CMU SDGs

CMU SDGs

ที่สุดของภารกิจแห่งความท้าทาย ในโครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ มช.

จำนวนผู้เข้าชม : 1219 | 23 ธ.ค. 2563
SDGs:
3

ที่สุดของภารกิจแห่งความท้าทาย
ในโครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ มช.

     “ในฐานะที่ผมเป็นศัลยแพทย์ทั่วไป ที่ทำทุกอย่างแล้วในการผ่าตัดตับ ผมอยากใช้คำว่า ‘ลุ้นทุกเคส’ ใช้ทุกกระบวนท่าทุกอย่างที่มีอยู่ เพราะคนไข้แต่ละรายมีความยากต่างกัน นับว่าเป็นความท้าทายมาก”

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงภารกิจแห่งความท้าทายของการผ่าตัดตับ ซึ่งคนภายนอกอาจไม่เคยทราบว่าเป็นหนึ่งในการผ่าตัดอวัยวะที่ยากที่สุด และไม่ได้เริ่มต้นหรือจบลงเพียงในห้องผ่าตัดเท่านั้น...

     จากสถิติพบว่า มะเร็งตับเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ โดยพบมากในเพศชายเป็นอันดับหนึ่ง ในเพศหญิงเป็นอันดับสอง แต่สิ่งที่สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ จำนวนศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีอยู่ไม่เกิน 50 คน ในประเทศไทยในเวลานี้ และในจำนวนนั้นคือ ทีมคณาจารย์ หน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์เพียงแห่งเดียว ที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต เพื่อรักษาโรคมะเร็งตับในผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดวิธีดังกล่าวมากที่สุดในประเทศไทย คือ จำนวน 30 ราย อีกทั้งล่าสุดยังได้ทำการผ่าตัดตับผู้บริจาคผ่านการส่องกล้อง และนำไปปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยมะเร็งตับ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

     ในประวัติศาสตร์ของการแพทย์ไทย ได้เริ่มทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับในราว 20 ปีมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะดำเนินการในโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มต้นดำเนินการเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2551 แต่มีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากจำนวนเคสยังไม่สม่ำเสมอ จนกระทั่งต่อมาได้ดำเนินการอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2557 แต่เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนตับต้องใช้งบประมาณ ทรัพยากรและเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก จึงมีการจัดตั้งเป็นโครงการพิเศษ โดยได้รับการสนับสนุน จากคณะแพทย์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการโดยทีมคณาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน และ อาจารย์ นายแพทย์ วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

ทีมคณาจารย์ศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
ส่งต่อสายธารแห่งความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

     เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ มช. ดังที่กล่าวข้างต้น คือ บุคคลที่อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะทีมคณะแพทย์ ทีมคณาจารย์ศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ที่ได้ส่งต่อสายธารแห่งความรู้ระหว่างอาจารย์สู่ลูกศิษย์ เริ่มตั้งแต่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดตับ ที่มีแนวคิดว่า

     “ลูกศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์ ไม่อย่างนั้น อาจารย์เจ็บป่วยแล้วใครจะมารักษาอาจารย์ เราก็ต้องทุ่มเท ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเป็นหมอที่เก่งมากขึ้น”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อานนท์ โชติรสนิรมิต
หัวหน้าหน่วยระบบทางตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อานนท์ เป็นศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ไปศึกษาดูงานเรื่องการผ่าตัดตับที่เซี่ยงไฮ้ เนื่องจากในขณะนั้นประเทศจีนมีเคสคนไข้มะเร็งตับเป็นจำนวนมาก หลังจากกลับมาจากเซี่ยงไฮ้แล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ได้มาเป็นอาจารย์ และศึกษากับอาจารย์อานนท์ ทำให้มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของตับและพื้นฐานการผ่าตัดตับที่ยากและท้าทายมาก หลังจากที่อาจารย์สัณหวิชญ์เป็นอาจารย์ได้ 3 ปี จึงได้ไปศึกษาด้านการปลูกถ่ายตับที่ University of California, Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถาบันที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นจำนวนมาก ราว 200 รายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนตับที่ได้จากผู้บริจาคสมองตาย จากนั้นจึงได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนตับจากคนที่มีชีวิตมากที่สุดในโลก

