CMU SDGs

CMU SDGs

มช. - แอตแลนต้า ทุ่มทุนกว่า 1,000 ล้าน เปิดโรงงานผลิตกัญชาทางการแพทย์ มาตรฐานสากลแห่งแรกของไทย เตรียมต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยาระดับโลก

จำนวนผู้เข้าชม : 4071 | 13 ก.ย. 2566
SDGs:
9 15 17

         มช. - แอตแลนต้า ทุ่มทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดโรงงานปลูกกัญชาในระบบปิด เพื่อผลิตกัญชาทางการแพทย์ มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย เดินหน้าผลิตเพื่อออกสู่การใช้งานจริงต้นปี 2567 พร้อมเตรียมต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยาในระดับโลก ภายใต้แนวคิด “ผลิตโดยคนไทย มาตรฐานสากล เพื่อคนทั้งโลก”

         มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และ บริษัทแอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยารักษาโรค โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยอาศัยทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในการวิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ผลักดันสู่การใช้งานจริงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย และจากความร่วมมือวิจัยและพัฒนานี้จึงนำไปสู่การสร้าง และเปิดตัวโรงงานผลิตกัญชาทางการแพทย์ในวันที่ 15 สิงหาคม 2566

   

         โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ได้กล่าวรายงานว่า โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มช. และ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด เรื่อง วิจัย พัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังหลายโรคในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย เช่น โรคลมชักที่รักษายากและดื้อต่อยารักษา และโรคพาร์กินสัน ทำให้แพทย์ได้หันมาใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผลิตจากพืชสมุนไพรโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการรักษา ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตกัญชาเกรดการแพทย์ตลอดทั้งกระบวนการโดยอาศัยทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญของ มช. ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์และการวิจัยสภาวะในการปลูกที่เหมาะสม โดยคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนกลางน้ำ คือ การสกัด และการควบคุมคุณภาพนำไปสู่การพัฒนาเป็นสูตรตำรับยา โดยคณะเภสัชศาสตร์ ไปจนถึงปลายน้ำ คือ การทดสอบทางคลินิกและการนำไปใช้ทางการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ อีกทั้งยังมีการบูรณาการความรู้ระหว่างคณะ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมบูรณาการ และมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

         ด้านนายศุภเดช อำนวยสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด กล่าวว่า โรงงานผลิตกัญชาทางการแพทย์ ได้นำผลการวิจัยของ มช. มาใช้ในขั้นตอนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง โดยลงทุนสร้างโรงงานพร้อมงบวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมกว่า 1,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 16 ไร่ ที่ประกอบด้วย 2 อาคารหลัก ได้แก่ อาคารปลูก และอาคารผลิต อาคารปลูกกัญชาจะเป็นโรงเรือนปิดมีการใช้เทคโนโลยี Indoor Cultivation และปฏิบัติตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร มกษ. 3502-2561และ Good Agricultural and Collection Practices (GACP) ภายใต้ห้องสะอาดระดับ Cleanroom Class D ที่สามารถปลูกกัญชาได้ผลผลิตดอกกัญชาแห้งเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 7,000 กิโลกรัมต่อปี อาคารผลิตใช้เทคโนโลยีการสกัดด้วยเครื่อง Supercritical CO2 ประสิทธิภาพสูง นำเข้าจากอเมริกา รวมถึงเครื่องจักร และอุปกรณ์ จากบริษัทชั้นนำของโลกที่ได้มาตรฐาน ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา (GMP PIC/S) ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะสามารถผลิตยา Oral Liquid Dosage Form ได้ไม่ต่ำกว่า 220,000 ขวด ต่อปี รวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้ และเทคโนโลยีขั้นสูงจากการวิจัยและพัฒนาของ มช. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีประสิทธิภาพสูงสุด

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี ในฐานะผู้รับผิดชอบในการประสานงานและเจรจาเพื่อจัดทำตัวแบบธุรกิจและการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ได้กล่าวเสริมว่า ภายในงานเปิดตัวโรงงานฯ ในวันนี้ ยังได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การนำผลงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในนาม บริษัท แคนน์ดู ฟาร์ม่า จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการปลูก ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ได้จากผลงานวิจัยเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลเพื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้ในการรักษาทางการแพทย์ โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกล็อตที่มีการนำไปใช้งาน

         ในฐานะประธานการเปิดโรงงาน ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเปิดโรงงานปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และสรุปถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือ ว่า โรงงานปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มุ่งหวังที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาที่ผลิตได้เองภายในประเทศทุกกระบวนการ มีมาตรฐานครบถ้วน เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมยาระดับโลก นอกจากนี้ มช. และบริษัทฯ ยังมีแนวทางจะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาสูตรตำรับยากัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ยากัญชาทางการแพทย์ในการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดประสาท ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อันจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตไม่เฉพาะเพื่อคนไทยแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก ดังแนวคิด “ผลิตโดยคนไทย มาตรฐานสากล เพื่อคนทั้งโลก”
.
ภาพเพิ่มเติม ....

ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social