ภาพ Together วาดโดย นางสาวธนภรณ์ วงค์ชัย
Together เป็นภาพที่ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดภาพวาดดิจิทัล “ผู้พิการกับพลัง ในการสร้างแรงบันดาลใจ” ที่สื่อให้เห็นถึงความแตกต่างแต่ไม่แปลกแยกใด ๆ ในการอยู่ร่วมกันของบัณฑิตทั่วไปและบัณฑิตที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ภาพนี้จึงมีความงามที่ไม่ควรจะเป็นเพียง ภาพในจินตนาการเท่านั้น...
ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายเป็นจำนวนมาก ไม่กล้าแม้แต่จะฝันถึงการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะข้อจำกัดที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนร่วมกับนักศึกษาทั่วไปในชั้นเรียน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่อาจไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต แต่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปสรรคที่แสนยากนี้กลับเป็นโจทย์อันท้าทายในการทำให้ภาพที่สวยงามในจินตนาการข้างต้นกลายเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในโลกแห่ง ความเป็นจริง...
หน่วยงานที่เป็นผู้แก้ไขโจทย์นี้มีชื่อว่า “งานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ” หรือ DSS CMU (Disability Support Service of Chiang Mai University) ซึ่งพัฒนามาจากการพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้ด้านการศึกษาพิเศษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการริเริ่มของ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนีกร ทองสุขดี ประธานกรรมการดำเนินงานนักศึกษาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2548 จึงได้เริ่มมีโครงการรับนักศึกษาพิเศษเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นครั้งแรก โดยในช่วงเริ่มต้นมีนักศึกษาเพียง 3 - 4 คน ที่เข้าร่วมโครงการ และส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่บกพร่องทางการได้ยิน ต่อมามหาวิทยาลัยได้จัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลงานด้านนี้โดยตรง นั่นคือ งานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิเศษ ในสังกัดกองพัฒนานักศึกษา ทำให้สามารถรองรับนักศึกษาพิเศษที่มีความบกพร่องด้านร่างกายในประเภท อื่น ๆ ได้มากขึ้น
ปัจจุบันนักศึกษาพิเศษที่เข้ามาเรียนร่วมใน มช. มีจำนวน 44 คน แบ่งเป็นผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน (หูหนวก, หูตึง), ความบกพร่องทางด้านการเห็น (ตาบอด, ตาเลือนราง), ความบกพร่องทางร่างกาย สุขภาพและการเคลื่อนไหว, ออทิสติก และความบกพร่องด้านการเรียนรู้ (Learning Disability) นักศึกษาเหล่านี้ได้เข้าเรียนหลักสูตรเรียนร่วมใน 12 คณะ 1 วิทยาลัย ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิจิตรศิลป์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี โดยคณะจะเป็นผู้ประเมินคุณสมบัติของนักศึกษา เกณฑ์ในการคัดเลือก และประเภทของความพิการ ว่ามีความเหมาะสมที่จะเรียนร่วมในคณะนั้นหรือไม่อย่างไร
การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม ทำให้นักศึกษาพิเศษได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้คนในสังคมได้เรียนรู้ถึงการไม่แบ่งแยกความแตกต่างหรือความบกพร่องใด ๆ จึงถือเป็นการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้น โดยมี DSS CMU เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาพิเศษ ได้เรียนรู้ทั้งทักษะทางด้านวิชาการและทักษะชีวิตในระหว่างศึกษา รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของนักศึกษา ให้มากที่สุดด้วย
ด้วยเหตุนี้ กว่าที่นักศึกษาพิเศษคนหนึ่งจะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตได้นั้น เบื้องหลังคือกระบวนการสนับสนุนที่ต้องใช้ทั้งเวลา งบประมาณ รวมทั้งการประสานแรงกายแรงใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาด้วย ดังที่ คุณอัจฉรา ศรีพลากิจ ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา ได้ขยายความให้ฟังว่าปัจจุบัน DSS CMU มีบุคลากร จำนวน 11 คน ได้แก่ หัวหน้างาน เจ้าหน้าที่ผลิตสื่อสำหรับผู้บกพร่อง ทางการเห็น เจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือ และเจ้าหน้าที่ดูแลนักศึกษาบกพร่องทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 11 คนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยดูแลนักศึกษา โดยเจ้าหน้าที่ 1 คน รับผิดชอบดูแลนักศึกษา 2 - 6 คน ตามระดับความยากง่ายในแต่ละเคส และโจทย์ที่ได้รับก็มีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา
อัจฉรา ศรีพลากิจ
ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา
“เรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักศึกษาพิการคือ การฟื้นฟูทักษะทางวิชาการ เนื่องจากนักศึกษาพิการ มีความหลากหลาย และมาจากแหล่งการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ลักษณะการเรียนรู้ก็จะต่างกันออกไป เช่น นักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษา ก็จะมีวิธีการเรียบเรียงประโยคที่แตกต่างออกไป จึงต้องมีการปรับตรงนี้ เพื่อให้มีความพร้อม นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของความเข้มแข็งทางวิชาการ ซึ่งจะต้องมีการจัดสอนเสริมให้ ในทุกคาบเรียน เราจึงต้องค้นหาว่าน้องจำเป็นจะต้องเรียนเสริมในวิชาใดบ้าง ตรงนี้ก็ต้องใช้งบประมาณ ไม่น้อยนะคะ ในแต่ละปีการศึกษาก็เป็นหลักแสน ในการจ้างครูพิเศษหรือติวเตอร์มาสอน โดยกองพัฒนาการศึกษาก็จะทำหน้าที่เป็นตัวประสานและคอยอธิบายข้อจำกัดของน้อง ๆ นักศึกษาแต่ละคน
การสอนเสริมนอกเหนือจากชั้นเรียนปกติ
ยกตัวอย่างเช่น ในวิชาการพูดภาษาอังกฤษ น้อง ๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินก็อาจจะทำได้ ไม่ดีนัก เราก็จะมีวิธีการ คือปรึกษาอาจารย์ประจำวิชาว่าน้องมีความตั้งใจเรียนอย่างมาก แต่เราขอให้ใช้วิธีการประเมินอีกแบบหนึ่งแทนได้ไหม? เช่น ในรูปของการทำรายงาน หรือทำการบ้านมากกว่านักศึกษาทั่วไปซึ่งล่ามภาษามือเองก็ทุ่มเทในการออกแบบการทำงานกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้เป็นรายบุคคลเลย เขาต้องใช้พลังมากกับการที่ต้องใช้ภาษามือ เพราะต้องฟังอาจารย์เลคเชอร์ในห้องไปด้วย ต้องแปลภาษามือให้น้องไปด้วย คลาสหนึ่ง ๆ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง โดยในแต่ละวิชาให้มีล่าม 2 คน ผลัดกันล่ามคนละ 15 - 20 นาที”
ล่ามภาษามือ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบสภาพแวดล้อมให้ตอบสนอง ต่อการใช้งานของนักศึกษาพิเศษและคนทุกกลุ่ม ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) โดยมี การสร้างทางลาดในอาคารต่าง ๆ เช่น ตึกเรียน หอพัก และได้ปรับปรุงส่วนหนึ่งของหอพักหญิงอาคาร 3 ให้เป็นที่พักสำหรับนักศึกษาพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่น ลิฟต์ ทางลาด รวมไปถึงการจัดรถสาธารณะ CMU Shuttle for All ที่มีทางลาดขึ้น - ลงสำหรับนักศึกษาพิเศษโดยเฉพาะ
หอพักหญิงอาคาร 3 ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่พักของนักศึกษาพิเศษทั้งชายและหญิง
ทางลาดสำหรับรถเข็น
มีลิฟต์ให้บริการ
CMU Shuttle for All ที่มีทางลาดขึ้น - ลง
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถาบันต้นแบบเกี่ยวกับงานนักศึกษาการศึกษาพิเศษในภาคเหนือ โดยมีจุดเด่นคือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีจำนวนมากเพียงพอที่จะช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาพิเศษ โดยมุ่งเน้นการดูแลแบบพี่น้องตั้งแต่รับสมัครเข้ามาเรียนจนกระทั่งจบออกไปเป็นบัณฑิต รวมไปถึงการส่งเสริมการมีงานทำหลังจากเรียนจบด้วย งานด้านนี้จึงมี ความละเอียดอ่อน และต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจเป็นพิเศษ งบประมาณสนับสนุน ในด้านบุคลากรจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผลสำเร็จของงาน ทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมคือ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาพิเศษสำเร็จการศึกษาไปแล้ว จำนวน 78 คน หลายคนได้ประกอบอาชีพอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ในหลากหลายเส้นทาง
ชนิตา มะธุ บัณฑิตสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Art Education
ที่ Academy of Art University ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันรับราชการอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล
ยอดทิเบต ธรรมสุภาพร บัณฑิตสาขาวิชาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
ปัจจุบันเป็นบุคลากรในกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และเหนือสิ่งอื่นใด นักศึกษาพิเศษเหล่านี้ คือทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของสังคม และมีความหมายต่อคนทำงานเบื้องหลังด้านการศึกษาพิเศษอย่างมาก ดังที่ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษาได้กล่าวสรุปไว้ว่า
“งานของเราไม่ได้จบตรงที่เขาเป็นนักศึกษาหรือได้รับปริญญา แต่เขาต้องมีงานทำและสามารถดูแลตัวเองได้ งานเราถึงจะจบ นี่เป็นคุณค่าที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้ เรารู้สึกว่าเราได้สร้างพลเมือง ให้ประเทศชาติ จากที่หลายคนคิดว่าเขาคือภาระ แต่ในที่สุดเขาสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลคนในครอบครัว มีอาชีพ มีรายได้ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถกลายมาเป็นพลังของประเทศชาติได้ในที่สุด”
บัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จากสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จากโจทย์อันท้าทายของการจัดการศึกษาให้แก่นักศึกษาพิเศษ วันนี้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจึงได้เห็นโลกของความเป็นจริงที่ชัดเจนกว่าภาพวาดในจินตนาการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาคของการศึกษา ที่ปรากฏเป็นจริงในชั้นเรียน และหัวใจนักสู้ของนักศึกษาพิเศษในรั้วสีม่วงที่จะส่งต่อ แรงบันดาลใจอันไม่สิ้นสุดแก่ทุกคนที่มีความใฝ่ฝัน ให้กล้าฝันและลงมือทำโดยไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