CMU SDGs

CMU SDGs

“ความดีส่งต่อได้” นิยามความยั่งยืนในนวัตกรรมรากฟันเทียม Novem

จำนวนผู้เข้าชม : 5196 | 09 ต.ค. 2563
SDGs:
3 9 10

“ความดีส่งต่อได้”
นิยามความยั่งยืนในนวัตกรรมรากฟันเทียม Novem


          “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น” คำกล่าวนี้เป็นของนักวิจัยคนหนึ่ง ซึ่งผ่านความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จากการทำงานที่แทบมองไม่เห็นทางสู่ความสำเร็จ จนในที่สุดสามารถคิดค้นนวัตกรรมทางทันตกรรมได้โดยใช้ “ความพยายาม” เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ เพื่อเป้าหมายของการ “ทำตนให้เป็นประโยชน์” ซึ่งมีความหมายมากกว่าความสำเร็จใด ๆ

          ในวันนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การจัดตั้งเป็นบริษัท โนเว็ม อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ผลิตระบบรากฟันเทียม Novem ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลทางทันตกรรมซึ่งเป็นระบบการรักษาทางทันตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้ และยังได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จาก สหภาพยุโรป (CE Mark) รวมไปถึงชุดอุปกรณ์รากฟันเทียม นวัตกรรมใหม่ที่วางจำหน่ายในกลุ่มอาเซียนและยุโรป นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากความพยายามอันไม่มีที่สิ้นสุด และการ “ทำตนให้เป็นประโยชน์” ของ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คิดค้นระบบรากฟันเทียม Novem ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางทันตกรรมจากฝีมือ ของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

          ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืน แต่มีเรื่องราวมากมายอยู่ในขั้นตอนของความเพียรพยายามนั้น เริ่มตั้งแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า ในอดีตประเทศไทยไม่มีองค์ความรู้ในการทำอุปกรณ์รากฟันเทียม และต้องนำเข้า จากต่างประเทศเท่านั้น จนกระทั่งต่อมาแนวคิดในการทำรากฟันเทียมในประเทศไทย ได้ถูกจุดประกายขึ้น ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อทรงรับการถวายการรักษาด้วยทันตกรรมรากเทียม โดยมีพระกระแสรับสั่งกับทีมทันตแพทย์ที่ถวาย การรักษาว่า “มีไททาเนียมแล้วหรือยัง?” และ “สามสิบบาทรักษาได้หรือไม่?” ด้วยทรงห่วงใยถึงพสกนิกร ที่ประสบปัญหาในการรักษา จนกระทั่งต่อมาสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาระบบรากเทียมของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ดังที่ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้เล่าถึงความเป็นมาในเรื่องนี้ว่า

          “พระองค์ท่านมีปัญหาเรื่องพระทนต์ของท่าน เพราะทรงงานมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องพระทนต์ สุดท้ายก็จะต้องทดแทน ตอนแรกทีมทันตแพทย์ประจำพระองค์ก็ถวายแบบง่ายให้ทรงทดลองดูก่อน ก็คือแบบที่ถอดเข้าถอดออก ท่านก็ไม่ได้รับสั่งอะไร แต่ว่าอีกวันหนึ่งก็พระราชทานคืนมาให้ ทีมงานก็ไปถวายคำอธิบายเรื่องการถวายรากเทียม พอถวายแล้วท่านได้ใช้ ก็โปรดมาก ท่านก็เลยมีพระราชดำริเรื่องนี้ว่า พวกเราทำเองได้หรือเปล่า? ทรงหวังอย่างเดียวว่า ถ้าหากเราทำเองได้ มันเป็นมิติในเรื่องความยั่งยืนของการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง รวมไปถึงความยั่งยืนและมั่นคงของประเทศชาติ ความมั่นคงซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่สุดคือเมื่อ COVID ที่ผ่านมาว่าแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยเราก็ยังทำเองไม่ได้”


รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี คงขุนเทียน
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


กำเนิดรากเทียมรุ่นแรก

“โครงการฟันยิ้ม”


          รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี เริ่มต้นทำการวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งในช่วงแรก ๆ ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย เช่น ความขาดแคลนเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และต่อมาคือการทำระบบมาตรฐาน ISO13485 และ CE Mark ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการการผลิตที่ทีมวิจัยไม่มีความเชี่ยวชาญ จุดนี้นับเป็นอุปสรรคที่ทำให้แทบจะหมดกำลังใจ และก้าวข้ามไปไม่พ้น หากไม่ได้อ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งที่กล่าวว่า การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าจะยากหรือง่าย จะมองเห็นช่องทางแห่งความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง หน้าที่ของเราคือต้องพยายามทำให้เต็มกำลังความสามารถ

          “อุปสรรคตรงนี้ยากมาก เพราะเราไม่มีพื้นฐานในเรื่องกระบวนการการผลิต ตอนที่เราเชิญเขามาตรวจมาตรฐาน เราตกหมด lab test ที่เราใช้จะต้องมีมาตรฐาน eco system ในเรื่องของการทำ packaging ซึ่งเราไม่มีความรู้เลย แล้วก็มีการใช้ Gamma-Ray ฆ่าเชื้อ มันประดังประเดมา อันนั้นคืออุปสรรคใหญ่ ผมได้มีโอกาสไปศึกษาและช่วยดูกระบวนการผลิต ซึ่งต้องปรับกระบวนการใหม่เกือบทั้งหมด

          ผมบอกได้เลยว่า งานนี้ถ้าเราไปทำโดยที่ไม่มีอะไรเป็นหลักยึด หรือเป็นผนังให้เราพิง ไปไม่รอดแน่ เพราะตอนนั้นเราไม่เคยมีเครื่องมือแพทย์ใดเลยที่ได้ถึงมาตรฐานยุโรป ประเทศเราไม่เคยผลิตเทคโนโลยีเอง ถ้าไม่มีแรงบันดาลใจเราก็คงทำไม่ได้ ตอนนั้นผมได้อ่านพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ทำให้เข้าใจเรื่องของความพยายามไม่มีที่สิ้นสุด เราอ่านทีไรเราก็รู้สึกว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นเราก็พยายามต่อไป แล้วไม่ใช่ว่าถึงแล้ว สำเร็จแล้วก็จบ ไม่จบ มันเป็นอะไรที่ไม่สิ้นสุด”

          ความพยายามนี้ใช้เวลายาวนานหลายปี กว่าที่ผลิตภัณฑ์รากเทียมของไทยจะได้รับการรับรอง CE Mark จากสหภาพยุโรป โดยนับเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปเอเชีย ที่ได้รับการรับรองต่อจากประเทศเกาหลีใต้ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานชื่อรากเทียมชุดแรกนี้ว่า “ฟันยิ้ม” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย 10,000 ราย ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ใน พ.ศ. 2550

          อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เพราะยังมีก้าวต่อ ๆ มาที่ท้าทายยิ่งกว่า...

รากเทียมรุ่นที่ 2

“โครงการข้าวอร่อย”

รากฟันเทียมในโครงการข้าวอร่อย




          เมื่อนักวิจัยยังไม่หยุดคิดค้นและพัฒนา รากเทียมรุ่นที่ 2 จึงเกิดขึ้น โดย รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้ทำ การวิจัยร่วมกับบริษัท พี ดับบลิว พลัส วิจัยและพัฒนารากเทียมอีกระบบหนึ่ง ที่นำมาใช้ได้ทุกกรณีการรักษาเพื่อให้ทัดเทียมกับระบบรากเทียมชั้นนำของต่างประเทศ จนสามารถผ่านมาตรฐาน CE Mark เป็นระบบที่ 2 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะนักวิจัยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และพระราชทานชื่อรากเทียมรุ่นที่ 2 นี้ว่า “ข้าวอร่อย” เพื่อให้แก่กระทรวงสาธารณสุขนำไปรักษาผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสที่มีปัญหาในการ ใส่ฟันปลอม 8,400 ราย ในโครงการรากฟันเทียมและฟันเทียมพระราชทาน 999 ชุด เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554


