CMU SDGs

CMU SDGs

นศ. จิตอาสาร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

จำนวนผู้เข้าชม : 133 | 14 ต.ค. 2567
SDGs:
13 15 17

กิจกรรมส่งเสริมการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ส่วนงานต่างๆของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติอยู่เป็นประจำ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะบำรุงรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญของชีวิตความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และเพื่อสร้างจิตสำนึก สร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมในกับนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป


ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2566 เช่น

จิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ "5 ชาย อาสาเพาะกล้าลดฝุ่น" นักศึกษาหอ 5 ชาย มช. ณ แปลงฟื้นฟูป่า บ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566

นักศึกษาหอพักนักศึกษาชาย อาคาร 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 46 คน ร่วมกิจกรรมจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ "5 ชาย อาสาเพาะกล้าลดฝุ่น" ณ แปลงฟื้นฟูป่า บ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 โดยมีบุคลากรจากศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ และหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) เป็นวิทยากรและดูแลการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง และลงมือปฏิบัติทำกิจกรรมกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย ต้นกล้า 1,500 ต้น ซึ่งเป็นการดูแลต้นกล้าหลังปลูกเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่


อาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม "ดูแลเรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น ครั้งที่ 1"  ดูแลต้นกล้า และเดินป่าสัมผัสธรรมชาติน้ำตกห้วยแก้ว

ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ (ศูนย์ดอย) จัดกิจกรรม "ดูแลเรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566"  ณ เรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น โดยมีอาสาสมัคร จำนวน 25 คน ประกอบด้วยผู้บริหารและพนักงานจากโรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ร่วมเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการการฟื้นฟูป่าด้วยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติในการดูแลกล้าไม้ ทั้งการย้ายกล้าไม้ การตัดแต่งกล้าไม้ และกระบวนการต่างๆ ในเรือนเพาะชำ โดยวิทยากรจากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) 
จากนั้น อาสาสมัครได้ไปทัศนศึกษา เดินป่าเรียนรู้ระบบนิเวศป่าเต็งรัง รู้จักกับพรรณไม้ท้องถิ่นต่างๆ พร้อมแช่เท้าพักผ่อนเล่นน้ำใสไหลเย็นกันในน้ำตกห้วยแก้ว ณ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกห้วยแก้ว-วังบัวบาน อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กิจกรรมนี้ทุกคนได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมกิจกรรมด้วย 

อาสาสมัครร่วมปลูกป่าในกิจกรรมฟื้นฟูป่าม่อนแจ่ม พื้นที่ 10 ไร่ ต้นกล้า 2,260 ต้น


มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ร่วมกับ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการหลวงหนองหอย จัดกิจกรรมฟื้นฟูป่า 10 ไร่ ปลูกต้นกล้า 2,260 ต้น ภายใต้โครงการ “ฟื้นฟูป่าต้นน้ำตามรอยพ่อหลวง
แปลงฟื้นฟูป่าม่อนแจ่ม ปี 2566-2567" โดยอาสาสมัครจำนวน 300 คน ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารพร้อมพนักงานจากโรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ชาวบ้านในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดังกล่าว ได้เรียนรู้ขั้นตอนการฟื้นฟูป่าด้วยวิธีการพรรณไม้โครงสร้างผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ณ แปลงฟื้นฟูป่าม่อนแจ่ม ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 

โดยอาสาสมัครได้ร่วมในพิธีเปิดงานและช่วยกันปลูกต้นกล้าจำนวน 2,260 ต้น ซึ่งเป็นพรรณไม้ท้องถิ่นภาคเหนือ จำนวน 27 ชนิด ได้แก่ กล้วยฤาษี มะซัก สลีนก หมอนหิน กะเหรี่ยง สะเดาช้าง มะขามป้อม มะเม่าสาย คำแสด ก่อตาหมูหลวง หัสคุณ ยมหอม มะกล่ำตาไก่ ชะมวง หาด คางคาก ตาเสือทุ่ง มะกอกเกลื้อน ผักไผ่ต้น มะคังดง แคหางค่าง จวงหอม กำพี้ หว้าขี้กวาง ตองหอม ทองหลางป่า และเสี้ยวดอกขาว


โครงการปลูกต้นไม้แนวกันชนรอบพื้นที่ดอยสุเทพเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ในพื้นที่ ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

โครงการ "วิ่งเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ปีที่ 1" ได้นำรายได้ส่วนหนึ่งมาสนับสนุน "โครงการปลูกต้นไม้แนวกันชนรอบพื้นที่ดอยสุเทพเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน" ซึ่งดำเนินการโดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับภาคีหลายส่วน อาทิ สิงห์อาสา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย

โครงการได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รวมกว่า 1,400 ต้น โดยเน้นพันธุ์ไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและระบบนิเวศ เช่น มะค่าโมง สัก มะขามป้อม มะไฟ มะเกี๋ยง และหว้า การปลูกต้นไม้นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวกันชนระหว่างพื้นที่ทำกินกับป่า เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอน และพัฒนาเครือข่ายดูแลไฟป่าในพื้นที่

ผลการดำเนินงานในปี 2565 พบว่าต้นไม้มีอัตราการรอดชีวิต 67% โดยในปี 2566 ได้มีการปลูกซ่อมแซมและขยายพื้นที่ปลูกไปยังหมู่บ้านอื่นๆ โครงการนี้ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลรักษาป่า โดยสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนจัดการดูแลต้นไม้ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ โครงการยังมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่เข้มแข็ง โดยการรวมตัวของหลายภาคส่วน ทั้งคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐ เพื่อร่วมกันปกป้องและดูแลผืนป่าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการฟื้นฟูป่าแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาดูแลจัดการผืนป่า ป้องกันไฟป่า และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว

กิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทั้งที่จัดโดยส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจัดร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อยู่คู่กับภาคเหนือของไทย และของประเทศไทย แต่ไม่ได้มีแค่เพียงแค่นั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเป็นศูนย์รวมของนักวิจัย องค์ความรู้ที่จะต่อยอดการดูแลรักษา พัฒนา และการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

SDGs 15 : Life on Land ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

Gallery
Address
Chiang Mai University. 239 Huay Kaew Road. Muang District. Chiang Mai. Thailand. 50200
Contact

Phone : +66 5394 1300
Fax : +66 5321 7143

Social