CMU SDGs

CMU SDGs

หอมกลิ่นล้านนา...ในผ้าฝ้ายทอมือ

จำนวนผู้เข้าชม : 4096 | 19 ส.ค. 2565
SDGs:
8 9 11 17


      กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกเก็ดถะหวา ที่ติดตรึงบนผืนผ้าเป็นเวลายาวนาน ทำให้ผ้าคลุมไหล่ ผืนหนึ่งมีความพิเศษมากกว่าผ้าธรรมดาทั่วไป ด้วยกลิ่นหอมจากธรรมชาติ ที่สูดดมแล้วรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ตรงตามสรรพคุณของดอกเก็ดถะหวา ที่มีกลิ่นช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและวิตกกังวลได้ดี

     ผ้าคลุมไหล่ที่ทำจากฝ้ายปั่นมือย้อมสีครั่งและผลมะเกลือผืนนี้ จึงถูกใจกลุ่มคนที่ชื่นชอบเรื่องการบำบัดสุขภาพด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกกันว่า Aroma Therapy และตอบโจทย์ของผู้ที่นิยมผลิตภัณฑ์ที่มาจากทุนทางวัฒนธรรม โดยนำเอาผ้าฝ้ายทอมือ ดอกไม้พื้นถิ่นล้านนา และเทคโนโลยีที่คงกลิ่นหอมไว้ได้ยาวนาน มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายกลิ่นดอกไม้ล้านนา ที่หอมหวนชวนให้สรรหามาครอบครอง

     ผ้าฝ้ายกลิ่นดอกไม้ล้านนานี้ เป็นผลิตภัณฑ์จาก “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งมีกลิ่นหอมจากดอกไม้ล้านนาโดยใช้เทคนิคไมโครเอนแคปซูเลชัน” ซึ่งอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในนามของ “ล้านนาสร้างสรรค์” หรือ Creative Lanna โดยการนำองค์ความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษา ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ของสังคมในปัจจุบัน เช่น การนำภูมิปัญญาและคลังความรู้ล้านนามาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้


     โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิจิตรศิลป์ และ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มาช่วยกันพัฒนาต่อยอดผ้าฝ้ายทอมือ ให้มีกลิ่นหอมของน้ำมัน หอมระเหยจากดอกไม้พื้นถิ่นล้านนา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดในการส่งเสริมและพัฒนาผ้าฝ้าย ซึ่งเป็น ผ้าทอมือที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือมายาวนาน โดยเฉพาะฝ้ายเขียว และฝ้ายตุ่น (สีน้ำตาล) ซึ่งเป็นพันธุ์ฝ้ายที่นิยมปลูกในภาคเหนือ และถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทอผ้าด้วยมือ ที่มีผิวสัมผัสที่นุ่มนวล อ่อนโยน เป็นเสน่ห์ที่เลื่องลือในคุณภาพของผ้าฝ้ายทอมือจากภาคเหนือที่ควรอนุรักษ์ สืบสาน แต่จะทำอย่างไรให้ผ้าฝ้ายทอมือกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้มากขึ้น?

    จากโจทย์ข้อนี้ ทำให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้าฝ้ายทอมือ ด้วยการใช้เทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชันตรึงกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้พื้นถิ่นล้านนา ซึ่งมีกลิ่นหอมและสรรพคุณที่สามารถนำมาทำการบำบัดสุขภาพด้วยกลิ่นหอม ทั้งนี้ดอกไม้ที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่

    กาสะลอง หรือปี๊บ (Millingtonia hortensis L.f.) เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอบอุ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะ ชวนให้นึกถึงเมืองเหนือเมื่อยามต้นหนาว มีสรรพคุณ คือ ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด หายใจโล่งสะดวก ลดความกระวนกระวายใจ

    เก็ดถะหวาหรือพุดซ้อน (Gardenia jasminoides J.Ellis.) เป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกกันมาก ในภาคเหนือ โดยคนล้านนาถือว่าดอกเก็ดถะหวาเป็นดอกไม้มงคล จึงนิยมปลูกในบ้าน และนำไปถวายพระ ในวันสำคัญทางศาสนา อีกทั้งในอดีต ผู้หญิงชาวล้านนานิยมนำดอกเก็ดถะหวามาทัดหูและเสียบแซมมวยผม อีกด้วย ดอกเก็ดถะหวามีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และช่วยให้นอนหลับสนิท

     สารภี (Mammea siamensis T. Anders.) เป็นดอกไม้ที่พบในทุกภาคของประเทศไทย ดอกสารภีมีกลิ่นหอมที่คนนิยมนำไปลอยน้ำสำหรับสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ กลิ่นหอมของดอกสารภี มีสรรพคุณทำให้หายใจโล่ง สะดวก และบรรเทาอาการ คัดจมูกได้

    จำปา (Magnolia champaca (L.) Baillon ex Pierre) เป็นดอกไม้ในสกุลแมกโนเลียที่มีกลิ่นหอมหวานลึกล้ำ มักใช้เป็นวัตถุดิบทำน้ำปรุง มีสรรพคุณคือ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ ช่วยบรรเทาอาการเครียด

    ลีลาวดี (Plumeria obtusa L.) เป็นต้นไม้ที่มักพบในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ดอกลีลาวดีมีรูปทรงสวยงาม และมีกลิ่นหอมละมุน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย กลิ่นของดอกลีลาวดีมีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย บรรเทาอาการซึมเศร้า




    ดอกไม้ในภาคเหนือมีมากมาย แต่ทำไมต้องเป็นดอกไม้ทั้ง 4 ชนิดนี้ ? ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนียา เจติยานุกรกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ให้คำตอบถึงสาเหตุที่นำดอกไม้เหล่านี้มาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย และผ่านกระบวนการการใช้เทคโนโลยี ไมโครเอนแคปซูเลชันว่า

