CMU SDGs

CMU SDGs

รู้จักครูรัก(ษ์)ถิ่น ความหวัง (ที่ยั่งยืน) ของหมู่บ้าน

จำนวนผู้เข้าชม : 2329 | 16 ส.ค. 2565
SDGs:
1 4 10 11

     “ผมมีเป้าหมายว่าหากจบการศึกษาแล้ว ผมจะกลับไปสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ และจะพัฒนาหมู่บ้านของผมให้ดีขึ้น” ชนสิษฎ์ วชิรพงษ์พันธุ์ หนึ่งใน “ความหวังของหมู่บ้าน” คนนี้ มีความใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กว่าอยากรับราชการครู แต่ติดตรงที่ไม่มีเงินพอที่จะเรียนต่อ และความฝันนั้นคงไม่มีวันเป็นจริงได้ หากเขาจะเลือกใช้ชีวิตไปอีกทางหนึ่งที่ไม่ใช่การเข้าร่วมโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น”

ชนสิษฎ์ วชิรพงษ์พันธุ์

     ในหมู่บ้านของชนสิษฎ์หรือหมู่บ้านอีกหลายแห่งที่ห่างไกลจากความเจริญ จำนวนเด็กยากจน ในพื้นที่ 10 คน อาจมีเพียง 1 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะครอบครัวไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ สะท้อนว่าปัญหาความยากจนยังคงเป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เด็กไทยหลายแสนคนต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา และสูญเสียโอกาสที่ดีในอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย

     นอกจากปัญหาเรื่องความยากจนแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งคือ เด็กที่อยู่ในเมืองและ เด็กในชนบทมากมีความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษาอย่างมาก ปัญหาเกิดจากการขาดแคลนครูผู้สอนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโดยส่วนใหญ่ครูมักจะไม่ใช่คนในพื้นที่ และมักจะขอโยกย้ายออกจากพื้นที่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพ ในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนมากขึ้นไปอีก

    จากปัญหาหลัก ๆ 2 ข้อนี้เอง ทำให้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ริเริ่มโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นขึ้น โดยคัดเลือกมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ที่มีความพร้อมในการผลิตและพัฒนาครู เข้ามา ร่วมโครงการนี้ โดยมีเป้าหมายในการผลิตครูประถมให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ในชุมชนพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ด้วยการจัดสรรทุนเรียนครูให้แก่เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และพร้อมกลับไปเป็นครูเพื่อพัฒนาบ้านเกิด โดยเฉพาะในโรงเรียนประถมที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูอย่างมากในขณะนี้ ตลอดระยะเวลาของการศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้รับทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพ และค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนตามความจำเป็นจนจบการศึกษา และหลังจากจบการศึกษาแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็นครูในพื้นที่ทันที


     ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะศึกษาศาสตร์ สาขาประถมศึกษา ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 สถาบันที่ได้รับคัดเลือก เพราะนอกจากจะมีจุดแข็งในด้านวิชาการแล้ว ยังมีจุดเด่นในการทำงานร่วมกับชุมชนบนพื้นที่สูงมาโดยตลอด จึงให้ความสำคัญกับการนำเอาภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นมาบูรณาการร่วม ในชั้นเรียนด้วย บัณฑิตจากคณะศึกษาศาสตร์จึงเป็นครูที่มีความเข้าใจในเรื่องภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในภาคเหนือเป็นอย่างดี





กระบวนการค้นหา คัดกรอง คัดเลือก นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ

     ตามนโยบายของกองทุนฯ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดรับนักศึกษา จำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563–2567 โดยเกณฑ์การคัดเลือกคือ เป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียน ปานกลาง มีใจรักที่จะเป็นครู และที่สำคัญคือ มีความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด โดยนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกจำนวน 31 คน มาจากพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และพะเยา ทั้งนี้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาจะได้รับการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการและสังคม เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ห่างไกล บางคนเป็นนักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ จึงต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้อาจารย์หลายท่านได้รับฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษามาว่า “หนูจะเรียนได้ไหม?”

     จากจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะยากลำบาก นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการการเรียน การสอนของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีความเข้มข้นในเชิงวิชาการอยู่แล้ว แต่สำหรับโครงการนี้ ทั้งอาจารย์ และนักศึกษา ต่างก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ดังที่ ดร.วิชญา ผิวคำ หนึ่งในคณาจารย์ที่ดูแลโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้เล่าถึงพัฒนาการของนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จากวันแรกที่เข้ามาเรียนใน มช. จนถึงวันนี้ว่า

ดร.วิชญา ผิวคำ

       “ตอนที่เราไปคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการในปีแรก ด้วยความที่เด็กอยู่ห่างไกล เขาจึงไม่มีความกล้าในการแสดงออก ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยดี เข้ากับคนในเมืองไม่ได้ รุ่นแรกที่เข้ามา เราเป็นห่วงกันมากเลยว่า จะเรียนไหวไหม? เพราะเขาต้องเข้ามาเรียนร่วมกับนักศึกษาทั่วไป แต่เราก็พยายามปรับเรื่องการเรียนการสอนให้เขา เป็นการสร้างความภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นของเขา เช่น อาจารย์สอนเรื่องพัฒนาการของเด็ก เราก็จะพูดถึงของเล่น โดยหยิบเอาของเล่นที่เป็นภูมิปัญญาบ้านเขา ให้เขารู้ว่าเขามีตัวตนในห้องเรียน เขาก็จะเล่าให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ในเมืองฟัง เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน จะไม่มีการแบ่งเป็นเฉพาะห้องใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คือจุดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เราดูแลนักศึกษาทุกคนเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ในการฝึกสอนทั่วไป ในชั้นปีที่ 1 เรากำหนดให้นักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น พาเพื่อน ๆ ขึ้นไปฝึกด้วยที่โรงเรียนของตัวเอง แล้วให้เขาเป็นคนจัดการทุกอย่างว่าจะพาเพื่อนไปพักที่ไหน อาหารการกินเป็นอย่างไร ดังนั้น จากการที่ได้ทำงานกับเพื่อน ๆ กับชุมชน และโรงเรียน กระบวนการเหล่านี้ทำให้เด็ก ๆ เปลี่ยนไปได้มาก เขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้จักคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง”

