CMU SDGs

CMU SDGs

STeP สะพานข้ามหุบเหวแห่งความท้าทาย สู่การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

จำนวนผู้เข้าชม : 5162 | 08 ต.ค. 2563
SDGs:
4 8 9

STeP สะพานข้ามหุบเหวแห่งความท้าทาย
สู่การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์



          “สะพานแห่งคุณค่า เชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม ให้ก้าวข้าม ‘หุบเหวแห่งความ ท้าทาย (Valley of Challenge)’ เพื่อสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”

          นี่คือนิยามของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park) ที่ชวนให้ค้นหาอย่างยิ่งว่า ทำอย่างไรจึงจะก้าวข้ามหุบเหวแห่งความท้าทาย? และปลายทางข้างหน้าของหุบเหวนี้คืออะไร?

          อาคารทรงรีรูปเมล็ดข้าวอันสวยงามทันสมัยของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เป็นจุดเริ่มต้นความฝันของนักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการ Startup จำนวนมาก ที่พร้อมจะก้าวสู่หุบเหวของความท้าทายดังกล่าว จนทำให้ความฝันบนแผ่นกระดาษของใครหลายคนปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง และกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด

          นอกจากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ก้าวล้ำของอาคารที่ทำการ STeP แล้ว หลักการและแนวคิด University Industry Linkage : UIL ยังเป็นวิสัยทัศน์ที่ก้าวทันต่อยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง โดย STeP ได้ทำหน้าที่ เป็นเสมือน “สะพาน” เชื่อมสองฟากฝั่ง ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สร้างนวัตกรรม และการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต

          การก่อเกิดของ STeP นั้น มาจากปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวสู่การพัฒนานวัตกรรมของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและทั่วโลก นั่นคือ เมื่องานวิจัยในสถาบันการศึกษาไม่สามารถเชื่อมโยง หรือต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ จนมีคำกล่าวว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” หรือ “นักวิจัยทำธุรกิจไม่เป็น” ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมี “สะพาน” เส้นหนึ่ง  ที่เชื่อมโยงสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และเอกชน เข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการ แบบมืออาชีพที่ STeP กำลังดำเนินการอยู่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ       อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง STeP ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ย่อมเป็นผู้เล่าถึงความหมายและคุณค่าของ “สะพาน” สายนี้ได้ดีที่สุดว่า

          “STeP คือสะพานในการสร้างนวัตกรรมของ มช. คำว่าสะพานคือ เรามีหน้าที่เชื่อม มช. กับ ฝั่งภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ทีนี้ในการเป็นสะพานเชื่อมก็ไม่ได้หมายความว่า มช. ถ้าเชื่อมกับอุตสาหกรรมต้องผ่าน STeP เท่านั้น ไม่ใช่นะครับ เพราะ มช. ใหญ่มาก และมีช่องทางที่คณะ สถาบัน ทำงานกับภาคอุตสาหกรรมได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้ามาผ่าน STeP อาจจะมี platform การทำงานหรือ solution มีบริการที่อาจจะพร้อมมากกว่าที่อื่น เพราะนี่คือความถนัดของเรา เนื่องจากว่านักวิชาการส่วนหนึ่งไม่ค่อยถนัดในการทำธุรกิจอยู่แล้ว STeP เป็นสะพานหรือบันไดก้าวแรกให้ แต่จะให้เปลี่ยนเป็นนักธุรกิจเลยนั้น เป็นไปไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเขาก็เริ่มเข้าสู่วงการธุรกิจได้ โดยเราหามืออาชีพหรือวิธีการมาทำให้งานวิจัยของเขาไปถึงปลายทางได้ อันนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ MIT พูดชัดเจนว่าเทคโนโลยีไม่ถึงตลาด ก็ล้มเหลว STeP เราจึงเป็นเหมือนเวที เป็นเหมือนสนามแรก ที่ให้นักวิจัยลองออกจาก Comfort Zone มาลองทำสิ่งที่เกิดประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง และมีกลไกในการช่วยเหลือ”


