CMU SDGs

CMU SDGs

มช. นำองค์ความรู้ ร่วมแก้ปัญหาแมงกะพรุนพิษ

จำนวนผู้เข้าชม : 3535 | 13 พ.ย. 2563
SDGs:
3 14

ทะเล อีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่การเล่นน้ำทะเลในบางพื้นที่อาจมีแมงกะพรุน หากถูกพิษแมงกะพรุนชนิดรุนแรงเข้าไป อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมแก้ปัญหาจากแมงกะพรุนพิษ สร้างองค์ความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องโดยใช้น้ำส้มสายชูในการเบาเทาพิษ พร้อมผลักดันติดตั้งเสาพยาบาลใส่น้ำส้มสายชูตามจุดต่างๆ บนชายหาด เพื่อช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษได้ทันท่วงที รวมถึงมีการพัฒนานวัตกรรมตาข่ายกั้นแมงกะพรุน เทปกาวสุญญากาศเก็บและส่งตัวอย่างระบุกระเปาะพิษของแมงกะพรุน และร่วมกับคณะทำงานด้านสัตว์ทะเลมีพิษวางแนวทางดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ไปสู่การปฏิบัติได้จริง จากการศึกษาค้นคว้าทีมวิจัยยังได้ค้นพบแมงกะพรุนกล่องสายพันธุ์ใหม่ของโลกในไทย ซึ่งจัดเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงทำให้เสียชีวิตได้


ในช่วง พ.ศ. 2551 – 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบผู้บาดเจ็บรุนแรงจากแมงกะพรุนพิษเฉพาะที่รายงานอย่างน้อย 40 - 50 ราย และเสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษ 8 ราย รายล่าสุดพบเมื่อ พ.ศ. 2558 เป็นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งหมดเข้าข่ายเกิดจากแมงกะพรุนกล่องชนิดหนวดหลายเส้น ซึ่งมีพิษสามารถทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2 - 10 นาที ทั้งนี้ ปัญหาในช่วงเริ่มแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ค่อนข้างซับซ้อน มีความอ่อนไหวของการเมืองและการทูต มีผลกระทบในวงกว้างทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยสื่อต่างชาติเข้าใจว่าประเทศไทยปิดบังและไม่ได้แก้ไขปัญหา อีกทั้งประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ทางด้านนี้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเดิมที่ผิดว่า วิธีช่วยผู้ถูกแมงกะพรุนให้ใช้ผักบุ้งทะเลและทรายถูแผล ใช้น้ำเปล่าหรือเหล้าราด ซึ่งในความเป็นจริงอาจเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตมากขึ้น

ดร. แพทย์หญิงพจมาน ศิริอารยาภรณ์ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงลักขณา ไทยเครือ

ในระยะเริ่มแรกทีมวิจัยซึ่งนำโดย แพทย์ระบาดวิทยา ดร. แพทย์หญิงพจมาน ศิริอารยาภรณ์ จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงลักขณา ไทยเครือ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พิสูจน์พบว่า มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในน่านน้ำทะเลไทย ได้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยใช้หลักการร่วมคิดร่วมทำแบบพันธมิตรและหุ้นส่วนโดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน มีการประยุกต์ใช้วิชาการหลายอย่างผสมผสานเพื่อมากำหนดยุทธ์ศาสตร์การทำงานที่ไม่ติดกรอบเดิม มีการนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้ในการผลักดันแผน ใช้ศักยภาพของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสร้างองค์ความรู้ที่ไปสู่การปฏิบัติได้จริงในชุมชน รวมถึงใช้ทรัพยากรและความรู้ของคนในชุมชนในการร่วมแก้ปัญหา ตลอดจนมีการสื่อสารความเสี่ยงและถ่ายทอดบทเรียนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาในแต่ละขั้นตอน


ให้ความรู้และสื่อสารความเสี่ยงแก่สาธารณะ 

          ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี มีการเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางการทำวิจัยต่อสู้ภัยจากแมงกะพรุนที่คร่าชีวิตคน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2553 ได้มีการสืบสวนสอบสวนจนพิสูจน์ได้ว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์แมงกะพรุนกล่องที่ทำให้เสียชีวิตอยู่จริง มีการประเมินขนาดปัญหา สร้างระบบเฝ้าระวังเฉพาะกาลขึ้นสำหรับชายฝั่งทะเล และพัฒนาจนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเฝ้าระวังของประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายแมงกะพรุนพิษและทำความเข้าใจกับชุมชน มีการติดตั้งและพัฒนาเสาพยาบาลใส่น้ำส้มสายชูสำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากพิษแมงกะพรุนโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อการปฐมพยาบาลอย่างรวดเร็วและเหมาะสมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตสูงมาก

   

การป้องกัน ตาข่ายกั้นแมงกะพรุนและป้ายการใช้เสาพยาบาลน้ำส้มสายชู คู่กับป้ายเตือนให้ความรู้แบบใหม่

       ต่อมา พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2556 ได้ดำเนินการทำวิจัยในคนและแมงกะพรุนเพื่อค้นหาคำตอบ สร้างองค์ความรู้ สร้างและผลิตสื่อในหลากหลายรูปแบบให้เหมาะกับการสื่อสารความเสี่ยงในประชากรเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้ทราบ รวมถึงวางแนวทางการดูแลรักษากับการป้องกันควบคุม ฝึกอบรมให้ความรู้ครอบคลุมทุกด้าน มีการทำบันทึกความเข้าใจขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมราคาถูก เช่น ตาข่ายกั้นแมงกะพรุนรุ่นแรก และป้ายการใช้น้ำส้มสายชูคู่กับเสาพยาบาล ป้ายเตือนให้ความรู้แบบใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนความเชื่อเดิมในการรักษาเบื้องต้น



นักศึกษา มช. ผู้เคยบาดเจ็บสาหัส จากแมงกะพรุน (Chironex indrasaksajiae Sucharitakul) 

         จากนั้นระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2562 มีการพัฒนาแนวทางการติดตามและธำรงรักษาพัฒนาการที่เกิดขึ้นให้คงอยู่อย่างเป็นระบบและมีการบูรณาการร่วมกัน รวมถึงมีการค้นพบแมงกะพรุนกล่องสายพันธุ์ใหม่ของโลกในไทย (Chironex indrasaksajiae Sucharitakul) โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้เคยบาดเจ็บรุนแรงจากพิษแมงกะพรุน อีกทั้งยังได้พัฒนานวัตกรรมเทปกาวสุญญากาศสำหรับเก็บและส่งตัวอย่างระบุกระเปาะพิษของแมงกะพรุน เพื่อการแจ้งเตือนและตอบโต้ที่รวดเร็ว รวมถึงมีการพัฒนาต้นแบบตาข่ายกั้นแมงกะพรุนรุ่นสอง สำหรับการผลักดันด้านนโยบายของหน่วยงานต่างๆ นั้น ได้เป็นผู้ร่วมเสนอแนะประเด็นและแนวทางการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ร่วมเป็นคณะทำงานด้านสัตว์ทะเลมีพิษของรัฐบาล และจัดทำแนวทางการดูแลและรักษาผู้บาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษอีกด้วย



       สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นผิดปกติทั่วโลก แต่ด้วยการเฝ้าระวังแจ้งเตือนที่รวดเร็ว จึงพบรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บที่ต้องนำส่งโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีผู้เสียชิวิต เพราะมีการป้องกันและได้รับการปฐมพยาบาลที่เหมาะสม ณ จุดเกิดเหตุ
       จากความทุ่มในการต่อสู้ภัยจากแมงกะพรุนมากว่า 10 ปี ผลงานได้รับเลือกเป็นกรณีศึกษาพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม จากสถาบันคลังสมองของชาติ สำนักงานเลขาธิการของเครือข่าย Engagement Thailand เมื่อปี พ.ศ. 2558 และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ล่าสุดคือ รางวัลนักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่นแขนงระบาดวิทยาระดับชาติ ประจำปี 2561 จากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้รับโล่เกียรติคุณของผู้เชี่ยวชาญและโล่เกียรติคุณหน่วยงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับคณะแพทยศาสตร์ที่ร่วมดำเนินการแก้ปัญหาภัยสุขภาพจากแมงกะพรุนพิษตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2562

ปัญหาภัยจากแมงกะพรุนไม่ใช่เพียงแค่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกัน การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องแก่ชุมชน การสร้างระบบเฝ้าระวังและเครือข่ายแมงกะพรุนพิษที่ทีมวิจัยได้ดำเนินการมาตลอดเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social