CMU SDGs

CMU SDGs

เมือง “อยู่ดีมีสุข” แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จำนวนผู้เข้าชม : 10172 | 16 ต.ค. 2563
SDGs:
6 7 9 11 12


CMU Smart Campus
เมือง “อยู่ดีมีสุข” แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          บรรยากาศยามเย็นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูคล้ายกับว่าที่นี่ไม่ใช่สถาบันการศึกษา แต่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ด้วยความงดงามของธรรมชาติฉากหลังริมเชิงดอย รวมถึงพื้นที่สีเขียวอันกว้างใหญ่ ที่ดึงดูดให้คนจำนวนมากออกมาเล่นกีฬา หรือพักผ่อนทำกิจกรรมตามอัธยาศัย...และหากใครได้มาเยือน มช. ในช่วงเย็นวันใดวันหนึ่งในบางสัปดาห์ ก็อาจได้พบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะผู้บริหาร ที่ออกเดินตรวจตราความเรียบร้อยทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเดินออกกำลังกายยามเย็นไปในตัวด้วย

          นี่คือเสน่ห์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่...เมือง “อยู่ดีมีสุข” ที่มีเอกลักษณ์ และเปี่ยมด้วยมนต์ขลัง ไม่เสื่อมคลาย ทั้งจากธรรมชาติสรรค์สร้าง และสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น จนกลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัยเมืองหนึ่ง ที่น่าอัศจรรย์ ด้วยความสมดุลระหว่างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันงดงาม และเทคโนโลยีอันก้าวหน้า ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งแรกของล้านนา ที่ในวันนี้ได้ก้าวสู่การเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ หรือ CMU Smart Campus อย่างเต็มตัวแล้ว

CMU Smart Campus
นิยามความอยู่ดีมีสุขของชาว มช.


          มช. ในวันนี้อยู่ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบการดำเนินชีวิตของผู้คน (Disruptive Technology) อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ และมี ผู้อยู่อาศัยราว 40,000 คนนี้ จึงมีความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ที่เห็นได้ชัดเจน เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่: (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด (CMU Smart City - Clean Energy) ได้รับการคัดเลือกจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้เป็น 1 ใน 7 องค์กรต้นแบบ ของโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ และได้พัฒนามาเป็น CMU Smart Campus ในทุกวันนี้
          แนวคิด Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ เกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน จึงได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสาธารณะในเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในทุก ๆ ทาง โดยหัวใจหลักของการออกแบบโครงสร้างเหล่านี้ก็คือผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นนั่นเอง
          ด้วยเหตุนี้ นิยามความเป็น Smart City หรือนิยามความอยู่ดีมีสุขของชาว มช. จึงไม่เหมือนเมืองใด ๆ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำจุดเด่นในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนาน มาจัดทำเป็นแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564) โดยมียุทธศาสตร์เชิงรุกในด้านนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นำไปสู่การออกแบบ “แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City - Clean Energy)” โดยมีหลักเกณฑ์ในการขับเคลื่อน ได้แก่ การพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดรับกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากร

       รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบดูแลยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน อาคารสถานที่ และสาธารณูปโภคของมหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัจจัยหลักของการออกแบบ CMU Smart Campus เริ่มจากปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนก่อน แล้วจึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ไปแก้ปัญหาว่า

          “Smart City เป็นเรื่องของการเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาคมด้วย แล้วก็มุ่งเป้าไปที่เมือง เป็นเมืองที่น่าอยู่ อยู่ดีมีความสุข และยั่งยืน ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าในชุมชน ของเรามีปัญหาอะไร จากนั้นเราจึงนำเทคโนโลยี เอานวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปจับ เพื่อจะแก้ปัญหาตรงนั้น ปัญหาอาจจะมี 3 - 4 เรื่อง แต่ก็แก้ไม่ได้หมดทีเดียวหรอก ต้องแก้เป็นเรื่อง ๆ ไป”


รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ปัญหาหลัก ๆ ที่นำมาตั้งเป็นโจทย์เพื่อแก้ไข และดำเนินการนโยบายใน 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ระบบสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) และชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ มช. เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่ไม่เพียง ไม่ตกเทรนด์ แต่ยังเป็นต้นแบบให้แก่สถาบันอื่น ๆ รวมถึงภาคประชาสังคมได้อีกด้วย

Smart Energy
นำเทคโนโลยีมาใช้ “อนุรักษ์พลังงาน”

          เราอาจคุ้นหูกับคำว่า “ประหยัดพลังงาน” มากกว่าคำว่า “อนุรักษ์พลังงาน” ซึ่ง รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล่าถึงความหมายของคำคำนี้ไว้ว่า

           “ประหยัดพลังงานคือไม่ใช้พลังงาน เช่น ถ้าผมจะประหยัดไฟ ผมก็ปิดไฟ แล้วผมก็บอกมหาวิทยาลัยว่าเราทำงานกันอาทิตย์ละ 3 วันก็พอ ประหยัดไฟแน่นอน แต่ว่าประสิทธิภาพการทำงานอาจจะลดลง แต่ถ้าเป็น ‘อนุรักษ์พลังงาน’ เราทำงาน 5 วันเหมือนเดิม แต่ค่าไฟถูกลง จะทำอย่างไร? อันนั้นคือหัวใจ

          การอนุรักษ์พลังงานทำอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะรู้ว่าเราเป็นโรคอะไร เราก็ต้องไปตรวจสุขภาพ ไปตรวจเลือด ในเรื่องพลังงานก็เหมือนกัน เราต้องรู้ก่อนว่าตึกนี้ คณะนี้ ใช้พลังงานไปในมิติไหนบ้าง ตรงโซนไหน ใช้เยอะ โซนไหนน้อย โซนไหนดีแล้ว เป็นการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน energy audit เราก็ไปตรวจทุกคณะเหมือนหมอตรวจสุขภาพคนไข้ พอทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว เราก็นำมาบริหารจัดการ นี่คือภาพของการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเราก็มั่นใจว่า ถ้าเรามีวิธีการรักษาที่ถูกต้องกับแต่ละที่ ก็จะทำให้ลดค่าไฟลง ลดค่าเชื้อเพลิงลงได้ นั่นคือวิธีการที่ 1

           วิธีที่ 2 ก็คือ ต้องหาพลังงานอื่น ๆ มาเสริม เช่น โซลาร์เซลล์ หรือนำขยะหรือน้ำเสียมาสร้างเป็นพลังงาน เป็นต้น ซึ่งเราก็ทำเรื่องพลังงานทดแทน โซลาร์เซลล์อะไรต่าง ๆ ให้การใช้พลังงานหลักของเราลดลง ความมีเสถียรภาพด้านพลังงานของเราก็จะสูงขึ้น อันนี้คือมิติด้านพลังงานของ มช.”

           Smart Energy หรือพลังงานอัจฉริยะ ที่ชาว มช. เห็นอยู่ทุกวัน คือบนหลังคาของอาคารต่าง ๆ ที่เต็ม ไปด้วย Solar Rooftop หรือแผงโซลาร์เซลล์ ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในเวลานี้ มช.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีแผงโซลาร์เซลล์มากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ โดยมีระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์และชีวมวลใช้เองได้ถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้พลังงานของเมือง โดยโซลาร์เซลล์จะใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และระบบ Solar water heater ผลิตน้ำอุ่นใช้ในหอพักนักศึกษา ทั้งหมดนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยลงไม่ต่ำกว่า 30% และนอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการพลังงานครบวงจรด้วยระบบ Smart Grid อีกด้วย

