“คนดีชอบแก้ไข คนมีไฟชอบแก้งาน” เป็นคำคมบนกระดาษสีเหลืองที่ติดอยู่บนผนังห้องทำงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ กฤษณ์ ขวัญเงิน
ผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯมหาวิทยาลัยเชียงใหม่...สะท้อนให้เห็นความพิเศษของคำว่า “แก้ไข” และ “แก้งาน” ในหน่วยงานนี้ อย่างมีนัยสำคัญ
ใครจะรู้ว่าการทำงานเพื่อ “แก้ไข” และ “แก้งาน” ของศูนย์ฯ นี้ อาจกินระยะเวลานานถึง 20 ปี หรือมากกว่านั้น เนื่องจากคนไข้ผู้มารับการรักษาในศูนย์ฯ นี้ จะต้องเริ่มรักษาตั้งแต่เป็นเด็กแรกเกิด ไปจนกระทั่งอายุ 20 ปี ด้วยว่าสาเหตุของโรคปากแหว่งเพดานโหว่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือโครโมโซมที่ผิดปกติ หรือการขาดสารอาหารในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิด ความพิการบนใบหน้าและเพดานปากของทารกตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งการหายใจ การดูดนมให้ได้ปริมาณเท่ากับเด็กปกติ ปัญหาหูน้ำหนวก การพูดที่ผิดปกติ รูปทรงกรามบนและจมูกผิดรูป เป็นต้น
การแก้ไขความพิการให้แก่เด็ก ๆ ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของการศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อความงาม แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยความมั่นใจ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ได้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ แต่ปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่คือ ทุกขั้นตอนของการรักษา ต้องใช้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 4 - 5 สหสาขาวิชา ดังนั้นโรงพยาบาลจะต้องมีบุคลากรและระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกเกิด - 20 ปี ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมาในเรื่องความเชื่อมโยงของข้อมูลในแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งการติดตามผลการรักษาให้ครบกระบวนการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และผู้ป่วยด้อยโอกาส ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ กฤษณ์ ได้เกริ่นนำถึงโจทย์ที่ท้าทายดังกล่าวว่า
“ความยากอย่างหนึ่งของโรคนี้คือ เราต้องดูแลหลายระบบพร้อม ๆ กัน ในส่วนภายนอกก็คือ รูปปาก รูปจมูก และเพดานปาก ซึ่งจะมีผลต่อการพูด การรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางภาษาและการพูด จะเกี่ยวข้องกับหมอ 3 สาขาใหญ่ ๆ คือ หมอผ่าตัด หมอหู คอ จมูก (แพทย์โสต คอ นาสิก) จะต้องตรวจก่อนว่าได้ยินไหม และไปประเมินกับนักอรรถบำบัด (Speech-Language Pathologist) ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการพูดนั้น หมอหู คอ จมูก นักอรรถบำบัด และหมอผ่าตัด จะต้องมาคุยกัน
นักอรรถบำบัดในเมืองไทยจะมีน้อย โดยเฉพาะภาคเหนือนี่ 5 - 6 ปีแล้ว ไม่มีเลย แต่ตอนนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ก็จะมีนักอรรถบำบัดมากขึ้น นี่เป็นเฉพาะการรักษา ในส่วนการพูด เด็กต้องมาฝึกพูดอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เป็นที่มาว่า คนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี เด็กกับผู้ปกครองไม่ต้องไปไหนแล้วครับ เดินทางไป - มาโรงพยาบาล จนเมื่ออายุ 5 - 12 ตรงนี้ จะเป็นเรื่องฟัน ก็ต้องเดินทางไปมาโรงพยาบาลเหมือนกัน แต่จะไม่ต้องถี่มากเท่ากับตอนอายุ 1 - 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาทอง มันสำคัญมากเลย คือเมื่อเราผ่าไปแล้วแต่ยังพูดไม่ชัด เด็กจะไม่กล้าพูด ไม่กล้าถามเลย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ กฤษณ์ ขวัญเงิน ผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โจทย์ที่ค้นพบจากคนไข้
