CMU SDGs

CMU SDGs

ชาวบ้านกดไลค์ ถูกใจผ่อดีดี (PODD) ระบบเฝ้าระวังภัยที่ชุมชนมีส่วนร่วม

จำนวนผู้เข้าชม : 3438 | 23 ธ.ค. 2563
SDGs:
3 9 13


ชาวบ้านกดไลค์ ถูกใจผ่อดีดี (PODD)
ระบบเฝ้าระวังภัยที่ชุมชนมีส่วนร่วม

   
     “คุณจันทร์เพ็ญทราบข่าวจากแม่ค้าที่ตลาดว่า พบผู้ต้องสงสัยป่วยเป็นโรคโควิด เนื่องจาก ผู้ต้องสงสัยดังกล่าวเป็นชายชาวพม่า อายุ 30 ปี เป็นแรงงานต่างด้าว และอยู่ที่แห่งหนึ่งใน ม.4 ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการไปร่วมงานศพแม่ที่ประเทศพม่า จึงได้ทำการรายงานข้อมูลดังกล่าวผ่าน Application ผ่อดีดี และได้บอกให้ผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลสันทราย และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งผลการตรวจแล้วพบว่าเป็นลบต่อเชื้อไวรัสโควิด...”

     “คุณจันทร์เพ็ญ” เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือ ในการรายงานข้อมูลของผู้ต้องสงสัยป่วยด้วยโรคโควิด-19 เข้าไปยังแอปพลิเคชัน PODD จนสามารถลด ความเสี่ยงของชุมชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากคนในชุมชนช่วยกัน “ผ่อดีดี” ซึ่งในภาษาเหนือหมายถึงการช่วยกันเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีนั่นเอง

     แอปพลิเคชันชื่อสุดเก๋และมีความหมายดีนี้ พ้องเสียงกับชื่อภาษาอังกฤษว่า PODD ( Participatory Onehealth Disease Detection) เป็นระบบปฏิบัติการและโปรแกรมดิจิทัลสำหรับเฝ้าระวังและจัดการโรค และภัยพิบัติ ดำเนินการผ่านศูนย์ปฏิบัติการสุขภาพหนึ่งเดียวระดับตำบลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการรายงาน ประมวลผล และแจ้งข่าวสารอัตโนมัติแบบ real time ข้อดีของแอปพลิเคชันนี้ ทำให้ อปท.มีเครื่องมือตรวจจับเหตุผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว และสามารถระงับเหตุ ได้อย่างทันท่วงที เช่น เหตุโรคระบาดในคน สัตว์ และภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และถูกใจชาวบ้าน ด้วยการให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์โดยตรง

      เบื้องหลังความสำเร็จของ “ผ่อดีดี” มาจากหน่วยงานหนึ่งที่ได้คิดค้นและพัฒนาระบบนี้มาตั้งแต่ ปี 2557 นั่นคือ “ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ (PODD Centre – ศูนย์ผ่อดีดีกลาง) ซึ่งเป็นส่วนงานวิชาการภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์สารสนเทศบริหารจัดการความรู้และข้อมูลของระบบฯ สร้างองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด ป้องกันการระบาดใหญ่ข้ามทวีป และป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว โดยมี รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

จากแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวสู่ระบบเฝ้าระวังที่ชาวบ้านถูกใจ

    ผ่อดีดี เริ่มต้นจากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ใช้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งเป็นแนวคิด ที่มีเป้าหมายในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชา เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม โดยตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ ในฐานะสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่ทำงานเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโรคระบาดในสัตว์ ได้เสนอมุมมองว่า วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด มีผู้ป่วยติดเชื้อหรือมีผู้เสียชีวิต จะต้องใช้มุมมองเชิงองค์รวม และที่สำคัญคือ “ชุมชนต้องมีส่วนร่วม”

     ในปี 2557 ระบบผ่อดีดีถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จาก SGTF - Skoll Global Threaths Fund (ปัจจุบันคือ Ending Pandemics Foundation สหรัฐอเมริกา) โดยในระยะที่ 1 ทีมงานสุขภาพหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทโอเพ่นดรีม ผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้สร้างสรรค์ระบบเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วมในชุมชน ทดลองติดตั้งและใช้งานในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่อง เพื่อให้ชุมชนเฝ้าระวังโรคระบาดในคน สัตว์และภัยในสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบดิจิทัล ที่รวบรวม ประมวลผล แจ้งข่าวสารและข้อมูลแบบอัตโนมัติเรียลไทม์ ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุข ปศุสัตว์ และป้องกันภัย โดยในระยะเริ่มต้นทดลองใช้ ระบบผ่อดีดีสามารถตรวจจับเหตุผิดปกติโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว และผู้ใช้สามารถนำแผนฉุกเฉินที่มีในระบบผ่อดีดีไปควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ของโรคระบาดได้สำเร็จ ดังที่ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เลิศรัก ได้ขยายความให้ฟังว่า

