CMU SDGs

CMU SDGs

มอง “เหมี้ยง” มุมใหม่ ใน “คน – ป่า - เหมี้ยง ล้านนา”

จำนวนผู้เข้าชม : 6131 | 20 ม.ค. 2564
SDGs:
1 3 4 9 11

 

     

         “เหมี้ยง” หรือ “ชาอัสสัมหมัก” ในมุมเก่า ๆ ที่หลายคนเคยรู้จักคือ ของว่างของคนแก่คนเฒ่าชาวเหนือ แต่คุณสมบัติหนึ่งของเหมี้ยงที่คนยุคนี้อาจไม่เคยรู้ก็คือ เหมี้ยงมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่ากาแฟ 2-3 เท่า นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมักจะกินเหมี้ยงเพื่อล้างปากหลังอาหารกลางวัน เพราะทำให้สดชื่น และทำงานได้ในช่วงบ่าย


         นั่นเป็นเพียงคุณสมบัติข้อแรกของเหมี้ยงเท่านั้น เพราะจากการวิจัยพบว่า คุณสมบัติเด่นของเหมี้ยงยังมีอีกมากมาย เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง มีสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งกระบวนการผลิตเหมี้ยงยังเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของ  ล้านนา  ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยได้ อาทิ เหมี้ยงไฮยีน ชาเหมี้ยง เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เป็นต้น


          เวลานี้องค์ความรู้อันน่าทึ่งเกี่ยวกับเหมี้ยงได้รับการรวบรวมไว้ที่ ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งมีเป้าหมายในการอนุรักษ์และยกระดับภูมิปัญญาพื้นบ้านของเหมี้ยงสู่ความเป็นสากล เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals, SDGs) ผ่านโครงการ “คน-ป่า-เหมี้ยง ล้านนา” ซึ่งเป็นการวิจัยแบบพหุวิทยาการเชิงบูรณาการที่รวบรวมนักวิชาการ ในคณะวิชาที่แตกต่าง มาทำงานวิจัยร่วมกัน ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์            คณะสังคมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ และอีกหลายคณะ รวมทั้งสถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีแนวคิดหลักร่วมกัน นั่นคือ “คน-ป่า-เหมี้ยง” ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยกัน จึงจะเกิดความยั่งยืนขึ้นได้


“เหมี้ยงมี ป่าอยู่ คนยัง”

จุดร่วมของการบูรณาการข้ามศาสตร์



การลงพื้นที่ร่วมกันของนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ ที่ชุมชน “คน-ป่า-เหมี้ยง”  



การลงพื้นที่ร่วมกันของนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ ที่ชุมชน “คน-ป่า-เหมี้ยง”  

     

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย โขนงนุช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง เล่าถึงแนวคิดที่น่าสนใจนี้ว่า การวิจัยเกี่ยวกับ   เหมี้ยงนั้นมีหลายมิติมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้สนับสนุนให้เกิดการบูรณาการข้ามศาสตร์ขึ้นในโครงการนี้ ด้วยพันธกิจข้อหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือ ทำการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและเกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นส่วนรวม และเป็นที่มาของการก่อตั้ง ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง เมื่อ พ.ศ. 2560

ต่อมาจึงเกิดการทำงานร่วมกันของนักวิชาการจากหลากหลายคณะวิชา ในโครงการ “คน-ป่า-เหมี้ยง” โดยนำองค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์ที่แตกต่างมาเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์ โดยมี “เหมี้ยง” เป็นศูนย์กลาง และพื้นที่หลักในการศึกษาของโครงการ ได้แก่ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านแม่ตอนหลวง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และ บ้านแม่ลัว ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

 

        “นักวิจัยที่เข้ามาร่วมกันทำงานมีหลายกลุ่ม แม้จะมีความชำนาญที่แตกต่างกัน แต่ก็ทำงานด้วยกันแบบอาศัยความเข้าใจ และหน้าที่แต่ละคนจะรับผิดชอบไม่เหมือนกัน อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม ดูเรื่องศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่เกี่ยวข้องกับเหมี้ยง เช่น วัดพระเจ้าอมเหมี้ยง หลักจารึกที่เกี่ยวกับเหมี้ยง อาจารย์สราวุธ รูปิน ก็มีองค์ความรู้ว่าชุมชนเหมี้ยงจริงๆ แล้วเป็นไทยวน ไทลื้อ และลั๊วะ รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง แห่งคณะศึกษาศาสตร์ ก็ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเหมี้ยงสร้างสรรค์ให้เป็นหลักสูตรนอกห้องเรียน ทำให้เด็กในป่าเหมี้ยงรู้จักธรรมชาติ      รักธรรมชาติ และรู้ว่าเหมี้ยงคืออะไร สำคัญกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างไร  นักวิจัยแต่ละคนจะมีมุมของตัวเองในการทำงาน จึงเป็นคอนเซ็ปต์ของ ‘คน-ป่า-เหมี้ยง’