          “สิ่งที่ผมเห็นมาตลอดชีวิตคือ ความรักชาติและประชาชนของในหลวง รัชกาลที่ 9 สิ่งใดก็แล้วแต่ ที่พระองค์ท่านได้รับความทรมาน เมื่อได้รับการถวายการรักษาแล้ว ท่านจะนึกถึงประชาชนเป็นอันดับ 1 เสมอ

          ในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ‘ขอบใจทุกคนที่ช่วยกันทำงาน รู้ว่ามีความยากลำบากแต่เป็นประโยชน์’ วันนั้นผมเพิ่งเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ประโยชน์’ ผมเรียน ตามตรงว่าวิชาชีพทันตแพทย์เป็นอะไรที่เล็กมาก เราทำอะไรที่เราทำได้ ไม่ต้องไปคิดอะไรที่ใหญ่มาก แค่ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ทดแทนที่ทำให้เรามีกินมีใช้ มีอากาศดี ๆ มีแดดสวย ๆ อยู่ในเมืองที่ดี อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ดี ผมรักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากนะ ผมจบที่นี่ ผมเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในตอนที่ผมเป็นเด็ก เป็นเมืองที่อัศจรรย์มาก ที่คุณพ่อ คุณแม่พามาเที่ยว เป็นมหาวิทยาลัยที่มีไปรษณีย์ มีธนาคารด้วย ผมก็ได้เรียนที่นี่ และไม่เคยคิดว่าจะไปจากที่นี่ มีอยู่ครั้งเดียว ที่ไปก็คือ รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน ไปเรียนที่เยอรมนี พอเรียนจบแล้วเราก็อยากกลับ ทั้งที่เขาจะให้เราอยู่ แต่เราก็กลับมาเพราะรักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รักเชียงใหม่

          ที่ผมจำได้ตลอดมาก็คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้นเพราะความต้องการของชุมชน เราทำอะไร คืนให้กับเขาหรือยัง หลายคนบอกว่ามาอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพราะอากาศดี อาหารอร่อย วิวสวย แต่เราอยู่เพราะที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่รัฐบาลสั่งให้ตั้ง แต่คนเก่าคนแก่ของเชียงใหม่ยกที่ดินให้ และระดม ทุนกันสร้างเพื่อให้เกิดมหาวิทยาลัยนี้ให้ได้ และที่ผมดีใจที่สุดคือ คนกลุ่มนี้ตอนนี้มาเป็นคนไข้เราตั้งหลายคน ผมได้รักษาพวกเขา เหมือนกับส่งต่อกันไปกันมา เป็นอะไรที่น่ารักมาก”


“ค้นคว้า ปฏิบัติ พัฒนา”

ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          ในระหว่างการทำงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อไปทำงานวิจัยอย่างเต็มตัว ต่อมาในปี 2554 เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกครั้งหนึ่ง และได้รับพระบรมราโชวาทเรื่อง “ค้นคว้า ปฏิบัติ พัฒนา” ซึ่งหมายถึง การค้นคว้า วางแผนปฏิบัติ และพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ต่อมา รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้กลับมาทำงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง และจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม” ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2555 เพื่อสนองพระราชดำริดังกล่าวนี้ โดยใช้หลักการพึ่งพาตนเองตามแนวทาง ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง



          ผลงานอันเป็นรูปธรรมของศูนย์ฯ คือโครงการวิจัยร่วมกับบริษัท พี ดับบลิว พลัส ในการวิจัย และพัฒนา “รากฟันเทียมขนาดเล็กเพื่อช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้” ซึ่งรากฟันเทียมนี้สามารถที่จะฝัง โดยไม่เปิดเหงือก ใช้ยึดได้ทันที โดยไม่ต้องรอ 3 เดือน เหมือนกับที่เคยปฏิบัติมา อีกทั้งยังทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยลงอีกด้วย รากฟันเทียมขนาดเล็กดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ประจำปี 2558 และได้รับรางวัลเหรียญทองและเหรียญเงินกลุ่มนวัตกรรมด้านการแพทย์ จากการประกวดและแสดงนิทรรศการงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติ “The 46th International Exhibition of Inventions Geneva”

