มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นสถานศึกษาอันดับต้นๆ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความร่มรื่นและพื้นที่สีเขียวอันกว้างขวาง กลายเป็นศูนย์กลางที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ทำงานและศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเฉพาะบริเวณ “อ่างแก้ว” ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ก่อตั้ง และถือเป็นแลนมาร์กสำคัญแห่งหนึ่ง
เหตุผลที่อ่างแก้วยังคงความร่มรื่นและสวยงาม เป็นผลมาจากการดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนนโยบายต่างๆ ที่มุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอ่างแก้วให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งยังเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การติดตั้งเก้าอี้นั่งตามจุดชมวิว ตลอดจนการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้เพื่อคงทัศนียภาพที่สวยงาม พร้อมกับให้ความสำคัญกับระบบนิเวศของสัตว์ในพื้นที่ โดยมีการวางแผนร่วมกับหลายภาคส่วน ทำให้อ่างแก้วยังคงเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมสำหรับทั้งนักศึกษา บุคลากร และนักท่องเที่ยวทั่วไป
นอกเหนือจากการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอ่างแก้วแล้วนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้มีการปลูกและดูแลต้นไม้อีกหลากหลายชนิดทั่วมหาวิทยาลัย โดยให้ความสำคัญกับต้นไม้และพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ทนแล้ง สามารถอยู่ได้นาน ดูแลรักษาง่าย เช่น เฟื่องฟ้า, ดาวเรือง หรือเสลา ที่มีทั้งความสวยงาม และดูแลรักษาง่าย ใช้น้ำน้อย ทนแดด ทนสภาพอากาศ ซึ่งดอกเฟื่องฟ้านี้มีปลูกอยู่ทั่วมหาวิทยาลัย
การดูแลภูมิทัศน์ และการปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในพื้นที่ ก็ต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง และการติดตามอย่างใกล้ชิด โครงการฐานข้อมูลพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงกับการดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โครงการนี้ดำเนินการโดยกองอาคาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกข้อมูลต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างละเอียด ทั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทั่วไป ลักษณะ และตำแหน่งของต้นไม้ทุกต้น พร้อมนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจยังสามารถสแกน QR Code บนป้ายที่ติดอยู่ใกล้ต้นไม้เพื่อดูรายละเอียดของต้นไม้นั้นได้ทันที
การจัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้ระบบนี้ไม่เพียงช่วยให้กองอาคารสะดวกในการบริหารจัดการดูแลต้นไม้ แต่ยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น กองอาคารยังได้ติดตั้งป้ายข้อมูลพรรณไม้เพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน
ทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์และการจัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้เหล่านี้ ช่วยคงไว้ซึ่งความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างยั่งยืน พร้อมกับเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่ใช้พื้นที่ ทั้งนักศึกษา บุคลากร หรือผู้ที่มาเยือนในอนาคต
Source:
ระบบจัดการข้อมูลพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการติดตามดูแลสิ่งแวดล้อม อ่างแก้ว มช. ERDI