CMU SDGs

CMU SDGs

นาโซฟอร์ม นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต

จำนวนผู้เข้าชม : 4171 | 01 ต.ค. 2564
SDGs:
3 9 10 11 17







“นโม” บุคคลสำคัญในกระบวนการออกแบบและพัฒนานาโซฟอร์ม

           เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า “รอยยิ้มที่สวยงามที่สุดในโลกคือรอยยิ้มของเด็ก ๆ” น่าเศร้าที่เด็กบางคนกลัวการยิ้มเพราะพวกเขามีจมูกผิดรูป การยิ้มอาจทำให้ความผิดปกตินี้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น

          เด็กเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับปากและเพดานปากที่สร้างไม่สมบูรณ์ ทำให้พวกเขามีปัญหาใบหน้าผิดปกติ และ ช่องปากช่องจมูกเชื่อมต่อกันผิดปกติ จึงอาจต้องเผชิญกับปัญหา อาทิ ใบหน้าผิดปกติ อาหารขึ้นจมูก หายใจทางปาก สูญเสียการได้ยิน พูดไม่ชัด ฟันซ้อนเก ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้พวกเขาต้องการการผ่าตัดแก้ไขหลายครั้งและต้องการการรักษาระยะยาวโดยทีมแพทย์สหาขาวิชาชีพตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ 20 ปี แน่นอนว่าในระหว่างนั้นพวกเขาจึงต้องได้รับผลกระทบทั้งกายและใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

         ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยและครอบครัวเท่านั้นที่บ่นว่า “เหนื่อย” กับการรักษา หลายครั้งแพทย์ก็ยังรู้สึกท้อใจกับผลลัพธ์ของการรักษา โดยเฉพาะปัญหาจมูกล้มภายหลังการผ่าตัดแก้ไข นั่นหมายความว่าการผ่าตัดครั้งนั้นล้มเหลวไปโดยปริยาย ความไม่ประสบผลสำเร็จนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมในเวลาต่อมา โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ศูนย์บูรณะช่องปากและใบหน้า คณะทันตแพทยศาสตร์, ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ และ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี จนกระทั่งต่อมาอุปกรณ์นาโซฟอร์มประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจมูกล้มภายหลังการผ่าตัดแก้ไขและลดความต้องการการแก้ไขปากจมูกซ้ำ ใน พ.ศ. 2556

           ด้วยเหตุนี้ เด็กภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ที่ใช้อุปกรณ์นาโซฟอร์มจึงไม่อยู่ในข่ายของเด็กที่กลัวการยิ้ม เมื่อใดก็ตามที่มาพบทันตแพทย์ที่ศูนย์บูรณะช่องปากและใบหน้า พวกเขาจะยิ้มอย่างมีความสุขขณะมองภาพของตนเองที่อยู่บนผนัง โดยเฉพาะ นโม วัย 9 ขวบ ผู้มีรูปถ่ายที่โดดเด่นพร้อมกับคำบรรยายว่า “ไม่มีผม ไม่มีแม่ อาจไม่มีนาโซฟอร์มนะครับ”







รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว นโม และคุณแม่ (พิมพ์ลักษณ์ อินทรชูศรี)

           เด็กเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างและความเหมือนระหว่างตัวเขากับคนอื่นเมื่ออายุ 1 ปี ความแตกต่างนี้อาจทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเองที่จะก้าวออกสู่สังคมเพื่อมีเพื่อนใหม่ เพื่อเลี่ยงสถานการณ์นี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาบนใบหน้าให้สำเร็จก่อนที่พวกเขาจดจำมันได้ จากนั้นจึงค่อย ๆ แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ภายหลังในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขาเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับเด็กอื่น

          บุคคลสำคัญในกระบวนการออกแบบและพัฒนานาโซฟอร์มคือ นโม ซึ่งปัจจุบันอายุ 8 ปี นโมได้รับการผ่าตัดแก้ไขปากจมูกและเพดานปาก เมื่ออายุ 8 เดือน หลังผ่าตัดทารกน้อยจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์เฝือกดามจมูกเป็นเวลา 6 เดือน ชิ้นแรกใส่ให้ในห้องผ่าตัด แต่น่าเศร้าที่อุปกรณ์หลุดออกทันทีหลังฟื้นจากการดมยาสลบและต้องทำชิ้นที่สองหลังผ่าตัด อย่างไรก็ตามอุปกรณ์อยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่ชั่วโมงก็หลุด เพราะนโมไม่อยู่นิ่ง คุณแม่นั่งมองลูกและคิดว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่ลูกจะใส่อุปกรณ์ได้ตลอดทั้งวันตามที่คุณหมอแนะนำ ต้องทำอย่างไรดี ถ้าทำไม่ได้นโมก็ต้องกลายเป็นเด็กจมูกบี้เหมือนเด็ก ๆ ที่เคยเห็นนั่งรอในห้องตรวจผู้ป่วยนอกศัลยกรรมตกแต่ง” คุณแม่จึงลองทำตามที่คิดหลาย ๆ วิธี สุดท้ายก็สำเร็จด้วยการใช้ลวดคล้องไว้กับขอบด้านข้างของอุปกรณ์ทำให้มีลักษณะเป็นตะกร้าใส่จมูกที่แขวนไว้กับหน้าผากด้วยเทป วิธีการนี้ทำให้นโมใส่อุปกรณ์ได้นานขึ้น นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของการออกแบบประดิษฐ์และพัฒนาอุปกรณ์นาโซฟอร์ม โดย รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว การรับฟังและคิดตามคำบอกเล่าจากคุณแม่ของน้องนโม (พิมพ์ลักษณ์ อินทรชูศรี) ได้นำมาสู่การสร้างสรรค์อุปกรณ์รูปแบบใหม่ ที่สามารถช่วยนโมและเด็กอื่น ๆ ที่ประสบกับปัญหาลักษณะเดียวกัน ช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสมีใบหน้าที่เป็นปกติตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กเล็ก

