CMU SDGs

CMU SDGs

ห้องความดันลบ - ป้องกันโควิด ภารกิจแห่งสปิริตและจิตอาสาชาว มช.

จำนวนผู้เข้าชม : 2414 | 23 ธ.ค. 2563
SDGs:
3 9 11

ห้องความดันลบ - ป้องกันโควิด
ภารกิจแห่งสปิริตและจิตอาสาชาว มช.

      เวลา 21 วัน ในการสร้างห้องความดันลบเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด - 19 และ สร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คือช่วงเวลา แห่งความท้าทายที่สุดของแพทย์และวิศวกรอาสากลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เพียงทำงานแข่งกับเวลา แต่ยังต้องแข่งกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนั้นด้วย

    นั่นคือสถานการณ์วิกฤตในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ทำให้เห็นศักยภาพของคณะทำงานเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนที่สุด หลังจากที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ประสบปัญหาความเสี่ยงในการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด – 19 เข้ามาปะปนกับผู้ป่วยรายอื่นในห้องฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งผลต่อ สวัสดิภาพของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้ขอความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการออกแบบห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) หรือ Emergency Room for COVID: ERC เพื่อควบคุมพื้นที่ให้มีความปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อ และสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้มาใช้บริการ

    คณะทำงานเฉพาะกิจนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แพทย์ผู้ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิศวกรอาสาพหุภาคี ได้ร่วมกันออกแบบ และดำเนินการสร้างห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบจนสำเร็จอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ โดยใช้เวลาเพียง 21 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมาก ถ้าเทียบกับในช่วงเวลาปกติ ที่ต้องใช้เวลาสร้างราว 3 - 4 เดือน นับเป็นการทำงานร่วมกันเฉพาะกิจครั้งสำคัญของแพทย์และวิศวกร ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ภายใต้ภารกิจเพื่อส่วนรวม ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับชาว มช.

21 วัน แห่งความท้าทาย
กับงาน Tailor Made ทางการแพทย์และวิศวกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2555-2563) 

      “ไม่อยากเรียกว่าอุปสรรคเลยครับ เรียกว่าเป็นความท้าทายที่เราต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้น และหนึ่งในคณะทำงานเฉพาะกิจ ได้เล่าถึงความยากลำบากในภารกิจเร่งด่วนนี้ว่า เวลาไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นความท้าทายทุกวินาที และต้องใช้ทักษะการบริหารจัดการอย่างเข้มข้น ทั้งในเรื่องของงบประมาณ การนำความรู้ในการออกแบบทางวิศวกรรมไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ห้องความดันลบนี้เป็นห้องที่ใช้งานได้จริง และสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรทางการแพทย์

     “กลุ่มวิศวกรอาสาพหุภาคีเข้ามาทำงานนี้โดยเรามีหลักการคือ 1. เป็นงานอาสาสมัคร เราจะ ไม่หาผลประโยชน์จากงานนี้ ถึงแม้ว่าครึ่งหนึ่งของทีมเขาต้องหารายได้ ต้องประกอบสัมมาชีพทางด้านวิศวกรรมโยธา ทางด้านวิศวกรรมปรับอากาศ แต่งานนี้เราทำให้ด้วยใจ โดยที่ในตัวแบบมันมีกฎหมายกำกับควบคุม ก็จะต้องหาคนที่รับผิดชอบลงนามกำกับรับผิดชอบในตัวแบบ โดยปกติจะต้องมีค่าตอบแทน แต่งานนี้ไม่เอาสักบาท 2. เราจะทำงานนี้โดยไม่ใช้เฉพาะแต่มุมมองของวิศวกรแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราจะตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มวิศวกรนี่จึงไม่เหมือนกลุ่มอื่นที่ผลิตอุปกรณ์แล้วไปมอบให้กับโรงพยาบาล แต่จะทำแบบ tailor made ตามคอนเซ็ปต์ที่เราตั้งไว้นะครับ คือทำงานเสร็จตามเวลา ทำงานตามหลักทางวิศวกรรม และทำตามความต้องการของแพทย์ เพราะว่าเราเอาของยกไปให้เขา เราอยากมั่นใจว่าเขาต้องได้ใช้แน่ ๆ”

     ห้องความดันลบได้รับการออกแบบให้เป็นห้องกักกันเชื้อที่มีระบบระบายอากาศแยกจาก ส่วนอื่น ๆ สามารถบำบัดอากาศและฆ่าเชื้อโรคด้วย HEPA Filter + UVC และ Ozone ก่อนปล่อยออก สู่สาธารณะ ประกอบไปด้วย ห้องรักษา จำนวน 4 ห้อง แต่ละห้องจะมีความดันเป็นลบ ทำให้อากาศจากภายในห้องไม่ไหลย้อนออกมาสู่ภายนอก และต้นทางจากผู้ป่วยไปถึงปลายทางของทางออกอากาศ จะไม่สัมผัสบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การดีไซน์เรื่องทิศทางจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องได้รับความเห็นชอบ จากบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้การหารือร่วมกันระหว่างวิศวกรผู้ออกแบบกับผู้ใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการทำงาน และเพื่อไม่ให้เกิดผิดพลาด


         





      “จุดร่วมมันอยู่ที่คำว่า safety ครับ วิศวกรมี safety การแพทย์ก็ต้องมี safety เพราะฉะนั้น มันเป็นภาษาเดียวกันที่ตั้งโจทย์ร่วมกันได้ นั่นคือการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้าน safety ระหว่างทางด้านวิศวกรรมกับทางการแพทย์ พอพูดเรื่อง safety เป็นภาษาเดียวกันก็สามารถถอดออกมาเป็นกระบวนการ ได้ง่ายขึ้น พอหลังจากมีจุดร่วมกัน และแบ่งงานกันในเวลาที่จำกัด มันก็สามารถทำให้เกิดผลได้นะครับ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่กันให้ชัดเจน แล้วถ้าหากว่าความเห็นแตกต่างกันจะต้องรีบเคลียร์ เพราะงานมันจะมาเสียเวลากลับไปกลับมาไม่ได้

