CMU SDGs

CMU SDGs

ภารกิจติดปีกความรู้...จากแพทย์สู่ “นวัตกร”

จำนวนผู้เข้าชม : 2458 | 28 ก.ย. 2564
SDGs:
3 9 10


CMU Aiyara หุ่นยนต์ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในหอผู้ป่วย

      CMU Aiyara เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่มีหน้าตาคล้ายชั้นวางของ ทำหน้าที่คล้ายผู้ช่วยพยาบาลในการส่งน้ำ อาหาร ยา และเสื้อผ้า เข้าไปในหอผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพจากโรค COVID-19 นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดอุณหภูมิ และอาการของผู้ป่วย เก็บภาชนะ เสื้อผ้าใช้แล้ว และขยะออกจากห้องผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หุ่นยนต์ CMU Aiyara Robot ได้ช่วยลด การสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย และทำให้สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น เป็นการทำงานตามโจทย์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังอยู่หน้างานได้อย่างตรงจุด เข้มแข็ง และทรงพลัง สมชื่อไอยรา ที่แปลว่าช้าง อีกทั้งเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ถึงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ระหว่างแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และทีมพัฒนาหุ่นยนต์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนสามารถรองรับการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี

     แนวคิดในการสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างแพทย์และวิศวกรนี้ สอดคล้องกับเทรนด์ของ การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ที่เปิดกว้างให้มีการบูรณาการความรู้ที่หลากหลายเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และ นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่ซับซ้อนมากขึ้น และนั่นคือที่มาของ ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (MED CMU Health Innovation Center) หรือ MedCHIC หน่วยงานที่จะสร้างแพทย์และนวัตกรให้อยู่ในคนคนเดียวกัน

MedCHIC
ก้าวข้ามขีดจำกัดของความรู้ สู่การสร้างนวัตกร

      “นวัตกร” หมายถึง ผู้สร้างนวัตกรรม...เป็นไปได้ไหมว่า นวัตกรคนเดียวกันนี้อาจเป็นแพทย์ที่รักษาคนไข้?

      นี่คือโจทย์สำคัญของ MedCHIC ที่เริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ว่า ในปัจจุบันโรคภัยและปัญหาของคนไข้มีความซับซ้อนมากขึ้น การตอบโจทย์ของคนไข้จึงไม่ใช่การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไข้ให้ดีขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็มีแพทย์กลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจในองค์ความรู้ที่หลากหลาย มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เมื่อพบปัญหาที่เกิดกับคนไข้ในด้านต่าง ๆ

      ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเห็นควรให้รวบรวมบุคลากร ที่มีความคิดตรงกันที่จะทำงานด้านนวัตกรรม ตั้งขึ้นเป็นศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ หรือ MedCHIC โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคณะแพทย์ มช. ให้ก้าวไปสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์แห่งนวัตกรรม” ซึ่งจะทลายขีดจำกัดของความรู้แบบเดิม ๆ ที่ว่า แพทย์มีหน้าที่รักษาคนไข้เพียงอย่างเดียว ด้วยการติดปีกความรู้ให้แก่แพทย์ และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์สังคม โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ได้แก่
   • นวัตกรรมทางการแพทย์ (Medical devices)
   • เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology)
   • ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Products)
   • การพัฒนาย่านนวัตกรรมทางการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District)
   
     โดยร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสู่การผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ (prototype) ที่มีมูลค่าสูง เพื่อสามารถขยายผล สู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต

     รองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขยายความถึงภารกิจของ MedCHIC และคำว่า “นวัตกรรม” ไว้ว่า

