CMU SDGs

CMU SDGs

สืบสานอย่างสร้างสรรค์ ล้านนาปัจจุบันที่จับต้องได้

จำนวนผู้เข้าชม : 3257 | 20 ม.ค. 2564
SDGs:
1 2 3 9 11

สืบสานอย่างสร้างสรรค์ ล้านนาปัจจุบันที่จับต้องได้


     แผ่นกระเบื้องดินขอมุงหลังคาในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาเหล่านี้มีอายุกว่าหนึ่งร้อยปี ได้มาจากการรื้อเรือนเก่าที่มีผู้บริจาคให้แก่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นกระเบื้องแผ่นบางที่ทำจากดินเหนียวของอำเภอแม่เหียะ ซึ่งเป็นแหล่งดินคุณภาพดี เหมาะสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำคัญคือ ในกระเบื้องนั้นยังคงปรากฏลวดลายที่เป็นเสมือน “ลายเซ็น” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของช่างโบราณชาวแม่เหียะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

      กระเบื้องดินขอบางส่วนที่แตกหักและไม่สามารถซ่อมแซมได้เหล่านี้ ไม่ได้ถูกโยนทิ้งไป แต่ได้รับการจัดวางซ้อนกันไว้ใต้ถุนเรือนโบราณหลังหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อรอโอกาสนำกลับมาซ่อมแปงใช้ใหม่ นับเป็นความพยายามเล็ก ๆ ที่เรียบง่าย และเชื่อมโยงถึงการนำอดีตมาอยู่ในวิถีชีวิตของคนปัจจุบันอย่างกลมกลืนเท่าที่จะทำได้...ส่วนหนึ่งของความเป็นไปเหล่านี้ อาจสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในวันนี้ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังก้าวสู่ยุทธศาสตร์ “ล้านนาสร้างสรรค์” ที่จะทำให้องค์ความรู้ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ไม่ได้อยู่แต่เพียงในอดีต ในตำรา หรือผลงานวิจัยเท่านั้น แต่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนใน “ล้านนาปัจจุบัน” ด้วย

จากล้านนาคดีศึกษาสู่ “ล้านนาสร้างสรรค์”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุก ล้านนาสร้างสรรค์

      “ผมมองว่าถ้าวิถีชีวิตล้านนา หรือสิ่งดี ๆ ของล้านนา ไม่อยู่ในชีวิตของคนล้านนาปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ จะไม่ยั่งยืนและต่อเนื่องได้เลย...” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุก ล้านนาสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงนัยสำคัญของแนวคิดนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยมุมมองใหม่ที่ว่า วัฒนธรรมล้านนาไม่ใช่เรื่องของการศึกษาและวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องมีความเคลื่อนไหว สามารถต่อยอดให้มีความร่วมสมัย และจับต้องได้

      ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภาคเหนือ เป็นที่รวบรวม องค์ความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษาที่เข้มแข็งที่สุดก็ว่าได้ อันเป็นผลมาจากแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 11 ซึ่งทำให้เกิดยุทธศาสตร์ด้านล้านนา ที่มุ่งเน้นให้เกิดการค้นคว้าวิจัย ภูมิปัญญาล้านนาในอดีต และหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับ “ล้านนาคดีศึกษา” 8 ด้าน คือ 1. ภาษา วรรณกรรม และวรรณศิลป์ 2. โบราณคดีและประวัติศาสตร์ล้านนา 3. ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์ 4. ศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรี และนาฏยกรรม 5. สถาปัตยกรรม 6. การกิน การอยู่ เครื่องนุ่งห่ม 7. การแพทย์ล้านนา 8. มานุษยวิทยา รวมทั้งมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโท โดยความร่วมมือของ 4 คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์

     อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนเพื่อวางแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 พบว่า ที่ผ่านมา แม้การค้นคว้าวิจัยและการเรียนการสอนด้านล้านนาคดีศึกษาจะมีคุณภาพ แต่จำกัดอยู่ในผู้สนใจเฉพาะกลุ่ม และยังไม่ตอบโจทย์ของสังคมโดยรวมเท่าที่ควร โดยผลการประเมินที่ผ่านมานั้น มีผู้สมัครลงเรียนค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับแนวคิด เพื่อนำองค์ความรู้ล้านนาเหล่านี้ปรับใช้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการขับเคลื่อนให้เกิดพลวัต จากล้านนาคดีศึกษาสู่ “ล้านนาสร้างสรรค์”

     “ทำไมจาก ‘ล้านนาคดีศึกษา’ ที่ให้ความรู้สึกถึงงานวิจัยขึ้นหิ้ง กลายมาเป็น ‘ล้านนาสร้างสรรค์’ ด้วยการที่เราค้นพบว่า ล้านนาต้องอยู่ในวิถีชีวิตต่อยอดขึ้นห้างได้ และถ้าหากล้านนาอยู่แต่ในประวัติศาสตร์ อยู่แต่บนงานวิจัย อยู่แต่ตัวหนังสืออย่างเดียว มันก็จะเป็นเพียงวัฒนธรรมที่ตายแล้วเท่านั้น ที่ผ่านมา องค์ความรู้นี้จะมีคนที่สนใจอยู่เฉพาะกลุ่มเดียว อาจเป็นนักวิชาการหรือนักวิจัย หรือเฉพาะคนที่สนใจ ชอบเรื่องนี้ ดังนั้น มันก็จะเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงเฉพาะของนักการศึกษา นักวิจัยเรื่องของล้านนาคดีศึกษา แต่ไม่ตอบโจทย์ของสังคมหรือภาพรวมของมหาวิทยาลัย โจทย์และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยก็คือ จะทําอย่างไรให้สามารถสืบสานองค์ความรู้ล้านนาไว้ และต่อยอดให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น

