CMU SDGs

CMU SDGs

แกะรอยนักเดินทางแห่งท้องทะเล จากโครงสร้างด้านพันธุศาสตร์ประชากรของ “เต่ามะเฟือง”

จำนวนผู้เข้าชม : 2710 | 03 ส.ค. 2565
SDGs:
9 14 17

     เพราะเต่ามะเฟืองเป็นนักเดินทางไกล ที่สามารถว่ายน้ำในท้องทะเลได้ไกลนับหมื่นกิโลเมตร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อมีการปล่อยแม่เต่ามะเฟืองจากทะเลอ่าวไทย เต่าตัวนี้จะเดินทางข้ามคาบสมุทร ไปไกลถึงประเทศอินโดนีเซียได้ แต่เรื่องที่แปลกกว่านั้นก็คือ ไม่ว่าจะเดินทางไปไกลแค่ไหนก็ตาม แม่เต่าจะย้อนกลับมาวางไข่ในจุดที่พวกมันฟักเป็นตัว และลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกเสมอ

     เช่นเดียวกับที่แม่เต่ามะเฟืองจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางกลับมาวางไข่ที่ชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต ในช่วง พ.ศ. 2561-2564 ทำให้ความหวังของการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองในประเทศไทยกลับมาสดใสเรืองรองอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านั้น เต่ามะเฟืองไม่ได้กลับมาวางไข่บนชายหาดในประเทศไทยนาน 5 ปีแล้ว ขณะที่ในปัจจุบันเต่ามะเฟืองถูกจัดให้เป็นสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประเภทสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน เนื่องจากเป็นสัตว์ทะเลหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มากที่สุดในจำนวนเต่าทะเลทั้งหมด

    ปัจจุบันประชากรเต่ามะเฟืองเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยมาก สาเหตุแรกมาจากเต่ามะเฟืองมีลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะตัว จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อย ทำให้การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติน้อยลง ตามไปด้วย อีกทั้งในการขยายพันธุ์นั้น เต่ามะเฟืองมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วหลังจากที่ลูกเต่าฟักเป็นตัวจะลงสู่ทะเลเลย ไม่สามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้ และธรรมชาติเท่านั้น จะเป็นผู้คัดสรรให้ตัวที่แข็งแรงที่สุดเป็นผู้รอดชีวิต โดยคาดว่าเต่ามะเฟือง 100 ตัว มีอัตราการรอดชีวิตเพียง 2 - 3 ตัวเท่านั้น

การฟักและลงทะเลของเต่ามะเฟืองหลุมที่ 14
(ภาพจากเว็บไซต์คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

     สาเหตุประการต่อมาที่ทำให้เต่ามะเฟืองใกล้สูญพันธุ์ก็คือ การเป็นนักเดินทางไกลในท้องทะเล ทำให้เสี่ยงต่อการติดอวนเรือประมง หรือถูกใบพัดเรือประมงตัดครีบหรือแขนขาขณะว่ายอยู่ในน้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครบอกได้ว่า ปัจจุบันประชากรเต่ามะเฟืองที่หายากและใกล้สูญพันธุ์นั้นมีจำนวนเท่าไร กันแน่ ต่างจากวาฬหรือพะยูนที่สามารถทำการบินสำรวจได้ จึงต้องประมาณจากประชากรเต่ามะเฟือง ที่ขึ้นฝั่งเท่านั้น

     แหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟืองในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต แต่ในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา สถิติการวางไข่ลดลงมากกว่า 95% เนื่องจากแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟืองได้ถูกพัฒนาเป็น แหล่งท่องเที่ยว จนสภาพธรรมชาติของชายหาดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจุบันเหลือพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟือง มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยปีละไม่ถึง 10 ตัว จากในอดีต 250 - 300 รัง เหลือเพียง 10 - 20 รังเท่านั้น

ไข่เต่ามะเฟือง

    หลังจากการกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 - 2564 เป็นต้นมา เต่ามะเฟืองได้ขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดบริเวณฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ตและพังงา โดยรวมมากกว่า 20 รัง ซึ่งนับว่าเป็นจำนวน ที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี คาดว่าสาเหตุหนึ่งมาจากวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด - 19 ในช่วง พ.ศ. 2563 - 2564 ที่ทำให้มนุษย์งดกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ และเป็นโอกาสให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ฟื้นฟูตัวเอง รวมทั้งเต่ามะเฟืองด้วย

