CMU SDGs

CMU SDGs

ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ แหล่งความรู้คู่ความรัก(ษ์)

จำนวนผู้เข้าชม : 7481 | 01 ต.ค. 2564
SDGs:
3 9 15

ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ


      คำว่า Dog Friendly University หรือ มหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสัตว์ ที่มีผู้ขนานนามให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่...ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะความสำเร็จในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในโครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู (MaCMU Project) ที่สามารถเปลี่ยนสุนัขจรในมหาวิทยาลัยให้เป็น “สุนัขชุมชน” จนได้ใจคนรักสุนัขและคนรักสัตว์ทั่วประเทศ

     เวลานี้มีสุนัขชุมชนประมาณกว่าสองร้อยชีวิตอาศัยอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกตัวล้วน มีบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอาสาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ได้รับการดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีนและทำหมันจากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก มีการฝึกฝนพฤติกรรม จัดทำประวัติอย่างละเอียด และมีหมายเลขไมโครชิปที่ระบุตัวตนเพื่อป้องกันการหลงทางหรือสูญหาย...ทั้งหมดนี้ดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ร่วมกับคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย และสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ใช้ทั้งความรู้และความรักความเมตตาต่อสุนัขที่ไร้ที่พึ่ง จนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและกลายเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน

โครงการ (ห)มา CMU



ความน่ารักของน้องหมา มช.

ข้อมูลของสุนัขชุมชนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สัตวแพทย์ มช.มินิมาราธอน

     ที่ มช. หรือ มหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสัตว์แห่งนี้ มีคณะสัตวแพทยศาสตร์เป็นหัวขบวนในโครงการ (ห)มา ซีเอ็มยู และในอีกหลาย ๆ โครงการที่นำองค์ความรู้ด้านสัตวแพทย์ไปรับใช้สังคม อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเรื่องการรักษา ดูแลสุขภาพ และสวัสดิภาพช้างในระดับนานาชาติ ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว (PODD Centre – ศูนย์ผ่อดีดีกลาง) เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดจากสัตว์สู่คนซึ่งได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โครงการอาหารปลอดภัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Food Safety CMU) และล่าสุดคือ ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางให้บริการรักษา โรคเฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพสัตว์ในภาคเหนือและสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความสุ่มเสี่ยงของโรคระบาด จากสัตว์สู่คน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าองค์ความรู้ด้านสัตวแพทย์มีความสำคัญมากเพียงใดในโลกยุคใหม่นี้...

การทำงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง

ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว (PODD Centre –ศูนย์ผ่อดีดีกลาง) เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดจากสัตว์สู่คน

โครงการอาหารปลอดภัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช.
สัตวแพทย์ที่เรียนรู้จากการแก้ปัญหา


     27 ปีมาแล้วที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตด้านสัตวแพทย์ ดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนในเขตภาคเหนือ โดยจุดเด่นในหลักสูตรของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. นั้นมุ่งเน้นไปที่ “การเรียนรู้จากการแก้ปัญหา” โดยการบูรณาการการเรียนการสอนเข้ากับงานวิจัยและ การบริการทางวิชาการ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงผ่านประสบการณ์ตรงจาก การให้บริการบนโรงพยาบาลสัตว์เพื่อจะได้พบปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนำกลับมาตั้งเป็นโจทย์เพื่อฝึกทักษะ ด้านการวิจัยและวิธีแก้ปัญหา ซึ่งในขณะนี้ มีโรงพยาบาลสัตว์อยู่ในความดูแล 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก (ให้บริการแก้ไขปัญหาสุขภาพสัตว์เล็ก), โรงพยาบาลสัตว์แม่ออน (ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ให้บริการแก้ไขปัญหาสุขภาพปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง) และ โรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ (การตรวจรักษา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพม้า)

