CMU SDGs

CMU SDGs

มช.เมืองสุขภาพดี Healthy CMU

จำนวนผู้เข้าชม : 4717 | 25 ธ.ค. 2563
SDGs:
3 9 11 17


          ถ้าใครมาเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในยามเช้าและยามเย็น จะเห็น “คนสุขภาพดี” กำลังออกกำลังกายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่เฉพาะ    สนามกีฬากลางเท่านั้น แต่ยังกระจาย ไปยังจุดต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น อ่างแก้ว อ่างตาดชมพู สวนปาล์มข้างคณะวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่ล้วนมีบรรยากาศสวยงาม มีสภาพภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย  





          ในฐานะเมืองมหาวิทยาลัยริมเชิงดอยที่มีทั้งนักศึกษาและบุคลากรอยู่รวมกันราว 48,000 คน ที่นี่จึงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย และไม่ง่ายเลยในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารจัดการเรื่อง “สุขภาพ” ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ยากจะบังคับกันได้ ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยครั้งว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”

         โจทย์ยากนี้เป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันการศึกษา 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่อยู่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ASEAN University Network (AUN) และมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพ AUN-Health Promotion Network (AUN-HPN) ซึ่งมีนโยบาย เพื่อเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัย และขับเคลื่อนสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสุขภาพ” หรือ Healthy University โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เพราะสุขภาพที่ดีย่อม ส่งผลต่อ  ความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต

          ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการการพัฒนาศักยภาพ การสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับการขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยสุขภาพ” หรือ Healthy CMU เพื่อสร้างความตระหนักให้บุคลากรเห็นความสำคัญของสุขภาพ และลดปัญหา ด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานและการใช้ชีวิต ภายใต้กรอบการทำงาน Health University Framework ซึ่งเป็นทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพในอนาคต นับว่าเป็นก้าวสำคัญของ มช. ในการสร้าง “สุขภาพดีที่ไม่มีขาย” ให้แก่บุคลากรและชุมชน ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ตีโจทย์ Healthy CMU

สู่เป้าหมาย “มหาวิทยาลัยสุขภาพ”


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์รณภพ เอื้อพันธเศรษฐ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่




ทีมเบื้องหลัง Healthy CMU

 
           การเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพจำเป็นจะต้องมีระบบและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ ซึ่งจุดนี้เป็นข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่โจทย์ที่ยากและซับซ้อนกว่านั้นคือ การสร้างความตระหนักในการส่งเสริมสุขภาพเพื่อเปลี่ยนมุมมองของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยให้หันมาสนใจ เรื่องสุขภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับความ    ร่วมมือจากชาว มช. ในการร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อตีความและ แปรโจทย์คำว่า “มหาวิทยาลัยสุขภาพ” ให้เป็นรูปธรรม และสามารถดำเนินการได้จริง ดังที่ รองศาสตราจารย์    นายแพทย์ รณภพ เอื้อพันธเศรษฐ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า

          “โครงสร้างบุคลากรในมหาวิทยาลัยมีลักษณะเฉพาะ คือมีสัดส่วนของนักศึกษาอยู่ปริมาณมาก และอยู่ในช่วงวัยรุ่น ส่วนตัวคณาจารย์และบุคลากรของเราก็มีความหลากหลาย โจทย์ก็คือ ทำอย่างไร ให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษา มีสุขภาพที่ดีในมิติต่าง ๆ เช่น ร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่เรียนไปเครียดไป หรือบุคลากรทำงานแบบไม่มีความสุข              สายวิทยาศาสตร์สุขภาพจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่าเรื่องสุขภาพอยู่ในชีวิตอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ทุกคนก็จะมัวแต่ทำงาน ไปรักษาคนอื่น แต่ลืมใส่ใจสุขภาพของตัวเอง ส่วนสายมนุษย์สังคม สายวิทย์-เทคโน ซึ่งอยู่ใน campus ของมหาวิทยาลัย ก็จะมีภาระงานสอน งานวิจัยที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง เวลาเยอะกว่า แต่บางครั้งไม่สนใจเรื่องสุขภาพเท่าไรนัก นี่คือโจทย์ซึ่งเป็นความยากของมหาวิทยาลัยในการทำเรื่องนี้”

           การเสริมสร้างสุขภาพเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล การเปลี่ยนมุมมองหรือพฤติกรรมต้องสร้างความเข้าใจและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงจะสำเร็จได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดสรรงบประมาณแก่คณะ ต่าง ๆ ที่มีโครงการเกี่ยวกับสุขภาพที่น่าสนใจ และตอบโจทย์ Healthy CMU จึงเป็นที่มาของการทำงาน ความร่วมมือระหว่างคณะ และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งคณะทางด้านวิทยาศาสตร์ - สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการสื่อสารมวลชน ด้านสังคมศาสตร์ โดยมีคณะพยาบาลศาสตร์  เป็นผู้ดำเนินโครงการหลัก และมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ร่วมรับผิดชอบ 11 หน่วยงาน ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี คณะการสื่อสารมวลชน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักหอสมุด คณะศึกษาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสภาพนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้รวมเป็นพลังการขับเคลื่อนที่สำคัญเพื่อให้ มช. ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสุขภาพ

9 โครงการ
ตอบโจทย์ มช.เมืองสุขภาพดี

      โจทย์สำคัญของโครงการนี้คือ ทำอย่างไรให้นักศึกษาและบุคลากรใน มช. มีสุขภาพดี และ ลดความเสี่ยงในโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเครียด ซึ่งเป็นโรคของคนวัยทำงาน การดำเนินงานของโครงการนี้จึงมุ่งเน้นกิจกรรมหลัก 2 ส่วนเพื่อตอบโจทย์ นั่นคือ กิจกรรมการสร้างความตระหนัก การสร้างเสริมพลังอำนาจและการมีส่วนร่วม (Building Awareness, Understanding, and Participation) และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพสำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Data Health System) ผ่าน 9 โครงการ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของคณาจารย์ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่

     1.CMU i-Health เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพรูปแบบใหม่สำหรับบุคลากร มช. ซึ่งผู้ประเมินสามารถทำได้ด้วยตัวเองภายในเวลา 5 - 10 นาที ผ่านทางคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยใช้ CMU IT Account เมื่อกรอกแล้วระบบจะประมวลระดับสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ทันที จากนั้นจะมีการติดตามผลการดูแลสุขภาพ และส่งกิจกรรมที่เหมาะสมกับสุขภาพของ ผู้ประเมินให้ทราบเป็นระยะ ข้อดีคือ ทำให้ทราบความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้นของผู้ประเมิน เพื่อหาทางป้องกัน และแก้ไขต่อไป    (โดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล จากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล จากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
รับผิดชอบโครงการ CMU i-Health

นางสาวรติยา วีระคำ จากสำนักหอสมุด
รับผิดชอบโครงการ CMU 3 Fs, Foods, Fit, Fresh

      2. CMU 3 Fs, Foods, Fit, Fresh เป็นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพใน 3 ด้าน หรือ 3 อ. ได้แก่ การออกกำลังกาย อาหาร และอารมณ์ เช่น การบรรยายให้ความรู้เรื่องอาหาร จัดกิจกรรมปรับพฤติกรรมชีวิต Fit-Firm โดยการลดน้ำหนักด้วยตัวเองภายใน 4 เดือน กิจกรรมเดิน-วิ่งล่าแต้ม CMU Walk Together เป็นต้น                   (โดย นางสาวรติยา วีระคำ จากหน่วยการเจ้าหน้าที่ งานบริหารทั่วไป สำนักหอสมุด)




รองศาสตราจารย์ ดร.วณิชา พึ่งชมภู จากคณะพยาบาลศาสตร์
รับผิดชอบหัวหน้าโครงการ Healthy CMU โครงการ CMU Staff Health Volunteer

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ จากคณะเทคนิคการแพทย์
รับผิดชอบโครงการ CMU Health MOOC

       3.CMU Staff Health Volunteer เป็นการพัฒนากลุ่มแกนนำสุขภาพบุคลากรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการจัดอบรมและพัฒนาหลักสูตรอบรมออนไลน์ ผ่าน MOOC การพัฒนาคู่มือแกนนำสุขภาพบุคลากร มช. ให้มีความรู้ใน 6 บทเรียน เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดผิดปกติ ความเครียด และโรค    ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อพัฒนาอาสาสมัครด้านสุขภาพประจำมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพ สามารถประเมิน และเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้นของบุคลากรในหน่วยงาน และสามารถส่งต่อเพื่อรับความช่วยเหลือในขั้นต่อไปได้ (โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วณิชา พึ่งชมภู จากคณะพยาบาลศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ Healthy CMU : Overview of the HU Project และ CMU Staff’s Health Volunteer)

      4. CMU Health MOOC เป็นโครงการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบเปิด (Massive Open Online Course, (MOOC)) เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง      ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ในบุคลากร มช. โดยมีการวางแผน ออกแบบสื่อการสอน จัดทำเนื้อหา ตรวจสอบเนื้อหา และดำเนินการตามกระบวนการจัดทำ MOOC (5 ชม. การเรียนรู้) ได้แก่ แนวคิด NCDs, Health promotion, Rehabilitation, โรคกลุ่มหัวใจและหลอดเลือด, โรคที่พบบ่อยในวัยทำงาน, และปัญหาสุขภาพจิตในคนวัยทำงาน                          (โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ จากคณะเทคนิคการแพทย์ )

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลินี สุวรรณยศ จากคณะพยาบาลศาสตร์
รับผิดชอบโครงการ CMU Stress Management Clinic

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราวรรณ อุดมความสุข จากคณะพยาบาลศาสตร์
รับผิดชอบโครงการ CMU Health Talk