     ดังนั้น เราจึงต้องทำองค์ความรู้ วิถีชีวิตของล้านนา วัฒนธรรมประเพณีล้านนา ให้อยู่ในวิถีชีวิตของ คนปัจจุบัน ให้เป็นล้านนาปัจจุบันที่มีชีวิต เพราะภูมิปัญญาอันดีงามเหล่านี้ เมื่อ 700 ปีก่อน เป็นความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา แต่สังคมของคน ณ วันนั้น กับสังคมของคน ณ วันนี้ เป็นคนละแบบแตกต่างกัน ผมก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราลองหาจุดที่เราอาจจะคิดไม่ถึง จึงเกิดการ Brain-storming ทำ Workshop ตามด้วยช่วยกันคิดหลายรอบจนค้นพบว่า คำว่า ‘ล้านนาสร้างสรรค์’ ควรจะเป็นคำสำคัญ (Key Word) ของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาล้านนาได้ดี ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำที่ให้พลัง สร้างแรงบันดาลใจ และมองเห็นภาพ บอกถึงการมุ่งไปข้างหน้า ที่จะทำให้วัฒนธรรมล้านนากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

“4 แจ่งล้านนา”
เพื่อตอบโจทย์ล้านนาร่วมสมัย



     “แจ่ง” ในภาษาล้านนา แปลว่า มุม (CORNER) ความหมายของ 4 แจ่งล้านนา เป็นการประดิษฐ์คำ ในนิยามของ “ล้านนาสร้างสรรค์” หรือ Creative Lanna ซึ่งหมายถึง มุมมองและกลยุทธ์ใหม่ 4 ด้านหลัก เพื่อให้วัฒนธรรมล้านนาอยู่ในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน โดยได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษา อันเป็นความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้ง 8 ด้าน มาจัดกลุ่มอย่างเป็นระบบ ด้วยวัตถุประสงค์ และดำเนินการต่อยอดจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์ “4 แจ่งล้านนา” อันได้แก่ ภูมิปัญญาล้านนา คลังความรู้ล้านนา ล้านนาสร้างสรรค์ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมล้านนา

      แจ่งที่ 1 ภูมิปัญญาล้านนา เป็นศูนย์กลางการรวบรวมผลงานวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับล้านนาคดีศึกษาทั้ง 8 ด้าน ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งกิจกรรมและการต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดคุณค่า มูลค่า เป็นล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติม และนำไปต่อยอดได้ ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
     
      “จากการทำแผนโดยระดมสมองระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการ ฯลฯ เราพบว่า เรามีจุดอ่อนหลายด้าน เช่น ในเรื่ององค์ความรู้ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าของศาสตร์ ของความรู้ มีนักวิชาการ มีนักวิจัยที่ค้นคว้าเรื่องล้านนาคดีศึกษาจำนวนมาก แต่ต่างคนต่างทำ และเก็บไว้ใน แหล่งข้อมูลที่ต่าง ๆ ของตนเอง มีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้น้อย มีข้อดีคือ มันจะดำรงอยู่ตรงนั้น แต่จะมีข้อเสียมากกว่า เพราะมันนำไปพัฒนาต่อยอดไม่ได้ สมมุติฐานว่า เหตุใดประเทศทางฝั่งตะวันตก มีการวิจัย และมีการต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างก้าวหน้า เพราะเขามีการค้นคว้า และนำความรู้เหล่านั้นมาสู่สาธารณะ ให้โอกาสมีการพัฒนาต่อยอด และกลายเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ๆ ได้ เนื่องจากเขาไม่ได้ไปเริ่มใหม่จากศูนย์ แต่เขาต่อยอดมาจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ หรือเขาบูรณาการจากหลาย ๆ ศาสตร์ ทำให้ความรู้ทางฝั่งตะวันตกพัฒนาได้อย่างเป็นระบบ

     พอเป็นดังนี้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลไว้ในที่เดียวกันเพื่อให้ศึกษาค้นคว้าต่อ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ คนเขาก็จะรู้ว่าควรจะมาศึกษาที่นี่ได้ ถ้าตรงไหนที่ควรจะต่อยอดได้เราก็จะให้ทุนวิจัย ให้การส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนวิธีการในการฝึกอบรม ผู้เรียนจะเรียนจากไหนก็ได้ เพราะเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ เรามี Film มี Clip คุณเข้ามาคลิกดู คุณก็สามารถเรียนรู้ได้ หรือคุณจะมาทำ Workshop 1 -3 วัน จบคอร์สนี้ครบจำนวนคอร์สก็เทียบกับ Certificate ได้ อันนี้เรากำลังดำเนินการอยู่ ผ่านวิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Education) ที่เรากำลังพัฒนาศูนย์การเรียนรู้อยู่ ก็จะเป็นภูมิปัญญาล้านนาที่สามารถเรียนรู้ได้จากหลายที่ และเรียนรู้ได้จากคน ทุกเพศทุกวัย คนเหล่านี้ก็จะเป็นคนที่จะมาต่อยอดภูมิปัญญาล้านนาของเรานั่นเอง”