    ที่ผ่านมา แหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟืองทั้งหมดได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เข้มข้น ตั้งแต่การดูแลพื้นที่วางไข่ไม่ให้ถูกรบกวน จนกระทั่งไข่เต่ามะเฟืองฟักออกเป็นตัวและคลานกลับลงสู่ทะเลอย่างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม คำถามเกี่ยวกับประชากรเต่ามะเฟืองก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ ทั้งนี้ทีมวิจัยของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องการทราบถึงจำนวนของแม่เต่ามะเฟืองที่เข้ามาวางไข่ในช่วงปี 2561-2563 เพราะโดยปกติเต่ามะเฟือง ที่จะขึ้นมาวางไข่นั้น สามารถขึ้นมาวางไข่หลายครั้งได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แหล่งวางไข่ 20 รังนั้น มาจาก แม่เต่ากี่ตัวกันแน่ เพื่อจะได้ประเมินจำนวนประชากรของเต่ามะเฟืองที่มีอยู่ในธรรมชาติในบริเวณ ชายฝั่งประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการนำองค์ความรู้ด้านการศึกษาพันธุศาสตร์ประชากร ของเต่ามะเฟืองมาไขข้อข้องใจดังกล่าว โดยความร่วมมือของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล อันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ศูนย์วิจัยชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จุดวางไข่ของเต่ามะเฟืองบนชายหาด

     ในการศึกษาครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาโครงสร้างด้านพันธุศาสตร์ประชากรของ เต่ามะเฟืองจากการวางไข่ โดยนำเนื้อเยื่อของลูกเต่าที่เสียชีวิตตั้งแต่ในรัง จำนวน 149 ตัวอย่าง จาก 14 รัง จาก 5 ชายหาด ในระหว่าง พ.ศ. 2561 - 2563 มาใช้ในการศึกษาวิจัย ผลจากการเปรียบเทียบพันธุกรรม ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ไข่ 14 รังนี้ มาจากแม่เต่า 3 ตัว ซึ่ง ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ ได้อธิบายถึงผลการศึกษาดังกล่าวนี้ว่า

      “ใน 1 หลุม ของเต่าที่วางไข่ จะมีลูกเต่าประมาณ 60 80 90 หรือ 100 ตัว โดยปกติแล้วพันธุกรรม หรือ genetic จะมี 2 ขา ขาหนึ่งก็ต้องเหมือนแม่ อีกขาหนึ่งจะเหมือนพ่อ แม้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่ผสม หลายพ่อ แต่เราจะไม่ดูทางพ่อ เราจะดูว่าในแต่ละรังนั้น มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดจากแม่เหมือนกันไหม ถ้าไข่รังนั้นกับรังนี้มีเหมือนกันเลย แสดงว่ามาจากแม่เดียวกัน เมื่อเรานำมาดูทั้งหมด 14 รังแล้ว พบว่ามันมีรูปแบบที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ เราก็เลยค่อนข้างจะมั่นใจว่า ไข่เต่ามะเฟือง 20 หลุมนั้น มาจาก แม่เต่ามะเฟือง 3 ตัวด้วยกัน




ตัวอย่างซากเต่ามะเฟืองที่นำมาศึกษาวิจัย
 
      การศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรนี้ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า มีแม่เต่ามะเฟืองกี่ตัวที่มาวางไข่ ทำให้เราพอที่จะประมาณจำนวนประชากรของเต่ามะเฟืองในประเทศไทยได้ว่า มีมากหรือมีน้อย ถ้ามี 3 ตัว ก็ถือว่าเป็นจำนวนน้อย ดังนั้น ในเรื่องความหลากหลาย ก็แสดงว่าประชากรเต่ามะเฟืองมีความหลากหลายน้อย การที่ความหลากหลายยิ่งน้อย ก็ยิ่งเป็นอันตราย เพราะจะเกิดภาวะผสมพันธุ์กันเองในหมู่ญาติ ทำให้เกิดโรค และจะนำมาซึ่งความล่มจมของสายพันธุ์นั้น ๆ ด้วย”


ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์
คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     ปัญหาจำนวนประชากรเต่ามะเฟืองจึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงและจำเป็นที่จะต้องสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากนี้ โดยแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง ได้แก่ การไม่รับประทานหรือซื้อขายไข่เต่า ไม่รบกวนรังของเต่ามะเฟือง รักษาความสงบของหาด โดยเฉพาะในแถบที่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ ลดการใช้พลาสติก และไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงไปในทะเล เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตหลักอย่างหนึ่งของ สัตว์ทะเลคือ กินพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลนั่นเอง ส่วนผู้ใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายในการล่า ครอบครอง และซื้อขายเต่ามะเฟือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี ปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท

     แม้ว่าโลกของเต่ามะเฟืองจะมีความลับในธรรมชาติที่มนุษย์ไม่มีทางรู้เหตุผลได้ว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น แต่ข้อมูลและผลการศึกษาโครงสร้างด้านพันธุศาสตร์ประชากรของเต่ามะเฟืองจากการวางไข่ นับเป็นส่วนหนึ่งของการแกะรอยค้นหาความจริงเกี่ยวกับนักเดินทางแห่งท้องทะเลนี้ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง ทั้งความเข้มแข็งในการจัดการสภาพแวดล้อม และมาตรการคุ้มครองดูแลต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการกลับมาของเต่ามะเฟืองอีกครั้งในอนาคต...

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social