CMU SDGs

CMU SDGs

พื้นที่เยียวยาหัวใจ ในโลกของ “ตุ๊กตาวิเศษ”

จำนวนผู้เข้าชม : 2757 | 01 ส.ค. 2565
SDGs:
5 17

      “ตุ๊กตาวิเศษ” ไม่ใช่ตุ๊กตารูปสัตว์ขนปุกปุยน่ารักที่เป็นเพื่อนเล่นในจินตนาการอันสวยงามของ เด็ก ๆ แต่เป็นตุ๊กตาผ้าที่มีรูปร่างและอวัยวะคล้ายกับคนจริง ๆ ตุ๊กตาบางตัวเป็นเด็กชายที่มีสีผมเจิดจ้า บางตัวมีลักษณะคล้ายผู้ใหญ่ที่พุงยื่นเล็กน้อย แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตุ๊กตาวิเศษนี้เอง ที่สามารถไขความจริงในบางเรื่องราวให้ปรากฏได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าจะเป็นความจริงในมุมมืดของสังคมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็ตาม

      นอกจากสีผมและลักษณะของรูปร่างแล้ว ตุ๊กตาเหล่านี้ยังได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษให้มีนิ้วมือครบ 5 นิ้ว มีอวัยวะเพศ มีรูช่องปาก และช่องรูทวาร คล้ายกับตุ๊กตาที่มีอวัยวะเลียนแบบมนุษย์ หรือ ที่เรียกกันว่า Anatomy detailed Doll ซึ่งปกติแล้วจะใช้ในการศึกษาด้านกายวิภาคและสรีรวิทยา แต่ใครจะคิดว่า ตุ๊กตาเด็กหญิงเด็กชายเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยไขคดีล่วงละเมิดทางเพศได้ในหลายกรณี และทำให้เกิด “พื้นที่เยียวยาหัวใจ” ขึ้นในโลกของตุ๊กตาวิเศษ ผ่าน “โครงการตุ๊กตาวิเศษ การสื่อสารสังคม เพื่อลดอุบัติการณ์การทารุณกรรมทางเพศ”

       หลายครั้งที่การสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ มักเริ่มต้นขึ้นมาจากปัญหา ปี พ.ศ. 2558 พนักงานสอบสวนหญิงท่านหนึ่งได้บอกเล่าผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ถึงข้อจำกัดของการสื่อสารในคดีเกี่ยวกับเพศ กรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กเล็กหรือผู้มีความบกพร่องทางสมองและสติปัญญา

      “ครั้งแรกที่เราทำตุ๊กตานั้น เกิดจากการที่พนักงานสอบสวนคือ พันตำรวจเอกหญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ โพสต์บนเฟซบุ๊ก บอกเล่าความท้าทายเมื่อต้องสอบถามข้อมูลเหตุการณ์เกี่ยวกับคดี ว่าข้อจำกัดคือวุฒิภาวะด้านเพศ และความสามารถในการสื่อความหมายของเด็กเล็ก เด็กไม่เข้าใจว่าการสัมผัสร่างกาย ในจุดที่ต่างกันอาจมีนัยต่างกัน วิธีเรียกอวัยวะต่าง ๆ ก็อาจต่างกันไปในแต่ละบ้าน ที่สำคัญคือเด็กในวัยนี้ ไม่เข้าใจการสมมติ จะมาบอกว่าให้นึกว่าสิ่งนั้นแทนอวัยวะนั้นอวัยวะนี้เด็กจะไม่เข้าใจ ยังไม่นับกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กชนเผ่าที่ภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาไทย ภาระหน้าที่ทั้งหมดขึ้นกับทีมสหวิชาชีพที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดี และข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างปมแผลในจิตใจซึ่งอาจส่งผลต่อผู้เสียหายไปตลอดชีวิต น่าจะมีอุปกรณ์อะไรสักอย่างที่จะมาแก้ปัญหานี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อลิชา เล่าถึงความเป็นมาของโครงการนี้

พันตำรวจเอกหญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อลิชา ตรีโรจนานนท์ แห่งคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       การประดิษฐ์ “อุปกรณ์อะไรสักอย่าง” ในครั้งนั้น นำจิตอาสามาลงมือออกแบบจัดทำตุ๊กตาที่มีอวัยวะแบบคนจริง ๆ เพื่อใช้ประกอบการสอบถามข้อเท็จจริงในเหตุการณ์จากผู้ถูกกระทำที่เป็นเด็กเล็ก หรือ ผู้มีความจำกัดด้านพัฒนาการสมอง หรือแม้กระทั่งผู้เสียหายที่ไม่อาจสื่อสารเหตุการณ์ที่ตนถูกกระทำ ให้สามารถบอกเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการทารุณกรรมทางเพศได้อย่างชัดเจนขึ้น

