CMU SDGs

CMU SDGs

มช. มีส่วนช่วยด้านการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนในท้องถิ่น

จำนวนผู้เข้าชม : 119 | 08 พ.ย. 2567
SDGs:
1 11 17

การจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เพียงแค่นั้น นักท่องเที่ยวมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมุ่งหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม สร้างประสบการณ์ เพื่อที่จะส่งต่อผ่านช่องทางสื่อสังคออนไลน์ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในเมืองรองและชุมชนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืน ปรุงแต่งน้อยเป็นที่ต้องการมากขึ้น การท่องเที่ยวชุมชน (Community-based tourism) ซึ่งเน้นวัฒนธรรมท้องถิ่นและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงน่าสนใจ และเป็นช่องทางในการเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชุมชน และเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากช่วงของโควิด-19

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนงานที่ทำงานด้านวิจัย และขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว อย่างเช่นสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ (MDRI) ที่มีศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว (CTRD) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน โดยใช้ทรัพยากร ต้นทุนทางวัตถุและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืนสูงสุด รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมประจำถิ่นให้คงอยู่ นอกจากนั้น ยังมี สำนักส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา และคณะ/วิทยาลัยอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีส่วนในการร่วมพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ตัวอย่างกิจกรรมที่ส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น

ศูนย์เรียนรู้วิถีแห่งชา ดอยปู่หมื่น

 


ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับชาแห่งนี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยวิสาหกิจชุมชน รักต้นน้ำดอยปู่หมื่น ร่วมกับ Ahpatea Teahouse ที่ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยสถานที่นี้เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชนเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้แข็งแรงควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และพัฒนาให้ชุมชนดอยปู่หมื่น ต่อยอดสู่การเป็นการท่องเที่ยววิถีชา (Tea tourism) และพัฒนาสินค้าหลักอย่าง ชา ให้เกิดเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) โดยงบประมาณส่วนหนึ่งและการถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้รับการสนับสนุนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการดำเนินงานของศูนย์ฯ กว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยมี “ชา” เป็นแกนหลักของกิจกรรมต่างๆ มีอาสาสมัครจากทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าไปเรียนรู้และร่วมพัฒนาชุมชนดอยปู่หมื่นอย่างต่อเนื่อง


ด้วยการดำเนินงานของศูนย์ฯ และวิสาหกิจชุมชนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนดอยปู่หมื่น ได้รับรางวัล 5 ดาว มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน (STGs Star) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้เข้ารับและผ่านการอบรมการบริหารจัดการ ศูนย์การเรียนรู้ ภายใต้โครการ Creative Lanna Selected Knowledge Center ของสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งช่วยตอกย้ำคุณภาพและการดำเนินการที่ดีของศูนย์ฯ และวิสาหกิชุมชนได้เป็นอย่างดี


อินทยงยศ ถนนสายวัฒนธรรม: Soft Power of Lamphun โดย Lamphun City Lab



โครงการขับเคลื่อนลำพูนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน จัดงาน 'อินทยงยศ ถนนสายวัฒนธรรม: Soft Power of Lamphun' เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้มรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งคณะทำงานของ MDRI มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการนี้ ภายในงานมีเวทีเสวนา 'ลำพูนเศรษฐกิจสร้างสรรค์' ที่รวมตัวผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจลำพูน นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลการวิจัย อาทิ การใช้ Emotional Marketing กับสินค้าหัตถกรรม และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามวิถีวัฒนธรรม โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาและผู้สนใจได้แสดงความคิดเห็นและร่วมกันขับเคลื่อนลำพูนสู่เมืองสร้างสรรค์ ในแผนระยะปี 2566-2570

นักวิจัย MDRI ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายโครงการ Study Abroad Program 2023 ของสถาบันภาษา มช.


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ดร.เผชิญวาส ศรีชัย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในโครงการ Study Abroad Program ของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำคณาจารย์และนักศึกษาจาก Singapore University of Social Science (SUSS) ประเทศสิงคโปร์ ศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ณ ชุมชนท่องเที่ยวไทลื้อ ลวงเหนือ และชุมชนแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจวัฒนธรรมไทยและเรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งนักศึกษาจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต


Source:




นักวิจัย MDRI ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายโครงการ Study Abroad Program 2023 ของสถาบันภาษา มช. (MDRI CMU)


Gallery
Address
Chiang Mai University. 239 Huay Kaew Road. Muang District. Chiang Mai. Thailand. 50200
Contact

Phone : +66 5394 1300
Fax : +66 5321 7143

Social