      5. CMU Stop Staff Stress & Stress Management Clinic โครงการรณรงค์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพใจสำหรับบุคลากร ด้วยการจัดทำคลินิกจัดการความเครียด ซึ่งเป็นคลินิกที่ให้บริการแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องการจัดการกับความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฝึกการหายใจการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การปรับเปลี่ยนความคิด การฝึกสมาธิ เป็นต้น และมีการให้บริการประเมินความเครียดผ่านแบบประเมินความเครียดที่รับรองโดยกรมสุขภาพจิต จัดให้มีบริการการให้คำปรึกษาฟรี แก่บุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีปัญหาต่าง ๆ ด้านจิตใจ (โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาลินี สุวรรณยศ กลุ่มวิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์)

    6. CMU Health Talk คือการผลิตสื่อเพื่อสร้างความตระหนัก และส่งเสริมพลังอำนาจ ในการดูแลสุขภาพของบุคลากร มช. ได้แก่ การจัดทำวีดิทัศน์เกี่ยวกับเคล็ดลับการดูแลสุขภาพในกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการจัดทำ Healthy CMU Podcast เป็นต้น โดยนำประสบการณ์ของบุคลากรใน มช. มาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ เบาหวาน ความดันโลหิต ฯลฯ (โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราวรรณ อุดมความสุข จากคณะพยาบาลศาสตร์)


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนียา เจติยานุกรกุล จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รับผิดชอบโครงการ CMU Smart Self-Monitoring

      7. CMU Smart Self-Monitoring เป็นแพลตฟอร์มที่เสริมสร้างการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง โดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงข้อมูล/ค่ากิจกรรมทางสุขภาพส่วนบุคคล (เช่น การออกกำลังกาย คุณภาพการนอน การเผาผลาญ) ค่าบ่งชี้ภาวะทางสุขภาพ (เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ออกซิเจนในเลือด ดัชนีมวลกาย เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย) เพื่อสร้างระบบเฝ้าระวัง ใช้สื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพ และใช้พยากรณ์ความเสี่ยงเบื้องต้นในกลุ่มโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคไขมัน   ในเลือดผิดปกติ และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิต พฤติกรรมการทำงาน การรับประทานอาหาร การนอนที่อาจไม่เหมาะสม อันจะนำไปสู่ข้อแนะนำต่าง ๆ ที่มุ่งหวังให้บุคลากร มช. ห่างไกลโรค และหันมา ใส่ใจสุขภาพ โดยการ monitor ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งฐานข้อมูลสุขภาพนี้จะเป็นส่วนช่วยชี้นำ การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสุขภาพบุคลากร มช. (โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนียา เจติยานุกรกุล จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

 


รองศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ บุญเชียง จากคณะสาธารณสุขศาสตร์
รับผิดชอบโครงการ Health Monitoring: Infected COVID-19 Behaviors

      8. Health Monitoring: Infected COVID-19 Behaviors Application โครงการพัฒนา application เพื่อประเมิน และเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ที่ทุกคนทั้งบุคลากร และนักศึกษา มช. สามารถทำได้ และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับมหาวิทยาลัย ในเรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้องและเฉพาะเจาะจงกับสถานศึกษา (โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ บุญเชียง จากคณะสาธารณสุขศาสตร์)

      9. HealthyCMU: Mass Communication การพัฒนาช่องทางประชาสัมพันธ์บนสื่อออนไลน์ทุกช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้  ให้แก่ประชาคม มช. ในเรื่องสุขภาพ สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ที่ FB: Healthy CMU https://www.facebook.com/HealthyCMUOfficial, Line Official: @healthyCMU, YouTube Channel: Healthy CMU, FM 100, Podcast, Infographics, Webinar, Facebook Live Healthy CMU (MOR) : Let’s Talk with MOR นอกจากนี้มีการพัฒนา     สื่อ สิ่งพิมพ์ และบทความวิชาการให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่บุคลากร มช. เผยแพร่ผ่านวารสารทองกวาว หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเชียงใหม่นิวส์                              (โดย อาจารย์ ดร.ศิวพร สุกฤตานนท์ คณะการสื่อสารมวลชน)

     ขณะนี้ทุกโครงการกำลังขับเคลื่อนไปภายใต้แนวคิด Healthy CMU ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้ชาว มช. ตระหนักถึงความสำคัญเรื่อง “สุขภาพ” ซึ่งเป็น   ตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต ของคนเรา มากกว่าตำแหน่ง ทรัพย์สิน หรือเงินทองใด ๆ ...เพียงคลิกเข้ามาบนหน้าแรกของเว็บไซต์ https://healthycmu.com/  จะพบกับใจความสำคัญในกรอบสีขาวที่ว่า “สุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ที่นี่” และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “คนสุขภาพดี” คนต่อไปของ “มช.เมืองสุขภาพดี”

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social