     “ช่วงแรกที่เราเริ่มใช้ผ่อดีดี เราเจอปัญหาโรคสัตว์เลยนะ คือโรคห่าไก่ ด้วยเวลาไม่ถึงเดือนก็มีรายงานเข้ามา และคนที่รายงานว่าเจอโรคห่าไก่ เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่ไม่รู้จักเรื่องไก่เลย อยู่ที่อำเภอฝาง เรารู้ดีว่าโรคพวกนี้มันมีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว แต่จะให้ชาวบ้านเขารายงานอย่างไร จะแก้ไขได้อย่างไร? Application จะเป็นตัวช่วย และมีคู่มือบอกถึงขั้นตอนตามลำดับ หนึ่ง สอง สาม คุณจะต้องทำอะไร และต้องเฝ้าดูไปอีกกี่วัน แล้วข้อมูลเหล่านี้จะไปถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ ระดับอำเภอ จังหวัด จึงทำให้ดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว

      3 เดือนต่อมา มีรายงานว่ามีวัวตาย 100 ตัว ที่อำเภอฮอด วัวตัวหนึ่งราคาสี่หมื่น ชาวบ้านเขาบอกว่าตายแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขามีวัวกันเป็นพัน ๆ ตัว เลี้ยงอยู่ในพื้นที่โดยรอบทะเลสาบดอยเต่า ปัญหาจึงไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาเพื่อแก้ไข พอมีแอปตัวนี้ ก็มีชาวบ้านรายงานเข้ามา พอเราเห็นเราก็รู้ได้ทันทีว่ามันคือโรคติดต่อชนิดหนึ่งจากสัตว์สู่สัตว์ ไม่ได้ติดต่อมาถึงคน แต่มันสร้างความเสียหายต่อชาวบ้านมาก เราก็ลงไป นั่นคือโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium perfringens ทำให้เกิดโรคระบาดในวัว เราก็ลงไปฉีดวัคซีน โรคระบาดก็ระงับไป ชาวบ้านถูกใจมาก เพราะรู้ปัญหาได้เร็ว แก้ไขได้เร็ว เดิมทีเดียวก็จะมีเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ แต่เจ้าหน้าที่คนเดียวดูแลทั้งอำเภอ แต่พอมีระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ทำให้เรารู้ได้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่มันสามารถป้องกันได้ ถึงมันจะไม่ใช่โรคติดต่อมาสู่คน แต่ก็สร้างความเสียหาย ทางเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านมาก จึงต้องรีบแก้ไขปัญหา”

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เลิศรัก ศรีกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว
หรือ (PODD Centre – ศูนย์ผ่อดีดีกลาง)


ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ หมวด Corporate Social Responsibility (CSR) จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากการประกวดงาน ASEAN ICT AWARDS 2017 ณ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา



วิธีการใช้งานแอปพลิเคชัน “ผ่อดีดี”

วิธีรายการเหตุผิดปกติบนแอปพลิเคชัน “ผ่อดีดี”

     จากผลดีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านโดยตรง ทำให้ “ผ่อดีดี” ได้ถูกนำไปใช้งานในองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน จากความร่วมมือของชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์โดยตรง และด้วยความรู้สึกมีส่วนร่วม ทำให้ “ผ่อดีดี” เป็นระบบเฝ้าระวังโรคระบาดในคน สัตว์ สาธารณภัยและ ภัยทางสิ่งแวดล้อม ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และด้วยแนวคิดและระบบที่มาถูกทางนี้เอง ทำให้ผ่อดีดีพัฒนาระบบและขยายไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น

“ผ่อดีดี”
ดูแลทั้งมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

     จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ระบบผ่อดีดีได้ช่วยทำหน้าที่ป้องกันมิให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่สัตว์ และจากสัตว์สู่คนได้ในระดับที่น่าพอใจ รวมทั้งสามารถป้องกันเหตุบรรเทาสาธารณภัยได้นับครั้งไม่ถ้วน จนเป็นระบบที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้งานมากกว่า 300 แห่ง ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ และขณะนี้ได้พัฒนาระบบเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสุขภาพสำคัญ ทั้งในมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม 12 ประเด็น ได้แก่ 1. เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า - สัตว์กัด 2. ควบคุมไข้เลือดออก 3. เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดสัตว์ 4. ฟีเจอร์เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดผิดปกติในคน 5. รายงานและช่วยจัดการไฟป่าและหมอกควัน 6. สิ่งแวดล้อม 7. คุ้มครองผู้บริโภค 8. อาหารปลอดภัย 9. จุดหรือกิจกรรมเสี่ยงต่อภัยสุขภาพ 10. ภัยธรรมชาติและสาธารณภัย 11. แจ้งรับความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง 12. สำรวจประชากรสุนัขและแมว


      รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เลิศรัก ได้เล่าถึงเคสหนึ่งที่ได้มีการใช้ระบบผ่อดีดี เพื่อให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนว่า

      “อบต.จังหวัดอุทัยธานี ได้นำแอปผ่อดีดีไปใช้ ปรากฏว่าจากที่เขาเคยเป็น อบต.สีแดง อันดับ 1 ของจังหวัด ตอนนี้กลายเป็น อบต.สีขาว ตั้งแต่เขาเริ่มใช้ในปีนั้น จนกระทั่งปัจจุบัน 3 - 4 ปีติดต่อกัน เขาบอกว่าเคสแรกที่เขาทำคือไข้เลือดออก ได้เห็นการแจ้งเตือนในมือถือประมาณ 5 ทุ่มกว่า ว่ามีคนป่วย เป็นไข้เลือดออก คนที่รายงานเข้ามาคือ ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งแต่เดิมต้องรอ Fax จาก รพ.จังหวัดไปอำเภอ จากอำเภอไป รพ.สต. แล้วก็ Fax ต่อมาให้ถึงนายก อบต. กว่าจะถึงก็ 5 วัน 10 วันตามเวลาราชการ แต่พอใช้แอปแล้ว ผอ.รพ.สต. กดปุ๊บ ไปขึ้นที่นายกฯ เลย แกก็สั่งให้ลูกน้องออกไปควบคุมยุงลายรอบบ้านผู้ป่วยระยะ 100 เมตร ตามที่แอปบอก ซึ่งในแอปไข้เลือดออกตัวนี้ จะวาดแผนที่ให้เห็นถึงภายในระยะ 100 เมตร ว่าครอบคลุมกี่หลังคาเรือน ที่ไหนบ้าง นายกฯ ท่านจึงไปทำตาม และสามารถควบคุมได้ในที่สุด มันเร็ว ง่าย และสื่อให้เขารู้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องไปลงรายละเอียดเชิงลึกว่าไวรัสชื่อนั้นชื่อนี้ แต่เขาควรจะต้องทำอะไร 1 2 3 4 ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมาก”

    นอกจาก 12 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขณะนี้โครงการผ่อดีดีได้เริ่มต้นพัฒนาระบบดิจิทัล ตรวจประเมินอาหารปลอดภัย เพื่อรองรับโครงการดาวผ่อดีดี อันเป็นระบบเฝ้าระวังคุณภาพอาหารปลอดภัย หรือ PODD PGS ซึ่งเป็นเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยเกษตรกรและผู้ผลิตสร้างมาตรฐานรับรองเกษตรอินทรีย์ ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยการใช้องค์ความรู้ของนักวิชาการ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม อย่างต่อเนื่อง เพราะความสุขที่แท้จริงของการเป็นนักวิชาการก็คือ การได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมนั่นเอง

     “ในแง่ส่วนตัว ผมมีความสุขในแง่ที่ว่า ปัญหาที่ยาก ๆ ต้องใช้ชุมชนเข้ามาช่วย ให้เขาร่วมมือ มันจึงจะสำเร็จ ซึ่งมันไม่ใช่ความเชื่อธรรมดา แต่มันมีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ ก็รู้สึกดีใจในแง่นั้น ส่วนอีกแง่หนึ่ง สำหรับผมมันสำคัญมาก ๆ ก็คือ มันเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน เราทำให้เขาได้จริงๆ ตรงนี้มันเป็นความปีติใจเล็ก ๆ ที่เราสามารถช่วยเขาได้ ผมคิดว่ามันน่าจะเติมเต็มในสิ่งที่นักวิชาการที่ทำ pure science ในระดับลึก ๆ ว่าความรู้ทฤษฎีต่าง ๆ ต้องสามารถแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้ด้วย มันคงไม่ดีนักถ้าความรู้ความสามารถที่เรามี ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาให้เขา แนวคิดของ One Health สุขภาพหนึ่งเดียว ที่ประสบความสำเร็จในผ่อดีดีได้ ก็เพราะว่ามีการใช้เครื่องมือดิจิทัล ทำให้สิ่งที่คิดว่าชาวบ้านทำไม่ได้ แต่เราไปสร้างเครื่องมือให้เขาทำได้” รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เลิศรัก กล่าวในท้ายที่สุด

      ปัจจุบันโครงสร้างระบบผ่อดีดี มีศูนย์ผ่อดีดีกลาง เพื่อให้บริการอัพเดตระบบ และพัฒนา แอปพลิเคชันให้พร้อมรองรับ “ชาวบ้าน” ผู้ใช้งานตัวจริง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยกัน “ผ่อดีดี” และดูแลเอาใจใส่สังคมส่วนรวม ทำให้เกิดเรื่องดี ๆ ขึ้นในสังคมมากมายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญคือให้ชาวบ้านถูกใจ...ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่าง ตรงจุด และสร้างความยั่งยืนในชุมชนได้อย่างแท้จริง



แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social