CMU SDGs

CMU SDGs

ไขปริศนาในพะยูน ด้วยเนื้อเยื่อและกระดูก

จำนวนผู้เข้าชม : 5661 | 23 ก.ย. 2564
SDGs:
14


      “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เป็นศูนย์ที่ผมเคยไปเที่ยว ตอนเด็ก ๆ ที่ภูเก็ต ผมจำได้ว่าศูนย์ฯ นี้มีบ่อใหญ่ ๆ ที่เลี้ยงพะยูน ผมยังเคยมีโอกาสได้ลูบหัวพะยูน เป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ลูบหัวพะยูนเป็น ๆ หลังจากนั้นก็ได้ลูบแต่โครงกระดูกและศพ...”

     จากเรื่องเล่าของเด็กชายคนหนึ่งที่ได้เคยสัมผัสกับพะยูนในวัยเด็ก มาสู่เรื่องราวของ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ภาควิชา ชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่ชอบเก็บตัวอย่างศพของสัตว์จากที่ต่าง ๆ มาใช้ในการศึกษาวิจัย จนมากพอที่จะสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์กายวิภาคและ พยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ได้ และนั่นอาจเป็นพรหมลิขิตที่ขีดไว้แล้วบนเส้นทางนี้ก็เป็นได้

     ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ เป็นเจ้าของผลงานวิจัยเกี่ยวกับพะยูนที่ได้รับ การยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นนักวิจัยด้านพะยูนลำดับที่ 27 จาก 228 คนทั้งโลกนี้ โดยนำวิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ไปค้นหาความจริงและปริศนาของ “พะยูน” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในท้องทะเล ที่มีความพิเศษ และมหัศจรรย์ในตัวเอง อีกทั้งยังเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ ที่มนุษย์ไม่สามารถจับมาเลี้ยงหรือผสมพันธุ์ได้ โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถเลี้ยงพะยูนได้นานที่สุดคือ 2-3 ปีเท่านั้น แต่นักวิจัยก็ไม่สามารถนำ ดีเอ็นเอของพะยูนมาศึกษาได้ตราบใดที่พะยูนยังไม่เสียชีวิต ข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพะยูนเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์
ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์

     อย่างไรก็ตาม นี่คือความท้าทายของนักวิชาการในการค้นหาความจริงของพะยูน โดยคณะ สัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนประสบความสำเร็จในการวิจัย ได้แก่ การตรวจหาเพศของ พะยูน วาฬ และโลมา จากเทคนิคทางอณูชีววิทยา การตรวจหาเพศของพะยูนจากโครงกระดูกที่เหลืออยู่ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการเก็บข้อมูลเลี้ยงลูกด้วยนมใน สัตว์ทะเล, การศึกษาและพัฒนา การทำนายอายุของพะยูนได้จากการวัดความยาวของเทโลเมียร์ที่อยู่ในเซลล์ ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา และการศึกษาเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทยและ ทั่วโลก จนพบว่าประชากรพะยูนในประเทศไทยมีพันธุกรรมที่ไม่เหมือนพะยูนที่อื่นในโลก

     ผลงานวิจัยเหล่านี้ ได้ไขปริศนาบางประการของ “พะยูน” ด้วยหลักวิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการนำไปวิเคราะห์ และออกกฎหมายคุ้มครองเพื่ออนุรักษ์พะยูน ในท้องทะเลไทยต่อไป
ผลงานวิชาการทั้ง 9 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับ พะยูน วาฬ และโลมา ของ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์
ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติระดับแนวหน้า

ไขปริศนาด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา
การตรวจหาเพศของ พะยูน วาฬ และโลมา

     ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับพะยูนเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้น จากการทำวิจัย 2 เรื่อง คือ กระดูกพะยูน และการวิเคราะห์เขี้ยวพะยูนด้วยเครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ จนกระทั่งต่อมา จึงได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตรวจหาเพศของ พะยูน วาฬ และโลมา ซึ่งทำให้ได้พบองค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก

     ปัจจุบันมีพะยูนอาศัยอยู่ในน่านน้ำอันดามันและอ่าวไทยประมาณ 250 ตัว และมีแนวโน้มว่า จะลดน้อยลงทุกทีด้วยสาเหตุการเสียชีวิตที่มาจากอุบัติทางทะเล เช่น ถูกเรือชน ถูกใบพัดเรือ ติดอวน พบเป็นซากพะยูนเกยตื้น หรือลอยอยู่ในทะเล โดยปกติแล้วเมื่อมีการพบสัตว์ทะเลเกยตื้นตาย ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ จะต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานทางชีววิทยาเอาไว้ ได้แก่ ตำแหน่งที่พบ ชนิดและสายพันธุ์ เพศ และ ขนาดลำตัว แต่ปัญหาที่พบคือ ซากมักจะเน่าเสียจนไม่สามารถระบุเพศ หรือนำมาวิเคราะห์ข้อมูลใด ๆ ได้ จึงเป็นที่มาของการทำงานศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่งเพื่อตรวจหาเพศ ของ พะยูน วาฬ และโลมา จากเทคนิคทางอณูชีววิทยา