       “เนื่องจากปัจจุบันนี้ความสนใจของแพทย์นั้นไม่จำเป็นต้องโฟกัสไปที่ความรู้เรื่องของแพทย์ แต่เพียงอย่างเดียว แต่มีความหลากหลายมากขึ้น อาจเป็นเรื่องของวิศวกรรม หรือความรู้ด้านธุรกิจ ด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งความรู้หลากหลายเหล่านี้ก็สามารถนำมาตอบโจทย์ของผู้ป่วยได้ นอกเหนือจากแค่การตั้งเป้าการรักษาโรคเท่านั้น MedCHIC เป็นการเปิดโอกาสให้หมอ generation ใหม่ ๆ ที่อาจจะมีความคิด นอกกรอบ มีไอเดีย และมีใจอยากสร้างนวัตกรรม มาทำโปรเจกต์ร่วมกันกับเราได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า แพทย์ทุกคนจะต้องเป็นนวัตกรนะคะ เราก็ยังคงเป็นโรงเรียนแพทย์ที่สร้างหมอเพื่อรักษาคนไข้ แต่มีศูนย์ฯ นี้ขึ้นมาเพื่อรองรับแนวคิดเรื่องการสร้างนวัตกรรม”

รองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม
หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     เมื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของความรู้ไปได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการลงมือทำ โดยศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ ได้สนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือตอบสนองต่อคนเฉพาะกลุ่ม อาจเป็นสิ่งที่คล้ายของเดิม แต่ต่อยอดให้ดีขึ้น เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยกระบวนการสร้างนวัตกรรม จะมีทีมให้คำปรึกษา ตั้งแต่การสนับสนุนให้แพทย์คิดค้นนวัตกรรม มีการศึกษา และประเมินว่าเครื่องมือสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ มีความคุ้มค่าทางการตลาดหรือไม่ พิจารณาความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีและปฏิบัติ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในคณะวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีทีมกฎหมายช่วยดูแลในด้านทรัพย์สินทางปัญญา และด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้นวัตกรรมนี้สามารถใช้งานได้จริง และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

คืนความสุขให้ผู้สูงอายุและคนพิการด้วย “นวัตกรรม”

     นวัตกรรมที่ดีมักสร้างขึ้นจากปัญหา...ในปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐและเอกชนกำลังเร่งปรับตัว ในการให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในการตรวจ วิเคราะห์ และบำบัดรักษา ทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการไทยยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน สินค้าที่ผลิตในประเทศมีต้นทุนสูงกว่าที่สั่งจากต่างประเทศ และประสบปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นจากผู้ใช้

     ด้วยเหตุนี้ ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพจึงให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยใน พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2563 ได้รับทุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้แก่ 1. เตียงขนย้ายผู้ป่วย ปรับขึ้นลงด้วยระบบไฟฟ้า 2. อุปกรณ์เสริมเตียงผู้ป่วยเพื่อพลิกตัวอัตโนมัติ 3. วีลแชร์ชนิดไฟฟ้าและพับได้ 4. รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ (EV Car) 5. นวัตกรรมเกมฝึกการทรงตัว 6. เบาะรองนั่งสำหรับคนพิการ 7. วีลแชร์รุ่นมาตรฐาน 8. ล้อฝึกเดิน 9. เตียงฝึกยืนปรับความสูงได้ 10. เตียงออกกำลังกายเพื่อการรักษา (ขนาดใหญ่) 11. เตียงออกกำลังกาย เพื่อการรักษา (ขนาดเล็ก) ทั้งหมดล้วนเป็นอุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพของผู้สูงอายุและผู้พิการที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้จริง

      จุดเด่นของนวัตกรรมดังกล่าวคือ ได้รับการออกแบบจากอุปสรรคที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้พบเจอ ทำให้สามารถแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยได้มากที่สุด เช่น เตียงฝึกยืนปรับความสูงได้ ใช้สำหรับผู้พิการครึ่งล่างที่ต้องการฝึกยืน - เดิน โดยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่ไม่สูงมาก เหมาะสำหรับศูนย์ฟื้นฟูฯ และโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีรถเข็นวีลแชร์ น้ำหนักเบา นวัตกรรมเกมฝึกการทรงตัว อุปกรณ์เสริมเตียงผู้ป่วยเพื่อพลิกตัวอัตโนมัติ ที่สามารถพัฒนาต้นแบบไปถึงระดับ Industrial Prototype และยื่นจดสิทธิบัตร เป็นการต่อยอดการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไปสู่ตลาด

     จากจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่ทำได้จริง ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพได้สร้างแบรนด์ Rehabpy เพื่อผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับผู้สูงอายุและผู้พิการ หมายถึง การฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผู้สูงอายุกลับมามีความสุขอีกครั้ง ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้มีจุดเด่นคือ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาโดยนวัตกรที่มองเห็นปัญหา ที่เกิดขึ้นจริง และผ่านกระบวนการทดสอบความพึงพอใจจากคนไข้มาแล้ว จากนั้นจึงส่งต่อนวัตกรรมสู่การขยายผลสู่เชิงพาณิชย์โดยผู้ประกอบการที่สนใจผลิตและจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ Rehabpy ที่สามารถ การันตีได้ถึงคุณภาพ และสามารถคืนความสุขให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย “นวัตกรรม” อย่างแท้จริง


เตียงฝึกยืนปรับความสูงได้

นวัตกรรมเกมฝึกการทรงตัว

รถไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้วีลแชร์

วีลแชร์ชนิดไฟฟ้าและพับได้

ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก
สู่มุมมองใหม่ให้ “กล้าเปลี่ยนโลก”

      ย่านสวนดอกเป็นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ และ คณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนับว่าเป็นย่านที่มีศักยภาพในเชิงพื้นที่ และเหมาะสมอย่างมากที่จะเป็น “ย่านนวัตกรรม” (Innovation District) ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการวางแผนและออกแบบพื้นที่ เพื่อพัฒนาย่านที่สามารถดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็น คลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกร และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ในเดือนสิงหาคม ปี 2562 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาย่านนวัตกรรม เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน (SMEs/Start-up) และประชาชนบนพื้นที่ “ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก” และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นอีกมากมายในอนาคต บนพื้นที่ย่านสวนดอกนี้

     ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรม โดยในปีนี้ ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ ได้จัดกิจกรรม MEDCHIC Innovation Day 2021 เพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านสวนดอกให้เกิดเป็นย่านนวัตกรรม โดยจัดแสดงผลงานวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ สตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม SMID Health Hackathon 2021 : In the Age of Health Digitization โดยเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ และเฟ้นหาสุดยอด Idea Solution ที่สามารถแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์บริการด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ ๆ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการจุดประกายความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จนอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนหนึ่งมีความกล้าที่จะเปลี่ยนโลก...ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงศิริอนงค์ กล่าวไว้ว่า

      “เราเปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มองต่างไปจากเดิม คือ มองจากคนไข้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งถ้ามุมมองของเขาเปลี่ยน ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะถ้าทุกคนขยับไอเดียนิดหนึ่ง เราก็จะได้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น การปลูกฝังความคิดใหม่ภายในองค์กร แล้วทำให้เขามี concept idea มีความกล้าที่จะมาหาเรา เพียงเท่านี้ก็ถือว่ายั่งยืนแล้ว คุณอาจคิดเสร็จแล้วล้มเลิก เข้ามาครั้งที่ 2 ล้มอีก ก็ขอให้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนโลก และลงมือทำ ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเคสที่ประสบความสำเร็จของเราก็ใช้เวลาหลายปี แต่ทุกคนล้มแล้วแก้ ล้มแล้วแก้ แต่พอออกมาแล้วสำเร็จ มันคือความภาคภูมิใจที่เริ่มต้นมาจากการที่เรากล้าคิดและกล้าทำนั่นเอง”

      หุ่นยนต์ CMU Aiyara นวัตกรรมเกมฝึกการทรงตัว เตียงฝึกยืน ฯลฯ อาจเป็นตัวอย่าง เบื้องหน้าที่สะท้อนถึงความสำเร็จของศูนย์นวัตกรรมสุขภาพในวันนี้ แต่เบื้องหลังที่ทรงพลังไม่แพ้กันคือภารกิจติดปีกความรู้ให้ “นวัตกร” ได้โบยบินไปสู่โลกทัศน์ใหม่ และกล้าที่จะคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยนวัตกรรมนั่นเอง


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social