          “Smart Grid คือการซื้อขายไฟข้ามตึกได้ มีการคุยเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังทำไม่ได้สักที ของเราทำแล้ว สมมติว่ามีการซื้อกระแสไฟฟ้ามาที่บนอาคาร แดดมีก็ผลิตกระแสไฟฟ้า แดดไม่มีก็ไม่ผลิต วันธรรมดาเราก็ใช้ แต่พอวันเสาร์-อาทิตย์ ตึกนี้ไม่มีใครมาทำงานเลย ก็มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแต่ว่าไม่ได้ใช้ ก็ต้องทิ้ง เพราะฉะนั้น แทนที่จะทิ้ง ทำไมเราไม่ส่งไปที่โรงพยาบาลที่เขาใช้ล่ะ อันนี้สามารถข้ามตึกได้เลย เป็นระบบ Smart Grid โครงข่ายทั้งมหาวิทยาลัย แล้วก็จะใช้ในชุมชนก็ได้ เช่น สมมติบ้านนี้แดดเหลือไฟเหลือ เราก็ไปขายให้บ้านข้าง ๆ ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราทำนะครับ ถ้าลึกกว่านั้นอีก เราก็มีแบตเตอรี่สำรองที่จะคอยคอนโทรลอีกว่า ช่วงนี้ค่าไฟถูก ๆ ผมก็เอาโซลาร์เซลล์เข้ามาเก็บในแบตเตอรี่ ช่วงนี้แพง ๆ ผมก็อาจจะเอาแบตเตอรี่ไปใช้แทน ไม่ต้องเสียค่าไฟแพง อันนี้คือการ Manage Control ทั้งหมดเลย นี่เป็นโมเดลอันหนึ่งซึ่งคนก็สนใจเข้ามาขอความรู้เพิ่มเติมมากพอสมควร”


แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาทางเชื่อมอาคารที่โรงพยาบาลมหาราช 

แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่สถาบันวิจัยพลังงานนครพิงค์

Smart Environment
การบริหารจัดการ “สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ”
          ต้นแบบหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของ มช. คือ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์นี้ทำหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเกิดขยะ จนถึงการกำจัดขั้นสุดท้าย โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการคัดแยกขยะ และจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อจะนำไปสู่กระบวนการ การจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรโดยปราศจากของเสีย (zero waste) เพื่อลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด และนำขยะที่มีศักยภาพกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์

          ทุกวัน ๆ ขยะประมาณ 15 ตัน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกรวบรวมส่งมายังศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร หลังจากนั้นจึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของขยะ ได้แก่ เทคโนโลยีการคัดแยกขยะ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับหมักย่อยร่วม และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยขยะทั่วไปจะถูกนำไปหมักย่อยเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับ รถตู้สาธารณะ ขส.มช. เพื่อวิ่งรับส่งรับ-ส่งนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยต่อไป นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำเสีย โดยจัดทำระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Management) บำบัดน้ำเสีย เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย


ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน


รถม่วงที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) จากศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร


          ปัจจุบันการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของ มช. โดยเฉพาะศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร ได้เป็นต้นแบบให้แก่ภาคประชาสังคมได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การบริหารจัดการขยะที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นจากการเรียกร้องของคนเชียงใหม่ได้สร้างองค์ความรู้ เกื้อกูลและตอบแทนสังคมด้วยเช่นกัน

Smart Mobility ระบบสัญจรอัจฉริยะ
สะดวกและปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี


ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย 

          ข้อมูลทุกอย่างที่ปรากฏบนหน้าจอห้องควบคุมของศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart Campus Management Center) คือกุญแจสำคัญของการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากร ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ว่าได้...

          ข้อมูลสำคัญที่ปรากฏบนจอขนาดใหญ่ ได้แก่ ข้อมูลที่เกี่ยวกับความปลอดภัย พลังงานและสิ่งแวดล้อม อาทิ จำนวนรถเข้า - ออกในมหาวิทยาลัย จำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้า จำนวนกล้อง CCTV ที่ทำงาน ค่าฝุ่นควันโดยเฉลี่ย จุดให้บริการ Wi-Fi ปริมาณขยะ ปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า จุดสายตรวจ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะปรากฏขึ้นจอแบบ Real Time อีกทั้งยังเป็นฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้อีกด้วย เช่น ข้อมูลจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อาทิ ประตูคณะวิศวะ วงเวียนไผ่ล้อม ทางแยกไปโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาได้