          ...คนก็คือมนุษย์ ป่าก็คือป่าไม้ทั่วไป ส่วนเหมี้ยงคือ ต้นชาเหมี้ยงที่ต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของป่า ทั้ง 3 สิ่งนี้ มีการอาศัยและพึ่งพากันอย่างเป็นระบบ และกลายเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่สำคัญยิ่งของคนล้านนา ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนตามมา คือ ป่ายังอยู่ น้ำยังอยู่  และคนก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ อันนี้คือ คอนเซ็ปต์ของ ‘คน-ป่า-เหมี้ยง’ และบังเอิญมากที่เราไปที่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ซึ่งเป็นชุมชนเหมี้ยงในพื้นที่จังหวัดน่าน เขาก็มีคำขวัญของเขาที่ตรงกับแนวคิดของเราคือ ‘เหมี้ยงมี ป่ายัง คนอยู่’ คำขวัญเหล่านี้เกิดจากผู้คนคนละกลุ่ม แต่จะเห็นว่ามีคอนเซ็ปต์หลักอันเดียวกัน


           เรามีนักวิจัยที่ชำนาญในหลายศาสตร์ที่มีมุมมองที่ต่างกัน การมาทำงานร่วมกันทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะมีความเคลื่อนไหวของงานวิจัยที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันแบบผสมผสาน หรือภาษาวิชาการเรียกว่า ‘การวิจัยแบบ บูรณาการ’ และทำให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เราตั้ง      เป้าหมายไว้ว่าจะทำงานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมชาติและองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของเหมี้ยง เพื่อทำให้เหมี้ยงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก”



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย โขนงนุช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรเฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์


     

“เหมี้ยง” มาจากไหน?

 

          เป้าหมายของภารกิจที่จะทำให้เหมี้ยงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับเหมี้ยงในแง่มุมที่ลึกซึ้ง และแตกต่างออกไปจากเดิม หลายคนอาจไม่รู้ว่า เหมี้ยงนั้นทำมาจาก “ใบชาป่า” หรือ “ชาอัสสัม”  ซึ่งเป็นพืชดั้งเดิมในพื้นที่ดินแดนล้านมานานกว่า 500 ปีแล้ว แต่ใครนำมาปลูก? ปลูกได้อย่างไร? นำมาจากรัฐอัสสัม ของอินเดียใช่หรือไม่? เรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรเฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์  เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำตอบว่า

 

“ชื่อทั่วไปของเหมี้ยงคือ ชาอัสสัม ทุกคนก็เกิดคำถามในใจว่า ทำไมเป็นชาอัสสัม บรรพบุรุษของชาวล้านนา เอาชามาจากที่นั่นหรือ แต่ความจริงไม่ใช่ จากข้อมูลที่เรารวบรวมมา จริงๆ แล้วเป็นของคนล้านนา มีคนไตกลุ่มหนึ่ง ที่เราเรียกว่า ไตอาหม หรือไทยอาหม ได้อพยพจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ไปตั้งเป็นอาณาจักรอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียใกล้กับภูฏาน และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ทันทีที่อาณาจักรไทยอาหมล่ม เป็นช่วงที่อังกฤษเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมที่รัฐอัสสัมของอินเดีย และเกิดการเรียกชาป่า ซึ่งแตกต่างจากชาจีนทั่วไปว่าชาอัสสัม แล้วตั้งชื่อทางว่าวิทยาศาสตร์ต่อท้ายว่า assamica เราก็เลยเรียกว่าชาอัสสัมจนถึงปัจจุบัน แต่จริงๆ ต้นกำเนิดน่าจะเป็นของคนล้านนาที่มีวัฒนธรรมของการบริโภคมาก่อน ในการลงพื้นที่  ของนักวิจัยแต่ละครั้ง เมื่อเราถามชาวบ้านว่าใครเป็นคนปลูกต้นชาเหมี้ยง ไม่มีใครตอบได้ ส่วนมากแล้วชาวบ้านจะตอบว่าตั้งแต่เกิดมาก็มีอยู่แล้ว บางแห่งอยู่ในป่าลึก อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดแล้ว  อาจมีคนนำมาปลูก และขยายไปเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดที่ชาวบ้านเขามาดูแลเอง ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการศึกษาต่อไปในเชิง Social Science และอาจต้องเป็นการชำระประวัติศาสตร์เหมี้ยง ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรลัญจก์  บุณยสุรัตน์ แห่งสถาบันวิจัยสังคมครับ”



