CMU SDGs

CMU SDGs

อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ส่งเสริมผู้ที่มีไอเดียให้เป็นจริง

จำนวนผู้เข้าชม : 115 | 27 ก.ย. 2567
SDGs:
1 9 17

ช่วยเหลือ Start-up และผู้ประกอบการในท้องถิ่น

Startup หมายถึง กิจการที่เริ่มก่อตั้งโดยบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือปรับปรุงจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ความสำคัญของ Startup ต่อชุมชนและท้องถิ่นนั้นชัดเจน เนื่องจาก Startup มักนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ในการดำเนินงาน ร่วมกับการจ้างงานจากชุมชน ซึ่งส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการใหม่หลายๆ รายอาจประสบปัญหาด้านการขาดทักษะในการบริหาร รวมถึงการขอใบอนุญาตต่าง ๆ การวางแผนธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ขาดแคลนเงินทุนเพื่อเริ่มต้นกิจการ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำเนินกิจการได้หากไม่ได้รับการศึกษาและเตรียมความพร้อมที่เพียงพอ

บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP CMU)


อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP CMU) ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ 7 คณะในมหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน โดยทำการนำทรัพยากรและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการสร้างนวัตกรรม และการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม (Tech Startup) พร้อมกับการผลักดันงานวิจัยเชิงพาณิชย์ โครงการของ STeP มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกับโครงการเพื่อรับคำปรึกษาในการพัฒนาสินค้าและบริการ นอกจากนี้ Startup ที่เข้าเกณฑ์ยังมีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อการพัฒนากิจการ

หน่วยงานสนับสนุน Startup ภายใต้การบริหารของ STeP CMU

Builds-CMU

Builds-CMU เป็นโปรแกรมที่มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดธุรกิจ Startup และการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หลักสูตรผู้ประกอบกา ที่เปิดให้นักศึกษาทุกคนลงเรียนได้ (703100) การพัฒนาแนวคิดธุรกิจและแลกเปลี่ยนเป็นหน่วยกิต โปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตในระยะยาว กลุ่ม Startup ในแต่ละคณะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาเครือข่ายธุรกิจ กลไกการสนับสนุนเงินทุน ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนถึงการจดทะเบียนบริษัท

Basecamp24


Basecamp24 เป็นศูนย์บ่มเพาะศักยภาพทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการอบรม ให้คำปรึกษา การจับคู่กับแหล่งทุน และการสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งจัดสรรพื้นที่สร้างสรรค์ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการผลิตต้นแบบและทดสอบไอเดียใหม่ๆ

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ ธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Startup Guide)


โครงการนี้ช่วยนักธุรกิจรุ่นใหม่ทดสอบตลาดเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนสามารถตอบสนองลูกค้าได้ดีเพียงใด ได้แก่ การฝึกอบรมทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจของ Basecamp24 เพื่อพัฒนาศักยภาพต่อไป

Creative Lanna League


เป็นโครงการต่อยอดจาก Creative Startup Guide ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมธุรกิจจากภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา โดยเน้นการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาพัฒนาและสร้างนวัตกรรม เหมาะสำหรับนักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจได้ไม่เกิน 5 ปี โดยมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนและความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโมเดลธุรกิจ

โครงการความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กับหน่วยงานภายนอก

โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยในภาคเอกชน (IRTC)

โครงการนี้มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาช่วยพัฒนาวิธีการผลิตและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยมีการสนับสนุนทุนวิจัยสูงสุดถึง 50%


โครงการ Pre Talent Mobility

เป็นโครงการที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา โดยรับผิดชอบงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน

โครงการพัฒนากระบวนการวิจัยของผู้ประกอบการ (IRD Cap Buildings)

โครงการนี้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดตั้งหรือปรับปรุงหน่วยวิจัยและพัฒนาภายในสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินงานวิจัยได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

โครงการวิจัยร่วมกับเอกชน (Collaborative Research Program)

เป็นโครงการที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนทำการวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยเน้นที่งานวิจัยที่พร้อมนำไปต่อยอดและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากทางอุทยานฯ พร้อมความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพ


ตัวอย่าง Start-up หรือธุรกิจที่เข้าร่วมพัฒนาไปกับ STeP CMU

BeNeat เป็นสตาร์ทอัพจากเชียงใหม่ที่นำเสนอแพลตฟอร์มจองบริการแม่บ้านออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2559 ด้วยแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ในการบริหารห้องเช่าผ่าน Airbnb โดยยกระดับมาตรฐานการบริการ โดยแม่บ้านที่ให้บริการในแฟลตฟอร์มมีการผ่านฝึกอบรม และมีการการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจ

ในการพัฒนาและขยายธุรกิจ BeNeat ได้รับความร่วมมือจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP CMU) โดยได้เข้าร่วมโครงการ Innovation Driven Enterprises (IDEs) ซึ่ง STeP CMU ให้การสนับสนุนในด้านพัฒนานวัตกรรม การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจ และระบบการจัดการทั้งแพลตฟอร์มและบริการ นอกจากนี้ CMU STeP ยังมีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายตลาดจากเชียงใหม่ไปสู่กรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล รวมถึงการสนับสนุนในการหาทุนเพิ่มเติมผ่านเครือข่ายที่กว้างขวาง ด้วยความช่วยเหลือจาก CMU STeP ทำให้ BeNeat สามารถเติบโตอย่างมั่นคงและขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สรุปบทบาทของ STeP CMU

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP CMU) มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup และผู้ที่สนใจสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การสนับสนุนเงินทุน และการสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ นอกจากนี้ STeP CMU ยังมีโครงการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความยั่งยืนและเข้มแข็งจากภายใน ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน


SDG 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่


Source:

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social