CMU SDGs

CMU SDGs

“อันดับแรกในใจ” ในงานวิชาการรับใช้สังคม

จำนวนผู้เข้าชม : 5592 | 01 ต.ค. 2564
SDGs:
4



         ย้อนไปเมื่อปี 2555 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำ Roadmap เพื่อตอบวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้าน “รับผิดชอบต่อสังคม” ไว้ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย และได้รับการนึกถึงเป็นที่แรก ในการแก้ไขปัญหาสำคัญ และเสริมพลัง (Empowerment) ของชุมชน ท้องถิ่น และสังคม โดยใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่าย”

       ในวันนี้เราจึงได้เห็นนักวิชาการ มช. ลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ไปบูรณาการกับภูมิปัญญาของชุมชน กับความรู้ด้านการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ NGOs และผู้ประกอบการในท้องถิ่น ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจน เป็นที่ประจักษ์ กล่าวคือ สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคมได้ เกิดความตระหนัก การรับรู้ปัญหา และแนวทางแก้ไขของชุมชน-ท้องถิ่น เกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน ทั้งวิถีชีวิต คุณภาพชีวิต ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาชีพ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง หรือสุขภาพ ซึ่งนับเป็นมิติที่งดงามของการบูรณาการองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย สู่การเสริมพลังชุมชน-ท้องถิ่น

         อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในวันเดียว แต่เกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้ การศึกษา การวิจัย และการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อตอบโจทย์ของสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญมาตลอดระยะเวลา 57 ปี ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคเหนือ ที่ก่อตั้งขึ้นจากเจตนารมณ์ของประชาชน คนล้านนา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคงยืนยันเป้าหมายด้านรับผิดชอบต่อสังคม โดยกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (A Leading University Committed to Social Responsibility and Sustainable Development)

         ขณะนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีผลงานวิชาการที่รับใช้สังคมอยู่ในฐานข้อมูลดิจิทัล (CMU SE data-base) ย้อนไปตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 213 โครงการ มีเครือข่ายนักวิชาการที่มี “ใจ” ในการสร้างผลงานวิชาการรับใช้สังคมมากกว่า 213 ทีม ทำงานในชุมชนมากกว่า 252 ชุมชน โดยมี “โจทย์ของชุมชน” เป็นตัวตั้ง ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่งานบริการวิชาการมักเป็นการถ่ายทอดความที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักวิชาการเป็นหลัก จึงนับว่าเป็นมิติใหม่ของ มช. ในการก้าวสู่ “พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” (Societal Engagement) ผ่านการขับเคลื่อนผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น และสังคม

หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม
“เพาะโจทย์ให้ถูกจุด” เชื่อมโยงนักวิชาการและชุมชน

      ทุกครั้งที่มีการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยรับใช้สังคม และข้อเสนอโครงการบริการวิชาการที่มีผลกระทบสูง โดยคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะ/ส่วนงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบื้องหลังของ กระบวนการพัฒนา “คุณภาพ” ของข้อเสนอโครงการที่มั่นใจว่าจะนำไปสู่การสร้าง Practical Knowledge and Innovation ระหว่างบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชาวบ้านเจ้าของปัญหา และภูมิปัญญา นักพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ และ NGOs ตลอดจนผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนนั้น มีทีมงานคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยง ทั้งคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ชาวบ้าน ชุมชน และเครือข่าย มาร่วมระดมความคิดเห็น จนเกิดข้อเสนอโครงการ ที่มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ทีมนี้ทำงานภายใต้หน่วยที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Societal Engagement)” ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน และผลักดันให้เกิดงานวิชาการรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านบริการวิชาการและรับใช้สังคม


รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ และหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม ประกอบด้วย สุภาพรรณ ไกรฤกษ์, นโรปกรณ์ สิทธิวงศ์,
วรรณี ขิปะนัน, ปิยะพงศ์ อาทิตย์, สิริธิดา ส่งน้อย

         รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านบริการวิชาการและรับใช้สังคม ได้เล่าถึงที่มาของหน่วยงานนี้ว่า

      “ในช่วงแรก ๆ เรายังไม่ใช้คำว่า ‘วิชาการรับใช้สังคม’ นะคะ ยังใช้คำว่า งานบริการวิชาการ แต่ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ชี้แนะว่า คำว่า ‘บริการวิชาการ’ มีนัยว่า มหาวิทยาลัยนำความรู้ไปให้ชุมชน แต่ ‘วิชาการรับใช้สังคม’ คือมหาวิทยาลัยกับชุมชมมาเจอกัน มหาวิทยาลัยกับชุมชมมาทำงานร่วมกัน ชุมชนมีภูมิปัญญา และเป็นผู้บอกโจทย์หรือข้อติดขัด นักวิชาการนำองค์ความรู้วิชาการมาบูรณาการ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เรามาจับมือกันโดยเอาโจทย์ของชุมชนเป็นตัวตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. ตั้งแต่ปี 2540-2553 จึงได้นำมาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป้าหมายของเราคือ อยากให้งานวิจัยหรืองานบริการทางวิชาการของ มช. มีผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องสร้างระบบ กลไก และสร้างทีมงาน มาช่วยเอื้ออำนวยงานวิชาการรับใช้สังคม จึงเป็นที่มาของหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคมค่ะ”