ป่าเหมี้ยง



จากเหมี้ยงตะวันตก-ตะวันออก สู่ “เหมี้ยงไฮยีน”

เหมี้ยงตะวันตกและตะวันออก


     

ปัจจุบัน การผลิตและบริโภคเหมี้ยงยังมีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง ฯลฯ นักวิจัยศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยงจึงได้ลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างในแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงในการการทำเหมี้ยง ทั่วภาคเหนือ 22 แห่ง แล้วนำตัวอย่างเหมี้ยง 44 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ พบว่ารสชาติและคุณสมบัติของเหมี้ยงแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ หนึ่ง อายุการหมัก สอง ภูมิปัญญาในการหมัก ซึ่งแตกต่างไปตามชาติพันธุ์ ซึ่งเมื่อศึกษาลึกลงไปแล้วพบว่า วัฒนธรรมการบริโภคเมี่ยงไม่ได้มีอยู่แต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่อยู่ในวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ชาวไทใหญ่ในพม่า เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย จึงเสนอแนวคิดในการแบ่งเหมี้ยงออกเป็น “เหมี้ยงตะวันตก -ตะวันออก” เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นภาพเชิงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับชาติพันธุ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น


“เหมี้ยงตะวันออก มีรากเหง้ามาจากสิบสองปันนา ไล่ลงมาทางลุ่มแม่น้ำโขงทางเชียงราย เชียงคำ น่าน  ส่วนนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมของคนลื้อ คือ ใช้ใบชาแก่เป็นวัตถุดิบในการหมักเหมี้ยง ทางตะวันออกจะนิยมเหมี้ยง รสเปรี้ยว ส่วนคุณสมบัติสำคัญของเหมี้ยงทางตะวันออกนั้น ตรวจพบสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สูงกว่า ใบเหมี้ยงปกติประมาณ 2 เท่า

เหมี้ยงตะวันตก น่าจะมีรากเหง้ามาจากกลุ่มไทใหญ่ ส่วนนี้ครอบคลุมพื้นที่ของเชียงใหม่ เชียงราย ฝั่งนี้ติดกับพม่า การหมักเหมี้ยงในกลุ่มตะวันตกนี้จะใช้ใบอ่อนเป็นวัตถุดิบในการหมัก และนิยมเหมี้ยงที่มีรสฝาด ซึ่งการตรวจสอบของนักวิจัยพบว่า ยอดอ่อนของใบชาเหมี้ยงมีสารแทนนินในปริมาณสูง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรสฝาดและรสขม(มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล แผลเปื่อย)

 

       เมื่อพบว่าเหมี้ยงแต่ละแห่งมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน นักวิชาการจึงศึกษาเจาะลึกลงไปว่า จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหมักเหมี้ยงมีอะไรบ้าง พบว่ากระบวนการหมักเหมี้ยงแบบโบราณ เกิดจากจุลินทรีย์ในธรรมชาติกลุ่มเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้สารในใบเหมี้ยงกลายเป็นสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น พอลิฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และคาเทชิน ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง และสารแทนนินที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น

        ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย จึงได้ทดลองทำ “เหมี้ยงไฮยีน” ซึ่งเป็นเหมี้ยงที่หมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการ

 