          “พอถึงวันนัด คุณแม่ก็มาเล่าให้ฟัง พอได้ฟังก็นำวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในคลินิกมาประกอบเป็นอุปกรณ์ให้นโมใช้ทันที ตอนนั้นใช้เทปแปะบนหน้าน้องจนเต็มไปหมดเพื่อยึดอุปกรณ์ไม่ให้หลุด หลังจากนั้นก็ปรับแล้วปรับอีกหลายครั้งมาก ๆ เพื่อให้นาโซฟอร์มทำหน้าที่ได้ดีขึ้น กล่าวได้ว่าพัฒนาการของนาโซฟอร์มดำเนินไปพร้อม ๆ กับนโม และเด็กอีกหลายคนที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขปากจมูกโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤษณ์ ขวัญเงิน องค์ความรู้ที่สกัดได้จากครอบครัวหนึ่งถูกนำไปใช้กับอีกครอบครัวหนึ่ง ทีมของเราเก็บรวบรวมข้อมูลการรักษาและคัดเลือกเทคนิกและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวน้องใหม่

        จากประสบการณ์การใช้นาโซฟอร์มรุ่นบุกเบิก แม้ว่ารูปร่างหน้าตาของมันจะขี้เหร่มาก แต่ก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้หลุดพ้นจากการมีตำหนิบนใบหน้าที่บ่งชี้ถึงการมีภาวะความพิการแต่กำเนิดปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ขณะนี้พวกเขาอายุ 8-9 ขวบ มีความร่าเริงแจ่มใส มีหน้าตาเป็นปกติ จึงอนุมานว่าเด็กที่ใช้นาโซฟอร์มรุ่นใหม่ ที่ผ่านการปรับปรุงแล้วปรับปรุงอีก ก็น่าจะได้ผลลัพธ์เป็นที่พึงพอใจไม่น้อยกว่านี้” รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ กล่าว





รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว และ นาโซฟอร์ม

              ความเป็นธรรมชาติของจมูกภายหลังการปั้นแต่งด้วยนาโซฟอร์ม ได้ชักนำให้ทีมแพทย์ทำการพัฒนานาโซฟอร์มให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็เข้ามาดูแลด้านการต่อยอดนวัตกรรมและสนับสนุนการนำไปใช้ที่กว้างขวางขึ้น ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปกรณ์ประดิษฐ์เองได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้วยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในที่สุดก็มีบริษัทเอกชนได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีนาโซฟอร์มจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2562
 
             นาโซฟอร์มประกอบด้วย 3 ส่วน: ส่วนค้ำยันรูจมูกสองข้าง โครงลวด และปุ่มยึด ส่วนประกอบทั้งหมดสามารถปรับแต่งให้เป็นไปตามรูปจมูกของเด็กแต่ละคนได้ เพียงผูกแถบยึดเข้ากับปุ่มยึดแล้วนำไปติดลงบนหน้าผากด้วยเทปนาโซฟอร์มก็จะอยู่ในตำแหน่งและทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             แก่นความรู้ของนาโซฟอร์ม คือ วิชาทันตกรรมประดิษฐ์ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานของทันตแพทย์ เมื่อนำมาประกอบกับความรู้เรื่องการผ่าตัดแก้ไขปากจมูกทำให้เกิดเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมผลลัพธ์ของการผ่าตัดแก้ไขขึ้นมา นาโซฟอร์มช่วยให้เด็กภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการผ่าตัดแก้ไขปากจมูกครั้งแรก ลดความต้องการการผ่าตัดแก้ไขซ้ำ และผ่อนคลายปัญหาทางจิตสังคม ปัจจุบันมีทันตแพทย์ที่เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการนาโซฟอร์มปฏิบัติงานอยู่ในหลายโรงพยาบาลของประเทศไทย และมีเด็กหลายร้อยคนได้รับประโยชน์จากการใช้นาโซฟอร์ม

