CMU SDGs

CMU SDGs

ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ “ประตูย้อนวัย” ของ สว.สุขภาพดี

จำนวนผู้เข้าชม : 7112 | 23 ธ.ค. 2563
SDGs:
3 11

ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ
“ประตูย้อนวัย” ของ สว.สุขภาพดี

     ใครก็ตามที่จะผ่านเข้าไปยังศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ จะต้องผ่าน “ประตูย้อนวัย” ที่ได้รับการออกแบบให้มีบรรยากาศการย้อนกลับไปสู่อดีต ถึงแม้ประตูนี้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่เชื่อว่า จะจุดประกายบางอย่างให้เกิดขึ้นในใจของผู้ผ่านทางไม่มากก็น้อย


     ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ที่สร้างขึ้นในท่ามกลางกระแสการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในประเทศไทย ที่คาดกันว่าจะมีผู้สูงอายุเกือบ 15 ล้านคน ใน พ.ศ. 2568 และในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีนโยบายในการตั้งรับต่อการขยายตัวของจำนวนผู้สูงวัย หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า “สว.” อย่างชัดเจน โดยได้วางแผนกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกในด้านนวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการดำเนินการตั้งศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ที่รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยน้อย และผู้ป่วยหนัก แต่ยังมีช่องว่างที่ยังขาดอยู่ คือ การลดอัตราผู้ป่วยให้น้อยลง และเพิ่มโอกาสการเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ

     หลังจากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับบริจาคที่ดิน 7 ไร่ ริมแม่น้ำปิงจากกรมธนารักษ์ “ช่องว่าง” นี้ จึงได้รับการเติมเต็ม ด้วยแนวคิดในการสร้างศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุให้แข็งแรง เป็นพื้นที่เปิดให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาใช้บริการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างเสริมสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ด้วยหลักการสำคัญคือ การถ่ายทอดความรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ และปัญญา โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ จากโรงเหล้าเก่าที่รกร้างริมแม่น้ำปิง ให้กลายเป็น “ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ” ที่เมื่อแล้วเสร็จ จะกลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับผู้สูงอายุให้เข้ามาใช้บริการได้ในช่วงต้นปี 2565

บูรณาการศาสตร์
สร้างแหล่งรวมองค์ความรู้เพื่อผู้สูงอายุ

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

     “คนสูงอายุนั้น อย่างไรก็ชราภาพไปตามวัย แต่ก่อนที่จะไปถึงปลายทางของชีวิต ทำอย่างไรจึงจะยืดช่วงเวลาก่อนจะไปถึงตรงนั้นให้ได้มากที่สุด โดยป่วยน้อยที่สุด มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุด?” ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลโครงการนี้ ได้กล่าวถึงโจทย์ที่ท้าทายของการสร้าง “ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ” คำตอบของโจทย์นี้ ก็คือการนำเอาจุดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพหุศาสตร์ที่มีองค์ความรู้ครบทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ เภสัชศาสตร์ ทันตแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ นำมาบูรณาการองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือตรงที่เป็นศูนย์ที่มีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ อย่างครบวงจรที่สุดก็ว่าได้

     “เหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงกล้าที่จะทำเรื่องนี้ เพราะเราเห็นภาพว่า ‘ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ’ จะต่อจิ๊กซอว์กับสิ่งที่เรามีอยู่แล้วได้อย่างไรบ้าง นั่นคือการดึงศักยภาพของทุกคณะของ มช. ที่เกี่ยวข้องเข้ามา ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เฉพาะงานของคณะแพทย์ แต่จะมีคณะพยาบาลฯ เทคนิคการแพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งนอกจากช่วยรักษาแล้ว ยังต้องทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพฟันที่ดี เพราะฟันเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตราบใดที่ฟันของผู้สูงอายุครบ 16 ซี่ หรือ 8 คู่ ถือว่ายังสุขภาพดี แม้ว่าจะอายุ 70 80 หรือ 90 ปี เพราะว่ายังใช้ฟันในการขบเคี้ยวอาหารได้ แต่ถ้าหากว่าฟันไม่เหลือแล้ว มีปัญหาในการกินตามมา อย่างอื่น ก็จะลำบากไปด้วย ทันตแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และเรายังมีกลุ่มทันตแพทย์ที่เรียนด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ จึงต้องมาต่อจิ๊กซอว์กันกับสาขาอื่น ๆ อีก เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็เข้ามาช่วยในเรื่องการใช้วัสดุ ต่าง ๆ คณะวิศวกรรมฯ ก็เอาเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา หรือทางคณะเกษตรศาสตร์ พบว่าปลูกผักนี้ มีประโยชน์ แต่เคี้ยวยาก คณะอุตสาหกรรมเกษตรหรือเภสัชศาสตร์ก็ลองไปสกัดว่า สารที่สำคัญมันได้อะไร แล้วพอสกัดเสร็จ ร้านอาหารก็นำสารสกัดนี้ไปประกอบเป็นอาหาร อย่างนี้เป็นต้น”