          รองศาสตราจารย์ประเสริฐ  ได้เล่าถึงข้อมูลดังกล่าวว่า มีผลดีอย่างมากต่อการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยของการสัญจร
เข้า-ออก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง มช. ได้นำระบบ Smart Gates และ Smart Pass ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบรถยนต์เข้า-ออกมาใช้ตรวจจับทะเบียนรถยนต์ และบันทึกแบบ Real Time ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่ารถคันไหนเข้า-ออกที่ประตูไหนในเวลาใด ปริมาณรถที่เข้า-ออกต่อวัน มีจำนวนเท่าไร ช่วงเวลาใดที่คนใช้รถเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ใช้รถที่ใช้ มช. เป็นทางผ่าน หรือผู้ที่นำรถเข้ามาจอดในมหาวิทยาลัยเป็นเวลานานหลายวัน ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาทางแก้ไขในเรื่องพื้นที่จอดรถ และการรักษาความปลอดภัยได้ และในบางครั้งยังสามารถติดตามรถที่มีผู้แจ้งป้ายทะเบียนรถที่ต้องสงสัยในการก่อเหตุร้าย เป็นต้น

    
          “มช. มีประตูอยู่ 5 ประตู รถเข้า - ออกประตูเต็มไปหมด วันละหลายหมื่นคัน คำถามคือว่าเราจะเป็นมหาวิทยาลัยปิดไม่ให้ใครเข้า - ออก 100% หรือเปิดเลย ใครเข้า - ออกก็ได้ โจทย์ตรงนี้ก่อน เราก็มีข้อมูลว่า ในบริบทปัจจุบัน รถเข้ามาหน้า มช. และออกไปเลย แค่เป็นทางผ่าน วิธีการเช็กคือ ทะเบียนนี้เข้าประตูนี้ ออกประตูนั้นภายใน 5 นาที ผมก็ถือว่าใช้เป็นทางผ่านแล้ว ถ้าเป็นชั่วโมงไม่ใช่ทางผ่าน เราก็มี data ตรงนี้หมด พบว่าพฤติกรรมการใช้ มช. เป็นทางผ่านเยอะมาก อันนี้เป็นข้อมูลอย่างหนึ่งซึ่งถามว่าเป็นประโยชน์กับเราไหม เป็นมาก คนที่ใช้ มช. เป็นทางผ่านเขามาขึ้นทะเบียนกับเราไหม กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว เขาเป็นใคร เรารู้หมดเลย ซึ่งมหาวิทยาลัยตัดสินใจแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ใครจะเข้า - ออกก็ได้ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรเลย เพราะว่าเราสามารถรู้ได้หมดว่าใครเป็นใคร การมี รปภ. ไปยืนอยู่ก็ไม่ช่วยอะไรได้มาก รถผ่านมาเร็ว รปภ. คนเดียวก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้คนที่เข้ามาก็แลกบัตรบ้างไม่แลกบัตรบ้าง
         
         หรือในเรื่องความปลอดภัย วันก่อนมีคนมาแจกใบปลิวข้อความบิดเบือน ผมได้รับแจ้งว่าใบปลิวนี้เสียบอยู่ที่มอเตอร์ไซค์ที่ อมช. พอรู้ข้อมูลเราก็เข้าไปหาจนเจอว่าใครเป็นใคร รถทะเบียนอะไร หน้าตาคนขี่เป็นไง ก็แจ้งความ อย่างนี้เป็นต้น หรือถ้ารถใครมีปัญหาในนี้ ถ้าแจ้งศูนย์ก่อนเขาจะออกจาก มช. เราจะรู้ทันทีตอนนี้อยู่ที่ไหน”

          นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว ระบบสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) ยังทำให้การเดินทางสัญจร ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยได้จัดระบบขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบ มีรถบริการสาธารณะวิ่งรับ - ส่งนักศึกษา และบุคลากรทั้งหมด จำนวน 4 สาย และสาย Express 1 สาย รวมทั้ง “รถม่วง” หรือรถตู้ที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซไบโอมีเทนอัด วิ่งรับ – ส่งระหว่างฝั่งสวนดอก - สวนสัก และไร่แม่เหียะ อีกทั้งมีรถจักรยานสาธารณะคอยให้บริการที่จุดสำคัญต่าง ๆ โดยทั้งหมดนี้สามารถใช้แอปพลิเคชัน CMU Mobile ในการตรวจสอบเส้นทางรถได้ตลอดเวลา