“เมื่อก่อนมีนักวิจัยพยายามบอกว่า จุลินทรีย์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการหมักเหมี้ยง คือแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติกที่ทำให้อาหารเปรี้ยว แต่ในความจริงเราพบว่ายีสต์ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยด้วย จุลินทรีย์แต่ละชนิดทำหน้าที่ช่วยกัน ทำให้เกิดสารสำคัญ ปัจจุบันเราสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์พวกนี้ให้อยู่ในรูปเชื้อบริสุทธิ์ และเอาใบเหมี้ยงมาเติมเชื้อบริสุทธิ์เข้าไป ก่อนนำไปหมัก วิธีนี้สามารถควบคุมคุณภาพและความสะอาดของผลิตภัณฑ์เหมี้ยงหมักได้ เราเอาเหมี้ยงของเราไปทดสอบชิมกับเหมี้ยงที่ซื้อมาจากตลาด โดยผู้ชิมเป็นคนที่บริโภคเหมี้ยงเป็นปกติอยู่แล้ว ปรากฏว่าเหมี้ยงที่ผลิตในห้องปฏิบัติการของเราได้คะแนนสูงกว่า


อย่างไรก็ตามเราพบว่า หากเราเอาเหมี้ยงที่ผลิตแบบตะวันตกไปให้ทางแพร่ น่าน ชิม เขาจะบอกว่าไม่อร่อย ไม่ชอบ พอเข้าปากปุ๊บคายทิ้งเลย ให้คะแนน 1 เต็ม 5 ขณะที่เมื่อนำตัวอย่างเหมี้ยงอันเดียวกันมาให้ผู้ชิมที่เป็นคนเชียงใหม่ที่เป็นฝั่งทางตะวันตก จะได้คะแนนค่อนข้างสูง ทำให้เราทราบว่าทางตะวันตกและทางตะวันออกมีความนิยมในรสชาติเหมี้ยงที่แตกต่างกัน เชียงใหม่นิยมเหมี้ยงฝาด แต่ถ้าทางแพร่ น่านต้องเปรี้ยวนำ ซึ่งความเปรี้ยวเกิดจากกระบวนการหมักของเชื้อแบคทีเรีย แต่ปัจจุบันเนื่องจากกระบวนการหมักที่จะทำให้เกิดความเปรี้ยวแบบธรรมชาติใช้เวลานาน พ่อค้าเลยไปซื้อหัวน้ำส้มมาใส่เลย อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้กระบวนการทำเหมี้ยง ผิดไปจากมาตรฐานการผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม”

 

ต้องยอมรับว่าตลาดของคนบริโภคเหมี้ยงในปัจจุบันลดน้อยลงมาก เหตุผลหนึ่งที่คนเลิกบริโภคเหมี้ยงก็มาจากความไม่มั่นใจในกระบวนการหมัก เหมี้ยง อีกทั้งคนยุคนี้ก็มีมุมมองต่อเหมี้ยงว่าเป็นของโบราณ จึงนับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากในการที่จะทำให้เหมี้ยงอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาในปัจจุบัน  ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า

 

“ในกระบวนการหมักเหมี้ยง มันต้องมีการเอาเท้าไปเหยียบเหมี้ยงให้แน่น ถ้าไม่แน่น เหมี้ยงจะเสียหรือคุณภาพไม่ดี โดยเฉพาะเหมี้ยงทางตะวันตก จากการลงพื้นที่ผลิตเหมี้ยงในปัจจุบัน เขาก็มีการใส่ถุงอะไรเรียบร้อย เพื่อความสะอาด อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่พบกับเหมี้ยงทางตะวันออก ผลกระทบเนื่องจากการขึ้นไปเหยียบค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ เพราะกลัวลูกหลานได้กินเหมี้ยงที่ไม่สะอาด เลยทำให้เกิดแนวคิดว่าเลิกกินเหมี้ยงดีกว่า หารู้ไม่ว่าการเลิกกินเหมี้ยงเป็นสิ่งที่กำลังมองข้ามอะไรที่ดี ๆ ไป”


แปรรูป “เหมี้ยง” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย


     

          แม้ว่าเหมี้ยงจะกลายเป็นของโบราณสำหรับคนยุคปัจจุบัน แต่สารอาหารและคุณประโยชน์จากเหมี้ยงกลับกลายเป็นสิ่งที่จะสามารถสนองตอบต่อความต้องการของคนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง จึงได้เกิดแนวคิดในการแปรรูปเหมี้ยงให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม นอกจากนั้น ยังใช้จุลินทรีย์จากเหมี้ยงในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือกรดแลคติก เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพร่วมกับศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ชาจากเหมี้ยงหมัก  