   
หนังสือนาโซฟอร์ม อุปกรณ์ปรับรูปจมูก และ คิวอาร์โค้ดสำหรับดาวน์โหลด
   
นาโซฟอร์มได้สร้างคุณค่าใน 3 ทางด้วยกัน หนึ่ง คือ คุณค่าในทางการแพทย์ ที่ช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จและลดการผ่าตัดซ้ำ สอง คือ คุณค่าในทางเศรษฐกิจ โดยลดงบประมาณทางการแพทย์ของภาครัฐ (การผ่าตัดแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000 บาท ด้วยจำนวนครั้งของการผ่าตัดที่ลดลงไปสองในสามจึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยภาครัฐถึง 66.67% แต่ละปีประเทศไทยมีทารกประมาณ 1,000 คนที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หากทุกคนมีโอกาสได้ใช้นาโซฟอร์ม ภาครัฐจะประหยัดงบประมาณสำหรับการผ่าตัดแก้ไขปากจมูกได้ถึง 70 ล้านบาท) สาม คือ คุณค่าทางสังคม ที่ช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสเปลี่ยนสถานะในสังคม  







นาโซฟอร์ม โดย รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤษณ์ ขวัญเงิน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง นวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ประจำปี พ.ศ. 2557

               ในกระบวนการรักษาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี เปรียบเสมือนการไต่บันไดแห่งอุปสรรคทีละขั้น การที่เด็กแต่ละคนจะเติบโตไปเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจได้ทุกย่างก้าวต้องทำอย่างมีสติรอบคอบและประณีต ความสำเร็จของนาโซฟอร์มที่เกิดขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก

               ปัจจัยแห่งความสำเร็จข้อแรก คือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างทีมแพทย์กับครอบครัวผู้ป่วย การให้ข้อมูลอย่างละเอียดถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้นาโซฟอร์ม และการส่งต่อการรักษาในช่วงเวลาทอง ปัจจัยข้อต่อมาคือ ทันตแพทย์เห็นความสำคัญของการรับฟังปัญหาในการจัดการกับอุปกรณ์ที่นำไปสู่การหาทางออกที่ใช้ได้จริง นอกจากนั้นการสื่อสารทางบวกที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจที่ส่งไปยังผู้ป่วยและครอบครัวได้นำไปสู่ปัจจัยข้อสุดท้าย คือ การให้ความร่วมมือในการใช้นาโซฟอร์มและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ปัจจัยทั้ง 3 ได้ก่อผลเป็นทัศนคติที่ดีต่ออุปกรณ์นาโซฟอร์ม ภาพของการเป็นเครื่องมือแพทย์ได้เปลี่ยนไปเป็นอุปกรณ์อันทรงคุณค่าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต

               รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว อธิบายความรู้สึกของเด็กต่อนาโซฟอร์มดังนี้

              “ไม่มีใครรู้สึกสบายขณะใส่นาโซฟอร์มครั้งแรก เปรียบได้กับประสบการณ์การใส่กางเกงของเด็ก ในช่วงต้นพวกเขาอาจมีปฏิกิริยาต่อต้านการใส่บ้าง หากกางเกงที่ใส่พอดีตัวไม่หลวมหลุดง่าย สักพักเขาก็จะเริ่มคุ้นชินและเรียนรู้ถึงประโยชน์ของการใส่มัน เป็นความรู้สึกเช่นเดียวกันกับที่พวกเขามีต่อนาโซฟอร์ม การชมว่าใส่แล้วหล่อ ใส่แล้วสวย รูปทรงจมูกพวกเขาจะเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ คำพูดเหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมแรงให้พวกเขาใส่นาโซฟอร์มตามที่ทีมแพทย์แนะนำ

              การคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่องอะไรไม่เป็นความจริง ง่ายมากที่จะทำให้นาโซฟอร์มหลุด ทำไมเขาจึงไม่ทำ มีเหตุผลเดียว คือ พวกเขาเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการใช้มัน กลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะนำพาให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ของตนเองและยอมรับการใส่นาโซฟอร์มเพื่อให้จมูกมีรูปทรงดีขึ้น ภารกิจนี้จะบรรลุผลได้สมาชิกในครอบครัวต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อทีมแพทย์ และมีความเชื่อมั่นใประสิทธิภาพของอุปกรณ์นาโซฟอร์ม

              งานนี้ไม่ใช่งานวิจัยพื้นฐาน แต่เป็นภารกิจสกัดองค์ความรู้ออกมาจากการรักษา ผลงานตีพิมพ์ในช่วงต้นจึงอยู่ในกลุ่มรายงานผู้ป่วย เนื้อหาเป็นการนำเสนอเทคนิคและวิธีการที่ทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการรักษาคือผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีใบหน้าที่เป็นปกติในช่วงต้นของชีวิตด้วยจำนวนการผ่าตัดแก้ไขปากจมูกที่น้อยครั้งที่สุด นี่เป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การรักษาที่สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ไปตลอดกาล นี่คือความฝันของนวัตกร” รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พนารัตน์ ขอดแก้ว กล่าวในท้ายที่สุด

               เพราะเหตุนี้ รอยยิ้มที่สวยงามที่สุดในโลกจึงเป็นรอยยิ้มของเด็กและครอบครัวที่มองย้อนกลับไปในอดีต เป็นรอยยิ้มแห่งความภูมิใจและรู้สึกได้รับพรเมื่อก้าวผ่านบันไดแห่งอุปสรรคไปทีละขั้น จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จกับอนาคตที่สวยงามซึ่งอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม



แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social