บัตรอนุญาตเข้า-ออกมหาวิทยาลัย บุคคลทั่วไปสามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ


     

แอปพลิเคชัน CMU Mobile สำหรับตรวจสอบเส้นทางรถ

รถโดยสารสาธารณะที่วิ่งรอบมหาวิทยาลัย





อาคารจอดรถ S1 ริมถนนสุเทพ ด้านข้างคณะวิจิตรศิลป์ ที่บุคคลภายนอกสามารถนำรถมาจอดได้ และสามารถเดินทางจากอาคารจอดรถฯ
ไปยังจุดต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยด้วยรถไฟฟ้าสายด่วนพิเศษ (Express) หรือรถไฟฟ้าสาย 2

ขส.มช.จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและรถตู้

          นอกจากระบบขนส่งมวลชนแล้ว เมื่อสัญจรบนถนนใน มช. วันนี้ ก็จะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดถนนสายใหม่ ๆ และการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ในเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบดูแลด้านการออกแบบวางผังแม่บทงานสถาปัตยกรรม งานภูมิสถาปัตยกรรม และยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ ได้เล่าถึงที่มาที่ไปว่า ผังแม่บทเดิมของ มช. ตั้งแต่อดีต ได้มีการวางผังกำหนดตำแหน่งอาคารไว้หลวมๆ ประกอบด้วย ตึกอาคารบริหาร อาคารเรียนของคณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และหอพักนิสิต บ้านพักอาจารย์ อ่างเก็บน้ำและพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ มหาวิทยาลัย แต่ต่อมามหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น ความต้องการซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้พบปัญหาในเรื่องถนนที่ไม่สามารถเดินทางถึงกันได้หมด และมิได้มีการกำหนดพื้นที่การพัฒนาและการใช้ที่ดินแต่ละประเภทด้วย การแบ่งเขตพื้นที่ในการใช้สอย (Zoning) ขาดการวางระบบถนน ทางสัญจร โครงข่ายการสัญจรยานพาหนะประเภทต่างๆ และทางเท้าที่ครอบคลุม ตอบสนองต่อการใช้สอยที่สัมพันธ์ของพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้ศาสตร์ของการออกแบบและวางผังเมืองเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          “ถนนของ มช. เดิมมิได้มีระบบมากนัก เป็นซอก เป็นซอย เป็นทางตัน แล้วการ Zoning ของพื้นที่ใช้สอยประเภทต่างๆ Academic, Residential, ที่พัก, อาคารเรียน ไม่ได้อยู่ตาม Zone ของแต่ละประเภท อาคารเรียนรวม ก็ไปกระจุกอยู่จุดเดียว ถนนก็ไปไม่ถึง ซึ่งทำให้เราต้องมาคิดในเรื่อง Smart Mobility System เป็นทฤษฎีการออกแบบ Smart Growth หรือการเติบโตอย่างชาญฉลาด เป็นศาสตร์ในเรื่องการออกแบบวางผังที่คำนึงถึงการใช้ที่ดิน ก็คือ Zoning ของ Land use ร่วมกับการออกแบบการสัญจร และโครงข่ายสนับสนุน คือระบบของ Infrastructure โดยเฉพาะ Transportation ระบบน้ำ ระบบไฟ ระบบน้ำเสียต้องไปด้วยกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ สาธารณูปโภค ถนนหนทาง น้ำ ไฟ มันคือโครงกระดูกและเส้นเลือด ท่อน้ำเหลืองของเมือง Zoning เปรียบเสมือนกล้ามเนื้อมัดต่างๆ เราต้องวางให้ถูกที่ว่ามันควรจะอยู่ที่ไหน และใช้อย่างไร โครงกระดูกของเมืองต้องเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นร่างกายก็ทำงานได้ไม่ดี

