ภารกิจช่วยชีวิตช้างด้วย “พลาสมาแช่แข็ง”
“งานช้าง” ของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมองช้างที่ได้รับกำซาบ ด้วยการกำซาบด้วยพลาสติก (plastination technique) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมองของช้างนั้นเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย แต่ใครจะคิดว่าสมองช้างที่ว่าเล็กนี้ กลับเป็นสมองของสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สอดคล้องกับสติปัญญาและความฉลาดของช้าง ที่มีการวิจัยพบว่า ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดมากจนสามารถจำเงาสะท้อนของตัวเองในกระจกได้เช่นเดียวกับมนุษย์
ความฉลาดของช้างนี้เองที่เป็นทั้งความประทับใจและแรงบันดาลใจในการทำงานตลอดระยะเวลา กว่า 20 ปี ของ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม แห่งศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คิดค้นการเก็บพลาสมาช้างด้วยวิธีการแช่แข็ง เพื่อช่วยชีวิตช้างบาดเจ็บได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ และสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เรียกได้ว่าเป็น “งานช้าง” ที่ประสบความสำเร็จ และส่งผลดีต่อประชากรช้างในบ้านเราเป็นอย่างมาก โดยสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของช้างได้ในระดับที่น่าพอใจ
แต่กว่าจะประสบผลสำเร็จ เรื่องราวเบื้องหลังของ “งานช้าง” นี้ไม่ง่าย แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน รวมทั้งความร่วมมือจาก “ช้าง” ด้วยเช่นกัน
ความจริงที่คนไม่รู้
ประชากรช้างหนาแน่นที่สุดที่...เชียงใหม่
ความจริงที่คนไม่รู้นี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่รองรับว่าทำไม ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ จึงต้องตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรช้างหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่จังหวัดสุรินทร์อย่างที่ใคร ๆ เข้าใจ ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า มช. มีภารกิจเกี่ยวกับช้างอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ การวิจัย การให้การศึกษา และให้บริการทางวิชาการ โดยขณะนี้มีช้างเชียงใหม่ที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ ประมาณ 900 ตัว กระจายตัวอยู่ใน 80 - 90 ปาง นอกจากนั้นคือที่เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
ในด้านการวิจัย ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการทำงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ และผลิตเอกสารทางวิชาการ นอกจากนี้งานส่วนที่ 2 ที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กันก็คือ งานบริการวิชาการ ที่หมายถึงการออกไปช่วยช้างและสัตว์ป่าในที่ต่าง ๆ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ได้เล่าถึงการทำงานของสัตวแพทย์และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือช้างว่า เคสของช้างที่เดินทางออกไปช่วยเหลือนั้นมีความหลากหลาย และบางครั้งการเดินทางไปยังพื้นที่ก็มีความยากลำบาก แต่ทีมสัตวแพทย์ของศูนย์ฯ ก็ยินดีที่จะเดินทางไปรักษา ไม่ว่าเคสนั้นจะเบาหรือหนักก็ตาม
