CMU SDGs

CMU SDGs

ทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

จำนวนผู้เข้าชม : 45 | 21 ต.ค. 2567
SDGs:
1 4 10

1.3.1 มีเป้าหมายในการรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีทุนการศึกษาหลากหลายโครงการ ทั้งของส่วนกลางและของแต่ละคณะ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสำหรับนักศึกษาใหม่หรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ทุนการศึกษาเตรียมความพร้อมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมกันรณรงค์จัดหาเงินช่วยเหลือพิเศษ และมอบหมายให้คณะกรรมการทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่พิจารณาคัดเลือกนักเรียน ที่ผ่านการสอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระบบโควตา 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา เพื่อใช้จ่ายในการรายงานตัวเป็นนักศึกษา เช่น ค่าเดินทาง ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าอุปกรณ์ ในภาคการศึกษาที่ 1 ของปีการศึกษา คนละ 10,000 บาท เงินทุนการศึกษาดังกล่าวได้จัดสรรให้นักเรียนทุกปีการศึกษา โดยมีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนประมาณ 100 ทุน ต่อปีการศึกษา นักเรียนที่มีความประสงค์จะขอรับเงินดังกล่าว สามารถสมัครผ่านระบบทุนการศึกษา โดยเปิดรับสมัครในช่วงเวลาการประกาศผลประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (TCAS รอบที่ 2 โควตา Quota) เป็นประจำทุกปี
โดยในปีการศึกษา 2566 ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษาเตรียมความพร้อมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 121 ทุน มูลค่าทุนละ 10,000 บาท และในปีการศึกษา 2567 จำนวน 160 ทุน



(มอบทุนเตรียมความพร้อมฯ ปี 2566 ทั้งหมด 121 ทุน ทุนละ 10000 บาท)



(มอบทุนเตรียมความพร้อมฯ ปี 2567 ทั้งหมด 160 ทุน ทุนละ 10000 บาท)

ทุนส่วนกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทุนการศึกษาประเภทนี้ เป็นทุนที่ได้จากงบประมาณและการรับบริจาคจากบุคคล บริษัท มูลนิธิ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดสรรเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีความประพฤติดี ซึ่งมูลค่าและเงื่อนไขของทุนการศึกษา ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละทุนฯ โดยในแต่ละปีการศึกษาจะมีประมาณ 600 – 1,000 ทุนการศึกษา
สำหรับการรับสมัครทุนส่วนกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับนักศึกษาใหม่ ชั้นปีที่ 1 จะรับสมัครในช่วงรับรายงานตัวนักศึกษา จนช่วงถึงเปิดภาคเรียนที่ 1 และประกาศผลช่วงกลางภาคการศึกษาที่ 1
ส่วนทุนการศึกษาสำหรับทุกชั้นปี จะรับสมัครในช่วงกลางภาคเรียนที่ 2 ของแต่ละปีการศึกษา
โดยสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ของกองพัฒนานักศึกษา http://sdd.oop.cmu.ac.th, ระบบสารสนเทศนักศึกษา https://sis.cmu.ac.th และเพจ Facebook ทุนลูกช้าง มช. https://www.facebook.com/ScholarshipCMU

ทุนการศึกษาของคณะที่นักศึกษาสังกัด

นอกจากทุนการศึกษาของส่วนกลางแล้วนั้น แต่ละคณะจะมีการเปิดรับสมัครทุนการศึกษา ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติต่างๆ ที่คณะกำหนด โดยสามารถติดตามและสอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษา/กิจการนักศึกษา ของคณะที่นักศึกษาสังกัดอยู่


(ตัวอย่างเว็บไซต์เกี่ยวกับทุนการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)



(ตัวอย่างเว็บไซต์เกี่ยวกับทุนการศึกษาของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ทุนโครงการภายนอกและการรับนักศึกษาตามคุณสมบัติ


นอกเหนือจากทุนการศึกษาของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองนั้น ยังมีในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เปิดรับนักศึกษา และสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อขยายโอกาสด้านการศึกษาตามแต่ละประเภทของทุนการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น


โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสค.)

ดูแลโครงการโดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยรับสมัครนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาที่อยู่ในพื้นที่ๆ โครงการเปิดรับ ผู้ปกครองอยู่ในพื้นที่ๆ โครงการกำหนดไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสค. กำหนด โดยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปีการศึกษา 2566) มีผู้ได้รับคัดเลือกจำนวน 35 คน


โครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยภูเขาเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย

ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นโครงการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เป็นชาวไทยภูเขาสัญชาติไทยที่มีผลการเรียนดี ตามประกาศของโครงการฯ โดยในปีการศึกษา 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดรับทุนการศึกษาโครงการนี้จำนวน 19 ทุน จาก 9 คณะ


ทุนทำงาน

นอกเหนือจากทุนการศึกษาที่อิงผลการเรียนแล้วนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมี “ทุนทำงาน” สำหรับนักศึกษาที่อยากมีรายได้ระหว่างการเรียนในช่วงที่ไม่มีชั่วโมงเรียน ได้ช่วยงานของส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน และช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการทำงานจริงให้กับนักศึกษา โดยทางมหาวิยาลัยเชียงใหม่ มีค่าตอบแทนให้ ในอัตราชั่วโมงละ 50 บาท

ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (กยศ. เดิม)
2. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (กรอ. เดิม)
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนสำหรับนักศึกษาที่ให้กู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเล่าเรียนตามอัตราค่าเล่าเรียนที่รัฐบาลกำหนดแล้วค่อยผ่อนใช้คืนภายหลังเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว ตามเกณฑ์ที่กองทุนฯ กำหนด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพ ซึ่งผู้ที่มีความประสงค์ขอกู้ยืมเงินกองทุนฯ จะต้องมีคุณสมบัติ ตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นักศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานทุนและบริการ กองพัฒนานักศึกษา และหน่วยกิจการนักศึกษาคณะที่นักศึกษาสังกัดได้ทุกวันในเวลาราชการ โดยสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทุน กยศ. ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทาง Facebook “กยศ.มช.”


Source:

ทุนการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Facebook: ทุนลูกช้าง มช.
หน้าเว็บไซต์ทุนการศึกษา กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทุนการศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทุนการศึกษา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประกาศ การรับนักเรียนชาวไทยภูเขาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยภูเขา ปีการศึกษา 2567 (PDF)
Facebook: กยศ.มช.

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social