CMU SDGs

CMU SDGs

เปิดโลกกัญชา สู่พืชสมุนไพรแห่งโอกาสและความหวัง

จำนวนผู้เข้าชม : 6601 | 28 ก.ย. 2564
SDGs:
3 4 9


     ใบกัญชามีลักษณะเป็นแฉก ๆ รูปทรงยาวรี ที่อาจไม่ได้สวยงามโดดเด่นอย่างใบไม้ทั่วไป แต่ความโดดเด่นของกัญชาคือ การที่ธรรมชาติได้จัดสรรทั้งคุณประโยชน์และโทษมหันต์ รวมกันไว้ ในพืชชนิดนี้ เพื่อท้าทายความสามารถในการจัดการของมนุษย์ว่า จะทำให้กัญชาเป็นโอกาส เป็นความหวัง หรือหนทางสู่หายนะ?

      กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมานานหลายร้อยปี ในอดีตมีการใช้กัญชา ในการแพทย์แผนไทย และในตำรับหมอยาพื้นบ้านต่าง ๆ เพื่อให้คนไข้รับประทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับสบาย และรักษาอาการปวดเมื่อย แต่ขณะเดียวกัน ยาวิเศษอย่างกัญชาก็อาจกลับกลายเป็นยาพิษได้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะกัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กระตุ้นให้เกิดอาการหลอนอย่างที่เรียกกันว่า “เมากัญชา” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ทำให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดตามกฎหมาย

     แต่ด้วยประโยชน์ที่มากมายมหาศาลของกัญชา ที่มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ ส่งผลให้ต่อมาประเทศไทยได้ปรับแก้กฎหมาย และอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย ภายใต้กรอบของกฎหมาย ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2564 นับเป็นการปลดล็อคกัญชาออกจากคำว่า “หนทางสู่หายนะ” เพื่อก้าวสู่โอกาสและความหวังที่รออยู่ข้างหน้า...


กัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์
โอกาสแห่งการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

      ปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จักประโยชน์ของกัญชา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่ง ที่ใช้น้ำมันกัญชาเพื่อให้นอนหลับสบาย และรับประทานอาหารได้ อย่างไรก็ตาม การนำกัญชามาใช้ในการบำบัดรักษาคนไข้ ยังต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากกัญชาประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ กว่า 750 ชนิด ที่ทั้งเป็นประโยชน์และเป็นโทษ หากนำไปใช้โดยขาดความรู้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและอันตรายตามมาได้

      ท่ามกลางความตื่นตัวของประชาชนที่มองเห็นกัญชาเป็นตัวเลือกใหม่ในการรักษาโรค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ขั้นสูงในหลากหลายสาขาวิชา และมีศักยภาพในการสนองตอบต่อความต้องการของสังคม ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของสารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งประโยชน์ในด้านการแพทย์ และการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ จึงได้มี การจัดทำ โครงการวิจัยด้านกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Medical Cannabis Research) ขึ้น เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงของมหาวิทยาลัย และสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรค

     “ปัจจุบันมีการสังเกตว่า คนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย เมื่อได้กินน้ำมันกัญชาที่สะอาด และมีคุณภาพ ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กินข้าวได้ นอนหลับได้ แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งก็ตาม เมื่อเราพิสูจน์ถึงสรรพคุณของกัญชาในข้อนี้ได้ เป้าหมายคือ ทำให้มีมาตรฐาน มีเนื้อยาที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เป็น Medical Grade จึงจะสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ และส่งออกไปต่างประเทศได้” ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ควบคุมดูแลโครงการวิจัยนี้ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของ มช. ในการผลิตกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ หรือที่เรียกกันว่า Medical Grade ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เนื่องจากในปัจจุบัน กฎหมายเปิดช่องให้แพทย์สามารถใช้น้ำมันกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ รักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด เพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือนอนไม่หลับ ผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหาร ผู้ป่วยโรคลมชักในบางกรณี และใช้บรรเทาอาการปวดที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาที่ใช้อยู่ตามมาตรฐานได้

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      นี่จึงเป็นโอกาสที่ท้าทายสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการระดมสรรพกำลังเพื่อสร้างสรรค์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และมุ่งสู่เป้าหมายในการผลิตกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมให้ได้อย่างทันท่วงที

ปลูก-สกัด-รักษา
บูรณาการในสายธารของความรู้

     โครงการวิจัยด้านกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นชุดโครงการวิจัยแบบบูรณาการ ภายใต้การประสานงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุดเด่นของการโครงการนี้คือ การบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันของคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการดำเนินการวิจัย 3 ส่วน ได้แก่

      ส่วนที่ 1 การปลูกและผลิตกัญชา เป็นการศึกษาวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา สภาวะที่เหมาะสม ในการปลูกกัญชา และระบบการควบคุมคุณภาพผลผลิต มีจุดประสงค์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ และเทคโนโลยี การปลูกกัญชาให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ในส่วนนี้มีการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     ส่วนที่ 2 การสกัดสารออกฤทธิ์จากกัญชา เป็นการดําเนินการวิจัยต่อจากส่วนที่ 1 โดยพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารออกฤทธิ์ชนิดต่าง ๆ จากกัญชา เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์บริสุทธิ์ในปริมาณที่มีความเหมาะสมกับการนําไปใช้งาน มีกระบวนการประเมินและตรวจสอบคุณภาพสารออกฤทธิ์ตลอดสายการผลิต ส่วนนี้เป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN)

