CMU SDGs

CMU SDGs

ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาหญิง

จำนวนผู้เข้าชม : 481 | 27 ส.ค. 2567
SDGs:
4 5 10

การรับนักศึกษาหญิงเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ผู้หญิงมีบทบาทน้อย และกิจกรรมที่เน้นให้นักศึกษาหญิงมีส่วนร่วม

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกิจกรรมและการดำเนินงานที่ให้นักศึกษาหญิงมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เพิ่มศักยภาพของตัวเอง มีโอกาส และบทบาทในด้านต่างๆ ที่มากขึ้น สนับสนุนศักยภาพของนักศึกษาให้แสดงออกและสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม การมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการเป็นผู้นำและผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคต


Women in Engineering



ในยุคที่ความเท่าเทียมทางเพศและการสร้างโอกาสทางการศึกษาได้รับความสำคัญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้เปิดโควต้า Women in Engineering ผ่านระบบ TCAS รอบที่ 1 เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาหญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในสายอาชีพนี้มากขึ้น

จากข้อมูลของสำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันนักศึกษาหญิงที่กำลังศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์มีสัดส่วนประมาณ 30% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย สถานการณ์นี้สะท้อนถึงทัศนคติและค่านิยมทางสังคมที่อาจมองว่าสาขาวิชาวิศวกรรมหรือสาย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เหมาะสมกับผู้ชายมากกว่า แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงก็มีศักยภาพและความสามารถเท่าเทียมกับผู้ชายทุกประการ การเปิดโควต้า Women in Engineering จึงเป็นการตอบโจทย์และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการสร้างสังคมที่ให้ความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

ในปีการศึกษา 2566 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เปิดรับนักศึกษาหญิงผ่านโควต้านี้ใน 2 สาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยในปีการศึกษา 2567 ทางคณะได้ขยายจำนวนสาขาวิชาที่เปิดรับเพิ่มขึ้นเป็น 5 สาขาวิชา ซึ่งรวมถึงวิศวกรรมเครื่องกลและการบริหารโครงการวิศวกรรม (นานาชาติ), วิศวกรรมระบบสารสนเทศและเครือข่าย (นานาชาติ), วิศวกรรมโยธา (นานาชาติ) และวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการโลจิสติกส์ (นานาชาติ) ความพยายามในการขยายตัวนี้สะท้อนถึงการตั้งมั่นในการสร้างโอกาสและส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในสาย STEM อย่างต่อเนื่องและครอบคลุม



(Women in Engineering TCAS ปีการศึกษา 2566)


(Women in Engineering TCAS ปีการศึกษา 2567)


Workshop and Seminar for women

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในทุกมิติ โดยมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปและสัมมนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถให้กับนักศึกษาและผู้หญิงทั่วไป กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นในการให้ความรู้ แต่ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมในวงกว้าง ยกตัวอย่างกิจกรรม เช่น

อบรมแม่ครูช่างฟ้อยลายเมือง


สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ (MDRI CMU) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เพื่อนำเสนอต้นทุนทางวัฒนธรรม “อบรมแม่ครูช่างฟ้อยลายเมือง” เป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับกลุ่มสตรีในชุมชนที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาฟ้อนเมืองบ้านครูเอ จิดาภา (เครือข่ายช่างฟ้อนลายงาม) ภายใต้โครงการช่างฟ้อนลายงาม : การส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาสู่เทศกาลเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการ Creative Lanna Co-Communication กิจกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเพื่อรักษาวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้ยังคงอยู่ สร้างความร่วมมือ รู้รักสามัคคี และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น

HerImpact : Women Shaping Sustainable Futures in Chiang Mai




กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยเกี่ยวกับเทรนด์และความสำคัญของธุรกิจยั่งยืนในบริบทโลก พร้อมทั้งเรียนรู้แนวคิดและบทเรียนจากการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนบนฐานของวัฒนธรรม ชุมชน และระบบนิเวศท้องถิ่น ร่วมกับผู้ประกอบการหญิงในเชียงใหม่จากหลากหลายธุรกิจ จัดโดยกลุ่ม WomenSet, CMU Lifelong, builds CMU และสมาคมศิษย์เก่าโครงการแลกเปลี่ยนไทย-สหรัฐฯ (TUSAA)


Women Capacity Building for Change



ศูนย์นวัตกรรมรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับ International Republic Institute (IRI) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพผู้นำหญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Women Capacity Building for Change)” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ที่ช่วยให้สตรีในชุมชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำ การคิดเชิงออกแบบเพื่อการพัฒนานโยบายและการจัดทำโครงการ นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชุมชนของตน โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์, ผศ.ดร.ชนินทร เพ็ญสูตร, อ.ดร.ฉัตรทิพท์ ชัยฉกรรจ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดารารัตน์ คำเป็ง และกลุ่มผู้นำสตรีจากหลากหลายชุมชนทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมงาน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-9 ธันวาคม 2566 ณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงแรม Brique Hotel จ.เชียงใหม่ (รายละเอียดโครงการ สามารถอ่านได้จากรายงาน PDF ด้านล่าง) 


SDGs 5 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ขจัดการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมบทบาทและสิทธิของเด็กและผู้หญิงในทุกด้าน


Source:

ระบบการรับสมัครคัดเลือกบุคคล เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จดหมายข่าว สำนักทะเบียน มช. ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 (24 ก.ค. - 6 ส.ค. 66)

ข่าวสาร เปิดรับสมัครผ่านระบบ TCAS 67 - คณะวิศวกรรมศาสตร์

จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อนำเสนอต้นทุนทางวัฒนธรรม อบรมแม่ครูช่างฟ้อนลายเมือง

HerImpact: Women Shaping Sustainable Futures in Chiang Mai





ประกาศที่เกี่ยวข้อง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social