“เราจะมี mobile clinic ที่เจาะตามปางช้างหรือเจาะไปที่ชุมชนโดยเฉพาะ ถ้าเป็นชุมชนจะเป็นที่ แม่แจ่ม เพราะเขาเลี้ยงช้างตามวิถีชาวบ้าน หรืออาจจะไปถึงเชียงราย แม่ฮ่องสอน และส่วนมากมักจะเป็น ปางช้างในเรื่องท่องเที่ยวเป็นหลักมากกว่า ก็คือ ดูแลสุขภาพ ช้างป่วย ช้างตาเจ็บ ช้างคลอดยาก เราก็ไปทั้งหมด และเราก็ทำงานประสานกับหลายที่ เช่น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง (สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ) ถ้าไปเจอเคสต่าง ๆ เรารักษาเองไม่ได้ หรือต้องส่งไปยังโรงพยาบาลช้าง เราก็ตามไปช่วย เช่น เคสช้างคลอดยาก หรือเคยมีกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมติดในหลอดอาหาร ก็ต้องวางยาสลบแล้วก็ช่วยเอาออก
หลังจากนั้นก็เป็นลักษณะของการบริการ เป็นการดูแลสุขภาพรายฝูง คือ แต่ละปางช้าง บางปางมีช้าง 10 เชือก บางปางมีถึง 50 เชือก 70 เชือก เราก็ออกไปช่วยดูให้เขา เช่น วางแผนการจัดการอาหาร การดูแล เรื่องสุขภาพ การจัดการระบบสืบพันธุ์ การผสมพันธุ์ การจัดระบบพันธุกรรม ไม่ให้เกิดการผสมเลือดชิด
อีกเรื่องคือเรื่องสวัสดิภาพ เพราะว่ามีการโจมตีจากต่างชาติ เราก็ไปช่วย โดยใช้งานวิจัยและใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวพิสูจน์ เพื่อช่วยยืนยันว่าการใช้ช้างไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายมากนัก แต่ต้องมีการจัดการ ให้ดูแลให้ดีเรื่องสวัสดิภาพ เรื่องการใช้งานให้เหมาะสม เรื่องอาหาร เรื่องพฤติกรรม”
การลงพื้นที่เพื่อให้บริการทางวิชาการพังจันทร์แดง และพลายบุญภัคร
เคส “งานช้าง” สุดคลาสสิกของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ
ภารกิจช่วยคลอดพังจันทร์แดง ที่ผ่านมา Mobile Clinic หรือคลินิกเคลื่อนที่ของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยชีวิตช้างไว้เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นคือ พังจันทร์แดง และพลายบุญภัคร ซึ่ง รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ฉัตรโชติ ระบุว่าเป็น “เคสคลาสสิก” ที่มีความยากลำบาก และแสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือชีวิตช้างแต่ละตัวนั้นเป็น “งานช้าง” ที่ต้องระดมสรรพกำลังจากหลายฝ่ายจริง ๆ
“เคสแม่ช้างชื่อจันทร์แดงนี้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 ช้างเชือกนี้เขาถูกมัดเลี้ยงอยู่ในป่า เมื่อพบตัว แล้วก็ได้พบว่าเขามีอะไรตุงอยู่ที่ก้น นั่นคือเขาจะคลอด เมื่อเราเช็คประวัติดูอีกครั้ง ปรากฏว่าเขาถึงกำหนดคลอดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ควาญช้างคิดว่าคลอดไปแล้วและลูกเสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในป่า แต่จริง ๆ แล้วคือเกิดภาวะคลอดยาก คลอดไม่ออก ลูกก็อยู่ในท้อง ไม่เน่าไม่เสีย เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เขาก็ขับลูกที่เสียชีวิตออกมา เราก็ไปช่วยกันรักษาในเรื่องการผ่าที่บริเวณฝีเย็บ และดึงลูกช้างออกมา โดยใช้ทีมสัตวแพทย์ 17 คน ใช้ทีมควาญช้าง 40 คน ในการช่วยเหลือครั้งนี้ ถ้าเจอช้างคลอดยากเมื่อไหร่นี่ ก็ต้องใช้วิธีอย่างนี้ ต้องระดมคนจำนวนมาก เพราะช้างตัวใหญ่ แล้วต้องใช้วิธีการดึง จะต้องแบ่งหลายทีมมาก เช่น ทีมที่ต้องติดตามในเรื่องของการวางยาซึม ตรวจสอบสัญญาณชีพ ดูการหายใจ แม้เราจะวางยาซึมแล้ว แต่บางครั้งช้างก็ตื่น ต้องมีการเพิ่มยา ต้องคอยระวัง เพราะการปฏิบัติงานต้องให้ช้างอยู่ในท่ายืน อีกทีมหนึ่งก็ช่วยการควบคุมบังคับ ถ้าช้างล้ม จะเกิดอันตราย ก็ต้องมีทีมคอยใช้รอกช่วยประคอง อีกทีมหนึ่งก็จะเป็นทีมผ่าตัดที่บริเวณฝีเย็บ (episiotomy) การจัดท่า ช่วยมัดและดึงลูกช้างออกมา อีกทีมหนึ่งเป็นคนคอยสั่งควาญเวลาจะดึงลูกช้างออก ใช้เชือก โซ่ มัด เพื่อดึงลูกช้างที่ตายแล้วออกมา เพราะต้องการรักษาชีวิตแม่ช้าง ต้องเข้าใจว่าต้องใช้แรงเยอะมาก ในที่สุด ก็ช่วยชีวิตแม่ช้างไว้ได้