          เราแก้ปัญหาเหล่านี้โดยการต่อผัง วางผังขึ้นใหม่ กำหนด Zoning อะไรที่ไม่ควรอยู่ใน Zone ก็ต้องค่อยๆ ขยับ โยกย้าย รื้อออก ปรับพื้นที่ใช้สอยประเภทต่าง ๆ เข้ามาอยู่ใน Zone ที่ถูกต้อง พื้นที่ส่วนกลาง โรงอาหารส่วนกลาง ห้องสมุดที่อยู่ใจกลางรวมกันใช้ต้องอยู่ในที่เข้าถึงง่าย ค่อนข้างเป็นศูนย์กลาง ถนนที่ไปไม่ถึง ก็ต้องเชื่อมต่อถนน ตัดถนนเพิ่มขึ้น ตัดไปแล้วสามารถวิ่งได้โดยรอบเป็นระบบวงแหวน (Looping System) ด้วยขนส่งมวลชนของเรา ลดการใช้รถส่วนตัวลง สร้างทางเท้า ทางจักรยานเพิ่มขึ้นเป็นทางเลือก มีระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด ก็คือรถไฟฟ้าและรถพลังงาน CBG รถ ขส.มช. จะมีกี่สายๆ ก็ต้องศึกษาวิจัยก่อน แล้วออกแบบเป็นเส้นทางที่จำเป็นสายต่าง ๆ ให้เร็ว และขนส่งได้มีประสิทธิภาพ โดยดูจากเวลาในการใช้งานเก็บข้อมูลเป็นช่วง ๆ และพัฒนาเส้นทางจากการใช้จริง”
       
          จากความสำเร็จในการใช้งานระบบสัญจรอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เกิดโครงการนำร่องสู่ชุมชนต้นแบบ คือ Smart Nimman ซึ่ง มช. และหน่วยงานพันธมิตรในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในย่านนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่ และอยู่ใกล้เคียงชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยพัฒนาให้เป็นพื้นที่นำร่อง Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้านระบบสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) มีการออกแบบพื้นที่สำหรับจอดรถ Smart Parking โดยใช้พื้นที่ว่างขนาดใหญ่บริเวณไร่ฟอร์ดเดิม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับถนนนิมมานเหมินทร์ เชื่อมไปยังพื้นที่จอดรถสาธารณะของถนนนิมมานเหมินทร์ เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจร และการขาดแคลนพื้นที่จอดรถ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้ง Smart Sensor แจ้งเตือนการจอดรถในที่ห้ามจอด, การพัฒนาจุดจอดรถและจุดต่อรถ (Park and Ride), การสนับสนุนจุดจอดรถแบบแบ่งปัน (Shared Parking), การจองจุดจอดรถออนไลน์ (Online Booking) และการชำระเงินแบบออนไลน์ (Online Payment) เพื่อการพัฒนาระบบการสัญจร ส่งเสริมต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวของย่านนิมมานเหมินทร์ เป็นต้น

Smart Sensor แจ้งเตือนการจอดรถในที่ห้ามจอดบนถนนนิมมานเหมินทร์

ลานจอดรถไร่ฟอร์ด


Smart Community ชุมชนอัจฉริยะ

          Smart Community หรือชุมชนอัจฉริยะของชาว มช. นั้น มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร เนื่องจากเป็นชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผู้คนได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ท่ามกลางความงดงามของสภาพแวดล้อมของพื้นที่สีเขียวและอ่างเก็บน้ำอ่างแก้ว และอ่างตาดชมพู ซึ่งเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นใหม่ใกล้เชิงดอยสุเทพ ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอันทันสมัยด้วยระบบกระจายสัญญาณ Wi-Fi ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ที่อำนวยความสะดวกทั้งในด้านการศึกษาและการใช้ชีวิต นับเป็นชุมชนมหาวิทยาลัยที่มีความสมดุลระหว่าง Green and Clean University กับ Digital University ที่ลงตัวที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้