       ปัจจุบันงานวิชาการรับใช้สังคมของ มช. มุ่งเน้นประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ล้านนาสร้างสรรค์ และได้กำหนดพื้นที่นำร่องในชนบท ได้แก่ อำเภออมก๋อย อำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลศรีบัวบาน จังหวัดลำพูน รวมทั้งพื้นที่นำร่องเขตเมือง ได้แก่ ชุมชนในเมืองเชียงใหม่ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น ตำบลสุเทพ ตำบลช้างเผือก ตลอดจนชุมชนในจังหวัดน่าน จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือตอนบน

       เมื่อได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคมได้พบว่า โจทย์ของงานวิชาการรับใช้สังคมมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
     1. ฐานความรู้เดิมของนักวิชาการ มช. ที่เคยทำงานบริการวิชาการในพื้นที่มาแล้ว
     2. โจทย์จากชุมชนเจ้าของปัญหา/ความต้องการ ซึ่งแต่เดิมพบปัญหาว่า ชุมชนเข้าไม่ถึงนักวิชาการ และไม่ทราบว่าในมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ใดบ้างที่จะช่วยแก้ไขปัญหา และนักวิชาการก็ไม่มีข้อมูลว่าชุมชนใดมีปัญหาหรือความต้องการ ดังนั้น หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม จึงได้มีการจัดประชุมพบปะหารือกัน ทำให้นักวิชาการและชุมชน สามารถ “เพาะโจทย์ให้ถูกจุด” หรือช่วยกัน “เหลาโจทย์ให้คม” และได้ข้อสรุปตรงกันได้ว่า ต้องการให้องค์ความรู้/นวัตกรรมประเด็นใดจากนักวิชาการ ไปร่วมบูรณาการกับภูมิปัญญาของชุมชนด้านใด จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด


         อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของทีมนี้คือ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในงานวิชาการรับใช้สังคม ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรบุคลากรที่มีคุณค่าของ มช. โดยทำหน้าที่เป็นทีมพี่เลี้ยง (Coach /Mentor) สำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับชุมชน ในการช่วยปรับมุมมองและการสื่อสารกับชุมชน รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวิชาการที่มีความมุ่งมั่นในการรับใช้สังคม

        นอกจากการจัดการต้นน้ำ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพ ตามด้วย การจัดการกลางน้ำ ด้วยการสนับสนุนการถอดบทเรียนระหว่างทางเพื่อปรับกระบวนการทำงานแล้ว หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม มีการจัดการปลายน้ำ คือการสนับสนุนการจัดทำเอกสารผลงาน ทางวิชาการรับใช้สังคม จากโครงการที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

      เงื่อนไขสำคัญที่เอื้อต่อการดำเนินงานของหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม คือการพัฒนาฐานข้อมูลวิชาการรับใช้สังคม โดยบูรณาการกับ Platform การกรอกข้อมูล TOR และ Job achievement (JA) ของคณาจารย์และนักวิจัย ทำให้มีข้อมูล หัวหน้าโครงการ ทีมวิจัย ชื่อโครงการ แผนที่ชุมชนที่ทำวิจัย กระบวนการ ภาคีที่ร่วมดำเนินงาน แหล่งทุน ผลการดำเนินงาน ทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ โดยมีเว็บไซต์ http://www.se.cmu.ac.th/home ที่มีคลังความรู้ รายชื่อ และข้อมูลของนักวิชาการรับใช้สังคม การระบุพิกัด GPS ของชุมชนที่นักวิชาการ นักวิจัย มช. ได้เข้าไปทำกิจกรรมไว้ในแผนที่ประเทศไทย เพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูลของโครงการ แผนที่ดังกล่าวทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า งานวิชาการรับใช้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง


มช.รับใช้สังคมบนพื้นที่สูง

โครงการการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยแก่นักเรียนบนพื้นที่สูง

        โครงการที่ปักหมุดอยู่บนแผนที่งานวิชาการรับใช้สังคมของ มช. ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ หนึ่งในนั้นคือ โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับใช้สังคมบนพื้นที่สูงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นงานบริการวิชาการรับใช้สังคมที่มีผลกระทบสูงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง โดยใช้ปัญหาของพื้นที่ในด้านการศึกษา สุขภาพ และอาชีพ เป็นตัวกำหนด อาทิ โครงการการส่งเสริม การเรียนรู้ภาษาไทยแก่นักเรียนบนพื้นที่สูง โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยแก่นักเรียนและชุมชนบนพื้นที่สูง ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดย ได้จัดกิจกรรมผลิตสื่อการสอนสำหรับครู โดยบูรณาการภาษาไทย ศิลปะ และชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจ และแนวทางในการพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดการเรียนรู้ การสร้างสื่อนวัตกรรมการสอนของโรงเรียน ด้วยการเชื่อมโยงอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ด้านอาชีพ ภูมิปัญญา และทรัพยากรชุมชน มาจัดการเรียนรู้ ผลของโครงการนี้ทำให้นักเรียนและชุมชนบนพื้นที่สูง มีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ดีขึ้น กล้าที่จะสื่อสารกับผู้อื่น และยังช่วยให้นักเรียนเกิดความรักและภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเองอีกด้วย

โครงการ New Normal & Education School การจัดการแนะแนวยุคชีวิตวิถีใหม่

การเรียนรู้ในภาวะวิถีใหม่ของคุณครู ตชด.