     “จริง ๆ แล้วในภาคเหนือของเรามีดอกไม้พื้นถิ่นที่โดดเด่นอยู่หลากชนิด เช่น กาสะลองคำหรือปีบทอง (Mayodendron igneum (Kurz) Kurz.) ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน สีสวย แต่ค่อนข้างจะหาได้ยากแล้ว การเลือกดอกไม้ที่จะนำมาทำ นอกจากเป็นดอกไม้ที่พบมากในท้องถิ่นภาคเหนือแล้ว ก็ต้องมีจำนวนมากพอที่จะนำมาสกัดได้ด้วย เช่น กาสะลอง (ปี๊บ) เก็ดถวา (พุดซ้อน) สารภี ส่วนจำปากับลีลาวดีนี้จะมีมากกว่าดอกไม้อื่น ๆ

    อีกเรื่องหนึ่งคือ คุณประโยชน์ของกลิ่นที่มีมากกว่าความหอม เราได้สืบค้นจากตำราเก่า ๆ ทางด้านเภสัชฯ ว่ากลิ่นไหนที่จะช่วยบำบัดสุขภาพ ให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ช่วยคลายเครียด ลดอาการซึมเศร้า เพราะว่าเราต้องการใช้การบำบัดรักษาแบบ Aroma Therapy มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเราดูเรื่องความนิยมของผู้บริโภคด้วย อย่างสารภี สังเกตได้ว่ากลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่จะชอบ หลงใหลกลิ่นดอกสารภี แต่ถ้ารุ่นหนุ่มสาว ไม่ชอบนะคะ ส่วนใหญ่เขาจะชอบกลิ่นลีลาวดีมากกว่า”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนียา เจติยานุกรกุล
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

      ดอกไม้เหล่านี้ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการสกัดให้ได้น้ำมันหอมระเหยคุณภาพสูง และผ่านการ ตรึงกลิ่นหอมด้วยเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชัน (Microencapsulation) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการเพิ่ม ความคงตัวของน้ำมันหอมระเหย โดยการห่อหุ้มสารหอมภายในแคปซูลขนาดเล็กมาก ทำให้เก็บรักษากลิ่น ได้ยาวนานขึ้น และไม่ระเหยง่าย เนื่องจากข้อจำกัดของน้ำมันหอมระเหยคือ ความไม่คงตัวจากแสง ความร้อน อากาศ ความชื้น และยังมีการระเหยได้ที่อุณหภูมิห้อง ทำให้น้ำมันสูญเสียสภาพและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ไมโครเอนแคปซูเลชันจึงเป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอต่าง ๆ เช่น การผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น

     เมื่อเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชันมาพบกับอัตลักษณ์พื้นถิ่น งานหัตถกรรมผ้าฝ้ายเขียวและ ฝ้ายตุ่นทอมือ ฝ้ายสามสีปั่นมือ ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ผ้าคลุมไหล่ ปลอกหมอน ผ้าพันคอ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ กลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งมาจากเส้นด้ายที่ผ่านเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชัน นำมาปักผสมผสานหลากเทคนิค ออกแบบลวดลายใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบกัน โดยสะท้อนเรื่องราวธรรมชาติและสื่อสัญลักษณ์ บนผ้าฝ้ายทอมืออย่างสวยงาม และทำให้เกิดกลิ่นหอมละมุนบนผืนผ้า ส่วนวิธีการเก็บรักษาเพื่อให้กลิ่นหอมของดอกไม้อยู่บนผืนผ้า ได้นานที่สุดนั้นมีข้อแนะนำว่า เมื่อใช้แล้วควรเก็บในถุงสุญญากาศ และสามารถทำความสะอาดด้วยการซักมือในน้ำสบู่อ่อนหรือน้ำยาซักผ้า ตากในที่ร่ม เลี่ยงการใช้สารฟอกขาว โดยกลิ่นหอมของดอกไม้จะคงอยู่หลังจากการซักไม่เกิน 5 ครั้ง

     นอกจากจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอมแล้ว ลวดลายปักบนผืนผ้าก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยคณะ วิจิตรศิลป์ได้ออกแบบลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงามและมีความหมาย โดยเน้นลายกราฟิกที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น ลวดลายเปลือกไม้ และลายดอกสัก โดยเฉพาะลายดอกสักนั้น ถือว่าเป็นลายเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรไว้แล้ว เพราะดอกสักเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ที่ปรากฏอยู่ในตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

ผ้าไหมอีรี่ย้อมคราม

ลายดอกสัก ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลิตภัณฑ์หมอนอิง ฝ้ายย้อมครั่งลายดอกสัก

ผลิตภัณฑ์น้ำหอมกลิ่นดอกไม้

     นอกจากผลิตภัณฑ์ปลอกหมอน ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่แล้ว ผลงานของโครงการนี้ยังรวมไปถึงผลิตภัณฑ์น้ำหอมกลิ่นดอกไม้ธรรมชาติ และอนุสิทธิบัตร “ลวดลายบนแผ่นผืน” ที่จะเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชนที่สนใจ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และพัฒนาภูมิปัญญาล้านนาร่วมสมัย ให้อยู่ในโลกปัจจุบันอย่างสง่างาม ด้วยการผสมผสานวิถีธรรมชาติ อัตลักษณ์ของท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างลงตัว บนผืนผ้าฝ้ายทอมือสีจากธรรมชาติที่ “หอมกลิ่นล้านนา” อย่างแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social