     ขณะนี้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นดำเนินการเป็นปีที่ 3 แล้ว ทำให้ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา รุ่นที่ 1 จำนวน 31 คน อย่างชัดเจนว่า เป็นไปในทางที่ดีขึ้น นักศึกษาหลายคนฉายแววความเป็นผู้นำออกมาอย่างชัดเจน และสามารถวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาได้จากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น โครงการพัฒนาอาชีพในชุมชน เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?




     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล แจ้งอักษร ผู้ช่วยคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เฉลยให้ฟังว่า เริ่มต้นจากจุดประสงค์ที่ความชัดเจนของหลักสูตร ที่ต้องการสร้างครูที่รักในท้องถิ่น และเป็นผู้นำในการพัฒนาท้องถิ่นด้วย ทำให้คณะศึกษาศาสตร์สามารถนำไปออกแบบกระบวนการการเรียนการสอนได้อย่างชัดเจน ตามไปด้วย

    “กระบวนการผลิตของเราค่อนข้างสำคัญมากครับ ที่กล่อมเกลาให้น้อง ๆ เปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่ การออกแบบกิจกรรมที่ดึงความเป็นชุมชนออกมา โดยก่อนหน้านั้นเราจะมีการเชิญผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ละแห่งมาให้ข้อมูลว่า อีก 4 ปีข้างหน้า โรงเรียนต้องการครูในลักษณะไหน? ต้องการให้ครูมีทักษะพิเศษอะไรบ้าง? หรือตอนเราไปฝึกสอนทั่วไปที่โรงเรียนในชุมชนของเขา เราก็จะให้โจทย์เขาไปว่า ลองถามคุณครู ที่หนูกำลังจะไปบรรจุแทนท่านไหมว่า เขาห่วงเรื่องอะไร มีเคสหนึ่งคุณครูบอกว่า จากที่เมื่อก่อนชาวบ้าน เคยสานไม้กวาดใช้เอง แต่ตอนนี้ไม่มีใครสานไม้กวาดเป็นอีกแล้ว ถ้าน้องสานเป็น ครูก็จะดีใจมาก เด็กก็จะมายื่นข้อเสนอว่า อาจารย์คะ หนูอยากพัฒนาตัวเองเรื่องนี้ เราก็พิจารณางบประมาณให้เขาไปศึกษาเรื่องนี้ จนเขาสามารถทำไม้กวาดเป็น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล แจ้งอักษร

     นอกจากปลูกผักได้ สานไม้กวาดเป็นแล้ว นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้รับ การบ่มเพาะทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุดสำหรับการออกไปเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลความเจริญในอนาคต และหากนักศึกษามีใจรักในวิชาชีพครู รักถิ่นฐานบ้านเกิด สิ่งนี้จะทำให้ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชนในอนาคตได้อย่างแน่นอน

      “สิ่งที่เราปลูกฝังให้เขาคือ การคิดวิเคราะห์ เพราะการเป็นครูที่ดีที่ไม่ใช่มีหน้าที่แค่สอน แต่เป็นครู ที่พยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับทุกสิ่งรอบตัวเขาด้วยชุมชนด้วย คุณต้องรู้ว่าคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ เป็นยังไง? ถ้าเกิดโรคระบาดขึ้น ในฐานะครูคุณจะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของทั้งเด็กและชุมชนอยู่ได้ ไม่ใช่แค่สอนหนังสือในห้องเรียนเท่านั้น นี่คือหน้าที่ของครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จะต้องไปดูแลให้ได้ และการจะทำได้ ต้องเกิดจากทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากตัวเขาเอง

     ดังนั้น จากกระบวนการจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เน้นให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ เรามั่นใจในคุณภาพ ของครูรัก(ษ์)ถิ่นของเราว่า เขาจะเป็นครูที่มีคุณภาพไม่แพ้ครูที่อยู่ในเมือง ยิ่งเขาเป็นครูประถม การสอนภาษาไทย หรือการถ่ายทอดกระบวนการคิดที่เขามีให้แก่เด็ก ๆ จะเป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพ และท้ายที่สุดก็จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนด้วยครับ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล กล่าวในท้ายที่สุด



     นักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงเป็นความหวังของหมู่บ้านที่ทุกคนเต็มใจจะฝากความหวัง ไว้ว่า วันหนึ่งเมื่อได้เป็นครูอย่างที่ฝันไว้ พวกเขาจะใช้ “การศึกษา” เป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ในการต่อสู้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนบ้านเกิด ให้สมกับที่เป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น...ผู้เป็นความหวัง (ที่ยั่งยืน) ของหมู่บ้านนั่นเอง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social