....

      จาก “ประตู” ย้อนวัยที่ได้รับการออกแบบในบรรยากาศย้อนยุค ผู้ใช้บริการจะผ่านเข้าสู่โซนต่าง ๆ เช่น อาคารฝึกอบรม ที่ให้บริการการตรวจเช็คสุขภาพ กายภาพบำบัด ธาราบำบัด มีคอร์สการอบรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ เช่น การดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีโซนพื้นที่สวน ที่ผู้สูงอายุสามารถมาเดินออกกำลังกาย หรือพักผ่อน มีศูนย์อาหารที่เน้นโภชนาการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าว่ากว่า 80% ของพนักงานที่ศูนย์แห่งนี้ จะต้องอายุเกิน 60 ปี เพื่อให้เห็นว่าผู้สูงอายุยังมีศักยภาพที่จะทำงานได้ ที่นี่จึงเป็นพื้นที่รวมองค์ความรู้ที่คาดว่าจะช่วยย้อนวัย และยืดวัยให้แก่ผู้สูงอายุราว 60,000 คนต่อปี และทำให้สังคม ของผู้สูงวัยในอนาคตไม่โดดเดี่ยวจนเกินไปนัก




ต้นแบบ สว.สุขภาพดี
     แม้ว่าศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุจะสามารถรองรับผู้เข้าใช้บริการได้ประมาณ 60,000 คนต่อปี แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้พื้นที่ 7 ไร่นี้ ให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่านั้น ด้วยการสร้างที่นี่ให้เป็น ศูนย์ต้นแบบผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างศูนย์ผู้สูงอายุขึ้น 7,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบันมีการก่อสร้างยังไม่ถึง 1,000 แห่ง ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ได้ขยายความในเรื่องนี้ว่า

     “แทนที่เราจะปล่อยให้ศูนย์เหล่านั้นเกิดขึ้นมาโดยขาดองค์ความรู้ มช.จะทำเป็นโมเดลให้ดูว่า ถ้าอยากจะทำศูนย์ผู้สูงอายุก็มาดูที่นี่ได้ ว่าควรต้องมีอะไรบ้าง จะสร้างที่อยู่อาศัยอย่างไร? จะทำส่วนที่ สร้างเสริมสุขภาพอย่างไร? กลุ่มองค์กรส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ สถาปัตย์อาจช่วยบอกได้ว่า วัสดุอย่างไรลื่นมากลื่นน้อยก็ว่ากันไป เป็นต้น แต่เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องใช้คณะแพทย์ด้วย ก็จะมีเรื่องของการดูแลสุขภาพ เน้นสร้างเสริมฯ ถ้าต้องผ่าตัดรักษามากขึ้นก็ส่งไปที่ รพ.สวนดอก ถ้าทำกายภาพ ที่ศูนย์นี้ทำได้เพื่อการฟื้นฟู คอนเซ็ปต์ของเราคือ ต้องไม่แข่งขันกันเอง แต่ต้องต่อยอด”

     ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2565 ด้วยองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชาที่รองรับอยู่ ทำให้รากฐานของศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และจะสร้างความยั่งยืนไม่แต่เฉพาะชุมชนในเมืองเชียงใหม่ แต่ยังรวมถึงผู้สูงวัยในสังคมไทยโดยรวมที่จะก้าวสู่ “ประตูย้อนวัย” ไปด้วยกัน เพื่อเป็น สว.ที่สุขภาพดี มีความสุข และเปี่ยมไปด้วยพลังทั้งกายใจ


แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social