3 ภารกิจสำคัญของ STeP

สะพานก้าวข้ามหุบเหวแห่งความท้าทาย


          การก้าวเดินออกจากพื้นที่ปลอดภัยมาสู่โลกแห่งธุรกิจนั้น อาจไม่ได้หมายความว่าปลายทางจะพบแต่ความสำเร็จเท่านั้น แต่อาจมีความล้มเหลวรออยู่ก็ได้ “สะพาน” เส้นนี้จึงต้องดึงดูดผู้เดินมากพอที่จะยอมก้าวข้ามหุบเหวแห่งความท้าทายนี้ไปให้ได้ ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ ได้กล่าวถึงภารกิจที่ชัดเจน 3 ประการ ของ STeP ที่เป็นทางออกของปัญหา “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ไว้ว่า

          “1. Inside Out ปีหนึ่ง ๆ มช. เรามีผลงานวิจัย 2,000 กว่าเรื่อง STeP เราก็ไปค้นหา หรือบางทีอาจารย์ก็เอางานวิจัยมาให้เราดู อันไหนมีศักยภาพที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคตลาดผลิต เราก็มีหน้าที่หาเงินทุน เพื่อจะยกระดับงานวิจัยตัวนั้น จาก Lab Scale ให้อยู่ใน Industry Scale อย่างใกล้เคียงที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีออกไปให้ภาคเอกชนเอาไปทำธุรกิจได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          2. Outside In คือ แทนที่จะดูว่า มช. มีงานอะไรบ้าง เราก็ไปดูว่าเอกชนต้องการอะไร แล้วเราก็มีหน้าที่หา ว่าอาจารย์ท่านใดในมหาวิทยาลัยที่ทำให้ได้ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยร่วม ปีหนึ่ง ๆ เราทำ 200 - 300 โครงการ เพราะเราเป็น Partner กับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า เวลาเรามีสัมมนาใหญ่ที่มีสภาหอการค้ามาร่วม ทำให้ได้เจอโจทย์ยาก ๆ หรือบางทีลูกค้าก็บอกปากต่อปาก ไลน์ หรือโทร. เข้ามาส่วนตัวเยอะแยะเลย เพราะระหว่างการที่เขาดีลกับเรา แล้วเราเป็นคนดีลกับอาจารย์ให้ กับเขาไปดีลกับอาจารย์เอง อันนี้เป็นหนัง คนละม้วน เพราะอาจารย์ก็อยากจะทำส่วนที่อาจารย์ถนัด ส่วนเรื่องอื่นอาจารย์ไม่อยากวุ่นวาย เรื่องเคลียร์งบประมาณ เจรจาต่อรองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งเหล่านี้ STeP ทำให้ อาจารย์ก็เลยอยู่กับเราแล้วมีความสุข ระดับหนึ่ง เพราะไม่ต้องทำเรื่องที่ตัวเองไม่ถนัด เราคือ solution ไม่ใช่นายหน้านะ ความหมายคือ ถ้าไม่มีเรา 10 เคส อาจจะมีเคสเดียวที่อาจารย์กับเอกชนไปด้วยกันต่อได้ ที่เหลือไปต่อไม่ได้ เพราะคลื่นความถี่ ภาษาที่ใช้ คนละแบบ Speed อาจารย์กับเอกชนก็คนละอย่าง แต่พอมีเรา เราเคลียร์ให้หมด บาง Project อาจารย์กับเอกชนเจอกันแค่ตอนต้นกับจบ ระหว่างทางเราเคลียร์ให้หมด...เคส outside in นี้ ยกตัวอย่างเช่น แคบหมู ป๊อป มนัสนันท์ เริ่มจากที่เขาอยากทำแคบหมูที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน เขาก็ตั้งสมมติฐานว่าจะใช้ลมร้อนได้ไหม เราก็พัฒนาเครื่องนี้ให้เขา

          3. Startup Approach คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถนำองค์ความรู้ งานวิจัย ให้โอกาส อาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ การทำ Startup Approach นี้ เป็นกระบวนการสำคัญอันหนึ่งในการสร้างการใช้ประโยชน์รูปแบบใหม่จากงานวิจัย

          ...ในการทำงาน เรามีพนักงาน 130 คน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่เคยทำงานฝั่งเอกชนมาก่อน เขาจะเข้าใจธรรมชาติของเอกชน และมีวิธีแปรเปลี่ยนความต้องการเอกชนไปเป็นสิ่งที่อาจารย์รับรู้ เข้าใจได้โดยง่าย โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องปรับจูนมาก เพราะเราเคลียร์ให้แล้ว ว่าสิ่งที่เอกชนต้องการคืออะไร อาจารย์ต้องทำอะไร อันนี้เป็น Recipe เลยครับ”