เคสที่ 2 ชื่อพลายบุญภัคร เป็นเคสที่คลาสสิกเช่นเดียวกัน อาการคือ ช้างไม่กินน้ำ ไม่กินอาหาร มีน้ำลายไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา รวม ๆ แล้วประมาณ 21 วัน ถ้าเป็นคนก็ตายไปแล้วแน่นอน แต่ช้างยิ่งเป็นสัตว์ใหญ่ก็ต้องกินน้ำ กินอาหารค่อนข้างเยอะ ขั้นแรก ก็ทำการวางยาซึมก่อน แล้วล้วงตรวจ แต่หาสาเหตุไม่พบ เลยเปลี่ยนมาเป็นการวางยาสลบทั้งตัว การวางยาสลบช้างอันตรายมาก สัตว์ยิ่งใหญ่มากก็ยิ่งอันตราย เพราะว่าเวลาล้ม หัวก็จะฟาด แล้วต้องใช้ยาสลบชนิดที่ต้องเป็นคนที่ฝึกอบรม และมีใบอนุญาตเท่านั้นที่จะใช้ได้ เพราะเป็นยาที่รุนแรง ใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที ช้างก็จะล้มแล้วก็หลับเลย ดังนั้น เราจึงเริ่มต้นด้วยการเตรียมทีมสัตวแพทย์ 20-30 คน ควาญช้าง 30-40 คน แล้วให้ยาสลบ พอช้างล้มก็มียางในของรถยนต์มารองกันการกระแทก จากนั้นจึงสอดท่อช่วยหายใจเข้าทางปากและหลอดลม และต่อกับเครื่องช่วยหายใจ และใช้กล้องส่องตรวจภายใน (endoscope) ขนาดยาว 3 เมตร เพื่อหาความผิดปกติ ทีมงานพบว่ามีก้อนอ้อย และหญ้า ไปอุดอยู่ที่หลอดอาหาร ดันก็ไม่เข้า ดึงก็ไม่ออก”
การวางยาสลบพลายบุญภัคร
ความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่ายในการช่วยเหลือพลายบุญภัคร
“งานช้าง” สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ
ในเคสพลายบุญภัครนี้ ได้รับความร่วมมือจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนะไพศาล ภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสร้างคีมหนีบระยะไกลที่ต่อกับกล้องส่องตรวจภายในเพื่อดึงก้อนหญ้าในหลอดอาหารของพลายบุญภัคร นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากทีมสัตวแพทย์หลายแห่ง เช่น สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ฯ ปางช้างภัทรเอเลเฟ่นฟาร์ม ร่วมกันวางยาสลบ วางแผน และผ่าตัด ดังที่ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ได้เล่าถึงการทำงานในครั้งนั้นว่า
“หลายฝ่ายมาช่วยกัน แบ่งหน้าที่กัน เช่น ทีมวางยาสลบและคุมเครื่องดมยาสลบ ทีมติดตามและประเมินสัญญาณชีพ ทีมควบคุมบังคับช้าง ทีมวางแผนและดูภาพรวม ทีมบังคับเครื่องมือกล้องส่องตรวจภายใน ทีมรักษาให้ยา สารบำรุง และน้ำเกลือ โดยการปฏิบัติงานครั้งแรกไม่สำเร็จ ครั้งที่ 2 ก็ยังไม่สำเร็จ ต้องเปลี่ยนเป็นคีมที่มีแรง แล้วสามารถจิกก้อนหญ้าแล้วดึงออกมาได้เลย แต่ก็เป็นเพียงเศษหญ้า เศษอ้อยที่ไปพันกัน แล้วมีเมือกไปคลุมอยู่ ส่วนก้อนจริงยังไม่หลุดออกมา การใช้เครื่องมือในการคีบก็ต้องไม่ให้พวกอุปกรณ์แหลมคมเหล่านี้บาดที่เนื้อเยื่อด้านข้างหลอดอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นมา ครั้งที่ 3 ลองเปลี่ยนเป็นการยืนและวางยาซึม โดยมีคีมง้างที่ปาก และพยายามล้วงสิ่งแปลกปลอมออกมา แต่ก็ไม่สำเร็จ ช้างสะบัด ช้างซึมไม่ลึกเพียงพอ ก็ต้องมาวางยาสลบในครั้งที่ 4 จนในที่สุดก็สำเร็จ รวมวางยาสลบ 4 ครั้ง แบบเว้นระยะ วางยาซึม 1 ครั้ง รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 20 วัน ในการวางแผน ปฏิบัติงาน และแก้ไขปัญหา”
ศูนย์การวิจัยและศึกษาช้างฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สร้างองค์ความรู้กระจายสู่ชุมชน
หลังจากทำงานวิจัยและการบริการทางวิชาการแล้ว สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรที่จะใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาและบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับช้างในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดค่ายการทำโป่งอาหารช้าง โดยมีนักศึกษา มช. จากหลากหลายคณะเข้าร่วม การจัดการอบรมควาญช้างเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพช้างเบื้องต้น และการอบรมเป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ เป็นต้น
“การถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช้างในระดับพื้นฐาน คือ การอบรมควาญ ในระดับที่สูงขึ้นมา คือ การฝึกอบรมผู้ช่วยสัตวแพทย์ แต่ละปางช้างก็จะเลือกคนที่เป็นหัวหน้าควาญช้าง หรือคนที่เขาจะวางตัวว่าจะให้เป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์แต่ละที่ เราก็จะมีการจัดฝึกอบรมให้ เนื่องจากปางช้างหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกล บางครั้งช้างมีอาการตาอักเสบเล็กน้อย หรือต้องการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ หรือตรวจฮอร์โมน หลายครั้งเขาก็ตามให้เราไป เราขับรถไป 1 - 2 ชั่วโมง เพื่อไปแค่ทำแผล หรือไปเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ เราก็บอกว่าไม่ไหว เพราะค่อนข้างใช้เวลาในการเดินทางไปมาก เราจึงใช้วิธีฝึกเขา ให้เขามาเป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ หลังจากนั้น เมื่อมีปัญหาสุขภาพเล็กน้อย เช่น เรื่องตา แผล หรือเจาะเลือด เราก็ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ให้เขาจัดการเบื้องต้น เขาก็นำเอาตัวอย่างเลือดมาส่ง แต่ถ้าเป็นเคสหนักจริง ๆ เราก็ตามเข้าไปดู อันนี้คือระดับหนึ่งของผู้ช่วยสัตวแพทย์
ส่วนระดับที่สูงคือ ระดับของสัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ โดยจัดมา 6 ครั้งแล้ว มีสัตวแพทย์และผู้สนใจจากทั่วโลก มาเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพช้าง โดยเราทำงานร่วมกับ Royal Veterinary College และ Zoological Society London จากอังกฤษ Smithsonian Conservation Biology Institute จากสหรัฐอเมริกา University of Peradeniya จากศรีลังกา ในส่วนของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศด้านอื่น ๆ เรามีการทำงานร่วมกันกับประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ศรีลังกา อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา การถ่ายทอดความรู้อีกด้านหนึ่ง คือ การทำและตีพิมพ์ผลงานการวิจัย และการเขียนหนังสือ ซึ่งได้มีการทำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ การจัดประชุมวิชาการ มีทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยการจัดประชุมวิชาการช้างระดับชาติ ร่วมกับสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้ว นี่คือพันธกิจทั้งหมดของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ครับ”
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม แห่งศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภารกิจช่วยชีวิตช้างด้วย “พลาสมาแช่แข็ง”
ในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตลูกช้างเป็นจำนวนมากคือ การติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (Elephant Endotheliotropic Herpes Virus [EEHV] ) ซึ่งมีผลทำให้ลูกช้างเสียเลือดในร่างกายมาก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายในเวลา 48-72 ชั่วโมง หลังเริ่มแสดงอาการ โจทย์นี้สำหรับสัตวแพทย์จึงไม่ง่าย เพราะที่ผ่านมาด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาในการเดินทางไปรักษา สภาพพื้นที่อยู่ของช้างเป็นภูเขา และห่างไกล ทำให้ไม่สามารถช่วยชีวิตช้างได้ทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ ภารกิจช่วยชีวิตช้างด้วยการทำวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายพลาสมาช้างจึงเกิดขึ้น โดย
