CMU SDGs

CMU SDGs

นโยบายและการดำเนินงานด้านการประกอบอาหารและการบริโภค เพื่อคุณภาพและความปลอดภัย

จำนวนผู้เข้าชม : 251 | 14 ต.ค. 2567
SDGs:
2 3 15

นโยบายเกี่ยวกับแหล่งอาหารที่มีความยั่งยืน

ปัจจุบันนี้ มีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยและความยั่งยืนด้านอาหารเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างมาตรฐานอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยจัดทำนโยบายการประกอบอาหารและการบริโภคที่เน้นการใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการจัดการที่เป็นระบบตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบจนถึงการบริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งนักศึกษา บุคลากร รวมถึงประชาชนได้รับความมั่นใจในความสะอาด ปลอดภัยของอาหารและวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ที่มีจัดจำหน่ายอยู่ภายในมหาวิทยาลัย โดยนโยบายครอบคลุมทั้งส่วนงานที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรอย่างคณะเกษตรศาสตร์ รวมถึงการจัดจำหน่ายอาหารของผู้ประกอบการภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง นโยบายการประกอบอาหารและการบริโภค เพื่อคุณภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2566

นโยบายการประกอบอาหารและการบริโภคของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเน้นการสร้างระบบอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน โดยครอบคลุมสามด้านหลัก ด้านแรกคือคุณภาพวัตถุดิบ กำหนดให้ผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อสัตว์จากฟาร์ม GAP อาหารทะเลจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย และผักผลไม้ตามฤดูกาลจากท้องถิ่น ด้านที่สองคือความปลอดภัยของอาหาร โดยเน้นการปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดเก็บวัตถุดิบไปจนถึงการเสิร์ฟอาหาร และต้องผ่านการตรวจประเมินจากโครงการ Food Safety CMU ด้านที่สามคือความยั่งยืน มีการรณรงค์ให้ลดขยะอาหาร จัดการของเสียอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำมันทอดซ้ำอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

การดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัย ภายใต้ความดูแลของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร เป็นศูนย์ในการรวบรวมข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรระหว่างเกษตรกร ผู้บริโภค โดยมีทั้งผลผลิตจากฟาร์มของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเกษตรกรที่ร่วมกับหน่วยตรวจสอบย้อนกลับฯ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร
การตรวจสอบทำได้ง่ายๆ โดยการสแกน QR Code ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ ที่จะบอกถึงระยะเวลาของกระบวนการต่างๆ ที่ตั้งของฟาร์มต้นทาง กระบวนการผลิตหรือเก็บเกี่ยวของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

การพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัย ตามแนวทาง BCG Model


โครงการการพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัย ระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ และศูนย์บริหารจัดการขยะชีวมวลครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นปลูกและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ สามารถจัดจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค และสามารถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ และผู้ที่สนใจได้นำแนวทางไปใช้
ส่วนของการจัดจำหน่าย ผลผลิตทางการเกษตรจะถูกนำไปตรวจสอบคุณภาพ และนำเข้าฐานข้อมูลของหน่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้า หลังจากนั้นจะนำไปจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง Offline (ร้านผักปลอดสาร, ตลาดอาหารปลอดภัย, ร้านคู่ค้า) และ Online (กลุ่มซื้อขาย LINE) รวมถึงการจัดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการอาหารภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำไปประกอบอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

การพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามแนวทาง BCG Economic Model ปีที่ 2 (พ.ศ. 2566)


โดยในปีที่สอง โครงการดำเนินงานด้วยความร่วมมือของคณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI) อุทยานวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยี (STEP) และกลุ่มตลาดปลอดสารพิษอาหารปลอดภัย ในการพัฒนาการใช้พื้นที่และปรับปรุงกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ของศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economic Model

การดำเนินการของโครงการนี้ โดยในส่วนของต้นน้ำ ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ ได้ปรับปรุงคอกวัวสาธิตเพื่อใหมูลวัวและน้ำล้างคอกถูกนำไปใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งตะกอนจากกระบวนการนี้จะใช้ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับแปลงข้าวโพดหวานปลอดสารพิษ ส่วนของกระบวนการกลางน้ำ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะม่วงและข้าวโพดหวาน พร้อมทั้งสำรวจตลาดในการจัดจำหน่ายและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและมีความน่าสนใจ ส่วนของปลายน้ำ หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมรณรงค์ในการจัดการขยะอยางเหมาะสม การลดใช้ถุงพลาสติก และสร้างความตระหนักในการเลือกบริโภคอาหารปลอดสารพิษให้กับผู้บริโภค
ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ คือ มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการปลูก รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผักที่ปลูกด้วยแนวทางของ BCG Economic Model การจัดการของเสียที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ และการสร้างเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งตอบโจทย์พันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านการส่งเสริม Biopolis (SO1)


SDG 15 : Life on Land ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน


Source:



แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social