CMU SDGs

CMU SDGs

มช. สร้างพลังการเปลี่ยนแปลง ด้านกฎหมายและความยุติธรรมสำหรับผู้หญิง

จำนวนผู้เข้าชม : 2911 | 16 พ.ย. 2563
SDGs:
5 10 16 17

       มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ เดินหน้าส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
      สิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศ เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างร่วมกันผลักดันในหลากหลายมิติ รวมทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง ซึ่งศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรับรู้ ความเข้าใจถึงสิทธิของสตรี มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โดยได้จัดฝึกอบรมที่เน้นหนักในประเด็นของสถานภาพทางเพศ (Gender) แก่ผู้หญิงในชนบทผ่าน “โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบทภาคเหนือ” ร่วมกับมูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ โดยคาดหวังจะกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงผสมผสานระหว่างความรู้ทางกฎหมายมุมมองเรื่องผู้หญิง (Feminist Perspectives) ในการเพิ่มศักยภาพผู้หญิงในทุกชนชั้นและทุกเชื้อชาติ ทำให้ขบวนการสตรีในกระแสหลักมีบทเรียนและพัฒนาไปสู่การกำหนดนโยบาย


(โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบท 17จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย)


      “โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบทภาคเหนือ” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับศักยภาพของผู้หญิงในท้องถิ่น ให้สามารถใช้กฎหมายในฐานะเครื่องมือที่จะต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางเพศและความไม่เท่าเทียมทางสังคมอื่นๆ กระตุ้นให้ผู้หญิงในท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในโครงสร้างการปกครองทุกระดับ และผลักดันให้มุมมองของผู้หญิงได้ถูกบรรจุในการสร้างนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการและความสนใจของผู้หญิง นำไปสู่การกำหนดทิศทางของสังคมที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านสตรีศึกษาผ่านการวิจัย เปิดเผยให้เห็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้หญิงในลักษณะของสหสาขาวิชา

      จนถึงปี 2563 ในปัจจุบันมีอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงที่ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 7 รุ่น จำนวน 178 คน อาสาสมัครฯ หลายคนได้พัฒนาเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติ และหนึ่งในนั้นเคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กลุ่มอาสาสมัครกฎหมายยังคงทำงานในภาคการเมืองท้องถิ่นและอุทิศตนต่องานพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้หญิงในชุมชนของตน โครงการต่างๆ ของผู้ผ่านการอบรมมักเริ่มต้นจากการสอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง การเพิ่มทักษะและการสร้างรายได้เสริม กิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการพบปะกันระหว่างผู้หญิงในชุมชนท้องถิ่น และสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ตลอดจนสามารถป้องกันตนเองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบในชีวิตประจำวันได้ จากพื้นฐานความรู้ด้านกฎหมายอาสาสมัครฯ ผู้ผ่านการอบรมได้มีบทบาทที่สำคัญในการเป็นผู้นำในชุมชน เช่น การร่วมกับชุมชนในการจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก” เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงานและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคมและ/หรือได้รับความรุนแรง

      นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำงานวิจัยซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของการดำเนินงาน โดยข้อมูลและความรู้ที่ได้จากงานวิจัย จะสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่สำคัญและสร้างแรงสนับสนุนจากสาธารณะ นำไปกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ในช่วงที่ผ่านมาได้มีงานวิจัย เรื่อง “ประสบการณ์กับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงชาติพันธุ์” ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งนำไปเป็นข้อเสนอในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศกับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเป็นการรวบรวมประสบการณ์ของกรณีศึกษาที่เป็นผู้ผ่านการอบรม

งานวิจัย “ประสบการณ์กับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงชาติพันธุ์”
ภายใต้การดำเนินงานของ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

พร้อมกันนี้ ในโอกาสวันสตรีสากล ( 8 มีนาคม) และวันยุติความรุนแรงต่อสตรี (25 พฤศจิกายน) ของทุกปี ได้มีการจัดรณรงค์ ฝึกอบรมให้ความรู้ เช่น กฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมและกลไกในการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลที่ได้รับความรุนแรง การเสวนาทางวิชาการ พร้อมทั้งการเสนอ “ข้อเรียกร้องของสตรี เพื่อยุติความรุนแรง” โดยตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสตรี ซึ่งในปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้พิการด้วย

8 มีนาคม วันสตรีสากล International Women’s Day


8 มีนาคม วันสตรีสากล International Women’s Day




25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

      อีกทั้ง ในช่วงปี 2560 ถึง 2561 ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับมูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบทและสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง” มุ่งเป้าหมายไปที่ผู้นำหญิงที่มีศักยภาพเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย/ผู้แนะนำทางด้านกฎหมาย (paralegal) เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกลไกในกระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ กฎหมายพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการปกป้อง และผลักดันให้ผู้หญิงในชุมชนได้รับความยุติธรรม ทั้งทางด้านกระบวนการและผลลัพธ์ และท้ายที่สุดคือการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้หญิงที่เข้ารับอบรมและองค์กรด้านความยุติธรรมอื่นๆ การฝึกอบรมนี้ครอบคลุมผู้หญิงใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ประกอบด้วยผู้หญิงที่เป็นผู้นำชุมชน หรือผู้หญิงที่ทำงานช่วยเหลือหรือสงเคราะห์คนในชุมชน พื้นที่ นักพัฒนา นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่บ้านพักฉุกเฉิน นักกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิผู้หญิง นักกฎหมาย พนักงานสอบสวน เป็นต้น

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ: ความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง
(Paralegal Training-Workshop: “Women for Justice; Justice for Women”)

       จากคำกล่าวที่ว่าในกระบวนการยุติธรรมนั้น ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อันเนื่องมากจากความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่เดิมในสังคม เช่น ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาและทางสังคม ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการกีดกันผู้หญิง การดำเนินงานของศูนย์สตรีศึกษา มช. จึงนับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างพลังของผู้หญิงให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ผลักดันผู้หญิงให้สามารถสร้างความเข้มแข็งแก่ตนเอง และช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นๆ ในชุมชนและสังคมได้ ไม่ว่าจะด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมให้กับผู้หญิงในเครือข่าย การผลักดันให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตระหนักรู้ถึงสิทธิของผู้หญิง ไปจนถึงการช่วยเหลือผู้หญิงในสังคมนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและให้คำปรึกษาในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ: ความรู้ด้านกฎหมายและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง
(Paralegal Training-Workshop: “Women for Justice; Justice for Women”)


       การผนึกกำลังเพื่อสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ ในการเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิง ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์สตรีศึกษาได้ดำเนินการมาโดยตลอดนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ขององค์การสหประชาชาติ " การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน (Sustainable Development Goals-SDGs, SDG 5 : Achieve gender equality and empower all women and girls) เพื่อยกระดับสิทธิและการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในประเทศไทย อันจะนำมาสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนต่อไป

(ข้อมูล : ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social