          “ในการประกวดงานนวัตกรรมแห่งชาติปีนั้น เราทราบมาว่า รางวัลใหญ่คือพระบรมรูป ‘พระบิดา แห่งนวัตกรรมแห่งไทย’ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ความที่อยากได้พระบรมรูป ผมก็เลยชวนทีมงานว่าเข้าร่วมกันเถอะ ก็ปรากฏว่าได้เข้ารอบลึก ๆ ไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายเราได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ตอนที่เราเข้าไปสอบกับกรรมการ เราชี้ให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตของคนนั้นสำคัญ และเราต้องการให้นวัตกรรมนี้สร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติ

          งานวิจัยนี้เราได้นำไปใช้ในงานต่าง ๆ เช่น มีอยู่ปีหนึ่ง ปีนั้นรัชกาลที่ 9 ท่านไม่อยู่แล้ว เราก็เลยคิดว่าจะทำอะไรถวาย ก็เลยจัดหน่วยเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ไปลงที่ปางอุ๋ง-แม่แจ่ม เพื่อให้บริการคนไข้เพราะปางอุ๋ง-แม่แจ่ม ซึ่งเป็นที่แรก ๆ ที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไป แล้วมีโครงการหลวงเกิดขึ้น เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงถือแผนที่ เราก็ไปที่นี่กัน นั่นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยหรือของโลก ที่เรานำเอารากเทียมไปให้บริการในหน่วยเคลื่อนที่”




ก้าวสู่ Startup

ต่อยอดในเชิงพาณิชย์กับ STeP


          นอกจากการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมแล้ว ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม ยังได้ก้าวสู่มิติใหม่ของการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ภายใต้การดูแลของอุทยานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย ในการผลักดันให้นักวิจัยต่อยอดผลงานวิจัยไปสู่การเป็น Startup จึงได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัทเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์รากฟันเทียม NOVEM DENTAL IMPLANT ในชื่อ Novem Innovation โดยในภาษาละติน Novem แปลว่า 9

          “ณ วันนี้ การทำงานของ Novem กำลังจะเริ่มหมุนไป เพราะว่าระเบียบฯ เพิ่งผ่าน ทั้งหลายทั้งปวงผมก็ฝากไว้กับ STeP เพราะอาจารย์ธัญญานุภาพ (ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) บอกว่า ถ้าหากอาจารย์ไม่ทำ เส้นทางนี้จะไม่มีใคร เดินมาเลย เพราะว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะไม่ทำวิจัยที่ทำให้เกิดความยั่งยืน มันจึงเป็นโครงการนำร่อง ที่ทุกคนก็รอดูว่ามันเกิดได้จริงหรือเปล่า”

          ในขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียมได้วิจัยและพัฒนาระบบรากฟันเทียม Novem ก็ได้ร่วมกับบริษัท พี ดับบลิว พลัส ซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวของประเทศไทย ที่มีกระบวนการผลิต รากฟันเทียม ได้ตามมาตรฐาน ISO13485 ระบบรากฟันเทียม Novem ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลทางทันตกรรม ซึ่งเป็นระบบการรักษาทางทันตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้ อีกทั้ง ยังได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสหภาพยุโรป (CE Mark)

