CMU SDGs

CMU SDGs

เบื้องหลัง “ดอกไม้บาน” ในวันแห่งความทรงจำของบัณฑิต มช.

จำนวนผู้เข้าชม : 3869 | 12 ม.ค. 2565
SDGs:
15


      เมื่อเดือนมกราคมมาถึง...ชุดครุยและกล้องถ่ายรูปต้องพร้อมแล้วสำหรับวันงานรับพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่นเดียวกับ “ดอกไม้”นับหมื่นดอกที่ทยอยกันบานที่ไร่ฟอร์ด, หน้า มช. และหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตระเตรียมไว้ต้อนรับบัณฑิตใหม่ที่จะเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 55 ในปี 2565 นี้

      สถานที่ 3 แห่งที่เอ่ยถึงข้างต้นเป็นสถานที่ยอดนิยมที่บัณฑิต มช.ทุกรุ่นจะต้องไปถ่ายภาพในชุดครุย เพราะความสวยงามของดอกไม้เป็นฉากหน้าและฉากหลังที่สวยงามเสมอสำหรับการถ่ายภาพ แต่กี่คนที่จะรู้ข้อเท็จจริงว่า ดอกไม้ไม่เหมือนชุดครุยหรือกล้อง ที่เพียงแค่รีด กดปุ่มหรือใส่แบตเตอรี่ก็พร้อมใช้งานได้ แต่กว่าจะมาทำหน้าที่มอบความสวยงามในเฟรมภาพของบัณฑิตได้นั้น มีกระบวนการการทำงานเบื้องหลังที่สลับซับซ้อนกว่าที่หลายคนคาดคิด...

หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานที่ที่ใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

      ก่อนอื่นมารู้จักดอกไม้ที่จะโชว์ความสวยงามในงานรับปริญญา มช.ปีนี้ ซึ่งมีอยู่หลักๆ ประมาณ 10 ชนิด โดยเน้นใช้สีเหลืองและสีม่วงเป็นสีหลัก เนื่องจากสีเหลืองเป็นสีประจำพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ส่วนสีม่วงเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังแซมด้วยสีอื่น ๆ เช่น สีแดงและชมพูเพื่อให้มีมิติมากขึ้น




ดาวกระจายสีม่วง หรือ คอสมอส เป็นดอกไม้ที่ลักษณะพลิ้วไหว อ่อนช้อยและแพรวพราว เหมาะสำหรับถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทั้งในระยะใกล้และไกล ว่ากันว่าใครได้ถ่ายรูปกับคอสมอสจะสวยหล่อขึ้นอีก 15%



ดอกบลูซัลเวีย เป็นดอกไม้สีม่วงยอดนิยมที่บัณฑิตมักจะนำปริญญาบัตร
หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ของ มช.มาถ่ายภาพด้วย

เวอร์บีน่า ดอกไม้ขนาดเล็กที่มีกลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อนจนถึงม่วงเข้ม
เมื่อปลูกเป็นทุ่งจะเหมาะจะเป็นฉากหลังที่สวยงามในการถ่ายภาพ



เสี้ยนฝรั่งเป็นดอกไม้ที่มีโครงสร้างดอกสวยงามแปลกตา โดยมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวประดับบนดอกไม้
มีสีสันนิ่มนวลอ่อนหวาน ให้ความรู้สึกนิ่งสงบ
ต้นเสี้ยนฝรั่งสูงประมาณหัวไหล่จึงเหมาะกับใช้เป็นแบคกราวด์ในการถ่ายภาพ
ข้อจำกัดของเสี้ยนฝรั่งคือบานในตอนเช้า และจะเฉาลงในช่วงบ่าย


สีเหลืองของดาวเรืองให้ความสว่าง เมื่อถ่ายภาพกับดอกดาวเรือง สีของดอกไม้จะช่วยขับใบหน้าให้แจ่มกระจ่างขึ้น

ฮอลลี่ฮ็อคเหมาะสำหรับเป็นฉากหลังที่สวยงาม แต่ด้วยความที่ดอกมีขนาดใหญ่
หลายคนจึงนิยมเอาแก้มไปแนบถ่ายกับดอกไม้ชนิดนี้

บริเวณทางเข้าด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปลูกฮอลลี่ฮ็อค เวอร์บีน่า และเสี้ยนฝรั่ง

เสี้ยนฝรั่งประชันเวอร์บีน่า

     ในบรรดาพื้นที่ 3 จุดไฮไลท์สำหรับถ่ายภาพงานรับปริญญา “ไร่ฟอร์ด” นับว่าเป็นจุดที่มีมุมกว้างที่สุดสำหรับการถ่ายภาพบัณฑิตกับดอกไม้ ที่สำคัญยังสามารถมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนของดอยสุเทพซึ่งเป็นฉากหลังที่มีความหมายอย่างมากต่อชาว มช.