     ในปัจจุบัน การรักษาคนไข้มะเร็งตับ มี 2 วิธี คือ 1. การผ่าตัดมะเร็งตับ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ผู้ป่วยมักมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ 2. การปลูกถ่ายตับ แบ่งเป็น การปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยภาวะสมองตาย (ได้จากการบริจาคจากผู้ป่วยสมองตาย และเสียชีวิต) และการปลูกถ่ายตับจาก ผู้บริจาคที่มีชีวิต เช่น ญาติ สามีภรรยาของผู้ป่วย วิธีนี้มีความยาก และซับซ้อน แต่มีข้อดีคือ ลดเวลาในการ รออวัยวะ และตับอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น เพียงสถาบันเดียวที่ผ่าตัดด้วยวิธีนี้




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ เล่าถึงประสบการณ์การดูงานที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่มาของความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตว่า

     “การที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์อานนท์เรื่องการผ่าตัดตับ ทำให้ผมรู้สึกว่าผมมีความพร้อมที่จะทำการผ่าตัดตับจากคนที่มีชีวิต เพราะเรามีประสบการณ์ในการผ่าตัดตับมามากในระดับที่มั่นใจ หลังจากไปอเมริกา ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่เกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนตับจากคนที่มีชีวิตมากที่สุดในโลก คือประมาณ 350 รายต่อปี นั่นหมายถึงว่ามีการผ่าตัดเปลี่ยนตับทุกวัน พอกลับมาได้ 1 ปี หลังจากที่ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตายไป 3 ราย จึงได้เริ่มวางแผนการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต”

     จากการดูงานที่เกาหลีใต้ ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สัณหวิชญ์ พบว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต” น่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยในภาคเหนือมากกว่าการรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย เนื่องจากคนไทยมีความรักใคร่ผูกพันในครอบครัว และมีผู้ป่วยบางรายที่พร้อมจะบริจาคอวัยวะให้แก่คนในครอบครัว จึงได้ปรึกษากับอาจารย์อานนท์ว่าน่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาการรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราการบริจาคน้อย และสภาพตับอาจไม่สมบูรณ์

    ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปี 2557 - 2561 โครงการปลูกถ่ายตับฯ จึงได้มุ่งเน้นขยายศักยภาพการผ่าตัด ปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต และประสบความสำเร็จเป็นอันดี เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ อาจารย์ นายแพทย์ วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ ลูกศิษย์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการผ่าตัดตับและปลูกถ่ายตับจากอาจารย์ทั้งสองท่าน ได้เข้ามาเสริมทีมในปี 2558 และต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง ในผู้บริจาคที่มีชีวิต ดังที่ อาจารย์ นายแพทย์ วรกิตติ ได้เล่าถึงความรู้และประสบการณ์ในการผ่าตัดตับว่า

    “ผมได้มาเป็นอาจารย์ และเริ่มมีการผ่าตัดตับจากผู้บริจาคสมองตายก่อน หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็เริ่มมีการปลูกถ่ายตับจากผู้ที่มีชีวิต ทำให้ผมได้เห็นภาพรวมของการรักษาตั้งแต่เป็นแพทย์ Resident แพทย์ฝึกหัด จนมาเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ผมยังจำที่อาจารย์อานนท์เคยพูดไว้ได้ว่า เราทำมาทั้งหมดแล้ว ทั้งผ่าตัดมะเร็งที่ยาก ๆ เหลือแต่การผ่าตัดทางกล้องที่ทางสถาบันอื่นเขาเริ่มทำกันแล้ว แต่ที่เรายังไม่ได้เริ่มทำกันอย่างจริงจัง จนผมเป็นอาจารย์ได้ 2 ปีกว่า ๆ เก็บประสบการณ์ในการผ่าตัด และมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมากขึ้น ก็ได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ที่ University of California, Los Angeles ในเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะปลูกถ่ายตับ และการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายตับ คือเราไปเรียนเรื่องการ ปลูกถ่ายตับมาแล้ว แต่บางที่มันไม่ได้อยู่ที่การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวแล้ว มีทั้งการเตรียมตัวผู้ป่วย ก่อนการผ่าตัด และการดูแลหลังการผ่าตัดด้วย หลังจากศึกษาที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี ผมก็มาต่อที่เกาหลีใต้ เพราะว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องในผู้บริจาคที่มีชีวิตมากที่สุดในโลก หลังจากไปอยู่เกาหลีใต้มา 4 เดือน ก็กลับมาเริ่มเคสแรกเมื่อต้นปี 2020”