สู่แรงบันดาลใจเพื่อ “แก้ไข”
ในฐานะศัลยแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ มีคนไข้ 2 คน ที่เป็นแรงบันดาลใจ ในการทำงานเพื่อ “แก้ไข” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ กฤษณ์ ในทุกวันนี้
“ย้อนกลับไป 6 - 7 ปีที่แล้ว วันนั้นผมเป็นแพทย์ที่มีความอยากรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และผ่าตัด ไม่ได้มีความคิดที่จะดูแลเชิงระบบ วันหนึ่งมีคนไข้มาหาผม 2 คน คนแรก อยู่แม่แจ่ม เขาบอกว่า มาหาหมอนี่ ยากมากเลย กว่าจะมาถึงได้ ต้องออกจากบ้านตี 3 ตี 4 ผมก็ไม่เข้าใจว่า อยู่แม่แจ่มแล้วทำไมต้องออกจากบ้านตี 3 ตี 4 ด้วย เขาก็บอกว่า เขาต้องขี่มอเตอร์ไซค์มาเจอหมอตอน 10 โมงเช้า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะที่มาแล้วไม่เคยเจอหมอ เพราะหมอติดผ่าตัด
วันนั้นผมรู้สึกตกใจมาก เมื่อรู้ว่าการที่คนคนหนึ่งจะเดินทางมาหาหมอ ไม่ง่ายเลย พอรักษาไปเรื่อย ๆ ครั้งต่อ ๆ มาเขาเริ่มไม่อยากจะผ่าตัดต่อแล้ว บางทีนัดผ่าตัดเขาก็บอกไม่ว่าง ผมก็ถามว่าทำไม เขาบอก ถ้ามาผ่าตัดตอนนี้ พ่อกับแม่ก็ต้องหยุดเกี่ยวข้าว การจะมาหาหมอไม่ใช่จะมาก็มาได้เลย พ่อกับแม่ต้องคิดวางแผนว่าจะหยุดทำนาเพื่อจะมาหาหมอได้ นั่นคือจุดที่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนไข้เข้าระบบได้ด้วยตัวเอง มันก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คนไข้คนนี้อายุ 18 ปี ผมผ่าตัดให้จนเสร็จ ผมก็คิดว่าหลังผ่าตัดเขาก็คงจะไปทำงานได้ ผมก็ถามเขาว่าทำอะไรอยู่ เขาตอบว่าอยู่บ้าน ไม่ได้ทำงาน ไม่รู้จะทำงานอะไร ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เข้า - ออกโรงพยาบาลตลอด เขาเองก็เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง จนจบออกมาก็ไม่รู้จะไปทำอะไร วันนั้นทำให้ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไม่ใช่แล้ว แปลว่าต่อให้ผมผ่าตัดออกมาสวยยังไง ทำแทบตายยังไง สุดท้ายถ้าไม่บริหารจัดการเขาตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจน 20 ปี ให้เขาสามารถเรียนจบแล้วมีพัฒนาการทางการศึกษา สามารถประกอบอาชีพได้ มันไม่ใช่คำตอบที่เราต้องการ ถึงเราผ่าตัดเสร็จ เขาก็กลับไปอยู่ที่บ้าน สังคมได้อะไร ประเทศชาติได้อะไร
อีกคนหนึ่ง เป็นคนไข้อายุประมาณ 24 ปี ผมผ่าตัดให้เกือบเสร็จหมดทุกอย่างแล้ว ผมก็บอกว่า เดี๋ยวเราจะผ่าอีกครั้ง เพื่อที่จะทำให้เขาสบฟันได้ สิ่งที่น้องคนนั้นตอบมาคือ หมอ ผมพอแล้วครับ วันนั้นเป็นวันที่ผมรู้สึกแย่มาก รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวมาก แปลว่าเราทำให้เขารู้สึกทนทุกข์ทรมานในการรักษา ทั้ง ๆ ที่เกือบจะถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว เขาทรมานมากแล้ว
ในที่สุดก็ค้นพบว่าโจทย์สำคัญก็คือ เราจะทำอย่างไร ให้ในช่วง 20 ปี ที่เขาต้องดูแลรักษา ไม่ให้เขารู้สึกว่ามันทรมาน ไม่มีเพื่อน การที่เรามีศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหมือนทำให้เราเป็นเพื่อนกับคนไข้และครอบครัว คนไข้เขานึกอะไรไม่ออกคนไข้ก็โทร.มาหาเรา”
ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ฯ
บูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี
ก่อนหน้านี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดทำโครงการ One Stop Network เครือข่ายสร้างความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ จนกระทั่งต่อมาใน พ.ศ. 2562 ได้มี การก่อตั้งศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตาม พระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้มองเห็น “เพื่อนในยามยาก” ได้ชัดเจนขึ้น ศูนย์ดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้การรักษาแก่ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ อาทิ การแก้ปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ต่อมาศูนย์ฯ นี้ ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อศูนย์ฯ ว่า “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
ความโดดเด่นของศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ คือการบูรณาการ ข้ามศาสตร์ร่วมกันระหว่างคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดนวัตกรรม เชิงระบบ ที่จะสร้างความยั่งยืน และรับใช้สังคมด้วยเทคโนโลยี
“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรามีนโยบายในการบริการวิชาการและรับใช้สังคมอยู่แล้ว นอกจากนั้น ก็มีการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อทำโครงการนี้ไปได้สักระยะ ทางผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นว่าโครงการนี้น่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ จึงพยายามยกระดับโครงการให้ยั่งยืน โดยท่านอธิการบดี (ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต) และท่านรองอธิการบดี (ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รัก ศรีบัณฑิตมงคล) พยายามทำให้ทุกอย่างมั่นคงชัดเจน เพื่อที่จะยกระดับจากโครงการ ‘One Stop Network เครือข่ายสร้างความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่’ เป็นศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ มีโครงสร้างที่ชัดเจน ทำงานร่วมกันระหว่างคณะ ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ คณะแพทย์ คณะทันตแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ ทางเทคโนโลยี ได้แก่ ITSC คณะวิศวกรรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และวิทยาลัยสื่อ พอมาทำงานร่วมกัน จึงกลายเป็นองค์กรที่มีความมั่นคง และได้รับการสนับสนุนจาก ทุกภาคส่วน
ตอนนี้เรามีการบูรณาการข้ามศาสตร์ หมอผ่าตัด ทำงานกับหมอฟัน ทำงานกับหมอหู คอ จมูก เอาแพทย์คุยกับวิศวะ ไอที ข้ามศาสตร์เป็นเรื่องยาก แต่ว่าต้องทำ ซึ่งผมคิดว่าเรามาถูกทาง เพราะว่า ณ วันนี้ ผมมองระบบต่างออกไปจากที่ผมเป็นหมอเฉย ๆ ที่ดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ การข้ามศาสตร์มีอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เราก้าวข้ามมันได้ แล้วเราจะทำงานง่ายขึ้น”
Thai Cleft Link Program
“ให้ข้อมูลเดินทางแทนผู้ป่วย”
เมื่อความทุกข์ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คือการเดินทางเข้า – ออกโรงพยาบาลเป็นจำนวน นับครั้งไม่ถ้วน และเป็นระยะเวลาอันยาวนาน การ “ให้ข้อมูลเดินทางแทนผู้ป่วย” ประโยคสั้น ๆ นี้ จึงถือว่าเป็นเป้าหมายของการทำงานที่ท้าทายนี้
“ทำไมถือว่าข้อมูลเดินทางแทนผู้ป่วยมีความสำคัญ เพราะว่าการที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาครั้งหนึ่ง ต้องเดินทางไป - มา ทำให้ต้องเสียเวลา แล้วก็จะเกิดวันที่ผู้ป่วยท้อใจจนไม่อยากรักษาอีก ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น อย่างที่เรียนแต่ต้นว่า ปากแหว่งเพดานโหว่ต้องใช้หมอดูแล ได้แก่ หมอผ่าตัด หมอฟัน และทีมฝึกพูด สมมติว่าหมอผ่าตัดนัดวันที่ 1 กันยายน นักแก้ไขการพูดนัดวันที่ 3 กันยา หมอจัดฟันนัดวันที่ 10 กันยายน หมายความว่า ถ้าเราไม่ให้ข้อมูลเดินทางแทนผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเดินทาง 3 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยอยู่แม่ฮ่องสอน เขาจะไม่สามารถเดินทางวันนี้กลับพรุ่งนี้ได้นะครับ เขาต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวสำหรับการเดินทาง อย่างน้อย 3 วัน คือมาวันหนึ่ง นอน แล้วมาเจอหมอ พรุ่งนี้กลับ
สมมติว่าเราไม่มีระบบที่ทำให้ข้อมูลเดินทางให้ผู้ป่วย ครั้งแรกผู้ป่วยจะเดินทางจากแม่ฮ่องสอน มาเชียงใหม่ เพราะหมอที่เชียงใหม่ตรวจวันอังคาร พฤหัส หมอจัดฟันตรวจวันอังคารเหมือนกันแต่เป็นตอนบ่าย แล้วเขาก็ต้องกลับไปแม่ฮ่องสอน เพราะเขาก็ยังไม่มีข้อมูลต่าง ๆ แล้วเขาก็เดินทางมาใหม่ คราวนี้มีใบ ส่งตัวมาแล้ว แต่ข้อมูลไม่ละเอียด กลับไปเอาข้อมูลมาใหม่ เมื่อก่อนตอนที่เรายังไม่ได้ทำ เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริงนะครับ เกิดทั้งประเทศ
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ตอนนี้คือ การนำระบบฐานข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาลเชื่อมกัน อันนี้ยังเกิดขึ้นไม่ได้ในประเทศไทย เพราะเราใหญ่เกินไป แล้วฐานข้อมูลแยกกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ข้ามกระทรวง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อยู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ข้อมูลมันไม่สามารถเชื่อมกันได้ และแม้จะเป็นโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน แต่ถ้าใช้คอมพิวเตอร์คนละระบบมันก็จะไม่เชื่อมกัน เพราะฉะนั้น การให้ฐานข้อมูลโรงพยาบาลเชื่อมกันจึงยังเกิดขึ้นไม่ได้ ณ ตอนนี้”
สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้โดยศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงมือทำแล้ว คือการพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลกลาง Thai Cleft Link ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย โดยโปรแกรมนี้จะช่วยในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลผู้ป่วยและการวินิจฉัยโรค ประวัติการรักษา รูปภาพของผู้ป่วย ตารางนัดหมายผู้ป่วย / พิมพ์ใบนัดผู้ป่วย และข้อมูลสถิติด้านประชากรผู้ป่วยและการรักษา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนามาตรฐานการรักษาผู้ป่วย และการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและบุคลากรในเครือข่าย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้ข้อมูลเดินทางแทนผู้ป่วยนี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกรวดเร็ว เมื่อแพทย์ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว จะช่วยร่นระยะเวลาการมาพบแพทย์และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย นับว่าเป็นการพลิกโฉมและแก้ไขการให้บริการด้านการแพทย์ที่ส่งผลดีต่อทั้งผู้ป่วยและทีมสหวิชาชีพ
“สิ่งที่เราทำคือ ดูแลเครือข่าย 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยเราเอาระบบต่าง ๆ มาเรียง พยายามให้ แยกเป็นระบบใหญ่ ๆ แต่ต้องใช้ความสามารถของศาสตร์ด้านวิศวอุตสาหการ นำมาเรียงว่า ระบบใหญ่ มีอะไรบ้าง ในระบบใหญ่ก็จะมีระบบที่ 1 2 3 และในระบบ 1 ก็มีขั้นตอน A B C ประเด็นสำคัญคือ จากระบบที่มันซ้อนกัน เราต้องเขียนโปรแกรมโดยโปรแกรมเมอร์ (ศาสตร์ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์) ซึ่งเขาจะไม่เข้าใจระบบที่ซับซ้อนเท่าคนหน้างาน แต่ถ้าเราคลี่ให้เขาฟังว่า สมการคือเอาโปรแกรม A มาต่อกับโปรแกรม B