      “งานนี้ต้องให้เครดิตกับผู้ออกแบบและตัดเย็บตุ๊กตารุ่นบุกเบิก คือคุณสุดศิริ ปุยอ๊อก ศิษย์เก่า คณะวิจิตรศิลป์ มช. ที่ใส่ความสร้างสรรค์ลงในความพยายามแก้ปัญหา และสร้างโอกาสให้เราได้ขยายความตั้งใจสู่การสื่อสารสาธารณะเพื่อนำพลังของสังคมมาร่วมกันลดอุบัติการณ์การทารุณกรรมทางเพศ”

     โจทย์ในการออกแบบตุ๊กตาเพื่อใช้ในการนี้มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก เพราะตุ๊กตามีการใช้งานแตกต่างจากการใช้อวัยวะเทียมที่ทำจากยางซิลิโคนมาประกอบการสอบถาม ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายย้อนนึกถึงประสบการณ์ที่เลวร้าย ในขณะเดียวกันช่วยลดความตึงเครียดในบางสถานการณ์ได้ ต้องคงลักษณะการเป็นของเล่นที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงวัสดุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย มีสีหน้าที่ไม่ยิ้มหรือบึ้งจนเกินไป เพื่อจะได้ไม่เกิดการตีความอารมณ์ไปในด้านใดด้านหนึ่ง แต่สวมเสื้อผ้าสีสันสดใสและมีเส้นผมสีสด ๆ เพื่อให้ดูมีความเป็นตุ๊กตาที่เด็ก ๆ อยากจะจับต้องสัมผัส


      ส่วนในการตัดเย็บตุ๊กตาวิเศษนั้น ทีมงานได้รวบรวมกลุ่มอาสาสมัครเพื่อตัดเย็บตุ๊กตาตามที่เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูล เช่น ลักษณะเฉพาะของผู้ต้องหาบางราย เนื่องจากรายละเอียดในแต่ละคดีมีความแตกต่างกันไป ทำให้ตุ๊กตาวิเศษมีหลากหลายรูปแบบ และมีพัฒนาการตามไปด้วย

     “ในตอนแรก ๆ หน่วยผลิตของเราเริ่มจากนักศึกษาในชั้นเรียนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเพื่อการพัฒนา ที่เรามาร่วมกันระดมอาสาสมัครทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมาตัดเย็บตุ๊กตาพร้อมกับการสร้างสื่อรณรงค์ในประเด็นต่อต้านการทารุณกรรมทางเพศ ตุ๊กตาที่เราเย็บจะไม่มีนิ้วมือ พนักงานสอบสวนก็จะแจ้งกลับมาว่า ขอให้ทำตุ๊กตาให้มีนิ้วมือ เพราะนิ้วมือเป็นอวัยวะที่มีผลต่อการทำคดี และมักจะเกี่ยวข้องของ การก่อเหตุ เนื่องจากลักษณะของการก่อเหตุนั้น หลาย ๆ ครั้งที่ผู้ก่อเหตุเข้าใจไปเองว่าใช้นิ้วไม่เป็นไร แต่ในทางกฎหมาย การที่บุคคลใดใช้อวัยวะหรือใช้สิ่งใดก็ตาม ล่วงล้ำเข้าไปในตัวบุคคลอื่น เพื่อความพึงพอใจทางเพศ เข้าเกณฑ์ความผิดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในการสอบถามของพนักงานสอบสวนนั้น เขาก็จะมีวิธีการของเขา ส่วนหน้าที่ของเราก็คือ เราทำเครื่องมือให้การสอบถามนี้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เรา ไม่ต้องทราบรายละเอียดของการทำคดีใด ๆ แต่ไม่ว่ามันจะถูกนำไปใช้อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาของเรา ก็คือ สามารถนำเอาข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ออกมาได้ในเวลาที่ถูกต้องกับคนที่ใช่ เพื่อที่จะได้พาผู้เสียหายเขา ข้ามผ่านความเจ็บปวดตรงนั้นไปให้ได้

