CMU SDGs

CMU SDGs

Medical Hub “ยินดีต้อนรับสู่เชียงใหม่”

จำนวนผู้เข้าชม : 2915 | 23 ธ.ค. 2563
SDGs:
3 11

Medical Hub
“ยินดีต้อนรับสู่เชียงใหม่”

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ภูมิประเทศที่สวยงาม และความเอื้ออารีของผู้คน คือจุดแข็งของเชียงใหม่ ในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติ

 
     เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเชียงใหม่ คือ ความสุภาพอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และยินดีต้อนรับคนต่างถิ่นอย่างเป็นกันเองของคนเชียงใหม่ นี่คืออัตลักษณ์ที่ทำให้เชียงใหม่ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ เสมอมา

     แต่ใครจะคาดคิดว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือ Hospitality ของชาวเชียงใหม่ในข้อนี้ จะเป็นจุดแข็งและข้อได้เปรียบสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเชียงใหม่ไปสู่ความก้าวหน้าในอีกรูปแบบหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นคือการเป็นเมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Chiang Mai Medical Health Hub ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ ที่มองเห็นศักยภาพของเชียงใหม่ที่มีความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเกษตร การคมนาคม ภูมิประเทศที่สวยงาม และประชาชนที่เป็นมิตรกับผู้มาเยือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้งการรักษาโรคทั่วไป โรคเฉพาะทาง การรักษาทางทันตกรรม การให้บริการด้านสปา ความงาม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ นั่นคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ

    เวลานี้คำว่า Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ เป็นที่รู้จักมากขึ้นพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าของมาตรฐานด้านการแพทย์ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2546 ที่รัฐบาล ได้ประกาศใช้นโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว เชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือ กลุ่มผู้มีรายได้สูง ที่ต้องการบริการทางการแพทย์ระดับพรีเมียม โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ที่ต้องการเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งมีมาตรฐานและการบริการที่ดีเยี่ยม แต่ค่าใช้จ่าย ไม่แพงเท่ากับประเทศที่นักท่องเที่ยวพำนักอยู่ รวมทั้งยังได้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับ T0P 10 ของประเทศที่มีการท่องเที่ยว เพื่อสุขภาพดีที่สุดของโลก นำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล


Chiang Mai Medical and Health Hub

     ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางทางการแพทย์ในประเทศไทย และ “เชียงใหม่” คือหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับเลือกว่ามีความเหมาะสมด้วยปัจจัย 4 ด้าน คือ ความเป็นเลิศทางวิชาการ ความเป็นเลิศด้านบริการ ความเป็นเลิศในด้านผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ และการเป็นเมืองที่ผู้คนมีสุขภาพดี

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะสถาบันที่มีองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์สั่งสมมายาวนานกว่า 60 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2502 อีกทั้งยังมียุทธศาสตร์เชิงรุกเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ จึงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับงบประมาณ จากรัฐบาล ในการจัดตั้ง Chiang Mai Medical and Health Hub ศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคตอันใกล้นี้

Chiang Mai Medical and Health Hub
กับศักยภาพทางการแพทย์ของ มช.
     
     ศักยภาพทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้มายาวนาน ในฐานะโรงเรียนแพทย์ในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย จนกระทั่งปัจจุบันได้ให้บริการด้านการแพทย์แก่ประชาชนผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนการสอน การให้บริการแก่ประชาชน และเป็นศูนย์รวมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ศูนย์ศรีพัฒน์มีบทบาทหลักในการให้บริการที่คล่องตัวและคุณภาพสูง และเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่เน้นการส่งเสริมการวิจัยเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาด้านการแพทย์อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังมีการส่งต่อองค์ความรู้ สร้างบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ด้วยการส่งไปศึกษาวิทยาการใหม่ ๆ ในต่างประเทศ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนไต, โรคหัวใจ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษา เป็นต้น


คลินิกศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์


ศูนย์ศรีพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติว่า กว่าที่ศักยภาพทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมาถึงจุดที่สามารถให้บริการแก่ชาวต่างชาติด้วยมาตรฐานสากลได้นั้น หมายความว่า จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและได้มาตรฐานที่เป็นสากล จึงเกิดความเชื่อมั่น ในคุณภาพว่าสามารถรักษาแม้กระทั่งโรคที่ซับซ้อนได้ครบจบที่เชียงใหม่ที่เดียว

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     “Medical Hub เน้นการให้บริการด้านวิชาการ นั่นคือองค์ความรู้ทั้งในด้านการแพทย์ และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของ มช. ที่สั่งสมมานาน ยกตัวอย่างเช่น ในคณะแพทยศาสตร์ มช. เรามีครบ ทุกสาขา และมีทั้งแพทย์ อาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ครบถ้วน และไม่ได้อิงแค่คนคนเดียว หรืออาจารย์แพทย์คนเดียว แต่เราก็ได้มีการสร้างอาจารย์แพทย์รุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่มีความเชี่ยวชาญ ฉะนั้น จะมีความต่อเนื่องขององค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ทำให้สามารถพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ สหวิทยาการใหม่ ๆ เราก็ติดตาม และส่งคนไปเรียน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เราสามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ ไม่ต้องส่งเข้ากรุงเทพฯ หรือโรคหัวใจที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ณ ปัจจุบันนี้แทบไม่มีโรคไหนที่ต้องส่งไปรักษาที่กรุงเทพฯ อีกแล้ว รักษาวินิจฉัย เอกซเรย์ รักษามะเร็งที่ซับซ้อนก็มีหมด นอกจากนี้ เรายังมีความพร้อมในการบริหารจัดการที่คล่องตัว มีการเตรียมทักษะของผู้ให้บริการ เช่น ด้านภาษา เป็นต้น ฉะนั้น ศักยภาพของคณะแพทย์หรือคณะที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นมีมาก เพียงพอที่จะรองรับการเกิดขึ้นของ Medical Hub อย่างแน่นอน” 

PET/CT Scan การตรวจโรคทางด้านรังสีวิทยา

Medical Tourism
พักใจ – รักษากายที่เชียงใหม่

      นอกจากความพร้อมในด้านศักยภาพทางการแพทย์แล้ว จุดเด่นสำคัญของ Chiang Mai Medical Health Hub คือการเชื่อมโยงกับ Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเชียงใหม่มีสนามบินนานาชาติที่อยู่ใกล้เมือง และสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับ เมืองใหญ่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จึงเอื้อต่อการเดินทางมา “พักใจ - รักษากาย” ที่เชียงใหม่ได้สะดวก มากขึ้น อีกทั้งวิถีวัฒนธรรมของล้านนาที่เด่นชัดของเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของผู้คน และการมีใจรักในการบริการในวิถีของคนเชียงใหม่ ก็เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่จะทำให้ศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งนี้สามารถให้รองรับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า

     “ผมเชื่อว่าจะมีคนต่างชาติ หรือแม้กระทั่งคนกรุงเทพฯ หรือจาก 77 จังหวัด ทั่วประเทศไทย บินมา เพื่อรับการรักษาที่นี่ เพราะมาแล้วได้พักผ่อน ได้เจอวัฒนธรรมแบบล้านนา และ Service mind หรือ จิตบริการอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ให้บริการเฉพาะชาวต่างชาติ เราให้บริการคนไทยด้วย และผลพวงก็จะตกกับคนในพื้นที่ เพราะ Medical Hub นี้มี 450 เตียง จะทำให้เกิดการจ้างงาน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และงานบริการอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร คนขับรถ มีมูลค่าการให้บริการตรวจรักษาราวปีละ 4,000 - 5,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอีกด้วย”

     นอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ที่นี่ยังมีความหมายในแง่ของการยกระดับการแพทย์ ของประเทศไทยอีกด้วย เพราะการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติได้ ย่อมหมายถึงมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาล และพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เป็นสากล จนเป็นที่ยอมรับ ทั้งในและต่างประเทศ Chiang Mai Medical Health Hub จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนเชียงใหม่ และของคนไทยทุกคน ที่พร้อมกล่าวคำว่า “ยินดีต้อนรับ” ทุกคนสู่เชียงใหม่เสมอ

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social