เจลอาบน้ำชาเหมี้ยง



เอแคลร์ชาเหมี้ยง


“ถ้าจะให้คนรุ่นใหม่กินเหมี้ยงอมแบบโบราณ เขาคงไม่ทำ ดังนั้น ต้องมีอย่างอื่นที่ทำให้เขาสนใจ ตอนนี้ เรากำลังพยายามชี้ให้เห็นก่อนว่า เหมี้ยงเป็นของมีประโยชน์นะ อย่ามองข้าม แต่คนรุ่นใหม่อาจไม่อยากกิน เพราะว่ามันเป็นก้อนเหมี้ยง  สิ่งนี้คือแรงผลักดันให้เราก็ต้องมีกระบวนการแปรรูป เช่น

 เซรั่มเหมี้ยง คุณสมบัติของเซรั่มเหมี้ยงดีอย่างไร อย่างแรกคือ ช่วยลบเลือนริ้วรอย ทั้งยังมีคุณสมบัติเป็น Natural sunscreen ปกป้องผิวจากรังสียูวีจากแสงแดดหรือแสงหลอดไฟ ที่จะกระตุ้นทำให้เกิดจุดด่างดำ ริ้วรอย นอกจากนั้นยังเพิ่มการสร้างคอลลาเจน ลดอาการแพ้ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับผิวหนัง

เบเกอรี่ ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยงได้พัฒนาสารสกัดจากเหมี้ยง และทดสอบการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ร่วมกับร้านฝ้ายเบเกอรี่ ซึ่งผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ดังกล่าวได้เคยถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องกันแล้ว ปีแรกได้ถวายโรลข้าวก่ำ ปีที่ 2 เป็นเอแคลร์เหมี้ยง โดยมีเหมี้ยงทั้งในตัวแป้งและในไส้ ปีที่ 3 เป็นโรลเหมี้ยงกับเอแคลร์เหมี้ยง ซึ่งทางทีมวิจัยของศูนย์ฯ ยังคงวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเหมี้ยงต่อไป

          ตอนนี้นอกจากคำว่าเหมี้ยง เราก็เริ่มผลักดันคำว่า Natural Active Pharmaceutical Ingredients (Natural APIs) หรือสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ทางยาหรือทางเภสัชวิทยา เพื่อให้เอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างที่เรากำลังจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไปส่งเสริมและถ่ายทอดให้วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตสำหรับการจำหน่าย เพื่อการสร้างรายได้และความยั่งยืนของชุมชน โดยเป็นขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน และสามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ทางศูนย์ฯ จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้สำหรับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์จากเหมี้ยง ที่ได้รับการพัฒนาและถ่ายทอดจากศูนย์ฯ ให้แก่ชุมชน

 

“ป่าเหมี้ยง” กำแพงกรองฝุ่น PM 2.5

และภูมิปัญญาที่ยั่งยืนของชุมชน


ประโยชน์ของเหมี้ยงไม่เพียงแต่นำไปทำผลิตภัณฑ์ได้เท่านั้น แต่ “ป่าเหมี้ยง” ที่ยืนต้นอยู่ทั่วภาคเหนือก็เป็นเสมือนกำแพงกรองฝุ่น PM 2.5 ช่วยแก้ปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีป่าเหมี้ยงหนาแน่นที่สุด  




     

จากการเดินทางไปเก็บตัวอย่างสมุนไพรในพื้นที่ป่าเหมี้ยงหลายแห่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกร เฉลิมพงษ์ พบว่า มีความหลากหลายของสมุนไพรในพื้นที่ป่าเหมี้ยง และต้นเหมี้ยงเองเป็นตัวชี้วัดทางธรรมชาติในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์

 

“เวลามีปัญหาเรื่อง PM 2.5 พอเราไปพื้นที่ป่าเหมี้ยงหลายพื้นที่ ใบไม้ของต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของป่าเหมี้ยง จะช่วยดูดซับอนุภาคขนาดเล็กหรือฝุ่นละอองได้ จึงทำให้ชุมชน ‘คน-ป่า-เหมี้ยง’ รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะเหมือนมีกำแพงช่วยกรองไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ และจริง ๆ ก็มีกุศโลบายของชุมชนเองว่า ก่อนที่ไฟป่าจะมา ชุมชนจะต้องไปทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่า เพราะเขาห่วงสวนเหมี้ยง เขาก็จะช่วยกันรักษาอย่างดีจึง เป็นกุศโลบายของชุมชน ผมว่ามันคือภูมิปัญญาและความยั่งยืนของชุมชนป่าเหมี้ยงเอง