     ผลของการศึกษาวิจัยนี้สามารถช่วยระบุเพศให้แก่ตัวอย่างของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต จำนวน 48 ตัวอย่าง แบ่งเป็น พะยูน 3 ตัวอย่าง วาฬและโลมา 45 ตัวอย่าง การวิจัยนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการเก็บข้อมูลเลี้ยงลูกด้วยนมในสัตว์ทะเล ทั้งพะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งมีจำนวนลดลงมากจนใกล้สูญพันธุ์ เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์สัตว์คุ้มครองเหล่านี้ต่อไป

กระดูกพะยูนที่ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำนายอายุของพะยูน
องค์ความรู้ใหม่ในการวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล

     เมื่อใดก็ตามที่พบซากศพพะยูน สิ่งแรกที่มักจะถูกขโมยไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึงคือ “เขี้ยวพะยูน” ซึ่งในตลาดมีการซื้อขายกันในราคาสูงถึงคู่ละ 6-7 หมื่นบาท เมื่อเขี้ยวพะยูนหายไป จึงเท่ากับ ปิดโอกาสในการประมาณการอายุของพะยูนว่ามีอายุเท่าใด เพราะการนับอายุของซากพะยูนจะต้องใช้วิธี วัดเส้นทึบแสงในเขี้ยวนี้ หากเขี้ยวพะยูนถูกขโมยไป หรือมีสภาพไม่สมบูรณ์ ก็จะไม่สามารถค้นหาอายุของพะยูน ได้เลย

     ด้วยข้อจำกัดนี้เอง ทำให้ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ และคณะวิจัย ได้ศึกษาและพัฒนาการทำนายอายุของพะยูนจากการวัดความยาวของเทโลเมียร์ที่อยู่ในเซลล์ โดยการสกัดสารพันธุกรรมจากเขี้ยวและเนื้อเยื่อของพะยูน และใช้เทโลเมียร์ในการพยากรณ์อายุ จนสามารถสร้างสมการที่ใช้ในการทำนายอายุพะยูนโดยประมาณได้แม่นยำถึงร้อยละ 86 เป็นการลดข้อจำกัดของการใช้เขี้ยวพะยูนในการประมาณการอายุของพะยูนได้ และสามารถใช้เทคนิคนี้มาประเมินอายุพะยูนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้อีกด้วย ดังที่ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ ได้เล่าถึงการทำงานนี้ว่า

       “เมื่อเจอศพพะยูน รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ มักจะมีคำถามว่ามันมีอายุเท่าไร? เพราะบางทีเราเจอศพพะยูนวัยรุ่นตาย กับพะยูนแก่ตาย เราจะเสียดายพะยูนวัยรุ่นมากกว่า เพราะมีโอกาสที่จะขยายพันธุ์ได้อีก ดังนั้น เราจึงเกิดความต้องการทราบอายุของพะยูน เดิมทีจะระบุอายุด้วยเขี้ยวพะยูน ผ่าครึ่งตรงกลางแล้วฝน ด้วยหมึก แล้วจะปรากฏเป็นเส้นขึ้นมา เหมือนวงปีในต้นไม้เลยครับ สมมตินับได้ 45 เส้น ก็จะมีอายุ 45 ปี แต่ประเด็นคือ เวลาเราเจอศพพะยูนมักจะไม่เจอเขี้ยว เพราะโดนตัดไปก่อนแล้ว นี่คือข้อจำกัดข้อแรกของ การประเมินอายุพะยูนด้วยเขี้ยว ข้อสองคือ เมื่อพะยูนอายุมากขึ้น เขี้ยวจะสึก ท่อนข้างหน้าจะหายไป เวลาเรานับ เราอาจจะนับได้ 45 แต่ด้านหน้ามันสึกไป เราจึงต้องบอกว่าอายุ 45+ ซึ่งจริง ๆ เขาอาจจะอายุ 60 ก็ได้ แต่เราไม่รู้จำนวนที่แน่นอน หรือบางกรณีที่การงอกของเขี้ยวในพะยูนบางตัว จะเป็นลักษณะที่ย้อยขึ้นด้านบนแทน เราก็จะนับเส้นไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ แบบนี้ เราก็มาหาว่าจะมีวิธีอื่นอีกไหมที่ไม่ต้องใช้เขี้ยว”

     นอกจากนี้ ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ยังค้นพบองค์ความรู้ใหม่แก่วงการนักวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่ว่า พะยูนจะโตเต็มที่เมื่ออายุ 20 ปี ซึ่งแต่เดิมยังไม่เคยพบข้อมูลดังกล่าวนี้มาก่อน และขณะนี้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการยอมรับ โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว

พันธุกรรมพะยูนหนึ่งเดียวในโลก
อยู่ในทะเลอันดามันของไทย

     ความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับประชากรพะยูนที่มีจำนวนน้อยนิดในโลกนี้ก็คือ พะยูนมีแหล่งที่อยู่อาศัย ในที่ต่าง ๆ ได้แก่ อ่าวไทย อันดามัน ทะเลจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย แอฟริกา จึงเกิดคำถามตามมา ในเรื่องความหลากหลายของพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทยและทั่วโลกว่า มีความแตกต่างกันหรือไม่?

     เมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางพันธุกรรมของพะยูนในน่านน้ำไทย โดยใช้ตัวอย่างจากเนื้อเยื่อพะยูน 118 ตัว แบ่งเป็นพะยูนจากทะเลอันดามัน 110 ตัว และทะเลอ่าวไทย 8 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุดนับแต่เคยมีมา ผลการศึกษาเรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูน ในประเทศไทยและทั่วโลก” ของศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ และคณะ ได้ไขข้อสงสัยเรื่อง ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนให้กระจ่างว่า ประชากรพะยูนในโลกนี้มีรูปแบบทางพันธุกรรมทั้งหมด 60 แบบ เมื่อเปรียบเทียบลักษณะทางพันธุกรรมกับพะยูนที่อาศัยในส่วนอื่น ๆ ของโลก พบว่า ในประเทศไทย มีประชากรพะยูน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับพะยูนที่อาศัยในทะเลจีนใต้ แถบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ส่วนกลุ่มที่สอง คือพะยูนที่พบบริเวณทะเลอันดามัน เป็นกลุ่มที่มีความจำเพาะไม่เหมือนประชากรพะยูนที่ใดในโลก โดยจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงลำดับพันธุกรรมพบว่า ประชากรกลุ่มที่มีความจำเพาะของประเทศไทยนี้เป็นประชากรที่แยกมาจากอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อประมาณ 1.2 ล้านปี ที่แล้ว

สายวิวัฒนาการของพะยูนที่จำแนกตามรูปแบบพันธุกรรม (a) โดยมีการแยกตัวออกจากบรรพบุรุษร่วมที่เวลาต่าง ๆ โดยมีหน่วยเป็นล้านปีที่ผ่านมา
(b) และการแยกตัวออกเป็นประชากรพะยูน จำนวน 6 กลุ่ม โดยกลุ่มที่จำเพาะในประเทศไทย (Clade A) แยกตัวมาจากอีกกลุ่มเมื่อ 1.2 ล้านปี ที่ผ่านมา (c)

ผลงาน “ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในประเทศไทยและทั่วโลก” ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Scientific Reports เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564

      นี่คือการค้นพบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีมาตรการในการปกป้องและอนุรักษ์ประชากรพะยูนหายากกลุ่มนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ด้วยการออกกฎหมายที่บังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นคำตอบว่าเหตุใดจึงต้องมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพะยูนอย่างจริงจังในหลากหลายมิติ เพราะข้อมูลทั้งหมด ที่นักวิชาการได้ค้นพบทั้งข้อมูลพื้นฐานทางชีววิทยา หรือการศึกษาวิจัยในเชิงลึก ล้วนมีประโยชน์และ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์พะยูนในท้องทะเลไทย

     จากเรื่องเล่าของเด็กชายคนหนึ่งที่ได้เคยสัมผัสกับพะยูนในวัยเด็ก มาสู่ผลสำเร็จในการไขปริศนาของพะยูนในวันนี้ ทั้งหมดอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นจังหวะ เวลา และโอกาสที่ “พอดี” ดังที่ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ กล่าวไว้ในท้ายที่สุดว่า

      “ผมแค่เป็นโรคชอบทำวิจัย ชอบทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการ ผมชอบทำโจทย์วิจัยซึ่งมันปิ๊งขึ้นมาได้ บางคนอาจจะได้ข้อมูลมาเหมือนกัน แต่อาจจะปิ๊งไม่เหมือนกัน ส่วนตัวผม เมื่อได้ข้อมูลมาให้ลองทำ มันเหมือนจังหวะและโอกาสมันเหมาะกันพอดีด้วยนะ โอกาสที่เขาให้ตัวอย่างมา จังหวะที่ยังไม่มีใครทำ โอกาสที่ไม่มีใครมีตัวอย่างเยอะเท่านี้มาก่อน แต่เรามีตัวอย่างพะยูน 100 กว่าตัวอย่าง ที่เก็บรักษามากว่า 30 ปี ซึ่งไม่มีใครเก็บได้นานและมากขนาดนี้ ทั้งหมดนี้มันคือ ความ 'พอดี' ด้วย...”

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social