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ และ
นายสัตวแพทย์ ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ
ศาสตราจารย์ ดร.ปรียานาถ วงศ์จันทร์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย และปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายพลาสมา ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลือดที่ประกอบไปด้วยโปรตีนและภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์
น้ำเลือด (พลาสมาสดแช่แข็ง) พลาสมาที่ผ่านการปั่นแยกเม็ดเลือดแดงออกไป
การทำงานวิจัยชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากปัญหาที่พบระหว่างการรักษาช้าง โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ได้เล่าถึงที่มาและรายละเอียดของการทำงานว่า
“เทคโนโลยีเริ่มมาจากการใช้กับคน เราก็นำมาปรับมาใช้กับสัตว์บ้าง เช่น โรงพยาบาลสัตว์ในคณะฯ ก็จะมีการเก็บพลาสมาแช่แข็ง และมีการถ่ายเลือดเช่นเดียวกัน พอเราเห็นเทคโนโลยีตรงนี้ เราก็เห็นว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับช้างได้ จึงปรึกษาและทำการวิจัยภายในเวลา 1 - 2 ปี จึงสำเร็จ
…เราพบว่าเวลาลูกช้างเขาจะตาย สาเหตุมาจากหัวใจล้มเหลว เพราะมีการเสียเลือดออกไปมาก วิธีที่จะช่วยได้คือ การให้เลือดหรือให้พลาสมา แต่ลักษณะการให้เลือด เราจะต้องมาตรวจการเข้ากันได้ของเลือด หรือว่า crossmatch ซึ่งเราจะต้องมาตรวจสอบก่อนว่าช้างเชือกไหนจะให้เลือดได้ โดยการตรวจโรคติดต่อ และความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลา 1-2 วัน เราจึงใช้วิธี ‘การทำพลาสมา’ ซึ่งช่วยในกรณีเร่งด่วน แทนที่เราจะวิ่งไปหาช้างเพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจว่ามีโรคติดต่อไหม เราก็ใช้วิธีทำพลาสมาแล้วเก็บแช่แข็งไว้เลย โดยคัดเลือกจากช้างที่มีสุขภาพดีมาเก็บไว้ แล้วมีการตรวจเก็บไว้ก่อนว่าจะเข้ากันได้หรือไม่กับลูกช้างที่จะเป็นผู้รับการถ่ายพลาสมา หลังจากได้เลือดมาเราก็ปั่นแยกเม็ดเลือดแดงออกไป เราเก็บแต่พลาสมาไว้ แล้วนำพลาสมามาใส่ถุงแช่แข็งเก็บไว้ จากการตรวจวิจัยคุณภาพของพลาสมาพบว่า สามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี ดังนั้น ถ้าหากเจอลูกช้างที่มีอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง เราก็ใช้พลาสมาที่แช่แข็งมาใช้กับลูกช้างได้ทันที เป็นการช่วยรักษาชีวิตของลูกช้างเชือกนั้นไว้ได้ เช่น ลูกช้างเชือกหนึ่งแถวแม่แตง อยู่ในปางช้าง ลูกช้างจะมีอาการหน้าบวม ลิ้นม่วง ซึม ไม่กินอาหาร มีไข้สูง เราก็มั่นใจแล้วว่าเป็นแน่นอน อย่างไรก็ตามเราต้องมีการตรวจเลือดด้วยวิธีทางชีวโมเลกุลเพื่อยืนยันการติดเชื้อ จากนั้นเราก็เริ่มให้ยาต้านไวรัส และใช้พลาสมาที่แช่แข็งเก็บไว้นำมาละลายและให้ลูกช้างที่ป่วย ก็สามารถช่วยรักษาชีวิตลูกช้างไว้ได้ สิ่งสำคัญที่ทำให้การรักษาสำเร็จได้ก็คือ ต้องวินิจฉัยให้ไว และเริ่มรักษาให้เร็วที่สุด”
“งานช้าง”
สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของคนและช้าง
เบื้องหลังของ “งานช้าง” นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนก็จริงอยู่ แต่ความร่วมมือจากช้างก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งการวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายพลาสมานั้น ปัญหาอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือ ความร่วมมือของช้าง ซึ่งที่ผ่านมาการหาช้างที่จะเป็นผู้บริจาคเลือดนั้นมีข้อจำกัดพอสมควร เนื่องจากช้างที่จะเป็นผู้บริจาคต้องเป็นช้างที่ไม่ดุ!