       นอกจากฝึกแก้ปัญหาแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ยังเน้นการปลูกฝังให้นักศึกษามีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคมและชุมชนด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้บัณฑิตสัตวแพทย์ มช. มีทักษะชีวิต และทักษะทางวิชาชีพ สามารถทำงานเป็นทีม และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านโรคระบาดในสัตว์ ที่รุนแรงขึ้น และความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ทำให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ตั้งเป้าที่จะตอบโจทย์ของสังคมที่กว้างขึ้นไปอีก ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ขวัญชาย เครือสุคนธ์ คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขยายความให้ฟังว่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ขวัญชาย เครือสุคนธ์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     “ทุกวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป มีโรคระบาดสัตว์เกิดขึ้นมากมาย เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทย ได้พบโรคระบาดในโคและกระบือ คือ Lumpy skin disease ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยมาก่อน จากการระบาดทำให้สัตว์ล้มป่วยจำนวนมาก และเกิดความสูญเสียแก่เกษตรกร หรือในโรคไข้หวัดนกที่เคยมีการระบาดในปี พ.ศ. 2547 เป็นโรคไข้หวัดในสัตว์ปีกที่พัฒนากลายพันธุ์แล้วข้ามมาติดมนุษย์ ทำให้คนเริ่ม รู้สึกว่าวิชาชีพสัตวแพทย์ก็สำคัญ เพราะหากสัตว์ไม่ปลอดโรค คนก็ไม่ปลอดภัย อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าดูตามสัดส่วนประชากรแล้วคนอยู่ในชนบทจะน้อยกว่าคนอยู่ในเมือง และมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว การดูแลอย่างดีทำให้สัตว์เลี้ยง มีอายุยืนยาวขึ้น ปัญหาสุขภาพจะพบมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไต ซึ่งแต่ก่อนจะไม่ค่อยจะพบ ในสัตว์เลี้ยง

     นี่คือความจำเป็นที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ ต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ทั้งยุทธศาสตร์ของ มช. ในด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ผ่านโครงการ Food Safety: CMU รวมทั้งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือทำอย่างไรให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์มีความมั่นคงในอาชีพ ให้ประชาชนได้อาหารที่ปลอดภัย และสามารถให้การบริการรักษาและดูแล สุขภาพสัตว์เลี้ยงของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ”

      ด้วยความจำเป็นดังกล่าว ทำให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการก่อตั้ง ‘ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ’ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบริการวิชาการ การวิจัย และการเรียนการสอน ให้บริการรักษาโรคเฉพาะทางสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้าง ‘สัตวแพทย์ มช.’ ให้สามารถรับใช้สังคมได้อย่าง มีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

“ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ”
รวมความเป็นเลิศด้านสัตวแพทย์


     ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำตั้งอยู่ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ ในพื้นที่ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ เป็นอาคาร 4 ชั้น ที่ประกอบด้วยศูนย์ต่าง ๆ ได้แก่
      1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสัตวแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของประชาชน เช่น ศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์ วัคซีนป้องกันเห็บหมัด และร่วมกับศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อทดแทนการนำเข้า พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้และความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ และรองรับการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Residency Program)
      2. ศูนย์ส่งต่อภาคเหนือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง เพื่อเป็นศูนย์ที่ รับส่งต่อโรคเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนจากโรงพยาบาลสัตว์ในเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันคณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. มีคลินิกเฉพาะทางอยู่ 14 ด้าน ได้แก่ คลินิกเฉพาะทางผิวหนัง, คลินิกเฉพาะทางโรคตา, คลินิกเฉพาะทางทันตกรรม, คลินิกเฉพาะทางกระดูกและข้อ, คลินิกเฉพาะทางโรคหัวใจ, คลินิกเฉพาะทางระบบประสาทและสมอง, คลินิกเฉพาะทางโรคแมว, คลินิกเฉพาะทางโรคเนื้องอก, คลินิกเฉพาะทางต่อมไร้ท่อม, คลินิกเฉพาะทางโรคไต, คลินิกเฉพาะทางระบบสืบพันธุ์, คลินิกเฉพาะทางฝังเข็ม, คลินิกเฉพาะทางสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ และคลินิกเฉพาะทางสัตว์น้ำ
      3. ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อบริการชันสูตรและวินิจฉัยโรคในสัตว์อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อนำไปสู่การรักษา เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคในสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
      4. ศูนย์อาหารปลอดภัยและโรคสัตว์สู่คน เพื่อให้บริการทางวิชาการและตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยในอาหารที่มาจากสัตว์ตลอดสายการผลิตจากฟาร์มสู่ผู้บริโภค อาทิ การตรวจความสะอาดและความปลอดภัยในอาหารสัตว์ วัตถุดิบต่าง ๆ ที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ สัตว์น้ำและอาหารทะเล การตรวจวัตถุเจือปนในการผลิตอาหารที่มาจากสัตว์, สิ่งปนเปื้อนและการปลอมปน ในอาหารที่มาจากสัตว์ และบริการวิชาการด้านการปฏิบัติที่ดีและมาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาด ในกระบวนการผลิตอาหารที่มาจากสัตว์ นอกจากเรื่องความปลอดภัยในอาหารแล้ว ยังมีการให้บริการทางวิชาการในเรื่องระบาดวิทยา การเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคสัตว์สู่คน รวมถึงโรคระบาดสัตว์และโรคระบาดสัตว์ข้ามพรมแดนที่มีความสำคัญต่อการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
      นอกจากให้บริการประชาชนแล้ว ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษา เพื่อฝึกทักษะความเชี่ยวชาญในวิชาชีพทางด้านสัตวแพทย์ และผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ได้แก่ หลักสูตรเพิ่มพูนทักษะทางคลินิกอย่างเป็นระบบ (Internship program) หลักสูตรสัตวแพทย์ ประจำบ้าน (Residency program) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรการพยาบาลสัตว์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและประชาชน ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ขวัญชาย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