ให้มากลายเป็นโปรแกรม C อย่างนี้โปรแกรมเมอร์เขาจะเขียนโปรแกรมได้ง่าย
เราใช้ระบบที่มันซ้อน ๆ กันมา มาเกาะเป็นวงกลม แล้วเรียงเป็น step เพื่อให้บุคลากรใหม่ ๆ ที่เข้ามา ไม่ว่าจะแพทย์ นักแก้ไขการพูด หรือทันตกรรมจัดฟัน ได้เข้าใจ และเพื่อให้โปรแกรมเมอร์เอาไปเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ Thai Cleft Link เป็น Eco System เป็น platform ที่สามารถให้สหวิชาชีพที่ดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือความพิการด้านศีรษะได้ตลอดไป
ณ วันนี้ ผมไม่ค่อยกังวลในระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่จังหวัดเชียงใหม่ หรือเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน (ภาคเหนือมี 3 เขตย่อย) ระบบตัวนี้ได้ผล ตอบรับที่ดี คือคนไข้เข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น และทีมที่ได้ประโยชน์มากจะเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเขา มีโปรแกรมช่วยในการทำงาน และไม่ต้องเหนื่อยกับการไปสร้างโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูลเองแล้ว และเรา เริ่มไม่ใช่โปรแกรมที่เก็บข้อมูลเฉย ๆ ผมพยายามสร้าง Big Application ก็จะมีโมดูลต่าง ๆ ที่สุดท้ายแล้ว ทำให้เขาทำงานอื่นนอกจากเก็บข้อมูลได้ดีขึ้น เช่น การเบิกเงินกาชาด ทำอย่างไรให้การเก็บเงินกาชาด ของโรงพยาบาลอื่นทำงานเอกสารได้ง่ายขึ้น นี่คือสิ่งที่เราค่อนข้างที่จะภูมิใจที่ทำให้เขาได้รับประโยชน์”
จาก Thai Cleft Link Program
สู่การสร้างระบบฐานข้อมูลอย่างยั่งยืน
ด้วยการทำงานของโปรแกรม Thai Cleft Link ทำให้ปัจจุบันศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้า และกะโหลกศีรษะฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อ
ผู้ป่วยปากแหว่งและเพดานโหว่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาครบกระบวนการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาแนวทางการรักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานในระดับที่น่าพอใจ นี่คือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการจัดระบบข้อมูลทางสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีจากฝีมือคนไทย ซึ่งจะสร้างระบบฐานข้อมูลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“ความฝันลึก ๆ ที่ผมอยากได้จริง ๆ ผมอยากให้ประเทศไทยเรามี data ที่อยู่ในประเทศ ไม่ใช่มี data ที่อยู่ต่างประเทศ แม้ว่าเราใช้ Facebook Twitter ข้อมูลของเรายังอยู่นอกประเทศ เราสร้าง Big data ให้คนอื่น สำหรับ Thai Cleft Link เป็นการสร้าง data สะสม data ของเราเอง และ data นี้ เป็นทรัพย์สินของประเทศไทย โดยผมอาจจะขออนุญาตว่าตอนนี้เซิร์ฟเวอร์อยู่ที่เชียงใหม่ แต่หมายความว่า ถ้าโมเดลนี้เสร็จ เซิร์ฟเวอร์นี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้ เช่น อยู่ที่ส่วนกลาง อันนี้ไม่ได้มีปัญหา แต่อย่างน้อย data อยู่ที่ประเทศไทย สุดท้ายเราจะได้มีโปรแกรมทำงานแทนเรา สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้