     ...เมื่อมาถึงขั้นตอนการออกแบบก็มีความท้าทายเกิดขึ้นอีก เช่น เราไม่สามารถยกเอาวัสดุไปตัด ไปเจาะ ไปประกอบ ทำให้เกิดเสียงดังรบกวน หรือเกิดมลพิษทางฝุ่น จำนวนคนที่จะต้องเข้า มันไม่เหมือน งานปกติ ท่อลมที่จะต้องไปกางฉนวน การประกอบเหล็กที่ไม่สามารถประกอบในที่ตั้งของโครงการได้ งานนี้จึงมีความยากตรงที่ต้องทำมาจากข้างนอก ต้องทำให้เป็นชิ้นใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วนำมาประกอบข้างในโดยให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้คนที่อยู่ในนั้นน้อยที่สุด ผนังทุกชิ้น อุปกรณ์ทุกตัว ก็จะต้องคิดให้ละเอียดว่าจะประกอบอย่างไร กี่ชิ้น ขั้นตอนในการประกอบใช้เวลาเท่าไร ใช้คนเท่าไร จึงทำให้เป็นงานที่ค่อนข้างยาก แต่เนื่องจากทีมฯ ได้รับการสนับสนุนจากทางคณะแพทย์ และได้รับความใส่ใจในเรื่องรายละเอียดของการออกแบบ จึงทำให้แบบร่างในเบื้องต้นเสร็จภายใน 1 อาทิตย์ จนนำราคาและตัวแบบนำเสนอต่อมูลนิธิฯ ผ่านทางคณะแพทย์ เพื่อขอรับการสนับสนุนได้ทันเวลา”


สปิริต - จิตอาสา
ความยั่งยืนในการทำงานเพื่อส่วนรวม

      ห้องความดันลบนี้เป็นห้องที่ไม่สามารถหาซื้อตามท้องตลาดได้ เพราะสร้างด้วยสปิริตและจิตอาสาของชาว มช. โดยใช้งบประมาณกว่า 5,500,000 บาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก และอีกส่วนหนึ่งได้รับการบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเสียสละทั้งกำลังกายและ กำลังทรัพย์ เพื่อปฏิบัติภารกิจเพื่อส่วนรวมในครั้งนี้ ด้วยสปิริตและการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้ปลูกฝังแก่นักศึกษาทุกรุ่นตลอดมา

       “เมื่อพูดถึงสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ คำว่า ‘วิศวกรอาสา’ เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของ ศิษย์เก่าฯ อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวฯ มช. เมื่อความ รู้ไปถึงสมาคมฯ และมูลนิธินักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่างก็ช่วยเหลือบริจาคเงินให้กับทางมูลนิธิฯ และทางคณะแพทย์อีกส่วนหนึ่ง ส่วนวิศวกรที่มาทำงานรวมกัน เรามีความรู้สึกผูกพันและความรับผิดชอบในการทำงานให้แก่สถาบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับใช้สังคมอยู่แล้ว มีอย่างเดียวในตอนนั้นที่เราจะสละได้คือ การทำงานกันอย่างหามรุ่ง หามค่ำ ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้เรียนรู้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสมาคมนักศึกษาเก่าฯ”

       ในมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในกระบวนการการดำเนินการสร้างห้องความดันลบตั้งแต่ต้น จนจบกระบวนการ สิ่งที่ดีที่สุดของโครงการนี้ไม่ใช่ความสำเร็จของการสร้างห้องความดันลบ แต่เป็นการสร้างคนที่มีจิตอาสา และสามารถทำงานข้ามศาสตร์เพื่อบรรลุความยั่งยืนได้ ซึ่งจะเป็นความยั่งยืนทางหลักคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง

      “ห้องความดันลบเป็นมาตรฐานทางวิชาการที่มีอยู่แล้ว และไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ เพียงแต่ว่า การทำงานนี้ทำให้เรามองเห็นการตอบสนองของผู้คนในสถานการณ์ฉุกเฉิน การละความคิดเห็นที่แตกต่าง ละความรู้ที่ยืนอยู่กันคนละฐาน ปลดประโยชน์ส่วนตัวออกไป แล้วมุ่งประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ ตรงนี้เป็นความยั่งยืนที่หาค่าไม่ได้ และสามารถใช้ได้ทุกเรื่อง ทั้งการศึกษา ชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อม พลังงาน หรือแม้กระทั่งความยากจน การแก้ปัญหาหมอกควัน การเมือง การปกครอง ถ้าทุกคนลดอัตตา ลดทิฐิลง แล้วมาทำงานร่วมกันเพื่อสังคม น่าจะเป็นความยั่งยืนที่ดี และเป็นความแข็งแรงที่มาจากภายใน โดยใช้ความแข็งแรงทางจิตใจที่ผูกกันไว้มาทำงานให้ส่วนรวม”

ขณะนี้ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบยังคงใช้งานอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในห้วงยามที่สถานการณ์ระบาดของโควิด - 19 ยังไม่คลี่คลายลง เป็นผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ว่า ในวิกฤตนั้นมีโอกาสที่ทำให้ผู้คนได้แสดงศักยภาพ สปิริต และจิตวิญญาณของความดีงาม อันเป็นนามธรรมที่จับต้องได้โดยแท้


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social