“ที่ผ่านมาเราหาช้างที่จะบริจาคเลือดซึ่งยากพอสมควร ต้องมีการตรวจสุขภาพว่าไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่มีโรคติดต่อ ถึงจะนำมาเป็นช้างที่จะมาเป็นผู้ให้ คุณสมบัติของช้างอีกอย่างคือ ช้างต้องนิ่งพอสมควร และไม่ดุมาก ในการทำงานกับช้างมักมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ถ้าช้างดุ ทำให้เราคุมไม่ได้ และทำงานยากขึ้น เพราะเวลาเก็บพลาสมา เราจะใช้ถุงเลือดของคนเก็บพลาสมาของช้าง ของคน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที แต่ของช้างจะเร็วกว่านั้นอีก 5 - 10 นาที เพราะมีแรงดัน รวมถึงลักษณะของเส้นเลือดที่ใหญ่กว่าของคน อีกอย่างหนึ่ง เวลาผ่าตัดของคนจะใช้ถุงเลือดประมาณ 2 - 3 ถุง แต่สำหรับช้างอาจจะต้องใช้ถึง 10 ถุง เนื่องจากมีร่างกายที่ใหญ่กว่า ดังนั้น เวลาเราเก็บพลาสมาในถุงเลือดจะต้องเป็นระบบปิด และต้องสะอาดทั้งหมด ดังนั้น เข็มใหญ่ ๆ ที่เราเห็น แทงไป 1 ครั้ง เมื่อเสร็จก็ถอดออกมาเลย แล้วเราก็ต้องไปหาเส้นเลือดเส้นใหม่เพื่อแทงเข็มเข้าไปอีกครั้งหนึ่งแล้วเก็บออกมา ดังนั้น ช้างบางเชือกซึ่งเป็นช้างตัวผู้ เขาจะต้องนิ่งและไม่ดุมากด้วย เพราะในการเก็บแต่ละครั้งจะใช้ถึง 20 ถุง ดังนั้น เขาจะมีทั้งหมด 20 รูบนเส้นเลือด”
“พลาสมาแช่แข็ง” สามารถนำไปรักษาช้างที่มีอาการหลากหลาย เช่น ช้างที่ไม่กินอาหารและน้ำ เป็นเวลา 20 วัน การรักษาช้างที่เกิดภาวะสูญเสียเลือดอย่างรุนแรงหลังคลอดลูก การรักษาลูกช้างที่สูญเสียเลือดจากการติดเชื้อโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในช้าง เป็นต้น และในอนาคตผลงานวิจัยชิ้นนี้จะต่อยอดไปสู่การช่วยเหลือช้างทั่วประเทศและทั่วโลก ด้วยแนวคิดในการตั้งธนาคารพลาสมาช้างทั่วประเทศ เพื่อการรักษาช้างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงอาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้เป็นยิ่งกว่างานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นความร่วมมือที่งดงามและลงตัวระหว่างคนและช้าง
ในวันนี้ภารกิจของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ยังคงดำเนินต่อไป โดยมุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการดูแลสวัสดิภาพของช้างในภาพรวมมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งรักษาช้างรายเชือก มาเป็นการดูแลรักษาสุขภาพช้างรายกลุ่ม รายฝูง และทั่วประเทศ ด้วยการร่วมมือในการเขียนคู่มือทางด้านสวัสดิภาพช้าง มาตรฐานควาญช้าง และออกกฎหมายในการดูแลช้าง ฯลฯ เพื่อให้ช้างสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ด้วยเจตนารมณ์ของทีมสัตวแพทย์และคณะทำงานของศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ที่มองเห็นความหมาย 2 ประการ ในการรักษาและช่วยชีวิตช้าง
หนึ่ง คือความท้าทายในการร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ และ สอง คือความสุขใจอันประเมินค่ามิได้จากการช่วยชีวิตสัตว์ใหญ่เช่น “ช้าง” ให้อยู่ดีกินดี สองสิ่งนี้คือแรงบันดาลใจที่จะหนุนเนื่องให้ “งานช้าง”ของศูนย์วิจัยช้างและ สัตว์ป่าฯ พัฒนาอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไปในอนาคต