เมื่อแพทย์ มช. เป็น “คุณหมอออนไลน์”
ห่างไกลเพราะโควิด แต่ใกล้ชิดด้วย “จิตอาสา”
การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID – 19 อาจทำให้ผู้คนต้องห่างไกลกัน เพราะเชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัส และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ แต่ในท่ามกลางวิกฤตก็มีโอกาสที่ทำให้คุณหมอกับคนไข้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์อย่าง “Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม” บนแพลตฟอร์มของการพบปะคุณหมอออนไลน์อย่าง Doctor A to Z ที่ทำให้คุณหมอได้ให้คำปรึกษา รับฟัง พร้อมแนะนำข้อปฏิบัติต่าง ๆ กับคนไข้อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรค
Doctor A to Z เป็นการรวบรวมเครือข่ายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่าง ๆ หลากหลายสาขา เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำด้านสุขภาพแก่คนไข้ โดยใช้ Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม ผ่านแอปพลิเคชัน ทางการแพทย์ “ระบบคัดกรองผู้ป่วยผ่านแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงติดไวรัส COVID - 19” โดยมีทีมแพทย์ กว่า 300 คน มาร่วมให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอล “Teleconsult” เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในโรงพยาบาล
โครงการนี้เป็นงานจิตอาสาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ แต่ก็มีแพทย์ที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็น “คุณหมอออนไลน์” ในโครงการนี้กว่า 300 คน ในจำนวนนี้มีศิษย์เก่าจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมโครงการราว 30 - 40 คน ที่แม้ว่าจะอยู่ต่างถิ่นที่ทั่วประเทศไทย แต่แพทย์ มช. คุณหมอออนไลน์เหล่านี้ ก็สามารถปฏิบัติภารกิจเดียวกันได้ด้วย “จิตอาสา” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและประเทศชาติในยามวิกฤต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เติมพงศ์ เรียนแพง
หน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เติมพงศ์ เรียนแพง จากหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแพทย์ท่านแรก ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการ Doctor A to Z ในช่วงการระบาดของ COVID – 19 ในช่วงเดือนเมษายนของปี 2563 จากการชักชวนของอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง และจากการสื่อสารในกลุ่มไลน์ของแพทย์จิตอาสา โดยในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องงดการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลทั้งหมด แพทย์จึงต้องทำงานจากที่บ้าน จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำหน้าที่คุณหมอออนไลน์ได้อย่างเต็มที่
“ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤต ใครช่วยอะไรได้ก็ต้องมาช่วยกัน และไม่จำกัดอาชีพด้วย ใครมีความสามารถ ด้านไหนก็มาช่วย คนไทยเราดีตรงที่เวลามีปัญหาอะไรก็จะช่วยกัน บรรดาคุณหมอก็เช่นกันครับ ผมคิดว่าอย่างน้อยเราก็น่าจะช่วยให้คำปรึกษาแก่คนไข้ก่อน เพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เช่น คนไข้ที่ยังไม่มีอาการมาก และไม่เข้าเกณฑ์ตรวจโรค เราสามารถช่วยให้เขาไม่ต้องมาโรงพยาบาลได้ ลองนึกภาพว่า หากคนไข้มีอาการเล็กน้อย แล้วไม่ได้รับคำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้อง เขาก็ต้องมาโรงพยาบาล ทำให้ห้องตรวจโรงพยาบาลแน่น สมมติว่ามา 100 คน ห้องตรวจเต็มทั้ง 100 คน มีคนไข้ 1 คน ที่เป็น COVID – 19 อีก 99 คน ก็กลายเป็นความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปด้วย
ดังนั้น ในฐานะที่ผมเป็นศัลยแพทย์ อาจรักษาโควิดไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถแนะนำเบื้องต้นให้คนไข้คลายกังวล หรือให้อยู่สังเกตดูอาการที่บ้าน โดยไม่ต้องนำตัวเองมาเสี่ยงติดเชื้อที่โรงพยาบาล ส่วนคุณหมอด้านอื่น ๆ เช่น ด้านอายุรกรรม ก็เป็นด่านหน้าในการที่จะ face to face กับคนไข้
...สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจคือ ผมเริ่มชวนในกลุ่มเพื่อนแพทย์ด้วยกันก่อน ด้วยการโพสต์ว่า จะมีโครงการอาสานี้ ปรากฎว่าในกลุ่มเพื่อน 200 กว่าคน ก็ส่งข้อความมาเยอะว่าทำอย่างไร บางคนก็อาสาส่งต่อไปยังคุณหมอจากที่อื่น ๆ ทำให้มีหมอเข้ามาร่วมโครงการนี้เยอะ และส่วนหนึ่งคือ หมอจาก มช.