      ที่ไร่ฟอร์ดแห่งนี้มีแปลงดอกไม้จำนวนมากที่ปลูกไว้อย่างสวยงามโดยกองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรับหน้าที่ในการดูแลความสวยงามของแปลงดอกไม้สำหรับงานรับปริญญาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในปีนี้เน้นคอนเซ็ปต์ New Normal เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่โรคโควิด-19 อาจทำให้ต้องยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการจัดงานได้ตลอดเวลา ดอกไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้จึงเป็นดอกไม้ที่เพาะได้เองเป็นหลัก เช่น คอสมอส, เสี้ยนฝรั่ง แต่ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับการจัดวางพื้นที่ให้แปลงดอกไม้มีความสวยงามตามหลักการจัด Landscape ที่ดี ทั้งการปลูกดอกไม้ไล่ระดับ และการให้สีสันของแปลงดอกไม้ที่ลงตัว เพื่อเพิ่มความสดใสให้แก่วันแห่งความทรงจำของบัณฑิตใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


แปลงดอกไม้จะไล่ระดับความสูงเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ดอกไม้ที่มีความสูง 30-50 เซนติเมตร เช่น ดอกดาวเรือง กับซัลเวียแดง) 2. ดอกไม้ที่มีความสูง 50 เซนติเมตร เช่นบลูซัลเวีย ความสูงประมาณเข่าหรือเลยเข่าเล็กน้อย 3. ดอกไม้ที่มีความสูง 1-1.2 เมตร เช่น ดอกเสี้ยนฝรั่งที่สูงระดับหัวไหล่ เพื่อเป็นแบค์กราวด์ ทั้งหมดนี้เมื่อบัณฑิตไปยืนถ่ายภาพจะทำเกิดมุมมองภาพที่สวยงาม มีมิติทั้งใกล้ (Foreground) และ ไกล (Background)

นอกจากการปลูกต้นไม้ไล่ระดับแล้ว ยังมีการจัดวางสีสันของดอกไม้ให้มีความกลมกลืน โดยเน้นสีโทนเย็น เช่น สีม่วง สีชมพู และใช้สีโทนร้อนอย่างสีแดง มาช่วยขับเน้นให้สีโทนเย็นมีเสน่ห์มากขึ้น เช่น การปลูกดอกซัลเวียแดงอยู่ตรงกลางระหว่างดอกบลูซัลเวียสีม่วงและดอกดาวเรืองสีเหลือง

      ถ้าประเมินจากสายตา พื้นที่กว่าสองไร่ของแปลงดอกไม้ไร่ฟอร์ดมีหลายมุมที่บัณฑิตสามารถเลือกภาพแห่งความทรงจำได้อย่างจุใจ โดยสามารถเดินลัดเลาะไปช่องทางเดินบนแปลงดอกไม้ที่จัดสรรไว้ให้ และถ้าใครสามารถเดินจนครบทุกแปลง นั่นเท่ากับว่าคุณเดินมาเป็นระยะทาง 1,600 เมตร เทียบเท่าระยะทางจากไร่ฟอร์ดถึงถนนท่าแพเลยทีเดียว

      ระยะทาง 1,600 เมตรอาจไม่ไกลถ้าเดินเพียงหนึ่งรอบ แต่มีคน 6 คนที่ต้องเดินบนแปลงดอกไม้ทั้งหมดนี้วันละหลาย ๆ รอบตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เพื่อดูแลแปลงดอกไม้เป็นเวลานานกว่า 90 วันแล้ว คนเหล่านี้คือเจ้าหน้าที่คนสวนผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามของดอกไม้ที่คอยประคบประหงมดอกไม้ให้เสียหายน้อยที่สุด และบานสะพรั่งสวยงามที่สุดในช่วงเวลาที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร


      แต่กว่าที่ดอกไม้จะบานจนเป็นภาพเบื้องหน้าที่สวยงามนี้ เบื้องหลังคือการทำงานหนักของบุคลากรกองอาคารสถานที่ฯ ที่แทบจะเรียกได้ว่ากินนอนอยู่กับต้นไม้มาเป็นเวลานานหลายเดือน เริ่มตั้งแต่เมื่อได้รับแจ้งกำหนดการงานพิธีพระราชทานปริญญาอย่างเป็นทางการ จึงได้เริ่มคำนวณเวลาการปลูกดอกไม้ โดยเริ่มต้นเตรียมการทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเพาะต้นไม้ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564 ซึ่งจะต้องมีการคำนวณระยะเวลาในการเริ่มต้นเพาะกล้าดอกไม้ให้เหมาะสม เนื่องจากดอกไม้แต่ละชนิดจะมีช่วงเวลาในการเติบโตไปจนถึงออกดอกไม่เท่ากัน เช่น ดาวกระจาย 45 วัน ฮอลลี่ฮอว์ค 90 วัน และเมื่อบานแล้วยังมีระยะที่บานเต็มที่อีก 7-14 วัน จึงต้องมีการคำนวณเวลาให้ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ อยู่ในระยะบานเต็มที่ในเวลาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้จะต้องมีการบวกเวลา Day Late เผื่อไว้สำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก 15 วัน โดยมีเป้าหมายให้ดอกไม้ทั้งหมดบานสะพรั่งในวันที่บัณฑิตเริ่มมารายงานตัว และยังคงสวยงามอยู่จนถึงวันที่บัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร


      แต่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ดังที่คุณณัฐวิทย์ ครูบา ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่รับผิดชอบดูแลการปลูกดอกไม้ในงานรับปริญญา มช.มากว่า 30 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละปีเป้าหมายการปลูกดอกไม้จะได้ผลประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการทำงานใหญ่ขนาดนี้ต้องเผื่อเวลารองรับความเสี่ยงและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญคือฝน และโรคราน้ำค้าง ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้แปลงดอกไม้เกิดความเสียหาย บางปีอากาศหนาวจัดเกินไปทำให้ดอกไม้ไม่บาน หรือบางครั้งพบว่าพื้นที่ปลูกดอกไม้อยู่ใกล้กับไฟสปอตไลท์ที่เปิดในตอนกลางคืนมากเกินไป ทำให้ดอกไม้ไม่ฟักตัวและไม่บานอย่างที่ควรจะเป็น นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ในบางปีดอกไม้จะบานเต็มที่หลังจากงานรับปริญญาผ่านพ้นไปแล้ว

       อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่าง ๆ ได้กลายเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมต่อมาให้แก่คนรุ่นหลัง ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่มาสานงานต่อจากคุณณัฐวิทย์ คือคุณธรรณพ ประกิจ นักวิทยาศาสตร์เกษตร ที่เข้ามาสืบทอดภารกิจนี้ ด้วยคติที่ว่า “ทำให้ดีที่สุด” เพื่อบัณฑิต และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีความสดใสในภาพถ่ายของบัณฑิตเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่ทำให้คนเบื้องหลังทุกคนหายเหนื่อย แม้ว่าจะมีร่องรอยของความเสียหายบนแปลงดอกไม้อยู่บ้างก็อาจคิดในแง่บวกได้ว่าจุดไหนเสียหายมาก จุดนั้นเป็นที่ชื่นชอบของบัณฑิตมากเป็นพิเศษ

คุณธรรณพ ประกิจ นักวิทยาศาสตร์เกษตร และ คุณณัฐวิทย์ ครูบา
ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามของดอกไม้ในงานรับปริญญา มช.มานานหลายสิบปี

     แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดอกไม้คือสิ่งมีชีวิตที่บอบบางนัก และควรมีเวลาอยู่มอบความสวยงามให้แก่โลกใบนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คนเบื้องหลังที่กินนอนอยู่กับต้นไม้จึงแอบกระซิบทิ้งท้ายมาว่า ขอความร่วมมือบัณฑิตใหม่ทุกท่านโปรดช่วยกันรักษาแปลงดอกไม้ไว้เผื่อเพื่อน ๆ คนข้างหลังที่ยังไม่ได้ถ่ายภาพกับดอกไม้เหล่านี้ โดยไม่เหยียบแปลงดอกไม้ หรือรุกล้ำเข้าไปในแปลงดอกไม้จนเกิดความเสียหาย...เพื่อแบ่งปันความสุขให้แก่เพื่อนๆ บัณฑิตลูกช้าง มช.ทุกคน ได้บันทึกไว้เป็นความทรงจำที่งดงามร่วมกันตลอดไป

เรื่องโดย..ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ 
ภาพโดย...วิศาล น้ำค้าง

Gallery
Address
Chiang Mai University. 239 Huay Kaew Road. Muang District. Chiang Mai. Thailand. 50200
Contact

Phone : +66 5394 1300
Fax : +66 5321 7143

Social