CMU SDGs

CMU SDGs

มช. ร่วมกับมูลนิธิกสิกรไทย ขับเคลื่อนโครงการ น่าน “Sandbox” ยกระดับพืชสมุนไพร ช่วยเหลือสังคมไทย ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

จำนวนผู้เข้าชม : 2203 | 14 ก.ย. 2564
SDGs:
17

        ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ มูลนิธิกสิกรไทย โดยมี คุณอนันต์ ลาภสุขสถิต ประธานสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท และรองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สุพัฒน์ จิรานุสรณ์กุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 รองศาสตราจารย์ ดร. สุพัฒน์  จิรานุกสรณ์กุล
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มช.

     คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยกับสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท และมูลนิธิกสิกรไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ “น่าน Sandbox” ซึ่งเป็นโครงการทดลองที่มีเป้าหมายขอคืนพื้นที่ป่าจังหวัดน่าน โดยที่ชาวบ้านสามารถทำกินอยู่ร่วมกับป่าได้ ผ่านแนวคิด “การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ” โดยภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันที่จะมุ่งพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

     “น่าน Sandbox” จะมุ่งพัฒนาเกษตรกรให้สามารถปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวจากเดิม สู่การปลูกพืชทางเลือกที่มีมูลค่า และอยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำได้ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ใช้พื้นที่น้อยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่ง “สมุนไพร” คือ พืชอันทรงคุณค่าที่โครงการ “น่าน Sandbox” ให้ความสำคัญ ด้วยความเชี่ยวชาญของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานวิจัยด้านเภสัชกรรม สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะกระบวนการวิเคราะห์และประกันคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น โดยการสนับสนุนของมูลนิธิกสิกรไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง


พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย
ระหว่าง
มูลนิธิกสิกรไทย กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


     ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในโครงการ “น่าน Sandbox” โดยใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งเป้าไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร เกิดอุตสาหกรรมที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และอาจขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social