อ่างแก้ว


อ่างตาดชมพู 



เส้นทางการเดิน-วิ่งบริเวณรอบอ่างแก้ว เชื่อมต่อกับอ่างตาดชมพู


สวนปาล์มมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2536


บ่อบำบัดน้ำเสียภายในมหาวิทยาลัย


           ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และจัดทำพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากเดิม อาทิ การพัฒนาเส้นทางการเดิน-วิ่งบริเวณรอบอ่างแก้ว เชื่อมต่อกับอ่างตาดชมพู ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบธรรมชาติแห่งใหม่ หรือบริเวณสวนปาล์ม ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับเส้นทางการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนั้นในด้านการพัฒนาการเรียนการสอน ยังมีพื้นที่สาธารณะอเนกประสงค์ อาทิ ศูนย์นวัตกรรมการสอนและ การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (TLIC) ซึ่งจะเป็นต้นแบบแห่งการใช้ชีวิตแบบดิจิทัล Smart Classroom ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ในรูปแบบ 24 hour Co-Working Space มีพื้นที่อเนกประสงค์ให้นักศึกษาได้ใช้ทำกิจกรรม ห้องเรียนสมัยใหม่ที่เรียกว่า Smart Classroom หรือห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้อง Multimedia รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (LE) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของคณะต่าง ๆ อาทิ คณะการสื่อสารมวลชน วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นต้น


          นอกจากนี้เมืองอยู่ดีมีสุขนั้นจะสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากปราศจากความใส่ใจในเรื่องใกล้ตัวที่สุดของผู้คน นั่นคือ “อาหาร” ซึ่งเป็นที่เลื่องลือมานานแล้วว่า อาหารในรั้ว มช. นั้น “ถูกและดี” ซึ่งขณะนี้มีร้านอาหารของมหาวิทยาลัยที่เปิดให้บริการประมาณ 300 แห่ง ทั้งในบริเวณหอพัก อาคารเรียน และอาคารต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่รับประกันได้ถึงคุณภาพ และความสะอาด ผ่านโมเดล CMU Food Safety มุ่งเน้นให้ร้านอาหารจำหน่ายอาหารปลอดภัยในราคาประหยัด ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งดูแลงานด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม อาหารและสุขภาพ ได้กล่าวถึงการริเริ่มในการจัดระเบียบเรื่องอาหารการกินใน มช. เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตว่า

          “ความยั่งยืนเกิดจากการทำตัวเองให้เป็นต้นแบบ สังเกตนะครับว่า ตอนนี้เราพยายามไปให้ความรู้ นอกบ้าน แต่ลืมดูในบ้านตัวเอง กลายเป็นว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาเราเอง เจ็บป่วยมากขึ้น และไม่รู้วิธีการป้องกันตนเอง จึงได้เกิดความคิดในการจัดระเบียบเรื่องอาหารการกินว่า ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน

         ยกตัวอย่างง่าย ๆ นักศึกษาบุคลากรที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เช้า กลางวัน เย็น ต้องทานอาหารในโรงอาหารหรือฝายหิน หรือรอบ ๆ มหาวิทยาลัยหมดเลย แต่เราไม่รู้ว่าอาหารเหล่านั้น วัตถุดิบมาจากไหน และ ผ่านกระบวนการปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะไหม? ปรากฏว่าเราลองสุ่มตัวอย่างในการตรวจเลือด วัดระดับสารพิษตกค้างในเลือดของนักศึกษากับบุคลากร ผลปรากฏว่าระดับค่าสารพิษตกค้างในเลือดสูง สืบเนื่องมาจากวัตถุดิบที่มีสารตกค้างทางเคมีสูง เรากลับมาฉุกคิดว่า เราอุตส่าห์ไปส่งเสริมข้างนอกเยอะแยะ แต่บ้านเราเองกลายเป็นช่องว่าง”