 จากวิถีชุมชนแม่ตื่น อำเภออมก๋อย สู่บทเรียนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการ

        โครงการ New Normal & Education School การจัดการแนะแนวยุคชีวิตวิถีใหม่ โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนบนพื้นที่สูง มีโอกาสเรียนต่อในระดับสูงขึ้น แต่จากสถานการณ์การระบาดของ โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ทำให้สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดอบรมผ่านช่องทางระบบสารสนเทศ และช่องทางดิจิทัล แก่ครูผู้สอน นักเรียน และบุคคลที่สนใจ เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal เช่น การวางแผนการเรียนการสอน การแนะนำเทคนิคการเรียนผ่านทางออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

        การเรียนรู้ในภาวะวิถีใหม่ของคุณครู ตชด. ดำเนินการโดยคณาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งส่งเสริมให้คุณครู ตชด. ได้รับความรู้ด้านทักษะภาษาอังกฤษ และเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ ผ่านการอบรมระยะสั้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในโรงเรียน โดยได้ปรับรูปแบบ การอบรมเป็นแบบการอบรมทางไกล เพื่อให้สอดคล้องกับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 โดยจัดทำวิดีโอคลิป แบบฝึกหัด และแบบทดสอบ เพื่อแจกจ่ายให้แก่คุณครูที่เข้าร่วมโครงการในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์

       จากวิถีชุมชนแม่ตื่น อำเภออมก๋อย สู่บทเรียนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการ เป็นกระบวนการ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างมีส่วนร่วม โดยคณะมนุษยศาสตร์ได้ศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านในเขต ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยการบูรณาการองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาชาวบ้านเหล่านี้ ไปใช้เป็นบทเรียนในโรงเรียนในเขตอำเภออมก๋อย และเป็นบทพูดสนทนาภาษาอังกฤษสำหรับผู้นำชุมชนและ ผู้ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้านในมิติต่าง ๆ อีกทั้งสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านในเขตท้องถิ่น ของตัวเองในระดับพอใช้

       การดำเนินงานของ 4 โครงการนี้ เป็นการใช้ปัญหาของพื้นที่เป็นตัวกำหนด และดำเนินการด้วย แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการสร้างโอกาส พัฒนาการศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นตัวอย่างของ “งานวิชาการรับใช้ชุมชน” ที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง



คาถา 4 ข้อ
สร้าง “งานวิชาการรับใช้สังคม” สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

        ที่ผ่านมาปัญหาข้อหนึ่งในพื้นที่หลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้นลงแล้ว คือความไม่ต่อเนื่องของโครงการ ด้วยเหตุนี้ แนวทางของงานวิชาการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการทำงานแบบ Bottom Up ที่มองปัญหาจากระดับล่างสู่บน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วย “คาถา 4ข้อ” ดังที่ รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ ได้ขยายความในเรื่องนี้ว่า

         “ในการทำงานจะมีทั้งทฤษฎี bottom up และ top down แต่ส่วนตัวแล้วเราเชื่อมั่นในทฤษฎี bottom up โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการนี้จะเสริมพลังทุกฝ่ายไปพร้อม ๆ กัน ด้วยคาถา 4 ข้อ คือ 1) โจทย์เป็นของชุมชน 2) มีแผนปฏิบัติการที่ออกแบบจากข้อมูล 3) มีการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการ ร่วมกับภูมิปัญญาชุมชน รวมทั้งความรู้การพัฒนาของภาคี/เครือข่าย และ 4) มีการสรุปบทเรียนหลังกิจกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้ของทีมวิจัยหลัก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นการสร้างคน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ ด้วยการให้คนในพื้นที่หรือหน่วยงานในพื้นที่ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับนักวิชาการ และสามารถต่อยอดงานนั้นได้”

           คาถา 4 ข้อนี้ นำไปสู่แนวคิดรูปแบบการให้ทุน 3 ปี และให้ชุมชนมีรายชื่อเป็นส่วนหนึ่งของ ทีมวิจัย เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่อง และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้แก่ชุมชนหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้ว แนวทางนี้ได้สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่ชุมชน และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่สูญเปล่า ขณะเดียวกันก็ทำให้แนวคิดของงานวิชาการรับใช้สังคมได้เติบโตงอกงาม เป็นสินทรัพย์ ที่มีคุณค่าของชุมชน สมดังเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการอำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social