฟ้าขยะก็ไม่ได้รับการต่อต้านจากชุมชน

...ยอมรับว่าการทำตรงนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ถ้าจะสร้างใหม่เลยก็อาจต้องใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท แต่ถามว่าคุ้มไหม คือ ถ้าสิ่งแวดล้อมมันเสียหาย ขยะปนเปื้อนในน้ำที่เราจะต้องกิน เท่าไรก็ไม่คุ้ม เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำแม้ว่าจะขาดทุน อย่าง CBG เราทำเพราะต้องการบอกโลกนี้ว่าคุณอยู่ได้นะ ถ้าไม่มีน้ำมัน โรงขยะขาดทุนไหม แน่นอนครับ แต่ มช.ก็จะทำเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม แล้วเราก็อยากจะบอก ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยว่า คุณเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่าคิดเรื่องความคุ้มค่า ที่คุณไปฝังกลบ ถ้ามันมีผลขึ้นมา มันเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ และแก้ไม่ได้ด้วย แต่อย่างน้อย มช.ก็ทำ เราพยายามแล้ว ทำดีที่สุดแล้ว และเราไม่อยากได้ยินคำว่า ‘รู้อย่างนี้...’ ซึ่งราคาแพงมากนะครับ”

ภาพขยะที่โรงคัดแยกของศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังคงไม่สวยงาม และเป็นภาพที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเห็น เช่นเดียวกับถังขยะในบ้านของแต่ละคน ซึ่งเป็น สิ่งสะท้อนได้ดีที่สุดถึงพฤติกรรมการทิ้งขยะ และความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราทิ้ง...

และเมื่อไรที่เราเปลี่ยนให้ “ขยะ” เป็น “ชีวมวล” ได้ นั่นคือการไม่ทิ้งภาระให้แก่ผู้อื่น และโลกใบนี้

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social