CMU SDGs

CMU SDGs

มช. ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ PM 2.5 และให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม

จำนวนผู้เข้าชม : 412 | 25 ต.ค. 2567
SDGs:
13 15 17

การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม

ปัญหาเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 เป็นมากกว่าแค่เรื่องของสภาพอากาศ แต่เป็นภัยพิบัติที่ประชาชนภาคเหนือต้องเจอในทุกๆปี จนกลายเป็น “ฤดูฝุ่น” ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลแค่ในเรื่องของสภาพอากาศ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ต้องอยู่ท่ามกล่างฝุ่น PM 2.5 เกิดความเสี่ยงต่อร่างกาย และความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จากการที่นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝุ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน, NGO และองค์กรต่างๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและสร้างความตระหนักเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สิงห์อาสา ร่วมกับ คณะทำงานฯ ม.เชียงใหม่ ลุยแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน สร้าง "มุ้งสู้ฝุ่น" และ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น



สิงห์อาสา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยการพัฒนา "มุ้งสู้ฝุ่น" และ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน นักเรียน และผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง นอกจากนี้ยังมีการส่งไอเดียการทำมุ้งสู้ฝุ่นที่มีต้นทุนต่ำแก่ชาวบ้านเพื่อให้สามารถปรับใช้เองได้ในบ้าน ตลอดจนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อตรวจสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าด้วยเสบียงและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้โปรเจกต์ดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ "สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 โดยมุ่งเน้นการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน


GISTDA เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงานการประชุมเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ครั้งที 12 (Thailand Forest Ecological Research Network Conference, T-Fern#12) เรื่อง “ธรรมชาติ ป่าไม้ และที่ดิน : การปรับตัวและการบรรเทาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ร่วมกับ เครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้



GISTDA เข้าร่วมจัดนิทรรศการและการประชุมเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ครั้งที่ 12 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ ได้บรรยายพิเศษเรื่องการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการจัดการไฟป่าและพื้นที่สีเขียวเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ GISTDA ได้นำเสนอผลงานวิจัยสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การเปรียบเทียบการประเมินชีวมวลและการกักเก็บคาร์บอน และการใช้ Machine Learning ในการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่า รวมถึงเข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อนำเทคนิคการตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ GISTDA ยังได้รับประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายวิจัยเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลสำหรับการทำงานในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


วิศวะ มช.ร่วมพัฒนาพื้นที่ห่างไกล ณ โรงเรียนล่องแพวิทยา ร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีไฟฟ้า ปลอด PM 2.5



คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ณ โรงเรียนล่องแพวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยปรับปรุงระบบไฟฟ้าในโรงเรียนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร และสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องกรองอากาศด้วยระบบผลิตอากาศสะอาด Positive Pressure เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น PM 2.5 สำหรับนักเรียนและบุคลากร เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าฝุ่นสูงในช่วงต้นปี การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังมุ่งเน้นการอบรมความรู้ด้านการดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า ให้คนในชุมชนและนักเรียนสามารถซ่อมบำรุงเบื้องต้นได้เอง เพื่อความยั่งยืนและต่อยอดการพัฒนาชุมชนต่อไป


FORRU หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อทำงานวิจัย และสนับสนุนการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในการรู้รักธรรมชาติ ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้และระบบนิเวศ แก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เช่น กิจกรรม “ยุวชนฟื้นฟูป่า” ร่วมกับ KNDF ประเทศญี่ปุ่น ในการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้กับเยาวชน และ “The Nan Project” เป็นโครงการวิจัยในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดน่าน เพื่อเปรียบเทียบความหลากหลายของระบบนิเวศ และถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลป่าอย่างยั่งยืน และการทำแนวกันไฟเพื่อลดผลกระทบจากไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้น



การจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานวิชาการ การฟื้นฟูสภาพอากาศและธรรมชาติ การสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น และการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างยั่งยืน การทำงานเชิงบูรณาการนี้ไม่เพียงแค่ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่น แต่ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ช่วยให้ภาคเหนือกลับมามีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต

SDGs 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น


Source:

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social