CMU SDGs

CMU SDGs

ภาษามือ: การสื่อสารที่เชื่อมต่อความเข้าใจให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม

จำนวนผู้เข้าชม : 149 | 18 ธ.ค. 2567
SDGs:
4 10 16

ภาพโดย cottonbro studio จากเว็บไซต์ Pexels.com

#ภาษามือ #หลักสูตรออนไลน์ #เรียนฟรี #Lifelong #SDG4 #SDG10 #CMUSDGs

การสื่อสารเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจกัน ความสามารถในการเข้าถึงภาษาและการสื่อสารเป็นสิ่งที่ควรจะเปิดโอกาสให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อจำกัดในการสื่อสารทางการได้ยิน “ภาษามือ” จึงเป็นภาษาหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงแค่สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้คนทั่วไป เข้าใจในสิ่งที่ผู้พิการทางการยิน อยากจะสื่อสาร และทำให้ได้เห็นมุมมองที่เราอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

ภาษามือเป็นภาษาที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งไม่ได้ยิน หรือฟังได้ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้แม้แต่การออกเสียง สามารถสื่อสารกันได้อย่างเต็มที่ โดยภาษามือนั้นจะมีท่าทางที่เป็นมาตรฐาน และท่าทางที่สื่อถึงตัวอักษรและการสื่อความหมายของแต่ละภาษา

ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2566


จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในปี พ.ศ. 2566 พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายกว่า 400,000 คน ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการสื่อสารกับคนทั่วไป ผู้พิการทางการได้ยินส่วนใหญ่มักพบกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือบริการต่าง ๆ เนื่องจากขาดการสื่อสาร “ในภาษาเดียวกัน” คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่สามารถใช้ภาษามือได้ ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการสื่อสาร สื่อสารในสิ่งที่ต้องการได้ไม่เต็มที่ และเกิดความเข้าใจความหมายที่คลาดเคลื่อนไป

ในอีกด้านหนึ่ง คนทั่วไปที่ไม่รู้ภาษามือก็อาจรู้สึกไม่มั่นใจหรือรู้สึกห่างเหินจากผู้พิการทางการได้ยิน เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกันหรือไม่สามารถสื่อความหมายได้ครบถ้วน ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการรับข้อมูลหรือการมีส่วนร่วมในสังคม

หากทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้การใช้ภาษามือในชีวิตประจำวัน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากความแตกต่างทางการสื่อสารจะลดลงอย่างมาก การที่ทุกคนสามารถสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยินได้ จะช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนร่วมในสังคมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทำงาน หรือการเข้าถึงบริการต่าง ๆ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเคารพในความหลากหลายทางกายภาพและวัฒนธรรม

การส่งเสริมให้ผู้คนได้ศึกษาและเข้าใจภาษามือ เพื่อลดช่องว่างด้านการสื่อสารในสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหลักสูตรออนไลน์ “การเรียนรู้ภาษามือเบื้องต้น” จัดทำหลักสูตรโดย งานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สามารถเข้าไปศึกษาได้ฟรีในแพลตฟอร์ม CMU Lifelong Education ตามลิงก์นี้ได้เลย https://mooc.cmu.ac.th/th/course/64302682-6852-4f8c-8f37-a9c181d8e607 หรือคลิกที่รูปหน้าปกหลักสูตรด้านล่างนี้ 



https://mooc.cmu.ac.th/th/course/64302682-6852-4f8c-8f37-a9c181d8e607

โดยหลักสูตร “การเรียนรู้ภาษามือเบื้องต้น” มีทั้งหมด 8 หัวข้อ
- การทักทายแนะนำตัวเอง
- ตัวเลข / พยัญชนะ
- สระและวรรณยุกต์ / เวลา / วัน
- เดือน / ปี
- โครงสร้างภาษามือ ของภาษาไทย
- คำศัพท์หมวด “คำถามและบุคคล”
- คำศัพท์หมวด “ครอบครัวและความสัมพันธ์”
- คำศัพท์หมวด “ความรู้สึกและสี”


   
ตัวอย่างวิดีโอจากหลักสูตรออนไลน์ "ภาษามือเบื้องต้น" โดยสามารถเลือกเรียนรู้ในหัวข้อที่สนใจได้ โดยที่วิดีโอจะมีการทำภาพช้า (Slowmotion) เพื่อให้สามารถทำตามได้ง่าย



การเรียนรู้ภาษามือผ่านหลักสูตรออนไลน์ยังเป็นการส่งเสริม Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สำคัญในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อจำกัดทางอายุ การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เช่น ภาษามือ นอกจากจะเพิ่มความสามารถส่วนบุคคลแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 4 กับ SDG 10) อีกด้วย


Source:

หลักสูตรออนไลน์ "ภาษามือเบื้องต้น" CMU Lifelong Education

สถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำแนกตามจังหวัด ประเภทความพิการ และเพศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2537 ถึง 28 ก.พ. 2566 (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ)

Man and Woman Communicating with Hand Gestures (Free Stock Photo from Pexels.com)

Close-up of Man Showing Sign Language (Free Stock Photo from Pexels.com)

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social