           ขณะนี้ ร้านอาหารใน มช. ใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ปลอดจากสารพิษ โดยมีการบังคับใช้ตามเงื่อนไขสัญญา โดยให้คณะเกษตรศาสตร์ดำเนินการเรื่องการปลูกและการจัดหาวัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกร ที่มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมในเรื่องเกษตรปลอดภัย และภาคปศุสัตว์ ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ ทำให้มีปริมาณฟาร์มหรือจำนวนพื้นที่ปลูกที่สามารถรับรองได้ว่า ผลผลิตทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ จะปลอดสารเคมี ทำให้ร้านอาหาร ใน มช. สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ คณะอุตสาหกรรมเกษตรยังช่วยในการจัดระบบสุขลักษณะร้านอาหารปลอดภัย ทำให้สถานที่ผลิตอาหาร กรรมวิธีในการปรุงสุข และการจัดจำหน่ายเป็นไปตามมาตรฐาน กระบวนดังกล่าวนี้ใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี จึงสำเร็จจนสามารถกล่าวได้ว่า ร้านอาหารใน มช. วันนี้ ปลอดสารเคมี และสารตกค้างอย่างแน่นอน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          “ตอนนี้กล้าพูดได้ว่าร้านอาหารในมหาวิทยาลัย ปลอดสารเคมี การันตีได้ว่าวัตถุดิบที่เขานำมาใช้ไม่มีสารตกค้าง หรือมีก็ต้องผ่านกระบวนการกำจัดสารตกค้างก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร ในช่วงแรกเราขออาสาสมัคร ในการให้ความร่วมมือก่อนว่า ร้านไหนที่จะอาสาเข้ามา ภายหลังบังคับใช้ ท้ายที่สุดกลายเป็นเงื่อนไขของ การทำสัญญาว่าคุณจะมาขายอาหารในมหาวิทยาลัย คุณต้องทำตามเงื่อนไข ซึ่งต้นทุนสูงครับ แต่มหาวิทยาลัย ก็สนับสนุนต้นทุนตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจวิเคราะห์ จนตอนนี้ร้านอาหารที่จะซื้อผัก เนื้อสัตว์ สามารถซื้อผ่านฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนไว้กับมหาวิทยาลัย จากนั้นเราก็เผยแพร่องค์ความรู้นี้ไป ก็กลายเป็นว่าประชาชนเข้ามาซื้อวัตถุดิบจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ตลาดเกษตรปลอดสารพิษ ขณะนี้ภายในมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอย่างครบวงจร มีการสุ่มตรวจตลอดเวลา

          หลังจากเราทำงานชิ้นนี้เสร็จ เราก็สุ่มตรวจอีกครั้ง ปรากฏว่ามาตรฐานของความเป็นพิษก็ลดลงอย่างมี นัยสำคัญ เหลืออย่างเดียวที่เราทำในเฟสของปีงบประมาณ 64 คือตอนนี้เราทำต้นแบบในบ้านได้แล้ว แต่ทำอย่างไรให้หน้าบ้านเรา หลังบ้านเรา เช่น หน้า มช. หลัง มช. ให้ตรงนี้ขยายผลไปได้ เพราะถึงเราควบคุม ใน มช. ได้ แต่ถ้าตอนเย็นนักศึกษาไปทานข้าวหลัง มช. ซึ่งเราคุมไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ตอนนี้อยู่ในช่วงขยายผลไป 2 เฟส ก็คือ เฟสหลัง มช. กับเฟสนิมมานเหมินทร์ อยู่ภายใต้โครงการ Smart City”




            นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้บูรณาการความรู้ร่วมกัน และจัดทำแอปพลิเคชัน “กินในมอ” ซึ่งสามารถคำนวณแคลอรี่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และจัดทำฐานข้อมูลปริมาณของสารอาหารแต่ละเมนูของร้านจำหน่ายอาหาร ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมปริมาณอาหารที่บริโภคในแต่ละวันได้ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของชาว มช. เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพในอนาคต


           
          บรรยากาศยามเย็นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูคล้ายกับว่าที่นี่ไม่ใช่สถาบันการศึกษา แต่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ด้วยความงดงามของธรรมชาติฉากหลังริมเชิงดอย รวมถึงพื้นที่สีเขียวอันกว้างใหญ่ที่ดึงดูดให้คนจำนวนมากออกมาเล่นกีฬา หรือพักผ่อนทำกิจกรรมตามอัธยาศัย...สิ่งนี้น่าจะเป็นมาตรวัด “ความสุข” ของชุมชน CMU Smart Campus นี้ได้อย่างชัดเจน และจะนำไปสู่ การบ่มเพาะให้เกิดปัญญา ณ เมือง “อยู่ดีมีสุข” แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างยั่งยืนโดยแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social