      ส่วนที่ 3 การใช้สารสกัดกัญชาเพื่อการรักษาโรค เป็นการนําสารออกฤทธิ์ที่ได้จากส่วนที่ 2 มาศึกษา ในผู้ป่วย ตามกระบวนการของการนํายาไปใช้เพื่อการรักษาโรค ภายใต้เกณฑ์ที่องค์การอาหารและยา และองค์การอนามัยโลกกําหนดไว้ โดยการศึกษาวิจัยส่วนนี้ จะดําเนินการวิจัยตามมาตรฐานสากล โดยนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     นอกจากนี้ ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ขออนุญาตผลิตหรือนําเข้า การครอบครอง การศึกษาวิจัยทางคลินิก และการจําหน่ายกัญชาและสารสกัดจากกัญชา ดำเนินการโดยทีมจากวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ทั้งหมดนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันของคณะวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไหลต่อเนื่องในสายธารแห่งความรู้สู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตกัญชา Medical Grade ที่สามารถใช้งานได้จริง และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิแคร์ จำกัด ในการส่งเสริมการวิจัยเพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดกัญชา และสนับสนุนการวิจัยเพื่อผลิตสารสกัดกัญชาอย่างคุ้มทุน คุ้มค่า และมีคุณภาพ




อาคารวิจัยกัญชาทางการแพทย์

กัญชา Medical Grade
โจทย์ยากแต่ต้องทำ!!!

      แม้กัญชาจะได้รับการปลดล็อคแล้ว เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการวิจัยได้ แต่ในทางปฏิบัติ การผลิตกัญชา Medical Grade ก็ยังต้องมีการควบคุมในระดับสูงสุด และ ในทุกกระบวนการต้องมีการขออนุญาตในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตนำเข้าเมล็ด ขออนุญาตปลูก ขออนุญาตครอบครองปลูก ขออนุญาตสกัด และขออนุญาตจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อให้ได้กัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ และสามารถส่งออกได้ ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ได้กล่าวถึงข้อจำกัดเหล่านี้ว่า แม้เป็นโจทย์ที่ยากแต่ต้องทำ เพราะผลที่จะได้รับนั้นคุ้มค่าอย่างยิ่ง

     “กัญชานั้นมีกฎหมายยาเสพติดควบคุม จึงต้องมีการขออนุญาต นับตั้งแต่การปลูก จะปลูกกี่เมล็ด ปลูกเสร็จแล้วเอาแต่น้ำมัน ใบต้องเผาทิ้ง และถ้าเป็นกัญชา Medical Grade จะปลูกในท้องไร่ท้องนาก็ไม่ได้ ต้องปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น

       พอถึงขั้นตอนการสกัด ต้องมีใบขออนุญาตสกัด สกัดเท่าไร สารสำคัญคืออะไร แล้วต้องมีใบอนุญาตจัดจำหน่าย ทั้งหมดมี 5 ใบอนุญาต ในการทำวิจัย ต้องมีการคำนวณอย่างละเอียด เช่น ชุดนี้ต้องการ 20 ขวดขวดละ 5 ซีซี ก็ต้องคำนวณแล้วว่าต้องปลูกกี่ต้น สมมติว่ารอบหน้าต้องการอีก 100 ขวด เพื่อทำการวิจัย ก็ต้องคำนวณกลับไปอีกว่า ต้องปลูกกี่ต้น จึงจะได้น้ำมัน 100 ขวด ปลูกเผื่อเหลือเผื่อขาด หรือปลูกทิ้งปลูกขว้างไม่ได้ เมื่อผลิตแล้ว ก็ต้องมีการวิจัยจนเชื่อถือได้ก่อน ถึงจะนำไปจดทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อ อย.รับรองแล้ว หมอจึงจะสั่งได้ และส่งออกได้ จะเห็นว่าขั้นตอนต่าง ๆ มีการควบคุมมากเลย แต่เราก็ต้องสู้ เพราะโจทย์คือ ถ้าหากได้เป็นกัญชา Medical Grade แล้วจะสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ และส่งออกได้ ซึ่งจะทำให้กัญชาเป็นพืชที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต”

      ในปัจจุบันเริ่มมีผลิตภัณฑ์ตำรับยาจากส่วนผสมของกัญชาเข้ามาจำหน่ายในตลาด และ ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่ากัญชาได้กลายเป็นความหวังในการก่อเกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ และมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวไปสู่ตลาดโลกได้ หากมีการศึกษาวิจัย และมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน และเมื่อนั้น...พืชสมุนไพรที่มีลักษณะใบเป็นแฉก ๆ รูปทรงยาวรีนี้ ก็จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตได้อย่างแน่นอน


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social