ถ้าทำได้ ผมอยากสร้าง Thai Cleft Link เป็น ECO System IT Platform หรือ Big App อย่าง Grab หรือ Agoda มันเป็น App ที่มีฟังก์ชั่นเยอะ ๆ แต่ต้องใช้ทีมที่ใหญ่กว่านี้ แต่อย่างน้อย ณ ตอนนี้ ก็คิดว่ามาถึงจุดที่ตัวเองก็จะกลับบ้านด้วยความสบายใจไปจุดหนึ่งแล้ว ว่าอย่างน้อยเราก็มีโปรแกรมที่ทำงานแทนคนได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อาจขยายไปเขตอื่น ๆ ซึ่งเราแบ่งเป็นล้านนา 1 ล้านนา 2 ล้านนา 3 และมี การนำโมเดลตัวนี้เอาไปใช้ที่อื่นได้ ประเด็นสำคัญคือ ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริง คือทางสมาคมปากแหว่งเพดานโหว่ความพิการแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำ Thai Cleft Link ไปใช้ที่ภูมิภาคอื่น แต่ว่ายังเป็นแนวคิดอยู่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยินดีที่จะให้นำทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปใช้ที่อื่นได้ แต่ว่าสำหรับโจทย์ปัจจุบันของผมคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับใช้ 8 จังหวัดภาคเหนือ เราก็จะทำให้ platform ตัวนี้สามารถกระจายไปอย่างน้อยที่สุด 8 จังหวัดนี้ให้ได้ ซึ่งในอนาคตสามารถเป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้ภูมิภาคอื่นเอา platform ที่เราสร้างขึ้นไปใช้ เราก็จะตอบโจทย์ของประเทศชาติด้วย”
การพัฒนา Thai Cleft Link Program อาจไม่ใช่งานถนัดของ ผศ.นพ.กฤษณ์ เหมือนกับการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเพื่อพลิกโฉมหรือแก้ไขความพิการบนใบหน้า แต่การทำงานนี้ร่วมกับคณะวิชาอื่น ๆ ได้เปลี่ยนมุมมองของแพทย์ผ่าตัดคนหนึ่งให้ก้าวข้ามจากกรอบวิชาชีพไปสู่การมองภาพในองค์รวม ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ในฐานะ “คนดีชอบแก้ไข คนมีไฟชอบแก้งาน”
“ถ้าเราบอกคนไข้ว่า คุณไปฝึกพูดที่ กทม. คำพูดสั้น ๆ แค่นี้ของเรา มันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะแค่คนไข้ต้องเดินทางจากแม่ฮ่องสอนหรืออมก๋อยมาเชียงใหม่ มันก็ยากมากแล้ว และต้องไป กทม. ตลอด 20 ปี ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะอยู่ไม่ได้ถ้าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่ง ของคนภาคเหนือได้ หมอก็รักษาตามตำราไป เช่น ฝึกพูด ผ่าตัด แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรให้ตอบโจทย์สังคมจริง ๆ คือพยายามสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้คนไข้ มันก็จะไปต่อไม่ได้
ที่ผ่านมา มช. พยายามผลักดันให้คนทำงานมองภาพรวม ซึ่งผมพบว่าพอเราผ่าตัดบนใบหน้าเสร็จแล้ว มันไปเชื่อมกับหลายสาขา ทำให้เรามีมุมมองในความเป็นแพทย์อีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แค่แพทย์ผ่าตัด แต่เป็นแพทย์ที่มองในภาพรวมในเรื่องความยั่งยืน ถ้าเราเป็นหมอที่ใช้การตกแต่งศัลยกรรมบนใบหน้าแล้ว เราผ่าอย่างเดียว เราไม่ดูองค์รวม มันจะไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยและสังคมเลย
การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เราพยายามทำ มันเหมือนการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยลงมาสู่คณะ จากคณะมาสู่คน ทำให้หมอผ่าตัดได้เห็นภาพองค์รวมที่สุดท้ายเราได้ทำงานกับศาสตร์อื่น ตอนแรกก็คิดว่า มันจะประกอบกันไม่ได้ เรื่องการรับใช้สังคมกับเทคโนโลยี แต่พอมาประกอบกันทำให้เราได้เห็นภาพรวม ก็เลยคิดว่า ที่ตัวเองไปเรียนมาศัลยกรรมตกแต่ง เมื่อก่อนก็จะมองแค่ว่าเอามาเสริมสวยอย่างเดียว หลังจากนั้นก็ผ่าตัดแก้ความพิการ แต่มหาวิทยาลัยก็พยายามหล่อหลอมให้มองว่า ทำอย่างไรให้เราในฐานะบุคลากร ของคณะแพทย์ ได้ดูแลสังคมด้วย ก็เลยเป็นสิ่งที่เราชื่นชม และคงจะอยู่ในจุดนี้ต่อไป เพื่อที่จะทำงานผ่าตัด ที่เราชอบ และได้ดูแลเชิงระบบของสังคมที่เราอยู่ด้วย”