อาจารย์ นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

ภารกิจสุดท้าทายทั้งในและนอกห้องผ่าตัด

      “การผ่าตัดเปลี่ยนตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต” เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน และต้องใช้ทุกกระบวนท่าของศัลยแพทย์จริง ๆ โดยต้องผ่าตัดตับกลีบขวาของผู้บริจาคที่เป็นญาติสายตรง สามีหรือภรรยาของผู้ป่วย โดยแยกหลอดเลือดและท่อน้ำดีออกมา เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริจาค...นั่นคือความยากและซับซ้อนสำหรับทีมศัลยแพทย์ในห้องผ่าตัด แต่สิ่งที่มีความยากและซับซ้อนไม่แพ้กันก็คือ การหาผู้บริจาคที่มีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ อานนท์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเคสต่าง ๆ ว่า

     “ผมว่ามันเป็นสภาวะที่เราอาจมองได้ 2 มุม คือ ถ้าผมเป็นพ่อ ผมอาจต้องเสียชีวิตด้วยโรคตับ แล้วผมต้องการอวัยวะ แต่ให้ผมขออวัยวะจากลูก ถ้าไม่ขอก็ต้องตาย แต่ถ้าผมขอ คนอื่นจะมองผมอย่างไร แล้วถ้าลูกไม่ให้ คนอื่นจะมองลูกอย่างไร เพราะว่าเขาเป็นผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ทั้งคู่ แต่ถ้าพ่อแม่ให้เด็ก มันไม่มีปัญหา เพราะว่ามัน 100% การที่เราจะให้คำแนะนำในเรื่องนี้อย่างเต็มปาก มันพูดยาก”

     ด้วยความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ ทำให้ทีมแพทย์ต้องใส่ใจกับวิธีการจัดการในเรื่องนี้ เป็นอย่างมาก โดยจะไม่แจ้งแก่ผู้ป่วยว่ามีการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แต่จะใช้วิธีการแจ้งให้ญาติทราบว่ามีวิธีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ ถ้าผู้บริจาคสนใจจึงดำเนินการต่อไป ซึ่งขณะนี้มีคนไข้ที่ผ่าตัดไปแล้วทั้งหมด 30 ราย โดยที่ผู้บริจาคทุกรายได้รับการผ่าตัดอย่างปลอดภัย และมีการฟื้นฟูของร่างกายเป็นปกติ

     ปัจจุบันแนวโน้มของมาตรฐานใหม่ทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ของโลกคือ เทคนิคการผ่าตัด ผ่านกล้อง เพื่อลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้โครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ มช. จึงเริ่ม มีการใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องในการตัดตับของผู้บริจาค ข้อดีคือ ทำให้คนไข้ไม่มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ ที่ช่องท้อง และใช้เวลาในการพักค้างในโรงพยาบาลสั้นกว่าเดิม แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การช่วยลด ความเจ็บปวดของคนไข้ผู้บริจาค ซึ่งได้เสียสละอวัยวะแล้ว จึงควรจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด คือเจ็บปวดน้อยที่สุด และลดขนาดแผลผ่าตัดให้เล็กที่สุด สิ่งนี้คือแรงจูงใจของทีมแพทย์ในการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จให้ได้



       
     นอกจากแรงจูงใจดังกล่าวแล้ว ปัจจัยของความสำเร็จของโครงการฯ คือการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะแพทย์ในการผ่าตัด ซึ่งในการผ่าตัดแต่ละครั้งใช้งบสูงมาก นอกจากนี้ ยังต้องใช้ทั้งบุคลากรประมาณ 100 คน ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ พยาบาล โภชนาการ เภสัชกร สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาภารกิจที่ยากและท้าทายสำเร็จลงได้ด้วยทีมเวิร์คที่ดีนั่นเอง

    ในอนาคตทีมเวิร์คทีมนี้มีโครงการที่จะเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ในการช่วยเหลือคนไข้ โดยมีโปรเจ็กต์การผ่าตัดปลูกถ่ายตับข้ามกรุ๊ปเลือดในผู้ใหญ่ ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย เป็นภารกิจใหม่ของศัลยแพทย์หน่วยระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มช. ที่มุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ยาก และท้าทายต่อไป เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เพราะรางวัลที่ได้รับนั้นคุ้มค่าเสมอเมื่อคนไข้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตต่อไป...


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social