...สิ่งที่ มช. ปลูกฝังเรามาตลอดเวลาที่เราเรียนที่นี่ก็คือ เรื่องจิตสาธารณะในการช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือชุมชนเท่าที่ความสามารถของเราจะทำได้ และไม่ได้เบียดเบียนตัวเอง จบมาแล้วเราก็ภูมิใจว่าเราเป็นลูกช้าง มช. เราก็อยากจะทำสิ่งดี ๆ ให้แก่สังคมที่เราอยู่ มันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมันมีความสุข อิ่มใจ ถ้าเรามีโอกาสเราก็อยากจะช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะทำได้ครับ”
เมื่อหมอและคนไข้พบกันในโลกออนไลน์
การเข้าถึงคุณหมอผ่านช่องทางออนไลน์ จะต้องโหลดแอปพลิเคชัน Doctor A to Z ก่อน จากนั้นสามารถเลือกคุณหมอที่เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อปรึกษา โดยจะมีเวลาปรึกษาครั้งละ 15 นาที โดยค่าใช้จ่ายจะแสดงในหน้าแพทย์แต่ละท่าน แต่ถ้าเป็นการให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการและความเสี่ยงที่จะเป็น COVID – 19 นั้น จะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไปที่ ค้นหาแพทย์ และเลือก “หมอจิตอาสา”
การขอคำปรึกษาจากคุณหมอออนไลน์มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบนัดหมาย และแบบออนไลน์ โดยแบบออนไลน์คือ คนไข้สามารถเข้ามาใช้แอปพลิเคชันเวลาใดก็ได้ หากในขณะนั้นมีคุณหมอท่านใดออนไลน์อยู่ จะปรากฏสัญลักษณ์ไฟสีเขียว คนไข้ก็สามารถกดเข้าไปปรึกษาได้ทันที
ส่วนแบบนัดหมาย คุณหมอแต่ละท่านจะระบุว่ามีเวลาว่างในเวลาใด คนไข้สามารถเข้าไปนัดหมาย ได้ในเวลาดังกล่าว เมื่อนัดหมายเสร็จแล้ว ระบบของแอปพลิเคชันจะเตือนไปยังคุณหมอท่านนั้นว่ามีนัดหมายจากคนไข้ช่วงเวลาใด อีกทั้งคนไข้สามารถเข้าไปดูประวัติและประสบการณ์การทำงานของคุณหมอแต่ละท่านได้ โดยระบบจะมีการขึ้นเลขเวชปฏิบัติ (เลข ว.) เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นคุณหมอตัวจริง ส่วนคุณหมอก็ต้องรู้ประวัติและชื่อของคนไข้ด้วย เพื่อเป็นการยืนยันตัวบุคคล ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาการสวมรอยป่วยได้
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนา แบบบันทึกสุขภาพ COVID – 19 “CMU SELF HEALTH CHECK FOR COVID-19” สำหรับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีประวัติการเดินทางจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของกรมควบคุมโรค โดยบุคลากรและนักศึกษาจะต้องทำการรายงานสุขภาพของตนเองติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน วันละ 1 ครั้ง ผ่านโปรแกรม เพื่อประเมินความเสี่ยงในการติดโรค COVID – 19 หากมีอาการเข้าข่าย ผู้ติดเชื้อ ระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนให้ทราบ พร้อมคำแนะนำ และ Link เชื่อมโยงแอปพลิเคชัน Doctor A to Z ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย



คุณหมอออนไลน์ช่วยคนไข้ได้จริง
ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่คุณหมอออนไลน์ในช่วงแรกของการระบาด COVID – 19 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เติมพงศ์ ได้ให้คำปรึกษาแก่คนไข้จำนวนหนึ่ง ซึ่งประมาณ 80% ไม่เข้าข่ายป่วยด้วยโรค COVID – 19 จึงได้แนะนำให้เฝ้าดูอาการต่อที่บ้าน ล้างมือบ่อย ๆ และคอยสังเกตอาการของตนเอง ส่วนอีก 20 % ที่เข้าเกณฑ์ คือ มีไข้สูงเกิน 37.5?C มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และมีประวัติเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง จึงได้แนะนำให้คนไข้ไปโรงพยาบาล ซึ่งในระบบก็สามารถประสานงานให้คนไข้ทราบว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือโรงพยาบาลใด รวมทั้งแจ้งให้โรงพยาบาลทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วย เช่น กรณีของผู้ป่วยสูงอายุท่านหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น COVID – 19 เมื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เติมพงศ์ ให้คำปรึกษาแล้ว ได้ติดต่อให้ทางโรงพยาบาลใกล้เคียงมารับตัวไปรักษาต่อจนสำเร็จ ถึงแม้จะทราบภายหลังว่าคนไข้ท่านนี้จะไม่ได้ป่วยด้วยโรค COVID – 19 แต่การได้ช่วยเหลือคนไข้ที่ประสบปัญหาก็ยังเป็นความประทับใจและความสุขทุกครั้งที่นึกถึงการทำงานในฐานะคุณหมอออนไลน์
“มีคุณป้าคนหนึ่งที่ป่วย และมีความเสี่ยงสูงมาก ตอนนั้นใครอยู่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงเลย คุณป้ามีอาการไข้หวัด อ่อนเพลีย ผมก็ถามคุณป้าว่า ป้าไม่ไปโรงพยาบาลหรือ? ป้าก็บอกว่า วันก่อนติดต่อไป โรงพยาบาลบอกว่ายังไม่รับ ให้สังเกตอาการที่บ้านก่อน ผมก็บอกไปว่า ป้าอาการหนักขึ้นแล้วนะ ป้าต้องไปโรงพยาบาลแล้ว ป้าก็บอกว่า ป้าไม่มีรถ เพราะอยู่คนเดียว ผมก็บอกให้ขึ้นแท็กซี่ ป้าก็กลัวจะไปติดแท็กซี่เขาอีก ผมถามว่า ป้าอยู่ใกล้ รพ. อะไร? ป้าก็บอกชื่อ รพ.ที่อยู่ใกล้ ผมก็บอกให้ป้ารอ ผมจะติดต่อกลับไป ผมก็ส่งชื่อคนไข้ พร้อมกับเบอร์โทรศัพท์ให้แก่พยาบาลที่เป็นคนประสาน เขาก็ติดต่อกับโรงพยาบาลให้ สุดท้ายก็มีรถโรงพยาบาล พร้อมอุปกรณ์ป้องกันครบชุดออกไปรับคุณป้า หลังจากนั้นสองอาทิตย์ต่อมา พยาบาลที่ประสานงานให้ก็ติดต่อคุณป้าว่าเป็นอย่างไรบ้าง คือในระบบก็จะมีการติดตามคนไข้อยู่แล้ว คุณป้าก็บอกว่าดีขึ้นแล้ว หายแล้ว ฝากขอบคุณทุกคนที่ช่วย”
นอกจากคุณหมอกับคนไข้จะสามารถสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีโทรเวชกรรมแล้ว วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีข้อดีตรงที่ทำให้คุณหมอกับคุณหมอ และบุคลากรทางการแพทย์ ได้มีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์และแชร์ความประทับใจร่วมกัน เพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ทำให้เราต้องห่างไกลกันเพราะโควิด - 19 แต่กลับใกล้ชิดมากขึ้นด้วย “จิตอาสา” ซึ่งจะทำให้โลกใบนี้ยังคงหมุนต่อไปได้ด้วยจิตแห่งการให้แก่เพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทนนั่นเอง