          ระบบรากฟันเทียม Novem นี้ได้ถูกอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อนำไปใช้ในโครงการบิ๊ก ร็อค (Big Rock) ของรัฐบาล โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “การขยายผลงานวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม (DentiiScan) และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม (Digital Dentistry Platform)” เพื่อผลักดันและส่งเสริมการใช้งานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม (DentiiScan) แพลตฟอร์มดิจิทัล ทางทันตกรรม (Digital Dentistry Platform) และระบบรากฟันเทียม Novem ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาทันตแพทย์ ที่เข้าร่วมโครงการจาก 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมรากเทียม โดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางทันตกรรมที่เกิดจากฝีมือคนไทย ทั้งนี้รากฟันเทียม Novem จะถูกนำไปใช้ ทั่วประเทศ จำนวน 3,000 ชุด ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทันตแพทย์และผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนของศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการให้อบรม แก่ทันตแพทย์ผู้เข้าร่วมโครงการฯ และเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค เพื่อให้โครงการฯ บรรลุประสิทธิผล ตามที่กำหนดไว้


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม
ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม


เครื่องสแกน 3 มิติ 3D scanner




นิยามความยั่งยืนที่ไม่มีตัวชี้วัด



          ด้วยองค์ความรู้ ผลงานตีพิมพ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีครบในทุกมิติ กล่าวได้ว่า ในขณะนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีศักยภาพและความพร้อม เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย รวมทั้งเป็น “สถาบันแห่งศาสตร์และวิทยาการชั้นสูงทางทันตกรรมเพื่อสังคม” ซึ่งจะรับใช้ชาวเชียงใหม่ และสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ด้วยนิยามของความยั่งยืนที่ รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ปฐวี ได้กล่าวสรุปไว้ในท้ายที่สุดว่า

         “ในด้านการรักษา เมื่อเทียบกับมาตรฐานการรักษาที่เป็นเลิศ เรียกได้ว่าราคาของศูนย์ฯ เรา ถูกที่สุดในประเทศไทย ถูกกว่าโรงพยาบาลรัฐ ถูกกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะฉะนั้น คนไข้ที่เข้ามาที่นี่ ศรัทธาเรา และคนไข้เราก็มีตั้งแต่ผู้มีอันจะกินไปจนกระทั่งถึงชาวบ้านที่ไม่มีโอกาส

          ...ถ้าถามถึงนิยามของความยั่งยืน ผมว่ามันคงไม่มีตัวชี้วัด แต่มันจะเกิดขึ้นได้จากการที่เราช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น คือตอนที่ EdPEx ซึ่งวัดเกณฑ์คุณภาพการศึกษามาถามเราว่า ศูนย์ของเราอยู่ในหน่วยไหน? หารายได้ CSR หรือ Education? เราบอกว่าไม่รู้ เราก็ทำทั้งหมดนั่นแหละ คณะได้รายได้จากเราแต่ละปีเยอะไหม? เยอะ เพราะได้จากค่ารักษา แต่ค่ารักษาเราที่ว่าแพงก็ยังถือว่าถูกที่สุดในมาตรฐานนี้ คนที่เขามาตรงนี้ เขาได้อะไรไหม คนที่เขาพอมีกำลังจ่ายเขาก็จ่าย คนที่เขาเห็นเราทำงานแล้วบอกว่าดี เขาก็ไปหาทุน มาช่วยเรา บางคนสิ้นหวังแล้วมาหาเรา แต่เขาไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่ารักษา เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ให้เขียนความดีมาแลกก็แล้วกัน



          สิ่งที่เราเชื่อและสอนนักเรียนทันตแพทย์ของเราก็คือ จงเชื่อเถอะว่า ‘ความดีส่งต่อได้’ หลายคนมองว่านักเรียนทันตแพทย์ส่วนใหญ่เรียนมาก็เพื่อจะไป make money แต่นักเรียนที่นี่จะมีปรัชญาว่า ความดีส่งต่อได้ วันที่คุณมีกินมีใช้ คุณอย่าลืมคนที่เขาไม่มี ไม่ต้องทุ่มเทมาก แค่ส่วนหนึ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ แล้วมันจะส่งต่อไปถึงกันได้ และทำให้สังคมดีขึ้นได้”

แกลลอรี่
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
สอบถาม

โทรศัพท์ : +66 5394 1300
โทรสาร : +66 5321 7143

Social