Startup

ผู้ก้าวข้ามหุบเหวแห่งความท้าทาย


          นับตั้งแต่ก่อตั้ง STeP เป็นต้นมา มีนักวิชาการ นักศึกษา และผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาใช้บริการกว่า 700 บริษัท และสามารถสร้างผู้ประกอบการ Startup กว่า 140 บริษัท โดย 40 บริษัท เป็นสัดส่วน Startup ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่ก้าวข้ามหุบเหวแห่งความท้าทายไปได้จนประสบความสำเร็จย่อมต้องมีเรื่องราวไม่ธรรมดา อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เวียรศิลป์ แห่งภาควิชา พืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ สาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คิดค้น เทคโนโลยี การกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (UTD RF) ซึ่งต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินโครงการในการพัฒนาเทคโนโลยี ผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จนเกิดโรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลง ด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (RF Technology Pilot Plant) นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน โดยบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด สามารถผลิตเป็น “เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดตลอดวงจรชีวิตด้วยคลื่นวิทยุ (BiO-Q)” ได้เป็นผลสำเร็จ





          อีกกรณีหนึ่ง คือ บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด ซึ่งทำให้เห็นถึงการนำความรู้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยบริษัทดังกล่าวเป็นของนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจ Startup โดยได้รับการสนับสนุนทางด้าน การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจจาก STeP อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ การเข้าถึงตลาด รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจ และได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TEDFUND)

          บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด ก่อตั้งโดยบัณฑิต 2 คน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีในการสร้างระบบบริหารจัดการงานหอพักให้แก่เจ้าของหอพัก ทั่วประเทศ และต้องการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่ศึกษาอยู่ได้ออกสำรวจความต้องการของเจ้าของหอต่าง ๆ โดยเริ่มจากบริเวณรอบรั้วมหาวิทยาลัย ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น สร้างระบบบริหารจัดการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งเจ้าของหอพักและผู้เช่า โดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยในการพัฒนาระบบการจัดการหอพัก ให้มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลมากขึ้น ปัจจุบัน HORGANICE เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จในการช่วยผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ บริหารจัดการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ อย่างครบวงจร และเติบโตเป็นผู้ประกอบการ Startup ที่มั่นคงแข็งแกร่งรายหนึ่งของประเทศไทย


          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ ได้กล่าวถึงการพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จว่า กลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักศึกษา และอาจารย์ที่อยู่ใกล้ชิดกับองค์ความรู้ภายในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และสามารถ นำองค์ความรู้นั้นไปต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          “ในการพัฒนา Startup เรามีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกคือนักศึกษา วันแรกนักศึกษาที่เข้ามาจะไม่มีความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการเลย แต่พอเข้ามาเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้ประกอบการกับเรา มาทำ workshop เสร็จแล้ว เข้าไปประกวดแข่งขัน Startup ซึ่งมีหลายสนามมาก โดยเฉพาะ Startup Thailand League เรากวาดที่ 1 มา 2 ปีแล้ว จาก      500-600 ทีมทั่วประเทศ STeP เป็นคนปั้นนักศึกษาเหล่านี้ เขาสามารถทำธุรกิจตั้งแต่เรียนหนังสือพอจบไปแล้วก็เลือกได้ แทนที่จะไปทำงานอย่างเดียว หรือเรียนต่อ ก็สามารถที่จะทำบริษัทต่อเนื่องได้ โดยไม่จำกัดชั้นปีและสาขาด้วย ซึ่งเราส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกันหลายสาขา เป็นทั้งฝั่งวิทยาศาสตร์ วิศวะ บริหาร เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์

          กลุ่มเป้าหมายที่ 2 คือ อาจารย์นักวิจัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้มีนโยบายส่งเสริม และสนับสนุนการสร้าง Startup จากงานวิจัย โดยอาจารย์สามารถถือหุ้นในบริษัทได้ และมีนักศึกษาปริญญาโท หรือเอกเป็นผู้บริหาร ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ผลงานวิจัย และนวัตกรรม (พ.ศ. 2563) เพื่อสนับสนุนนโยบายนี้ แม้โมเดลนี้จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว แต่ มช. เองน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ที่ผลักดันเรื่องนี้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งหลังการจัดตั้งบริษัทสามารถขออนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดย STeP มีกลไกสำคัญในการผลักดันผลงานของ Startup กลุ่มนี้สู่ภาคธุรกิจ ผ่านบริษัท  อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ที่มีบทบาทในการเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัท ซึ่งเป็นข้อดีในการช่วยส่งเสริมให้ Startup ไปต่อได้ ปัจจุบันมี 4 - 5 บริษัท Startup ที่ตั้งจากงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เช่น ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียม NOVEM DENTAL IMPLANT ของอาจารย์ปฐวี (รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)


รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ถามว่าบริษัทนี้จะโตเป็นหลักพันล้านหมื่นล้านด้วยตัวเองไหม เราไม่ได้หวังอย่างนั้น เราหวังแค่ว่า ภายใน 1 - 2 ปีแรก ช่วงเวลาที่คนเห็นงานวิจัยอย่างเดียวแล้วไม่สนใจเลย แต่พอมาเห็นรูปแบบธุรกิจที่ตั้งต้นขึ้นมาได้ อาจจะดึงดูดนักลงทุนจนถูกซื้อบริษัทเลยก็ได้ หุ้นอาจารย์อาจจะเหลือน้อยลง แต่ scale ธุรกิจใหญ่ขึ้น ตัวนักศึกษาที่เป็น CEO อาจจะกลายเป็น Director ด้าน R&D ก็ได้ เพราะไม่ได้ทำธุรกิจเก่ง ต้องให้มืออาชีพมาทำ วิธีนี้ต่างประเทศทำกันเยอะมาก และประสบความสำเร็จมาก”

นวัตกรรมเชิงพาณิชย์

ณ ปลายทางของหุบเหวแห่งความท้าทาย



          นอกจากนักศึกษาและอาจารย์แล้ว ยังมีผู้ประกอบการจากภายนอกที่สนใจเข้ามาร่วมงานและ ขอคำปรึกษาจาก STeP ราว 500 - 600 บริษัท ตั้งแต่ SME ไปจนถึงบริษัทมหาชนอย่างเช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทเบทาโกร เป็นต้น โดย STeP มีความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากรในการรองรับการทำงานดังกล่าว โดยมีการให้บริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการของนักศึกษา นักวิจัย และผู้ประกอบการ ได้แก่ บริการด้านองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บริการด้วยโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี บริการด้านการวิจัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม บริการจับคู่ทางธุรกิจและแนะนำแหล่งทุนที่เหมาะสม บริการพื้นที่สำนักงานที่เหมาะกับทุกธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพเทคโนโลยี พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ช่วยเติมเต็มสภาพแวดล้อมนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) อย่าง Co-working space “The Brick X @nsp” พื้นที่ทดสอบการขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติ จาก “The Brick FABLAB” ห้องปฏิบัติการกลาง โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร โรงงานต้นแบบเทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ห้องประชุม และจัดฝึกอบรมหลากหลายขนาด อาคารหอประชุมขนาดใหญ่ “NSP Rice Grain Auditorium” ห้องจัดแสดงนิทรรศการ “NSP Exhibition Hall” พื้นที่ทดสอบตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่รับบริการจากอุทยาน “NSP INNO STORE”ฯลฯ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ แก่ภาคธุรกิจเอกชน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ดียิ่งขึ้น



          STeP สนับสนุนธุรกิจอย่างครอบคลุมหลากหลาย โดยเน้น 4 ประเภทหลัก ที่ตอบโจทย์ภาคเอกชน ในภาคเหนือ ได้แก่ 1. พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร เมืองเหนือ และข้าว      2. การแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ 3. อุตสาหกรรมไอทีซอฟท์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และ ไอโอที 4. เทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมวัสดุ จึงทำให้พื้นที่ทดสอบตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมภายใน NSP INNO STORE เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่ชวนให้ซื้อหา ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างสวยงาม น่าใช้ และสินค้าบางชิ้นเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยเห็นในตลาดมาก่อน

          STeP นับเป็นสะพานแห่งความฝัน ที่จะนำทางให้ทุกคนก้าวผ่านหุบเหวแห่งความท้าทายสู่ปลายสะพานแห่งความสำเร็จ ด้วยการสร้างนวัตกรรม นำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาผสานในการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ดีที่สุดและความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social