      ในบางครั้ง พี่ ๆ จะบอกมาว่า ผู้ก่อเหตุมีลักษณะเป็นแบบนี้ อยากให้ทำผมเป็นสีเทา ๆ นิดหนึ่ง หรือว่าดูมีพุงนิดหนึ่งนะ หรือทำตุ๊กตาที่ดูเป็นผู้ใหญ่ให้หน่อย จากเดิมที่เราเคยทำตุ๊กตาคู่เด็กชายเด็กหญิง ต่อมาใน 1 เซต จะทำอย่างน้อย 3 ตัว คือ ตุ๊กตาตัวใหญ่ หมายถึงผู้ชายที่เป็นผู้ก่อเหตุ ตัวเล็กที่ย่อขนาดลงมา เป็นเด็กชายเด็กหญิง”

ครอบครัวตุ๊กตาวิเศษ


     นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2559 ปัจจุบันตุ๊กตาวิเศษได้ถูกส่งไปให้สถานีตำรวจ และหน่วยงานราชการหลายแห่งที่มีความจำเป็นต้องใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มสหวิชาชีพได้ใช้ตุ๊กตาวิเศษให้เป็นประโยชน์ ในหลายทาง เช่น การสอบปากคำผู้เสียหายจนสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ ใช้เป็นสื่อในการฝึกอบรมเรื่องการสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศ และใช้เป็นสื่อในการให้ความรู้เพื่อป้องกันเหตุ เช่น สอนเด็กอนุบาลให้รู้จักอวัยวะที่ควรสงวน เป็นต้น และขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) รวมไปถึงเครือข่ายพันธมิตรคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกหลายคณะ คือ คณะการสื่อสารมวลชน วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ โดยในอนาคตโครงการตุ๊กตาวิเศษฯ มีเป้าหมายที่จะส่งต่อตุ๊กตาไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสถานีตำรวจ ที่มีพนักงานสอบสวนหญิง

      ในปี พ.ศ. 2564 ผศ.ดร.อลิชา เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อรับรางวัล “Wonder Women in Toys 2021” ของ Women in Toys, Licensing & Entertainment - The Global Community ในประเภทรางวัลเพื่อสังคม






อาสาสมัครในโครงการตุ๊กตาวิเศษฯ

       อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน จำนวนการผลิตตุ๊กตาวิเศษที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจตีความได้ว่า เหตุการณ์ การล่วงละเมิดทางเพศมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญกว่าการผลิตตุ๊กตาวิเศษก็คือ การสร้าง ความรับรู้และการสื่อสารทางสังคม เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาของการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นภัย ใกล้ตัว และร่วมกันลดอุบัติการณ์ของปัญหาเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกับที่กลุ่มอาสาสมัครเพื่อตัดเย็บตุ๊กตาวิเศษ ได้รับความร่วมมือจากผู้คนที่มีความตั้งใจดี ได้เข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือในการตัดเย็บตุ๊กตาตัวแล้วตัวเล่า ทั้งผู้ถูกกระทำที่มีบาดแผลในใจ หรือแม้กระทั่งอาสาสมัครชายที่อยากเข้ามาร่วมหนุนเสริมการทำงานด้วยความคิดที่ว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักเป็นเพศชายในสถานะต่าง ๆ ความที่ตนเองเป็นชายเหมือนกัน จึงขอ มาร่วมรับผิดชอบชดเชย โลกของตุ๊กตาวิเศษใบนี้จึงเป็นพื้นที่เยียวยาจิตใจให้แก่กันและกัน และอาจจะช่วยให้ โลกแห่งความเป็นจริงสวยงามขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย ดังที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อลิชา และทีมงานอาสาสมัคร มุ่งหวังไว้ทุกครั้งที่เปิดวงเย็บผ้าตุ๊กตาวิเศษ

      “โดยปกติตุ๊กตาจะเป็นของเล่นที่มีความน่ารัก มีหน้าที่ให้ความสุขทางใจกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของพวกเราคนเย็บผ้าได้คุยกันว่า ณ วันนี้ แม้ว่าตุ๊กตาของเราจะตั้งใจทำให้น่ารัก ขนาดไหนก็ตาม แต่ก็จะต้องถูกนำไปแสดงท่าทาง ณ วันเกิดเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายของเด็กบางคน แต่เราก็คาดหวังว่า ณ วันหนึ่ง ตุ๊กตาของเรามันจะเหลือแค่หน้าที่เดียว คือสร้างรอยยิ้มเท่านั้น”

หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารของโครงการได้ที่ www.magicdolls.org และ facebook fanpage “ตุ๊กตาวิเศษ - Magic Dolls Thailand”


(ขอขอบคุณภาพบางส่วนจากเฟซบุ๊กตุ๊กตาวิเศษ - Magic Dolls)


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social