นอกจากนี้เราได้สำรวจและเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือที่เราเรียกว่า ‘สถานีอนามัย’ ในก่อนหน้านี้ พบว่า    เมื่อเทียบแล้ว อัตราอุบัติการณ์ของโรคมะเร็ง โรคเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ (NCDs) อื่น ๆ น้อยมาก มีครั้งหนึ่งผมขึ้นไปเก็บตัวอย่างเพื่อเอามาทำวิจัย พบ    คุณยายท่านหนึ่งอายุประมาณ 80 ปีแล้ว เดินนำผมขึ้นไปบนดอยเพื่อเก็บตัวอย่างเหมี้ยง ผมยังเดินตามไม่ไหวเลย รู้สึกเหนื่อย แต่คุณยายไม่มีอาการเหนื่อยหอบแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ คุณยายยังบอกผมอีกว่า เวลายายไปวัด ยายนั่งพับเพียบ 3 ชั่วโมงได้สบาย ๆ นอกจากนี้ชุมชน ‘คน-ป่า-เหมี้ยง’ ยังเป็นห้องเรียนของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ สำหรับเข้าไปในพื้นที่ เพื่อดูแลเรื่องการใช้ยา ทั้งยังสามารถสอนนักศึกษาในเรื่องอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยา (Herb-drug interaction) ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับว่าที่เภสัชกรในอนาคตต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ จากที่ได้พูดคุยกันนั้น จึงพอที่จะสรุปได้ว่าป่าเหมี้ยงเป็นห้องเรียนชุมชนทั้งในด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย”

 

มอง “เหมี้ยง” มุมใหม่...อย่างไรดี?


จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ตำบลป่าแป๋ เป็นแหล่งผลิตเหมี้ยงที่มีคุณภาพดีที่สุด และเป็นพื้นที่ศึกษาของโครงการ “คน-ป่า-เหมี้ยง” ซึ่งขณะนี้ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอยู่ในระหว่างการทำสัญญาเรื่องการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเหมี้ยง ได้พยายามผลักดันกระบวนการอย่างเป็นระบบ โดยยึดผลประโยชน์ของชุมชน “คน-ป่า-เหมี้ยง” เป็นสำคัญ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการนี้คือ การอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาเหมี้ยง และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

 

“ผลิตภัณฑ์จากเหมี้ยง” จึงเป็นคำตอบหนึ่งในโจทย์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการนำเหมี้ยงมาอยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง เพื่อใช้คุณสมบัติของเหมี้ยงให้เกิดประโยชน์สูงสุด และส่งผลดีกลับไปสู่ชุมชน ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

 

“เราไม่อยากให้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเหมี้ยงเป็นของโหล เช่น ในยุคหนึ่งพอเราบอกว่าอันนี้ดี ก็มีการทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมามากมาย จนไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ ดังนั้น ที่เราคิดไว้คือ การจดเครื่องหมายการค้า เราจะเน้นที่วิสาหกิจชุมชน โดย มช. หรือศูนย์เหมี้ยงจะเป็นคนรับผิดชอบช่วยดูแลในด้านของคุณภาพ ว่าสารสำคัญอยู่ครบไหม แล้วถึงจะให้ใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งเวลาจะให้วิสาหกิจชุมชนใช้ต้องมีเงื่อนไข ไม่ได้คิดในเชิงธุรกิจอะไรมาก เพียงแค่อยากให้วิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าเอกชนจะเอาไปใช้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือจะต้องคุยกันแบบธุรกิจ ซึ่งตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของเรากำลังอยู่ในระหว่างจดสิทธิบัตรอยู่จำนวนหนึ่ง”

 

เมื่อมอง “เหมี้ยง” จากมุมใหม่ จึงไม่เห็นภาพก้อนเหมี้ยงที่หลายคนมองว่าเป็นของโบราณล้าสมัยอีกต่อไป แต่เป็น “เหมี้ยง” ที่หมายถึง นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาอันล้ำค่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงสุขภาพ และการศึกษา สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน และทำให้ “คน-ป่า-เหมี้ยง” ได้พึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social