     แจ่งที่ 2 คลังความรู้ล้านนา เป็นสารบบด้านล้านนา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Biodiversity, CMU Lanna Portal) และผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ โดยนำองค์ความรู้ ด้านล้านนาที่มีความหลากหลายนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ www.creativelanna.cmu.ac.th เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล และ New Media ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการศึกษาตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning Education (LE) รวมถึงการเรียนรู้จากทุกสถานที่ โดยใช้ Media Online เช่น CMU MOOC เป็นต้น

       แจ่งที่ 3 ล้านนาสร้างสรรค์ เป็นการนำภูมิปัญญาและคลังความรู้ล้านนามาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม หรือธุรกิจเกิดใหม่ (Spin off / Start up) ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น หัตถกรรม งานทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา งานไม้ งานแกะ งานลงรัก งานบุ เครื่องจักสาน ฯลฯ ที่มีความร่วมสมัย เป็นการนำทักษะภูมิปัญญางานช่างด้านต่างๆ ของชุมชนล้านนา มาพัฒนาต่อยอดร่วมกับการออกแบบปัจจุบัน สมัยใหม่ ตอบโจทย์รสนิยมและ วิถีชีวิตสมัยใหม่ มีการจัดอบรม เพิ่มพูนความรู้ ประกวดผลงานจัดแสดง เพื่อทำให้เกิดการแบ่งปัน สร้างกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและสร้างนวัตกรรมได้ ชุมชนที่มีทักษะก็เกิดการจ้างงาน เกิดอาชีพ เกิดรายได้ ตอบสนองความต้องการของตลาดปัจจุบัน ก็จะเกิดการสืบสานต่อยอด และพัฒนาภูมิปัญญาล้านนาร่วมสมัยได้


      แจ่งที่ 4 ภูมิทัศน์วัฒนธรรมล้านนา รังสรรค์สถานที่และกิจกรรมเพื่อให้เกิดบรรยากาศของ “ล้านนาสร้างสรรค์” ได้แก่ ศูนย์ Creative Lanna Center (CLC) เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สถานที่อบรม สร้างสรรค์ และต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาล้านนาดั้งเดิม และสร้างให้เกิดบรรยากาศของ การขับเคลื่อนล้านนาสร้างสรรค์ ด้วยการจัดนิทรรศการงาน Lanna Festival เพื่อสร้างความรับรู้และ อยู่ในปฏิทินการเดินทางเยี่ยมชม และท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการสร้าง Lanna Creative District หรือ “ย่านล้านนาสร้างสรรค์” บริเวณแปลงไร่ฟอร์ด ถนนนิมมานเหมินทร์ ซึ่งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญของเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมบรรยากาศของเทศบาล “ล้านนาสร้างสรรค์” ให้เข้ากับโลกในยุคปัจจุบันให้ได้

      “...เราต้องมีสถานที่ที่เป็น Creative District ย่านสร้างสรรค์ เป็น ‘Playground’ ของงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ เพราะฉะนั้น ไม่ว่านักวิจัย คณาจารย์ หรือนักศึกษาที่เขามีไฟ มีพลัง เขาก็สามารถมาที่นี่ โดยในแผนงานจัดพื้นที่เป็น Multi - purpose เราจะสร้างตลาดวัฒนธรรม หรือกาดวัฒนธรรม มช. เกิดขึ้น ก็จะเป็น Cultural Market ที่ผู้ที่มาแล้วรู้สึกเท่ จ๊าบ เก๋ สามารถแสดงออก ตอบโจทย์วัยใสจนถึงวัยสูงอายุ เราจึงต้องสร้างพื้นที่แห่งวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ขึ้นในรูปของกาดวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อย่าง ที่เรากำหนดไว้ในโซนนี้คือ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่มีพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา 4 หลัง แต่ละหลังอายุร้อยกว่าปีทั้งสิ้น ซึ่งมีคุณค่ามากในทางสถาปัตยกรรม อีกที่หนึ่งคือหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้จะรวมอยู่ในย่านสร้างสรรค์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กล่าว

     การสร้างคุณค่าของวัฒนธรรมล้านนาที่สั่งสมมากว่า 700 ปี ให้เป็นอดีตที่มีชีวิตขึ้นใหม่ ในบริบทของสังคมปัจจุบัน อาจไม่ใช่ภารกิจที่จะสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ “ล้านนาสร้างสรรค์” ที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังของการสืบสานและสร้างสรรค์ ให้อดีตกลายเป็นปัจจุบันที่จับต้องได้ คือความหวังของการเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนในอนาคตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างแน่นอน

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social