        “ตอนนี้มีโจทย์มาว่า ปัจจุบันมีความต้องการให้เราผลิตสัตวแพทย์เฉพาะทาง อย่างเช่น ด้านโรคหัวใจ เพราะว่าพอสัตว์เลี้ยงมีอายุมากขึ้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคนี้ ซึ่งเราก็กำลังจะเปิดหลักสูตรสัตวแพทย์ประจำบ้านเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำ คือ หนึ่ง ประชาชนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน จะมีคลินิกเฉพาะทางให้บริการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนยาวขึ้น สอง ประชาชนที่อยู่ไกลแทนที่จะต้องใช้เวลาในการเดินทางเพื่อนำสัตว์ป่วย มารักษาที่เรา จะสามารถนำสัตว์ป่วยเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จบจากหลักสูตรสัตวแพทย์ประจำบ้านของเรา อันจะส่งผลให้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีสัตวแพทย์เฉพาะทาง เหมือนกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดของคนที่ต้องมีแพทย์เฉพาะทางให้บริการรักษา

      อีกด้านหนึ่ง เราก็ไม่ทิ้งเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะศูนย์ชันสูตรและถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านสัตวแพทย์อยู่ตรงนี้แล้ว เราต้องพัฒนาชุดตรวจ พัฒนาวัคซีน ไม่เช่นนั้น เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นเราต้องพึ่งวัคซีนจากต่างชาติ เราก็จะเป็นที่พึ่งให้เกษตรกรไม่ได้ และขณะนี้เรามี องค์ความรู้ในการทำนวัตกรรมวัคซีนกับการนำมาใช้ทางสัตวแพทย์ (Autogenous vaccine) คือการนำวัคซีนที่เตรียมจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคระบาดดังกล่าว แล้วนำกลับไปใช้เฉพาะฟาร์มนั้น เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดที่มีอยู่ หรือการวินิจฉัยที่รวดเร็วจะสามารถบอกเกษตรกรได้ว่าเราจะควบคุมโรค ได้อย่างไร ไม่ให้ระบาดออกไปได้อย่างไร และป้องกันการระบาดในพื้นที่อื่นได้”

     ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำมีกำหนดจะเปิดให้บริการใน พ.ศ. 2565 นี้ โดยเปิดให้การรักษาโรค เฉพาะทางอย่างครบวงจร ทั้งคลินิกเฉพาะทาง 14 คลินิก และแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกศัลยกรรม แผนกสัตว์ป่วยฉุกเฉิน แผนกสัตว์ป่วยภาวะวิกฤต ฯลฯ พร้อมด้วยศูนย์กายภาพบำบัด และสระว่ายน้ำธาราบำบัดในร่ม หออภิบาลสุนัขป่วย หออภิบาลแมวป่วย หออภิบาลสัตว์ป่วยพิเศษ ไว้รองรับสัตว์ป่วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ศูนย์สุขภาพสัตว์ดอยคำเป็นแหล่งความรู้คู่ความรัก(ษ์) ที่สามารถใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ ในการบำบัดรักษาสุขภาพสัตว์ทั้งหลายอย่างยั่งยืน และเพื่อให้วิชาชีพสัตวแพทย์สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social